ART EYE VIEW—ไปเสม็ด เขาว่าเสร็จทุกราย แต่จะเสร็จอะไรก็เป็นเรื่องของแต่ละคน
แต่โอกาสหน้าถ้าคุณยังได้ไปเสม็ด เป็นไปได้ว่า คุณอาจจะเสร็จ รักแท้ ที่สะท้อนผ่านผลงานประติมากรรมรูปนางเงือกและสุดสาคร ที่ตั้งอยู่บนโขดหิน บริเวณหาดทรายแก้ว
ยิ่งถ้าคุณเป็นผู้ไปเยือนแบบที่ชอบบันทึกภาพสิ่งต่างๆที่เป็นไฮไลท์ของสถานที่นั้นๆกลับมา
ประติมากรรมชิ้นนี้เป็นผลงานของ หริธร อัครพัฒน์ ประติมากรวัย 54 ปี ผู้มีผลงานประติมากรรม ติดตั้งอยู่ตามที่สาธารณะหรือสถานที่ซึ่งคนทั่วไปพอจะเข้าถึงได้ อาทิ ด้านหน้า อาคาร เลค รัชดา,วัดธรรมมงคล ถ.สุขุมวิท 101,ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ และ Hakone Open-Air Museum เมืองฮาโกเน่ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผลงานที่ได้รับรางวัลจากการประกวดระดับนานาชาติ มีผลงานประะติมากรรม กว่า 700 ผลงาน จาก 35 ประเทศส่งเข้าประกวด โดยก่อนจบการศึกษาสาขาประติมากรรม จากคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ ม.ศิลปากร หริธรได้รับทุนไปดูงานที่ญี่ปุ่น และมีโอกาสแวะไปที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ด้วย เมื่อทราบว่าข่าวการประกวด จึงส่งผลงานไปร่วมประกวด กระทั่งได้รับรางวัลที่ 4
“งานชิ้นนั้น ผมตั้งชื่องานว่า สุสานประติมากร ตอนที่ทำงานชิ้นนั้น ไอ้เราก็คิดอะไรแบบเด็กๆไง เราเรียนจบมา แล้วเราก็เป็นคนขี้เกียจ เป็นคนแบบไม่ได้เรื่อง ไม่ฉลาด คือไม่มีอะไรดี แล้วเราจะทำมาหากินอย่างไร แต่เราเรียนมาทางนี้เพราะเราชอบทางนี้ เราต่อสู้กับพ่อแม่ กับครอบครัว เขาไม่อยากให้เรียน เขาก็รู้มันไส้แห้ง แต่เราก็ดื้อ ฝืนที่จะเรียน พอเรียนจบมา เราถึงรู้ว่ามันจริงอย่างที่เขาว่า รู้งี้เราไปเป็นกระเป๋ารถสองแถวก็ดีแล้ว หรือซื้อรถเข็น เปิดร้านขายส้มตำ(หัวเราะ) จนป่านนี้เราก็คงมีความสุข แต่เมื่อเราเลือกชีวิตแบบนี้ ไหนๆเราก็เดินทางพลาดมาแล้ว เราก็ขอตายกับทางที่เราผิดพลาด คือ ไม่คิดแก้ไขแล้ว ดื้อดึงกับมันต่อไป และถ้าเราจะตายไปกับมัน เราก็สร้างสุสานไว้แล้วกัน ขออยู่กับมัน ตายกับมัน อะไรอย่างนี้”
ประติมากรรม “รักแท้” เพิ่งถูกนำไปติดตั้งแล้วเสร็จ เมื่อวันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคมที่ผ่านมา และเป็นส่วนหนึ่งของการคืนความสุขให้กับคนพื้นที่ หลังจากเกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วในทะเลอ่าวไทย จ.ระยอง เมื่อปี 2556
“ทีแรกผมอยากจะทำเป็นงานประติมากรรมในแนว abstract (นามธรรม) มากกว่า ที่เป็นรูปทรงที่มันดูง่ายๆไม่ใช่งานที่ดูเหมือนจริงแบบที่เห็นนี้ แต่ชาวบ้านเขาอยากจะได้นางเงือก และทางปตท.เองเขาก็อยากได้งานแบบนี้ เหมือนเขาก็ยังไม่เข้าใจงานในแนวนามธรรม เราก็เลยตกกระไดพลอยโจร เอานางเงือกก็นางเงือก”
หรินธร บอกเล่า เนื่องจากผลงานประติมากรรมชิ้นนี้ เป็นงานที่รับจ้างทำ ไม่สามารถสร้างสรรค์ได้อย่างอิสระ ในทุกรายละเอียด ขณะเดียวกันเขาพยายามมองหาข้อดีจากการทำงานที่ถูกจำกัดด้วยโจทย์
“คือถ้าเราไม่ถูกจำกัดด้วยโจทย์ เราก็จะมีอิสระมากกว่านี้ แต่บางทีการถูกจำกัดก็ดี เพราะมันสร้างโจทย์ให้เรา สร้างปัญหาให้เราต้องฝ่าฝัน พอมันผ่านมาแล้ว ผมมานั่งนึกถึงข้อดีของมัน
ก็ดีเหมือนกันนะ เหมือนเขาสอนเรา ทำให้เราได้เรียนรู้ได้เข้าใจว่า เราไม่ใช่คนเก่ง เราต้องเรียนรู้อีกเยอะ เพราะฉะนั้นเราต้องเรียนรู้ที่จะฟัง เพื่อที่จะพัฒนาตัวเอง
แต่ถ้าเป็นงานของตัวเองผมไม่คิดอะไรเลย เหมือนคนที่นั่งอยู่เฉยๆ แล้วหยิบปากกาขึ้นมาวาดมั่ว ๆ ด้วยความรู้สึกที่มันเพลิน ผมจะทำงานแบบนั้น เพราะเวลาทำงานศิลปะผมไม่ได้ต้องการอานิสงค์อะไรจากมัน เน้นทำแล้วสบายใจ เวลาทำงานเพ้นท์ก็เช่นกัน สะดวกตรงไหนก็ทำตรงนั้น บางทีนั่งกินเหล้ากับเพื่อน มีน้ำอยู่บนโต๊ะ ผมก็เอามาวาดรูปเล่น มีความสุข
และว่าไปแล้วความเป็นนามธรรม มันก็มีพื้นฐานมาจากความไม่เป็นนามธรรม เหมือนก่อนเราจะเขียนกวีได้ เราก็ต้องอ่านหนังสือออก เขียนหนังสือเป็นมาก่อน
นางเงือกข้างบนเป็นคน ข้างล่างเป็นปลา เราก็เอาความเป็นนามธรรมในเรื่องเส้นและความเป็นปริมาตร เข้ามาใส่ เพียงแต่ให้มันออกมาเป็นงานที่คนดูรู้เรื่อง ”
และเนื่องจากเป็นคนที่ชอบอ่านวรรณคดีอยู่แล้ว รวมถึงเรื่อง “พระอภัยมณี” ทำให้เขาไม่ต้องใช้เวลาไปกับการหาข้อมูลเกี่ยวกับวรรณคดีเรื่องนี้ ก่อนจะลงมือทำงาน มากนัก
“ก็เลยจำๆมาจากสิ่งที่เราเคยอ่านว่า นางเงือกพาพระอภัยหนี มาถึงเกาะเสม็ด แล้วก็มีลูกด้วยกันคือสุดสาคร จากนั้นสุดสาคร ก็ถูกฤาษีทิ้งไว้บนเกาะ โดนชีเปลือยหลอก อะไรอย่างนี้
แต่แทนที่ผมจะทำเรื่องนางเงือกกับพระอภัยมณี ผมเลือกปั้นนางเงือกกับสุดสาคร งานประติมากรรมชิ้นนี้ก็เลยกลายเป็นเรื่องของแม่กับเด็กไป
เพราะประติมากรรมทุกยุคทุกสมัยล้วนแต่ทำเรื่อง mother and child แต่ผมมองว่ายังไม่มีงานประติมากรรม ที่แม่เป็นนางเงือก แล้วลูกเป็นคนเลย ไม่มีเลยนะ ก็เลยคิดว่าถ้าทำ น่าจะแปลกดี ไม่เหมือนใคร”
แต่เวลาส่วนใหญ่ของเขาหมดไปกับการลงมือปั้นชิ้นงาน ซึ่งทั้งนางเงือกและเด็กกว่าจะออกมาเป็นหน้าตาอย่างที่เห็น มันคือส่วนผสมของคนรอบตัวหลายๆคนที่เขารู้จัก
“ก่อนปั้นนางเงือก ผมพยายามหาคนที่หน้าตาดีมาเป็นแบบ ทีแรกก็ได้หลานซึ่งเป็นลูกครึ่งระหว่างเอเชียกับฝรั่งเศส เป็นแบบให้ เขากำลังเป็นสาวอายุ 14-15 ปี บวกกับใบหน้าของหญิงสาวข้างบ้านซึ่งทำงานโรงกลึง ซึ่งคนนี้สวยมากเลย สวยยังกับดารา เป็นคนอีสานที่มีโหนกแก้มมีคางสวยมากเลย ก็เลยเอาโครงกะโหลกมาปั้น แต่ทำไปทำมา หน้าออกมาคล้าย ภรรยาผม ( Myrtille Tibayrenc ชาวฝรั่งเศส) นางเงือกของผมจึงเป็นการเอาส่วนดีที่มีอยู่ในคนหลายๆคน มาปั้น
ส่วนตัวเด็กหรือสุดสาคร ทีแรกก็หาแบบมาปั้นโดยถ่ายรูปลูกชองชาวบ้านมาเป็นแบบ และหาจากอินเตอร์เนท ปั้นเด็กอยู่สามเดือน ปรากฎว่าไปไม่รอด เพราะมันไม่มีแบบจริง ตอนหลังจึงได้ลูกเพื่อน ขอเขามาเป็นแบบให้วันเดียวก็เลยปั้นได้เลย ชื่อน้องฮิวโก้”
รวมไปถึงการใช้เวลาส่วนหนึ่งไปลงพื้นที่เพื่อสำรวจดูว่า จะทำอย่างไรให้ผลงานประติมากรรมที่นำไปประติดตั้งมีความเหมาะสมกับพื้นที่
“พอทำประติมากรรมกลางแจ้งหรือระดับอนุสาวรีย์ มันต้องดูว่าเหมาะกับพื้นที่ไหม เพราะพื้นที่มันคือชายหาด ข้างหลังเป็นภูเขา ข้างหน้าเป็นทะเล งานตั้งอยู่บนโขดหิน แล้ววิวข้างๆเป็นอย่างไร ต้องสอดคล้องกันหมด ผมก็เลยพยายามทำงานออกมาให้ไปด้วยกันกับทิวทัศน์ อยู่ร่วมกับทิวทัศน์ได้
งานนี้มันจึงยากตรงที่งานตั้งอยู่กลางแจ้งที่คนสามารถชมได้รอบทิศ ส่วนใหญ่งานประเภทอนุสาวรีย์ จะยืนหรือนั่งในท่าทางธรรมดา แต่งานชิ้นนี้ของผมมันต้องเล่นกับพื้นที่ๆมันกว้างมากๆ พื้นที่ซึ่งเป็นชายหาดและทะเล ต้องพยายามทำงานให้ดูสวยทุกมุม ลำบากพอสมควรกว่าจะทำได้แบบที่เห็นนี้”
หรินธรเผยด้วยว่า “รักแท้” ชื่อของผลงานประติมากรรม เขาไม่ได้เป็นคนตั้ง
ทว่าระหว่างที่ทำงานชิ้นนี้ ได้เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ต้องระลึกถึงรักแท้ของตัวเองไปด้วย เนื่องจากเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่แม่ของเขาเสียชีวิต
“เวลาที่ผมทำงานใหญ่ๆมักจะมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น เหมือนเราได้อะไรมาแล้วต้องแลกกับอะไรทุกครั้งเลย
แม่กับผม เรามีความรักความผูกพันกันเหมือนกับแม่ลูกทุกคู่ ไม่ได้มีอะไรพิเศษกว่าแม่ลูกคู่อื่น และผมก็ไม่ใช่ลูกกตัญญู ลูกดีเด่น เราเหมือนชาวบ้านทั่วไปที่แม่รักผม ผมรักแม่ และเราทะเลาะกันบ้าง
ผมเป็นลูกที่ไม่ perfect เชื่อไหม ผมอายุ 50 กว่า ผมยังไปขอสตางค์แม่ใช้อยู่เลย (หัวเราะ) และก็ได้ทุกที ไม่รู้ว่าแม่เอาสตางค์มาจากไหน
ผมค่อนข้างจะเป็นลูกแบบเลวๆ ไม่ใช่ลูกดีเด่น และแม่ผมก็ไม่ใช่แม่ดีเด่น แต่เรื่องความรักความผูกพันเรารู้กันสองคนอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องโชว์ซึ้งกับคนอื่นให้น้ำตาเล็ดน้ำตาร่วง
แต่มันเป็นเรื่องบังเอิญที่พอเราทำงานเรื่องแม่กับเด็กอยู่ แล้วมันมาเกิดเรื่องนี้ขึ้น ทำให้ความรู้สึกของเราเกี่ยวกับแม่มันชัดขึ้น เห็นชัดขึ้นไปในใจว่า คนเราเวลามีชีวิตอยู่ด้วยกัน บางทีก็งอนกัน ทะเลาะกัน พอเขาไม่อยู่ มันจะมองเห็นสิ่งที่เราไม่เคยมองเห็น
มันจะซึ้งแล้วมันเรียกกลับมาไม่ได้แล้ว เพราะเวลามันผ่านไปแล้ว เสียดายบางอย่างว่าเวลาที่แม่มีชีวิตอยู่เราไม่ทำ
ระหว่างที่แม่เสียผมก็ยังต้องปั้นงานชิ้นนี้อยู่ เพราะส่วนหนึ่งเราก็ต้องรีบทำงาน ทำหน้าที่ของเราให้เสร็จ ดังนั้นความรู้สึกของผมที่เกิดระหว่างที่แม่เสีย ความรู้สึกของผมเกี่ยวกับแม่ของตัวเอง ทั้งสีหน้า ท่าทาง มันส่งผลหรือเข้าไปอยู่ในงานของเราโดยอัตโนมัติ”
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews
Comments are closed.