Art Eye View

2 นิทรรศการภาพถ่าย สะท้อนเหตุการณ์ “เอา(ไม่)อยู่”

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW—2 นิทรรศการภาพถ่าย ที่สะท้อนเหตุการณ์ “เอา(ไม่)อยู่” มีให้ชมพร้อมกันทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด (เชียงใหม่) และเปิดแสดงให้ชมวันแรกพร้อมกันตั้งแต่วันศุกร์ที่ 4 กันยายนนี้เป็นต้นไป

นิทรรศการแรก เป็นนิทรรศการภาพถ่าย จัดโดย เทศกาลภาพถ่ายโฟโต้บางกอก ร่วมกับ ฝ่ายนิทรรศการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และ WTF Gallery โดยมี อรรฆย์ ฟองสมุทร ทำหน้าที่ภัณฑารักษ์ คัดสรรผลงานของ 6 ศิลปิน มาจัดแสดง ได้แก่ อังกฤษ อัจฉริยโสภณ ,แดนสรวง สังวรเวชภัณฑ์, มิติ เรืองกฤตยา ,ราสิเกติ์ สุขกาล, ศุภกร ศรีสกุล และ วิทิต จันทามฤต

ซึ่งผลงานภาพถ่ายของศิลปินแต่ละคน ล้วนมีเรื่องราวเกี่ยวกับ ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เคยเกิดขึ้นและนำมาสู่การสูญเสียอย่างมหาศาลโดยที่ประมาณการไม่ได้ นับแต่เหตุการณ์สึนามิ (พ.ศ. 2547) เหตุการณ์อุทกภัย (พ.ศ. 2554) และเหตุการณ์แผ่นดินไหว (พ.ศ. 2557)

ปรากฏการณ์ธรรมชาติแม้จะเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงหรือพยากรณ์ล่วงหน้าได้ แต่ผลที่เกิดจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวที่ซ้ำซากของการจัดการที่บก พร่อง ขาดประสิทธิภาพอย่างที่สุด ภาพที่ปรากฏต่อสาธารณะจึงหนีไม่พ้นภาพของความสูญเสีย ความโหดร้ายที่ซ้ำเติมครั้งแล้วครั้งเล่า

ศิลปินแต่ละคนเลือกนำเสนอแง่มุมที่ปรากฏเบื้องหลังโศกนาฏกรรมเหล่านี้ ผ่านผลงานภาพถ่ายที่ สะท้อนถึงมิติทางสุนทรียะที่ไม่สามารถพบเห็นได้ในสภาวการณ์ปกติ ราวกับว่าต้องการจะกลบวลีอมตะที่ว่า เอาอยู่ … เอาอยู่ … เอาอยู่

นิทรรศการภาพถ่าย Weatherproof วันที่ 4 – 30 กันยายน 2558 ณ WTF Gallery ถ.สุขุมวิท 51

และอีกนิทรรศการ หลายคนคงได้ไปชมมาแล้ว เมื่อคราวจัดแสดงครั้งแรกเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ณ หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ล่าสุดสัญจรไปจัดแสดงที่ หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำหรับนิทรรศการ อยากลืมกลับจำ อยากจำกลับลืม หรือ [un] forgotten ซึ่งแสดงผลงานภาพถ่ายชุด “อยากลืมกลับจำ” ของช่างภาพชาวไทย เล็ก เกียรติศิริขจร ที่ถ่ายทอดเรื่องราวความเจ็บปวดที่สังคมไทยได้ประสบเมื่อคราวน้ำท่วมครั้งใหญ่ ในปี 2554 ภาพถ่ายที่ดูเเน่นิ่งเเต่แฝงไปด้วยนัยต่างๆและย้ำเตือนเราว่า

“หนึ่งในสาเหตุใหญ่ที่ทำให้เกิดภัยพิบัติในครั้งนี้คือการพัฒนาของเขตเมืองในประเทศไทย อย่างไม่เป็นระบบมาอย่างยาวนาน แต่การขาดความเข้าใจในปัญหาและการจัดการที่ผิดพลาด จากนักการเมืองผู้รับผิดชอบทำให้สถานการณ์ยิ่งทรุดหนักลง

ปัญหาการคอรัปชั่นและการเล่นเกมการเมือง ระหว่างพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน ทำให้ประชาชนรู้สึกว่า ถูกทอดทิ้งอยู่กับความสิ้นหวัง”

และผลงานภาพถ่ายชุด “อยากจำกลับลืม” ของ 2 ช่างภาพชาวสวิตเซอร์เเลนด์ สเตฟานี บอร์คาร์ และ นิโคลา เมโทร ผู้ได้ตามติดเเละบันทึกภาพอิริยาบถต่างๆของผู้ป่วยที่กำลังเผชิญภาวะสมองเสื่อม (อัลไซเมอร์) ณ “บ้านกำลังใจ” บ้านพักฟื้นผู้ป่วยแห่งหนึ่งใน จ.เชียงใหม่ เป็นภาพถ่ายเชิงสารคดีที่แฝงนัยเรื่องราวความเจ็บปวดด้านความทรงจำ

โดยจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งบ้านพักฟื้นแห่งนี้ เริ่มมาจากเรื่องราวส่วนตัวของ “มาร์ติน” เมื่อพ่อของเขากระทำอัตวินิบาตกรรม เนื่องจากความเครียด จากอาการป่วยของภรรยาด้วยโรคอัลไซเมอร์ เขาต้องดูแลมาร์กริท แม่ของเขาตามลำพัง

แต่เนื่องด้วยทางประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ดูเหมือนจะไม่จูงใจให้เขาในเรื่องการรักษาแม่ ทั้งเรื่องของระบบและการเงิน เขาจึงไตร่ตรองและตัดสินใจพาแม่มายังประเทศไทย เพื่อปรับวิธีการที่จะรักษาแม่ กระทั่งได้ก่อเกิดบ้านพักฟื้นขึ้น

“โรคนี้จะกลืนกินทุกสิ่ง รวมถึงความทรงจำในช่วงชีวิต ชีวิตกลับกลายเป็นมืดมัว ลืมแม้กระทั่งตัวเอง มันคือสภาวะสิ้นสุด ในการดำรงอยู่” คือสิ่งที่ภาพถ่ายบอกเล่ากับผู้ชม

นิทรรศการภาพถ่าย อยากลืมกลับจำ อยากจำกลับลืม [un] forgotten วันที่ 4-30 กันยายน พ.ศ.2558 ณ หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It