Art Eye View

100 ปี “สะพานร้องไห้” มรดกเมืองที่ต้องรักษา

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW—ใครที่ใช้สะพานข้ามคลอง บริเวณท่าเรือผ่านฟ้า ที่ชื่อว่า “สะพานมหาดไทยอุทิศ”หรือที่หลายคนเรียกติดปาก “สะพานร้องไห้” เป็นเส้นทางในการสัญจรอยู่บ่อยๆ

ทราบหรือไม่ว่าสะพานแห่งนี้มีอายุครบ 100 ปี ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2557)

ในบรรดาสะพาน ในเขตกรุงเทพมหานคร ที่มีความเก่าแก่และ สวยงาม ส่วนใหญ่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่ง “สะพานมหาดไทยอุทิศ” ก็เป็นหนึ่งในจำนวนสะพานเหล่านั้น

แต่ “สะพานมหาดไทยอุทิศ” มีความพิเศษกว่าสะพานอื่นๆ ตรงที่ โครงสร้างเดิมของสะพาน ยังมีความสมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ประติมากรรมและลายปูนปั้นประดับสะพาน หลงเหลือมาถึงปัจจุบัน 95 -98 เปอร์เซ็นต์

โดยงานประติมากรรม ซึ่งเป็นงานปูนปั้นรูปคนเต็มตัว ตลอดจนลายปูนปั้นประดับสะพาน สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือของ นายวิตโตริโอ โนวี (Vittorio Novi) ประติมากร ชาวอิตาเลียน ที่เข้ามารับราชการอยู่ในสยาม ตั้งแต่ปี พ.ศ.2455 และยังเป็นผู้ปั้นลวดลายประดับตกแต่งพระที่นั่งอนันตสมาคม เคยได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทิพยาภรณ์ช้างเผือก ชั้นที่ 5 หรือ เครื่องราชอิสริยาภรณ์เบญจมาภรณ์ช้างเผือก ในปัจจุบัน

ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้กล่าวกันว่า “สะพานมหาดไทยอุทิศ” เป็นหนึ่งใน “เพชรน้ำงาม” ของ “มรดกเมือง” ที่ยังหลงเหลืออยู่ของกรุงเทพมหานคร


อย่างไรก็ตาม สะพานแห่งนี้ก็มีความเสี่ยงต่อการชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลาไม่แตกต่างจากสะพานอื่นๆ ด้วยเป็นสะพานเก่าที่ไม่สามารถรับน้ำหนักได้มาก และมีความกว้างไม่มากพอต่อการสัญจร

เวลาเกิดอุบัติเหตุบนสะพาน และเรือชนสะพาน ส่งผลให้ประติมากรรมและลวดลายประดับสะพานแตกร้าว และโครงสร้างของสะพานชำรุด

รวมไปถึงความชำรุดทรุดโทรมของสะพานอันเกิดจาก การเดินท่อ เดินสายไฟ เดินสายวิทยุ เดินสายโทรศัพท์ ฯลฯ

ที่ผ่านมาบางสะพานเลือกแก้ไขปัญหา ด้วยการขยายโครงการสร้างของสะพาน แต่ยังคงรักษาประติมากรรมและลวดลายประดับตกแต่งสะพานเอาไว้

ขณะที่บางสะพานเลือกขยายเพียงโครงสร้าง แล้วทุบประติมากรรมและลายปูนปั้นประดับสะพานทิ้งไป


ล่าสุดจึงได้เกิด “โครงการอนุรักษ์ประติมากรรมและลายปูนปั้นประดับสะพานในกรุงเทพมหานคร” ซึ่งเป็นโครงการบริการวิชาการแก่ชุมชมของคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งจะมีการเก็บข้อมูลด้านต่างๆของประติมากรรมและลายปูนปั้นประดับสะพานที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 และ 6 เนื่องจากสะพานกลุ่มนี้มีความเสี่ยงต่อการหมดคุณค่าทางสุนทรีย์ลง ดังนั้นข้อมูลต่างๆจะถูกเก็บไว้ใช้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์สะพานในอนาคต

ในขั้นต้นโครงการฯ ได้เลือก “สะพานมหาดไทยอุทิศ” เป็นกรณีศึกษาแรก และเพื่อเป็นการฉลองอายุครบ 100 ปี ของสะพานแห่งนี้ด้วย

เป็นการเก็บข้อมูลที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายๆฝ่าย เนื่องจากต้องอาศัยทั้งความรู้ทางด้านศิลปะและเทคโนโลยีควบคู่กันไป รวมไปถึงความร่วมมือจากเจ้าของพื้นที่

เป็นความร่วมมือระหว่าง คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร

อาจารย์จักรพันธ์ วิลาสินีกุล อาจารย์ประจำคณะจิตรกรรมประติมากรรมและ ภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร หัวหน้า“โครงการอนุรักษ์ประติมากรรมและลวดลายปูนปั้นประดับสะพานในกรุงเทพมหานคร”

ให้ข้อมูลว่า การเก็บข้อมูลของประติมากรรมและลายปูนปั้นประดับสะพานมหาดไทยอุทิศ มี 2 รูปแบบคือ 1.แบบดั้งเดิม ที่มีการถอดแบบด้วยปูนปาสเตอร์ และ 2.แบบที่ต้องอาศัยเทคโนโลยี

“แบบที่เป็นปาสเตอร์แบบดั้งเดิม คือถอดพิมพ์ออกมา แต่แบบนี้ก็มีข้อเสีย คือมีขนาดใหญ่น้ำหนักมาก ต้องใช้พื้นที่เก็บ ผมเริ่มมองว่า การที่เราดึงเทคโนโลยีเข้ามาใช้ที่เรียกว่า 3D Scan แล้วเก็บไว้เป็นไฟล์ดิจิตอล ถ้าวันหลังต้องการซ่อม ไฟล์เหล่านี้ก็เอาไปแปลงลงวัสดุต่างๆ โครงการนี้เราจึงใช้เครื่องมือหลายแบบมาก เพื่อสะดวกต่อเอาข้อมูลไปใช้ในอนาคต”

นอกจากนี้อาจารย์จักรพันธ์ ยังบอกด้วยว่า ผลลัพธ์ของโครงการยังเป็นประโยชน์กับสังคมในหลายด้าน

“ข้อมูลจะถูกนำไปใช้ได้อย่างกว้างขวาง สร้างการตระหนักในเรื่องมรดกเมือง เสริมภาพลักษณ์เรื่องการท่องเที่ยว นำไปสู่ความสนใจในการเดินชมเมือง

ผมอยากกระตุ้นให้มองว่าประติมากรรม และลวดลายปูนปั้น มันไม่ได้มีเฉพาะสะพานนะครับ ยังมีตามอาคารเก่าอีกหลายแห่ง ของกรุงเทพมหานคร

การมีชีวิตอยู่ในเมือง มันมีวัฒนธรรม มีความงาม มีเรื่องราว ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายมาก ถ้าไม่มีการเก็บรักษา

อาจารย์ศิลป์(พีระศรี) เขียนไว้ในบทความครั้งหนึ่งว่า ..เมืองที่ประดับตกแต่งไปด้วยศิลปะอันงดงามมันจะทำให้จิตใจดีงาม”

ภาพโดย : ART EYE VIEW






ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It