ART EYE VIEW— ผลงานภาพวาดสีน้ำกว่า 60 ภาพ ที่ยังไม่เคยแสดงที่ใดมาก่อน ของ 4 ศิลปิน ได้แก่ นำชัย แสนสุภา, พีระ โภคทวี, ดิเรก กิ่งนอก และ ศุภวัฒน์ หิรัญธนวิวัฒน์ ผู้ต่างมีแนวทางฝีแปรงแตกต่างกันแต่รักในการเขียนภาพสีน้ำเหมือนกัน กำลังจัดแสดงให้ชมพร้อมกันผ่าน นิทรรศการภายใต้ชื่อ 4 สายน้ำ ( 4 Flows Watercolor painting exhibition )
เพราะเมื่อพวกเขารวมตัวกันเป็นดั่งสายน้ำที่ไหลลื่นมาบรรจบกันอย่างมีเอกลักษณ์กลมเกลียว ผลงานเปี่ยมด้วยอรรถรสหลากหลาย ทั้งภาพทิวทัศน์ท้องนา ภาพชีวิตเมือง ภาพสถาปัตยกรรมไทย และภาพเขียนคนเหมือน
ก่อนไปชมนิทรรศการ รู้จักศิลปินแต่ละคนให้มากขึ้นผ่านส่วนหนึ่งของคำนิยมที่ จิก – ประภาส ชลศรานนท์ เขียนถึงศิลปินแต่ละคน
ดิเรก มีผลงานและชื่อเสียงกว้างขวางเป็นที่ยอมรับไปถึงต่างแดน เขาเปิดแสดงงานมามากมาย มีผลงานขึ้นปกนิตยสารสีน้ำระดับโลกมาก็ไม่น้อย หลังจากเรียนจบดิเรกก็ผนึกชีวิตตัวเองเป็นเนื้อเดียวกันกับสีน้ำ ไม่ยอมประกอบอาชีพอื่นใด คนที่เคยดูงานของดิเรกก็จะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า งานของเขาเป็นงานสีน้ำที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวาอย่างแท้จริง ความใสและความแม่นยำในเชิงสีน้ำของเขา ทำให้คนดูรูปได้เห็นไปถึงการเคลื่อนไหวของแสง ของลม และของผู้คนในภาพอย่างน่าอัศจรรย์ ทุกครั้งที่ดูรูปเขียนของดิเรก ผมจะรู้สึกเสมอว่าบรรยากาศและเรื่องราวชีวิตในรูปมันดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง อย่างมีชีวิต และกำลังดำเนินต่อไปในม่านน้ำและสีสันที่ดิเรกสร้างขึ้นเสมอ
นำชัย เป็นคนเขียนสีน้ำรูปชีวิตชาวนาที่ดีที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นมา เขาใช้ฝีแปรงไม่มากนักตามขนบของสีน้ำ ความฉับไวในการลงสีและความเข้าใจในชีวิตกลางท้องทุ่งของเขาทำให้คนดูรูปสามารถจินตนาการไปได้ไกล บางทีอาจไกลไปถึงได้กลิ่นของดินและกลิ่นของรวงข้าวที่ลอยมาเตะจมูกราวกับได้ยืนอยู่ข้างคันนาตรงนั้น การเขียนน้อยๆของเขา ทำให้คนดูกระเจิดกระเจิงถึงขั้นได้ยินเสียงปลาดุกดีดดิ้นในน้ำที่เอ่อขังอยู่ในรูป ความลึกซึ้งในวิถีชีวิตในรูปเป็นสิ่งสำคัญของศิลปิน ฝีมือและอะไรสักอย่างในตัวของนำชัยทำให้หลายครั้งผมมองเห็นไปถึงกล้ามเนื้ออันผอมเกร็งแต่แข็งแรงของชาวนาที่กำลังดำนาอยู่ แม้จะมาจากเส้นพู่กันที่จุ่มสีไม่กี่เส้นที่ซึมผ่านน้ำในกระดาษนั้นอย่างฉับพลัน
พีระ ศิลปินนักเขียนภาพคนที่มีเอกลักษณ์มากที่สุดคนหนึ่งที่ผมรู้จัก เขาใช้คุณสมบัติพิเศษของน้ำที่มีทั้งความใสและความพร่าเบลอเล่าเรื่องคนที่เขาวาดได้อย่างน่าทึ่ง เขาไม่ใช่นักวาดรูปประเภทที่คนดูรูปต้องอุทานว่าเหมือนเปี๊ยบ วงหน้าและแววตาของคนที่พีระวาดมักจะมีเสน่ห์มากกว่าแค่รูปเหมือนรูปหนึ่ง ร่องรอยพู่กันและน้ำหนักของสีเจือน้ำในรูปของเขาสร้างเรื่องราวในความรู้สึกให้คนดูรูปรู้จักคนๆนั้นในอีกมิติหนึ่ง ที่ไม่ใช่แค่ดูรูปเหมือนธรรมดาๆ ม่านหมอกบางๆที่ผ่านเงามืดในรูปของเขาสามารถสร้างความรู้สึกที่เป็นทั้งสะพานและกำแพงระหว่างคนในรูปและคนดูรูปอย่างน่าสนเท่ห์
ศุภวัฒน์ เป็นศิลปินที่เขียนรูปสนุก สนุกทั้งลีลาตอนวาดและสนุกทั้งรูปที่เขาวาดเสร็จแล้ว อาจจะเป็นด้วยเขาเคยผ่านงานการเป็นศิลปินนักแสดงมาก่อนทำให้เขาเชื่อมโยงเอาศิลปะสองประเภทมาไว้ด้วยกันได้ ศุภวัฒน์เป็นศิลปินที่วาดวัดวาอารามได้แม่นยำมากที่สุดคนหนึ่งในเชิงสีน้ำ วิชาสถาปัตยกรรมไทยที่เขาเล่าเรียนมาจนเป็นถึงครูบาอาจารย์ ทำให้ช่อฟ้าใบระกาที่เขาสร้างขึ้นมาบนกระดาษด้วยการป้ายสีไม่กี่ทีเป็นวัดอย่างสวยงามที่มีสัดส่วนถูกต้องจริงๆ ความน่าสนใจของรูปวัดวาที่ศุภวัฒน์วาดในความรู้สึกของผมก็คือ รูปของเขาเป็นรูปที่ดูสนุก วัดในรูปเมื่อดูแล้วจะรู้สึกถึงความรุ่งเรือง คึกคักและเจิดจ้า อารามในรูปของเขาจะไม่รู้สึกถึงความเชยหรือความเก่า ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ในงานของศุภวัฒน์เสมอ
นิทรรศการ 4 สายน้ำ( 4 Flows Watercolor painting exhibition ) โดย 4 ศิลปิน ได้แก่ นำชัย แสนสุภา, พีระ โภคทวี, ดิเรก กิ่งนอก, ศุภวัฒน์ หิรัญธนวิวัฒน์
พร้อมการจัดแสดงผลงานของศิลปินรับเชิญ 4 ท่าน ได้แก่ ทองสุข สวัสดิ์นที, สุกิจ ศุกระกาญจน์, บุญกว้าง นนท์เจริญ และ สุวิทย์ ใจป้อม
เปิดแสดงระหว่างวันที่ 26 มกราคม – 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2559 ณ ห้องนิทรรศการชั้น1 ห้อง 1 หอศิลป์จามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (พิธีเปิดนิทรรศการ: 30 มกราคม 2559 เวลา 17.30น.)
นอกจากนี้เชิญผู้ที่สนใจชม สาธิตวาดภาพสีน้ำ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ ตามวันและเวลา ดังต่อไปนี้ โดยในแต่ละวันจะมีศิลปิน 2 ท่านร่วมสาธิตวาดภาพให้ชมพร้อมกัน
วันอาทิตย์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2559 เวลา 14.00-17.00 น. วิทยากร พีระ โภคทวี และ ดิเรก กิ่งนอก
วันอาทิตย์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2559 เวลา 14.00-17.00 น. วิทยากร นำชัย แสนสุภา และ ศุภวัฒน์ หิรัญธนวิวัฒน์
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews
Comments are closed.