Art Eye View

คำตอบจากริมน้ำ ของ “ดวงฤทธิ์ บุนนาค” ต่อกรณี “โครงการสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา งบ 1.4 หมื่นล้านบาท”

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW—เวทีเสวนา “คำตอบจากริมน้ำ” ส่วนหนึ่งของ “เทศกาลเพื่อนแม่น้ำ : เสียงจากชุมชนริมน้ำ” จัดโดย กลุ่ม Friends of the River เมื่อช่วงบ่ายวันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ.2559 บริเวณใต้สะพานพระราม 8 ใกล้ชุมชนบ้านปูน ฝั่งธนบุรี

เพื่อร่วมแสดงเห็นต่อกรณี โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (การก่อสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา 2 ฝั่ง จะมีระยะทางฝั่งละ 25 กม. รวมทั้งสิ้น 50 กม. เริ่มจากสะพานพระราม 3 ไปสิ้นสุดที่สะพานพระนั่งเกล้า ด้วยงบการก่อสร้าง 3 หมื่นล้านบาท)

ที่รัฐบาลหยิบยกให้เป็นวาระเร่งด่วน โดย กระทรวงมหาดไทย (มท.) และสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพ ขณะที่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ได้รับการว่าจ้างให้เป็นที่ปรึกษาในการศึกษาสำรวจออกแบบ และจัดทำแผนแม่บทในการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำ

และการก่อสร้างทางเลียบแม่น้ำเฟสแรก (ระยะทางรวม 14 กม. ตั้งแต่สะพานพระปิ่นเกล้า ไปจนถึง สะพานพระราม 7) จะเริ่มขึ้นและตอกเสาเข็มภายในเดือน ตุลาคม 2559 ด้วยมูลค่าการก่อสร้าง 1.4 หมื่นล้านบาท เพื่อให้เปิดใช้งานได้ทันในปี พ.ศ.2560-2561

ตามกำหนดการณ์เดิมของเวทีเสวนา “คำตอบจากริมน้ำ” ศุภมาศ พะหุโล ภัณฑาารักษ์ (Curator) ของ Bangkok CityCity Gallery คือหนึ่งในรายชื่อวิทยากรที่ถูกเชิญมาร่วมวงเสวนา ในฐานะคนทำงานสร้างสรรค์กับความพยายามเชื่อมโยงงานศิลปะและกลุ่มศิลปินต่างๆเข้ามาพลิกฟื้นพื้นที่ริมน้ำร่วมกับชุมชน

แต่เมื่อเวลาของการเสวนาเดินทางมาถึง กลับพบว่า ดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกและนักออกแบบ เจ้าของบริษัท ดวงฤทธิ์ บุนนาค จำกัดและเจ้าอาณาจักร The Jam Factory พื้นที่สร้างสรรค์ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ย่านคลองสาน คือตัวแทนของฝั่งคนทำงานสร้างสรรค์ที่เดินทางมาร่วมเป็นหนึ่งในวิทยากรแทนศุภมาส

ในฐานะสถาปนิก คนทำงานสร้างสรรค์ คนกรุงเทพฯ และคนไทยคนหนึ่ง ที่ได้มีโอกาสใช้ประโยชน์จากแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่แตกต่างจากหลายๆคน ดวงฤทธิ์มีความเห็นอย่างไรต่อโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

ART EYE VIEW นำความเห็นของเขาที่แสดงไว้ในเวทีเสวนามาฝาก สำหรับผู้ที่ไม่มีโอกาสได้เดินทางไปฟังในวันนั้น ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่า ดวงฤทธิ์เป็นหนึ่งในจำนวนผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ เช่นเดียวกับ ชุมพล อักพันธานนท์ จาก บ้านศิลปิน คลองบางหลวง และ ALex Face ศิลปินแนว Street Art ชื่อดังที่มีผลงานฝากไว้ในหลายประเทศ ก็คือส่วนหนึ่งของคนทำงานสร้างสรรค์ที่ได้ออกมาเคลื่อนไหวร่วมกับ กลุ่ม Friends of the River ผ่านการทำกิจกรรมด้านศิลปะ และได้ฝากผลงานไว้บนกำแพงของชุมชนบ้านปูน หนึ่งในชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างทางเลียบแม่น้ำเฟสแรก

“โครงการนี้ไม่จำเป็นต้องมีเลย ถ้าเกิดว่ามันจะต้องทำอะไรแบบนี้จริงๆ มันต้องมีการศึกษาเป็นระดับเมือง ถอยไปดูระดับเมืองเลย แล้วศึกษาว่าเมืองมันต้องการหรือเปล่า ถ้ามีคนบอกว่ามันมีความจำเป็นต้องทำต้องเกิดขึ้น

มันไม่ใช่ในลักษณะที่ว่าอยู่ดีๆก็มีข้าราชการหรือนักการเมืองมาบอกว่า โอเค…ฉันจะทำถนนนี้แล้วก็ทำ อันนี้ไม่ใช่วิธีของมันครับ ถึงแม้ว่ามันจะต้องมีจริงๆ สมมุติว่ามันจะต้องมีขึ้น วิธีการที่มันจะเกิดขึ้น มันจะต้องเกิดในลักษณะที่ว่า คนออกแบบมานั่งคุยกับชาวบ้านก่อน คุยกับ 30 ชุมชน หรือ 200 ชุมชนริมแม่น้ำ ว่ายูอยากได้อะไร แล้วชาวบ้านเป็นคนขีดเส้นครับ ฉันอยากให้ถนนไปทางนี้ ฉันอยากให้มันมีตรงนี้ แล้วไอ้ 200 ชุมชนริมแม่น้ำเป็นคนทำแบบขึ้นมา

ไม่ใช่มีสถาปนิกที่อัจฉริยะมากคนนึง เดินมาแล้วก็ขีดเส้น มันต้องมีอย่างนี้ๆ แล้วบอกว่าอันนี้เป็นเรื่องวิเศษนะ ยูรับไป อันนี้ไม่ใช่วิธีทำงานให้ถูกกต้อง

ผมถึงบอกว่า ย้อนกลับไปก่อน จำเป็นต้องมีไม๊โครงการนี้ มันไม่จำเป็นต้องมีนะฮะ ตั้งสตินิดนึง มันไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ แล้วอย่างที่คุณรสนา(โตสิตระกูล)ว่าเอาเงิน 1.4 หมื่นล้านบาท ไปทำอย่างอื่นก็ได้มีประโยชน์เยอะแยะ

ตอนนี้มันอยู่ตรงนี้ฮะ คนที่แบบโครงการอันนี้คือ สจล. และเป็นสถาบันการศึกษา เราก็ต้องคุยกับ สจล.ในเชิงวิชาการ บอกว่า วิธีที่คุณทำอยู่เนี่ยมันถูกต้องไม๊ตามหลักวิชาชีพ มันถูกต้องตามหลักการหรือเปล่า

เราก็ต้องสู้รบกันแบบนี้ฮะ ให้เค้าเห็นว่า สิ่งที่เค้าทำอยู่ มันไม่สามารถที่จะถูกทำได้ในเวลา 7 เดือน และก็ต้องทำให้เขาไปถึงจุดหนึ่งที่ต้องยอมแพ้ไป โครงการนี้มันจะชะลอไปอีกสักพักนึงนะฮะ ถ้า สจล.ถอนตัว และที่รับไปแล้วรู้สึกว่า เออๆ ไม่ดีโว้ย ไม่ทำดีกว่า อันนี้ก็จะชะลอไปอีกพักนึงนะครับ ก็แล้วแต่ว่าใครจะเบื่อก่อนกัน ข้าราชการจะเบื่อก่อนหรือเราจะเบื่อก่อนกัน แต่พวกผมไม่เบื่ออยู่แล้ว สู้กันไปจนกว่ามันจะเลิกทำ

จริงๆแล้วประเด็นที่ทำโครงการนี้มีเหตุผลเดียวนะฮะ เพราะว่ามันอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ต้องเวนคืน มันง่าย และก็มันเร็ว แล้วถ้าสงสัยว่าไอ้หนึ่งจุดสี่หมื่นล้านที่ง่ายและเร็วมันได้ประโยชน์อะไร มันก็คอรัปชั่นนะฮะ ไม่ต้องสงสัยเป็นอย่างอื่น ชัดเจนว่ามันคอรัปชั่นแน่ๆ แต่ว่าเค้าก็ต้องพูดในวิธีที่มันสวยงามและดูดีสำหรับพวกเรา

ผมยืนยันว่ามันไม่มีเหตุผลอื่นครับที่จะทำถนนในแม่น้ำ ยาว 14 กิโลเมตร ด้วยเงิน 1.4 หมื่นล้านบาท ถ้าคุณจะไม่คอรัปชั่น เพราะว่าชาวบ้านไม่ได้อยากได้ ในแง่วิชาการ ไม่มีความจำเป็นต้องทำ ในแง่ผังเมือง เราคุยกับนักผังเมืองมาทุกสถาบันแล้ว บอกว่าอันนี้เป็นเรื่องบ้ามากที่ทำ ไม่มีใครต้องการจะทำ ในต่างประเทศก็ไม่มีใครต้องการจะทำอะไรแบบนี้

มีเหตุผลที่ทำก็คือว่าเขาต้องการให้กระแสเงินหมุนเสีย 1.4 หมื่นล้านบาทในระบบของเขา มันเป็นเหตุผลเดียวที่เขาจะทำกัน เราต้องตั้งสตินิดนึง ดูที่มาที่ไปนะครับ แล้วก็ถามตัวเองว่าคุณอยากได้มันไม๊ ถ้าคุณคิดว่ามันไม่มีประโยชน์กับคุณ คุณไม่จำเป็นต้องรับมัน เพราะมันถูกสร้างด้วยภาษีพวกคุณนะครับ แค่นั้นเอง”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง…. หลากหลายกิจกรรมศิลปะเพื่อชุมชน ใน “เทศกาลเพื่อนแม่น้ำ : เสียงจากชุมชนริมน้ำ”




ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.manager.co.th Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It