ART EYE VIEW—พักนี้ไม่ใช่มีแต่ช่างภาพ ที่ออกไปส่องธรรมชาติ “ล่าช้าง” (ทางช้างเผือก) มาให้เราชมผ่านภาพถ่าย นักออกแบบ เขาก็สนใจล่าเช่นกัน และล่ามาไว้ในผลงานออกแบบ
ดังเช่น 2 นักออกแบบ จาก 2 ทวีป เกษตร น้อยพิทักษ์ ศิษย์เก่าสถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์ รุ่น 5 และ มร. แดเนียล มาตินเซ่ ทิเนน่า อาจารย์ประจำสาขาการออกแบบตกแต่งภายในและผลิตภัณฑ์ สถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์
ทั้งคู่กำลังจะนำผลงานออกแบบในแนว New Experimental ซึ่งร่วมกันผสานไอเดีย ไปจัดแสดงในงานสถาปนิก ที่ปีนี้จัดขึ้นภายใต้โจทย์ อาษาสู่สามัญ (ASA back to basic) ที่เมืองทองธานี
นอกจากผลงานชุดนี้ ซึ่งมีชื่อชุดว่า คอลลิชั่น (Collision) จะเป็นผลงานออกแบบที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ยังถูกนิยามว่าเป็น “คอลเลคชั่นแห่งทางช้างเผือก” ที่มาที่ไปคืออย่างไร ทั้งคู่น่าจะบอกเล่าได้ดีที่สุด
“ปัจจุบันแนวคิดด้านงานออกแบบ ไม่ได้คำนึงถึงแค่เพียงประโยชน์ใช้สอย ความสวยงาม หรือการสะท้อนตัวตนของดีไซเนอร์ เพียงมุมใดมุมหนึ่งอีกต่อไป งานดีไซน์จะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญด้วย ดังนั้น สถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์ จึงได้ร่วมมือกับ บริษัท พาเนล พลัส จำกัด ผู้นำในธุรกิจวัสดุทดแทนไม้แนวหน้าของเมืองไทย ในการพัฒนาออกแบบผลงานเฟอร์นิเจอร์ และอุปกรณ์ตกแต่งบ้านจากวัสดุทดแทนไม้ โดยผลงานคอลเลคชั่น คอลลิชั่น (Collision) ในครั้งนี้ ได้พัฒนาดีไซน์จากไม้เอ็มดีเอฟ (Medium Density Fibreboard) ซึ่งทำจากไม้ยางพาราที่หมดอายุการให้น้ำยางแล้วมาผลิตโดยกรรมวิธีที่ทันสมัย ได้คุณภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” เกษตร นักออกแบบชาวไทย กล่าว
ขณะที่ มร. แดเนียล ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับแรงบันดาลใจ อันเป็นที่มาของงานออกแบบคอลเลคชั่นแห่งทางช้างเผือก ว่า
“จุดเริ่มต้นผลงานคอลเลคชั่น คอลลิชั่น” (Collision) คือการต่อยอดความโดดเด่นพื้นฐานของวัสดุทดแทนไม้ ที่มีความเรียบเนียน มีเส้นคมที่เกิดจากการตัด นำมาผสมผสานกับแรงบันดาลใจของนักออกแบบ คือ ทางช้างเผือก ที่มีดวงดาวระยิบระยับ หรือแสงเหนือที่มีแสงสีสันที่งดงาม รวมถึงเศษแรงเหวี่ยงของดวงดาวที่พวยพุ่งด้วยความเร็วสูงทำให้เกิดสะเก็ดดาวหรืออุกกาบาต ทั้งหมดนี้จึงนำมาใช้เป็นแนวคิดสร้างสรรค์ผลงานทั้งเรื่อง แสง สี รวมทั้งความเร็วและทิศทางของการตัดทำให้เกิดเป็นรูปทรงที่ให้ความรู้สึกถึงความเร็ว
คอลเลคชั่น ‘คอลลิชั่น’ จึงสร้างสรรค์เป็นกระจกที่ไม่ได้ใช้เพื่อส่องหาความงามหรือข้อบกพร่องบนใบหน้าของคน แต่ส่องเพื่อสะท้อนให้เกิดจินตนาการของห้วงอวกาศ เสมือนมองออกมาจากยานอวกาศสู่ห้วงกาแล็คซี่ทางช้างเผือก รวมทั้งโคมไฟที่ให้ความรู้สึกของลำแสงดาวหางที่พุ่งเป็นเส้นคมในอวกาศ”
นอกจากจะเป็นศิษย์เก่าเกษตรเคยรับทุนการศึกษาจากสถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์ ไปศึกษาต่อด้านออกแบบออกแบบผลิตภัณฑ์และตกแต่งภายใน (Interior and Product Design del prodotto d’arredo) ณ เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ,เคยทำงานให้กับบริษัทออกแบบชั้นนำในประเทศไทยมากมาย เช่น บริษัท โมเดอร์นฟอร์มกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ฯลฯ และเป็นนักออกแบบที่มีความเชี่ยวชาญด้านการออกแบบพื้นที่
ด้าน มร. แดเนียล นักออกแบบชาวสเปน ก่อนจะมาเป็นอาจารย์สอนที่สถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์ เขาจบการศึกษาด้านการออกแบบจาก สถาบัน Écolecantonale d'art de Lausanne (ECAL) ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ และเคยทำงานด้านการออกแบบให้แบรนด์หรูระดับโลก อาทิ Hermes และ Chritofle รวมทั้งมีประสบการณ์การสอนด้านงานดีไซน์มาแล้วทั่วโลก อาทิ ประเทศสเปน จีน และอินเดีย
ผลงานของเกษตรและมร. แดเนียล จะจัดแสดงให้ผู้สนใจได้ชม ณ โซนแสดงผลงานของ พาเนล พลัส (บูธ F105) ในงานสถาปนิก อาษาสู่สามัญ (ASA back to basic) ระหว่างวันที่ 26 เม.ย. – 1 พ.ค. 2559 ณ ชาเลนเจอร์ฮอลล์ 1-3 เมืองทองธานี (ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชมงาน)
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.manager.co.th Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews
Comments are closed.