Art Eye View

สงคราม “ศิลปะ” ยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพศิลปิน กรณีผลงานศิลป์ “รศ.สุธี คุณาวิชยานนท์” ในนิทรรศการรำลึกเรียกร้องประชาธิปไตยที่กวางจู

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW—ยังคงมีความเคลื่อนไหวให้ติดตามต่อ สำหรับกรณีกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า นักกิจกรรมวัฒนธรรมเพื่อประชาธิปไตย หรือ กวป. ซึ่งประกอบไปด้วย อาจารย์ นักวิชาการ และศิลปิน จำนวน 118 คน ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง พิพิธภัณฑ์ศิลปะกวางจู เพื่อให้ทางพิพิธภัณฑ์ฯและภัณฑารักษ์ (curator) ผู้คัดสรรผลงานศิลปะ ทบทวนเรื่องการนำผลงานของ รองศาสตราจารย์สุธี คุณาวิชยานนท์ ศิลปินและหัวหน้าภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ไปร่วมแสดงในนิทรรศการศิลปะชุด The Truth – to Turn It Over (ส่วนหนึ่งของเทศกาลประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และสันติภาพ เพื่อรำลึกเหตุการณ์ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยที่กวางจู เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ.1980 หรือ พ.ศ.2523) ระหว่างวันที่ 10 พฤษภาคม -15 สิงหาคม พ.ศ.2559 ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะกวางจู ประเทศเกาหลีใต้

เนื่องจากทาง กลุ่ม กวป.อ้างว่า รศ.สุธี เป็นหนึ่งในบรรดาศิลปินที่เคยเข้าร่วมกับ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทาง กวป.มองว่า ต่อต้านการเลือกตั้ง สนับสนุนให้นำไปสู่ การทำรัฐประหาร วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 และผลงานศิลปะส่วนหนึ่งที่ รศ.สุธี นำไปจัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ ก็เป็นผลงานที่ทำขึ้นในช่วงที่มีการเคลื่อนไหวในนามกลุ่ม กปปส. ขัดเจตนารมณ์ของการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยที่กวางจู

หลังจากนั้น ลิม จง ยอง ภัณฑารักษ์พิพิธภัณฑ์ศิลปะกวางจู ได้ให้สัมภาษณ์สื่อภายประเทศเกาหลีใต้ว่า การทักท้วงทั้งจากบุคคลและหน่วยงานในเกาหลีใต้ รวมถึงประเทศไทย อาจมีการหารือเพื่อปลดผลงานศิลปะชุด Thai Uprising ซึ่งเป็น 1 ในจำนวนผลงานศิลปะทั้งหมด 4 ชุดของ รศ.สุธีที่นำไปจัดแสดงที่กวางจู ออกจากนิทรรศการ

ขณะที่ รศ.สุธี ได้เคยออกมาปฏิเสธว่า ที่ผ่านมาไม่เคยสนับสนุนให้มีการทำรัฐประหาร ,ไม่ใช่สมาชิกกลุ่ม กปปส. และการที่ออกมาร่วมทำกิจกรรมกับกลุ่มศิลปิน นักร้อง นักแสดง ในนามกลุ่ม Art Lane เพื่อสนับสนุนการเคลื่อนไหวของ กลุ่ม กปปส. ก่อนหน้าที่จะมีการทำรัฐประหาร เพราะมีแนวคิดบางอย่างที่ตรงกัน คือ ต่อต้านรัฐบาลที่คอรัปชั่น และคัดค้าน พรบ.นิรโทษกรรม

ด้าน มานิต ศรีวานิชภูมิ ช่างภาพชื่อดัง เจ้าของคัดมันดูโฟโต้ แกลเลอรี่ และวสันต์ สิทธิเขตต์ ศิลปิน,นักเคลื่อนไหว และศิลปินรางวัลศิลปาธร สาขาทัศนศิลป์ ประจำปี 2550 ในนามศิลปินที่เคยร่วมแสดงผลงานในเทศกาล กวางจู เบียนนาเล่ 2006 และกวางจู เบียนนาเล่ 2004 ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง ลิม จง ยอง ภัณฑารักษ์ และ พิพิธภัณฑ์ศิลปะกวางจู เพื่อสนับสนุนให้มีการแสดงผลงานศิลปะของ รศ.สุธี  ต่อไป โดยรายละเอียดส่วนหนึ่งในจดหมายระบุว่า รศ.สุธี เป็นศิลปินที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาโดยตลอด ไม่ใช่ต่อต้าน และชี้แจ้งถึงเหตุผลเมื่อครั้งที่ รศ.สุธี ต้องออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง

“ตามที่ปรากฏข่าวบนโซเชียลมีเดีย และหนังสือพิมพ์ไทยบางฉบับว่า ท่านได้รับจดหมายจากคนไทยกลุ่มหนึ่ง ประท้วงการจัดแสดงผลงานศิลปะ ในนิทรรศการ The Truth – to Turn It Over’ ของ อาจารย์สุธี คุณาวิชยานนท์ โดยกล่าวหาว่า “ต่อต้านประชาธิปไตย” (Anti democracy) เพราะผลงานและตัวศิลปินผู้มีส่วนร่วมในการประท้วงใหญ่ “ปิดกรุงเทพฯ” จนนำไปสู่การรัฐประหาร ซึ่งขณะนี้ท่านกำลังพิจารณาเรื่องนี้ว่าจะดำเนินการอย่างไรนั้น

ข้าพเจ้า, ศิลปินไทยผู้รักประชาธิปไตยเช่นกัน ขอส่งสารฉบับนี้มาสนับสนุนการคัดเลือกและแสดงผลงานชุดนี้ที่ท่านเป็นผู้ คัดเลือกว่า เหมาะสมและสะท้อนภาพการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชนไทยโดยศิลปินไทยได้ เป็นอย่างดี

การกล่าวหาผลงานชุดนี้ว่า “ต่อต้านประชาธิปไตย” เพียงเพราะศิลปินเป็นพันธมิตรเข้าร่วมประท้วงกับกลุ่ม กปปส. จนเป็นเหตุอันนำไปสู่การรัฐประหารนั้น นับเป็นข้อกล่าวหาอันตื้นเขิน ไร้เหตุผล ไม่อาจยอมรับได้

การประท้วงของสุธีและประชาชนผู้มีใจบริสุทธิ์ และรักความถูกต้อง จำนวนนับล้านทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด เป็นการต่อสู้ขับไล่รัฐบาลเผด็จการรัฐสภา ที่พยายามผ่านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมอัปยศ เพื่อช่วยเหลือ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยให้พ้นความผิดที่ถูกตัดสินลงโทษจำคุก 2 ปี ในข้อหาคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นพี่ชาย นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้น ตลอดจนถึงขบวนการปล้นภาษีประชาชนโดยรัฐบาลของเธอเองในโครงการประชานิยม “รับจำนำข้าว” ที่สร้างความเสียหายให้แก่ประเทศไทยหลายแสนล้านบาท (เรื่องเช่นนี้ชาวเกาหลีเคยต่อสู้มาแล้ว)

การต่อสู้ดังกล่าวไม่อาจเรียกเป็นอย่างอื่นไปได้ นอกจาก “การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย” และนั่นคือสิ่งที่สุธีและพวกเราทุกคนที่นี่กำลังทำอยู่ (เรื่องนี้จึงอยากขอให้ท่านศึกษาประวัติการทำงานศิลปะของสุธีให้ดี จะพบว่าเขาไม่เคยเรียกร้องหรือสนับสนุนเผด็จการในทุกรูปแบบ)

การเกิดรัฐประหารนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มี “นักต่อสู้ประชาธิปไตย” คนใดต้องการให้เกิด และหากไม่มีเหตุผลปัจจัยเพียงพอ เช่น ความรุนแรง รัฐประหารก็ไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นได้ ทำไมกลุ่มผู้คัดค้านผลงานของสุธีจึงป้ายความผิดให้แก่ผู้ชุมนุมประท้วงเพียง ฝ่ายเดียว ทำไมพวกเขาเหล่านั้นจึงไม่ไปกล่าวหาฝ่ายรัฐบาลเผด็จการสภาอันเป็นต้นเหตุ

ผลงานของสุธีไม่มีความผิด และไม่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารแต่อย่างใด ผลงานเหล่านี้เกิดขึ้นในบริบทของการประท้วงรัฐบาล ณ ขณะนั้น

ข้าพเจ้าจึงขอเรียกร้องให้ท่านมีสติและมีความอดทนต่อกระบวนการ “ใส่ร้ายป้ายสี” ทำลายเกียรติยศและชื่อเสียงของ สุธี คุณาวิชยานนท์ ศิลปินผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาโดยตลอด และต้องขออภัยที่ท่านและองค์กรของท่านต้องเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองอัน สลับซับซ้อน สงครามสร้างภาพลักษณ์ การแย่งชิงมวลชน, อำนาจ และผลประโยชน์ของไทย”


จากจดหมายเปิดผนึกฉบับแรกของกลุ่ม กวป. ที่ต้องการให้ภัณฑารักษ์และพิพิธภัณฑ์ศิลปะกวางจูทบทวนการจัดแสดงผลงานศิลปะของ รศ.สุธี หลังจากนั้นจดหมายฉบับที่ 2 ได้ถูกส่งถึง ลิม จอง ยัง ภัณฑารักษ์ และผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ศิลปะกวางจู พร้อมมีสำเนาถึง มูลนิธิ May 18 Memorial Foundation

รายละเอียดของจดหมาย ปรากฏข้อเรียกร้อง 4 ข้อจากกลุ่ม กวป. ซึ่งส่วนหนึ่งของข้อเรียกร้องคือ ให้มีการติดตั้งจดหมายเปิดผนึกของกลุ่ม กปว.แสดงคู่กับผลงานศิลปะของ รศ.สุธี ในนิทรรศการและเรียกร้องให้จัดพิมพ์จดหมายเปิดผนึก จดหมายโต้ตอบ ทั้งจากฝ่าย กปว.,รศ. สุธี,ผู้สนับสนุน ตลอดจนจดหมายของภัณฑารักษ์ ไปรวบรวมไว้ในหอจดหมายเหตุ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ใช้เป็นข้อมูลตัดสินเรื่องราวที่เกิดขึ้นในวันนี้

1. เพื่อทำความเข้าใจในบริบทงานของสุธี พวกเราเรียกร้องให้หอศิลปะเมืองกวางจูติดตั้งจดหมายเปิดผนึกของเราคู่ไปกับผลงานของสุธี พวกเรายืนยันหลักการที่ว่าเราเคารพต่อเสรีภาพในการแสดงออกของศิลปิน แต่จากพฤติการณ์การเข้าร่วมกับกลุ่ม Art Lane (อาร์ตเลน) ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการ กปปส. ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อประชาธิปไตยไทย หอศิลปเมืองกวางจูควรจะเผยแพร่ข้อมูลและเสียงที่แตกต่างออกจากผลงานของสุธี

2. พวกเราใคร่ขออธิบายภูมิหลังการร่วมมือระหว่าง อาร์ตเลนและกปปส. ตามข้อเท็จจริงที่ว่ารัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรได้ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งในเดือนพฤศจิกายน 2556 ทำให้ประชาชนไม่พอใจอย่างยิ่งและออกมาต่อต้านทั้งฝ่าย กปสส. และ นปช. บางส่วน และประชาชนทั่วไปที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดต่างพากันออกมาเรียกร้อง ประท้วงรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ได้ยุบสภาในวันที่ 10 ธันวาคม 2556 เป็นการคืนอำนาจให้ประชาชนเพื่อจัดการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 นั่นถือเป็นแนวทางอารยะและสันติสุขในการแก้ปัญหาประเทศ หากแต่เป็นประเด็นสำคัญที่สุธีและผู้สนับสนุนของเขาไม่เคยกล่าวถึงเลยแทนที่จะยอมรับการยุบสภาและเดินหน้าสู่การเลือกตั้งอันเป็นวิถีประชาธิปไตย บรรดา กปปส. และผู้สนับสนุนต่างปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีรัฐบาลในแนวทางที่ผิดจากรัฐธรรมนูญ ไม่เพียงแต่เท่านั้น ฝ่าย กปปส. ยังเร่งเร้าให้ผู้สนับสนุนออกมาปิดถนน ปิดสถานที่ราชการ และปิดหน่วยเลือกตั้งในทุกวิธีการที่ทำได้ ในนามการรณรงค์ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” ซึ่งปรากฏชัดในผลงานของสุธีและผู้สนับสนุนของเขา

ผลของการกระทำดังกล่าวจึงเกิดความรุนแรงบนท้องถนนในหลายจุดทั่วกรุงเทพมหานคร ภายใต้คำขวัญ ‘Shut Down Bangkok’ ทำให้ฝ่าย กปปส. เป็นผู้ได้เปรียบ และเป็นการรุกฝ่ายรัฐบาลรักษาการยิ่งลักษณ์ ตลอดจนผู้สนับสนุนให้เหลือพื้นที่ไม่มากนัก

นอกจากนั้นยังมีนักวิชาการจำนวนไม่น้อยที่ชี้ว่า การเคลื่อนไหวดังกล่าวผลักดันให้เกิดวิกฤตจนเปิดทางให้ทหารและกองทัพเข้าแทรกแซง ซึ่งพวกเราสามารถเสนอผลงานวิชาการจำนวนมากในภาษาอังกฤษที่สนับสนุนข้อสรุปนี้ เพื่อให้สาธารณชนได้เข้าใจบริบทและสถานการณ์ทางการเมืองไทยที่ซับซ้อนดียิ่งขึ้น

ความรุนแรงบนท้องถนนที่สำคัญที่สุดกรณีหนึ่งก็คือกรณีการปะทะกันหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหงในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2556 กปปส. เรียกร้องระดมคน จนเกิดการปะทะกับ นปช. ที่มาชุมนุม ณ รัชมังคลากีฬาสถานใกล้กับมหาวิทยาลัยรามคำแหงจนเกิดผู้เสียชีวิต 5 ราย เป็นจุดเริ่มต้นของความรุนแรงอย่างต่อเนื่องบนท้องถนนของกรุงเทพมหานครนับแต่กรณีสลายการชุมนุมเมษายน-พฤษภาคม พ.ศ. 2553

3. พวกเราเรียกร้องให้ภัณฑารักษ์และกรรมการบริหารของ GMA ได้กล่าวขอโทษต่อความไม่เข้าใจในเรื่องวิกฤตการณ์ทางการเมืองไทยจนนำไปสู่การเชื้อเชิญสุธี คุณาวิชานนท์เข้าร่วมการรำลึกการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเมืองกวางจู โดยกระทำเป็นภาษาเกาหลี ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ

4. พวกเราเรียกร้องให้จัดพิมพ์จดหมาย เปิดผนึก จดหมายโต้ตอบ ทั้งฝ่าย กปว. สุธีและผู้สนับสนุน ตลอดจนจดหมายของภัณฑารักษ์โดย GMA รวบรวมไว้ในหอจดหมายเหตุ 518 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และคนรุ่นหลังจะเป็นผู้ตัดสินการกระทำของเราในวันนี้


อย่างไรก็ตาม จนถึงเวลานี้ ยังไม่มีรายงานว่าภัณฑารักษ์ได้ตัดสินใจปลดผลงานศิลปะ 1 ในจำนวน 4 ชิ้นของ รศ.สุธี ออกจากนิทรรศการ The Truth_ to Turn It Over หรือแม้แต่ติดตั้งจดหมายเปิดผนึกของกลุ่ม กวป. จัดแสดงเคียงคู่ผลงานศิลปะของ รศ.สุธี ตามที่ทาง กลุ่ม กวป. เรียกร้อง

ในขณะที่รายชื่อศิลปินและบุคคลหลากหลายวิชาชีพที่สนับสนุนฝ่าย กวป.และฝ่าย รศ.สุธี ต่างถูกเปิดเผยออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยฝ่ายผู้สนับการจัดแสดงผลงานศิลปะของ รศ.สุธี นำโดย อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ คณบดีคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมาได้มีส่งรายชื่อบุคคล ในนาม “กลุ่มศิลปินและประชาชนผู้รักความเป็นธรรม” จำนวน 512 คน ไปในจดหมายเปิดผนึกถึง จอง ยัง ลิม ภัณฑารักษ์นิทรรศการ The Truth – to Turn It Over พร้อมแสดงจุดยืน 4 ข้อ ได้แก่

1.ในระหว่างการชุมนุมปี 2556-2557 รศ.สุธีและเพื่อนศิลปินร่วมชุมนุมและทำงานศิลปะในการทำกิจกรรมและการระดมทุนของกลุ่ม Art Lane ในขณะที่ กปปส. เป็นแกนนำในการชุมนุม และให้เงินสนับสนุน กปปส.บางส่วน ก็เพราะทุกคนมีแนวคิดและเป้าหมายที่ตรงกัน นั่นคือ คัดค้านกฎหมายนิรโทษกรรมที่ฉ้อฉล,คัดค้านการคอรัปชั่นของรัฐบาลในโครงการต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “โครงการจำนำข้าว” และการเรียกร้องการปฏิรูปการเมือง เพื่อให้ประเทศไทยพัฒนาสู่ความเป็นประชาธิปไตยเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง

2.การร่วมชุมนุมและการทำงานศิลปะของ รศ.สุธีและเพื่อนศิลปินร่วมชุมนุมในขณะนั้น ไม่ได้มีเจตนาที่จะ “ปูทาง” หรือเรียกร้อง หรือสนับสนุนให้ทหารทำรัฐประหาร หรือสนับสนุนเผด็จการแต่อย่างใด

3.ผลงานชุด Thai Uprising ของ รศ.สุธี ได้แสดงถึงสิทธิ,เสรีภาพและหน้าที่ของศิลปินตามแนวทางประชาธิปไตย มีความเหมาะสมกับนิทรรศการ The Truth_To Turn It Over ที่จัดขึ้นเกี่ยวเนื่องกับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของกวางจูเป็นอย่างยิ่ง นายจอง ยัง ลิม ได้ทำหน้าที่อย่างดีเยี่ยม ไม่สมควรทำตามกระแสกดดันจาก กวป.และเครือข่าย

4.ศิลปินและนักทำงานด้านวัฒนธรรมทุกคน มี “สิทธิและเสรีภาพ” ส่วนบุคคลในการแสดงออกทางความเห็น และการแสดงออกเช่นเดียวกับประชาชนไทยทุกคน แต่สิ่งที่ยิ่งใหญ่ไปกว่านั้นคือ “บทบาทและหน้าที่” ที่สำคัญยิ่ง ศิลปินฯ ต้องมีจิตสำนึกสาธารณะ รู้จักแบ่งปันเวลาของตนทำงานอุทิศให้แก่สังคมโดยรวม ต้องมีสำนึกชอบในการที่จะช่วยปกป้องรักษาบ้านเมืองให้น่าอยู่สำหรับคนทุกระดับชั้น ไม่ว่าจะเป็นประเด็นของการต่อต้านคอรัปชั่น,การส่งเสริมประชาธิปไตย,การอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและการลดการเหลื่อมล้ำของสังคม


กระทั่งล่าสุดวานนี้(26 พ.ค.59) ณ White Café ชั้น 9 ตึกซัมเมอร์เซ็ท ย่านทองหล่อ (ซึ่งมี เบญญา นันทขว้าง แกนนำกลุ่ม Art Lane เป็นเจ้าของ) กลุ่มผู้สนับสนุนการจัดแสดงผลงานศิลปะของ รศ.สุธี ได้แก่ จรูญ อังศวานนท์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรมภายในมัณฑนศิลป์) ปี 2557, จุมพล อภิสุข ศิลปินด้านศิลปะแสดงสด และผู้ริเริ่มเทศกาลศิลปะแสดงสดเอเชียโทเปีย,มานิต ศรีวานิชภูมิ ช่างภาพ,ไพโรจน์ ธีระประภา(โรจ สยามรวย)ศิลปินรางวัลศิลปาธร สาขาเรขศิลป์ ปี 2557 ,รศ.สุธี คุณาวิชยานนท์ ศิลปินเจ้าของต้นเรื่อง และอภิศักดิ์ สนจด ผู้อำนวยการหอศิลป์ตาดู ได้ร่วมกันแถลงข่าวเรื่อง “บทบาทและจุดยืนของศิลปินที่มีจิตสาธารณะ”
 

##ศิลปินแห่งชาติ เชื่อ กวป. พยายามสร้างกระแส ไม่เชื่อ คสช. เป็นเผด็จการ

หลังจากที่จุดยืน 4 ข้อ ในนาม “กลุ่มศิลปินและประชาชนผู้รักความเป็นธรรม” จำนวน 512 คน ที่ส่งไปในจดหมายเปิดผนึกถึง จอง ยัง ลิม ภัณฑารักษ์ นิทรรศการ The Truth – to Turn It Over ถูก อภิศักดิ์ สนจด ผู้อำนวยการหอศิลป์ตาดู ซึ่งทำหน้าที่ผู้ดำเนินการแถลงข่าวถูกนำมาอ่านอีกครั้ง

จรูญ อังศวานนท์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรมภายในมัณฑนศิลป์) ปี 2557 วัย 79 ปี ได้กล่าวแสดงความเห็นในฐานะที่เจ้าตัวบอกว่าเป็นผู้ผ่านยุคของเผด็จการมาหลายครั้ง และเห็นว่าการที่กล่าวหาว่า รศ.สุธีสนับสนุนเผด็จการ เอาประชาธิปไตยมาบังหน้า ไม่ควรทำงานศิลปะเพื่อประชาธิปไตย ผลงานต้องถูกปลดออกจากนิทรรศการศิลปะ The Truth – to Turn It Over เพื่อร่วมรำลึกเหตุการณ์ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยที่กวางจู รวมถึงการที่กลุ่ม กวป.ไปเรียกร้องและกดดันภัณฑารักษ์นิทรรศการ ถือเป็นการกล่าวโทษ รศ.สุธี และโกหกพกลมเป็นอย่างมาก และในความเห็นของตนเอง จรูญไม่เชื่อว่าเวลานี้เมืองไทยถูกปกครองด้วยเผด็จการ และไม่เชื่อว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ที่บริหารบ้านเมืองในเวลานี้ เป็นเผด็จการ แต่เป็นผู้ที่เข้ามายุติความเสียหาย

“การที่ คสช.เข้ามา เท่าที่ผมเชื่อและทุกคนที่มีความคิดถูกต้อง จะต้องบอกว่า คสช.เข้ามาเพื่อยุติความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ในการที่จะปล่อยให้เหตุการณ์บ้านเมืองในตอนนั้นร้ายแรงไปกว่านั้น และอาจจะถึงขั้นเกิดสงครามกลางเมืองได้ การเข้ามาในครั้งนั้นก็เลยทำให้เห็นว่า คสช.ไม่ได้เข้ามายึดอำนาจ เพราะรัฐบาลในช่วงนั้นไม่มีอำนาจอีกต่อไปแล้ว กลับจะอยู่เพื่อจะมีอำนาจ หน้าด้านที่จะอยู่ และไม่ยอมลาออก

เหตุการณ์อึมครึมในครั้งนั้นทำให้ทุกคน ต้องทนฟังเสียงสำรากของพรรคพวกคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลยิ่งลักษณ์(นางยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) อย่างเฉลิม (เฉลิม อยู่บำรุง) อย่างไอ้ปึ้ง(สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล) ทุกคนต่างเหนื่อยหน่ายกับเหตุการณ์เหล่านั้น..ผมคนนึงล่ะที่เหนื่อยหน่ายมาก ทุกครั้งที่มีโอกาสได้ยินเสียงสำรากของคนพวกนี้ อารมณ์เสีย และทำให้ระบบย่อยของผมไม่ดีไปด้วย บางครั้งเกือบจะอาเจียน เพราะว่าคำพูดของเฉลิมบางคำ ไอ้ปึ้งบางคำ ซึ่งนอกจากจะขยายความขี้เท่อ โกหกพกลมแบบนักเผด็จการที่พยายามสร้างภาพว่าทุกอย่างที่มันทำเป็นประชาธิปไตย…ประชาธิปไตยอยู่ไหนครับ ประชาธิปไตยก็คือเหมือนอย่างที่เราอยู่ตอนนี้ คือเรามีอิสระ ผมเองเนี่ย มาชุมนุม(แถลงข่าว)ที่นี่ได้ และไม่มีใครที่จะลุกขึ้นมาตบตีผมได้ด้วย ผมได้แสดงความคิดว่านี่เป็นเรื่องถูกต้อง

ในขณะที่ผลงานศิลปะของคุณสุธีกับถูกกล่าวร้าย ถูกจ้องทำลายล้างความคิด เขาแสดงออกให้คนได้รับรู้ว่างานที่ผ่านมางานของเขามีคุณค่าต่อการป้องกันสิทธิของพลเมืองที่จะเป็นตัวเองโดยที่ไม่ถูกครอบงำ จากระบบเผด็จการจากการเลือกตั้งของรัฐบาล

ทันทีที่ผมได้เห็น facebooK ของคุณอำมฤทธิ์ ผมจะต้องร่วมเซ็นชื่อ ธรรมดาผมไม่ชอบที่จะไปเซ็นชื่อ หรือไปออกชื่อออกเสียง เพราะผมด่าของผมอยู่คนเดียวก็พอได้อยู่แล้ว แต่ในขณะเดียวกันที่ต้องทำเนี่ย เพราะผมเห็นว่ามันเป็นการจาบจ้วง เอาเปรียบและเป็นการโกงความคิดความอ่านของพรรคพวกซึ่งหวังแค่จะแสดงความคิดความอ่าน และการที่ไปแสดงความคิดความอ่านเนี่ย ก็เป็นเรื่องของ Curator (ภัณฑารักษ์)แห่งนั้นเขาขอมา เมื่อให้ไป ฝ่ายตรงข้ามซึ่งพยายามที่จะบิดเบือน ล้มล้าง เพื่อที่จะสร้างกระแสให้พวกเราหวั่นกลัวว่าเนี่ย คุณสุธีไปทำเป็นเรื่องผิด แต่ยังโชคดีที่มีพวกเราขนาดนี้ที่มาเห็นว่าสุธีทำถูก”

##มานิต สนับสนุน ฟ้อง กวป. กล่าวหาลอยๆ เชื่อมีวาระซ่อนเร้น

ด้าน มานิต ศรีวานิชภูมิ ช่างภาพชื่อดัง ผู้ร่วมลงชื่อกับศิลปิน วสันต์ สิทธิเขตต์ ส่งจดหมายไปปิดผนึกไปยัง ลิม จง ยอง ภัณฑารักษ์นิทรรศการ เพื่อสนับสนุนการแสดงผลงานศิลปะของ รศ.สุธี กล่าวว่าตนรับไม่ได้ ทันทีที่ทราบข่าวครั้งแรก จากทางหน้าข่าวของหนังสือพิมพ์ ว่าผลงานศิลปะของ รศ.สุธีถูกกล่าวหา เนื่องจากเคยร่วมงานกันมา ทราบว่ามีผลงานไม่น้อย รวมถึงงานด้านวิชาการที่ถูกตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือ ดังตัวอย่างที่นำมาแสดงในการแถลงข่าวครั้งนี้ด้วย ย่อมแสดงให้เห็นว่ามีความคิดและหลักการเป็นของตนเอง ระบุสิ่งที่ตนรับไม่ได้ที่สุดคือการที่กลุ่ม กวป.กล่าวหาอย่างลอยๆ ว่า รศ.สุธี ต่อต้านประชาธิปไตย อยากให้ รศ.สุธี ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย อีกทั้งเชื่อว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่ม กวป.เกี่ยวกับการแสดงผลงานของ รศ.สุธีที่กวางจู มีวาระซ่อนเร้น

“ค่าเสียหายไม่มีอะไรครับ แค่ให้เขามาขอขมาในหน้าหนังสือพิมพ์ เพื่อที่เขาจะได้มีโอกาสใช้ความคิดว่า จะไปเที่ยวไปกล่าวหาใครลอยๆไม่ได้ มันไม่ยุติธรรมต่ออาจารย์สุธีนะครับ และประเด็นสำคัญที่ผมอยากจะชี้ก็คือ การรณรงค์อย่างต่อเนื่องที่จะบังคับให้ทางกวางจูปลดงานของ อาจารย์สุธี มีวาระซ่อนเร้นที่สามารถมองเห็นได้

การเซ็นเซอร์ที่เกิดขึ้นชี้ชัด ทาง กวป.จะปฏิเสธว่าไม่ใช่การเซ็นเซอร์เป็นไปไม่ได้ เพราะขณะที่ตัวเองอ้างว่า แค่อยากจะขอรู้ความคิดเห็นของ Curator (ภัณฑารักษ์) ว่าคิดยังไงกับผลงาน ทำถึงเลือกงานอาจารย์สุธี ทำไมเขาไม่ส่งจดหมายไปถามตรงๆล่ะครับว่า Curator คะ ทำไมเลือกงานของอาจารย์สุธี และแทนที่จะเขียนไปถามธรรมดา กลับไปเขียนว่าอาจารย์สุธีเสียๆหายๆ ว่าไปสนับสนุนการทำรัฐประหาร ไปถึงนู่น อย่างนี้เขาไม่เรียกว่าแค่อยากจะรู้นะครับ

และการไปกล่าวหาอาจารย์สุธีอย่างเสียหายแล้วเนี่ย ผมถามนะครับว่า ถ้าเกิด Curator ไม่ได้รับจดหมายสนับสนุนจากฝั่งของเราที่ผมเขียนไป เพราะผมเคยไปแสดงงานที่กวางจู อย่างน้อยที่สุด ณ เวลานั้นผมไม่สามารถที่จะติดต่อใครได้ อยากจะรีบส่งไป และส่งไปเลย ให้เขาได้รู้ว่า มันมีอีกด้านหนึ่งของเหรียญนะครับ ไม่ใช่แค่กลุ่ม กวป.ร้อยกว่าคนขอลงชื่อให้ปลด

วันนี้ถ้าเราเงียบ สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับอาจารย์สุธีคือ เขาปลดแน่นอน เมื่อปลดแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นกับอาจารย์สุธีคือชีวิต ผลงาน ของอาจารย์สุธีที่ทำมาทั้งหมดมันจะหายไปเลย”

##เพื่อนศิลปินกล่าว การเคลื่อนไหวทางการเมืองของ รศ.สุธี มีเจตนาบริสุทธิ์

ขณะที่ ไพโรจน์ ธีระประภา ศิลปินรางวัลศิลปาธร สาขาเรขศิลป์ ปี 2557 ในฐานะเพื่อนและตัวอย่างคนไทยคนหนึ่งที่เคยใช้ความถนัดในด้านกราฟิกดีไซน์ของตนเองมาทำประโยชน์เพื่อบ้านเมือง ในช่วงปี 2556 – 2557 เช่นกัน ช่วงเวลาที่ตนรู้สึกว่าบ้านเมืองถูกปู้ยี่ปู้ยำ จะล่มจมต่อหน้าต่อตา แล้วทนไม่ได้ ไม่แตกต่างจาก รศ.สุธี ที่ใช้สำนึกสาธารณะ ใช้ความถนัดด้านทัศนศิลป์ ควักทุนของตนเองมาทำกิจกรรมช่วยเหลือบ้านเมือง ตนเชื่อว่า รศ.สุธี มีเจตนาบริสุทธิ์เหมือนกับตน ในขณะที่ กวป.พยายามพูดความจริงแค่บางส่วน

“แต่บังเอิญผมชื่อโรจน์ ผมไม่ได้ชื่อป๊อบ (ชื่อเล่น รศ.สุธี) มันก็เลยไม่ป๊อบพอที่จะถูกเชิญไปแสดงงานที่กวางจู (หัวเราะ) งานที่ทำในช่วงนั้นก็หายไปเยอะไปพอสมควร เราทำเพราะเราเข้าใจว่าประชาชนต้องการที่จะสะท้อนความคิดที่มันอัดอั้นอยู่ข้างในตอนนั้น ผมก็ทำงานคล้ายๆอาจารย์ป๊อบ แต่ผมใช้เขียนเอา เป็นโปสเตอร์ ได้ผลเหมือนกัน ออกสื่อต่างประเทศเยอะ ผมคิดว่าสิ่งที่ทางนู้น(กวป.) กล่าวหา ผมคิดว่ามัน ไม่เป็นธรรม เราอยากออกมาแถลงข่าวว่าเพื่อแสดงหน้าที่อันบริสุทธิ์ของเราเพราะเรา เล็งเห็นประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก เราไม่ได้อยู่ฝ่ายไหน เวลาอีกฝ่ายหนึ่งเขากล่าวหา มันกล่าวหาไม่หมด เหมือน Edit หนัง Edit ไม่เหมือนกัน ก็จะไกด์ให้ผลลัพธ์มันต่างกันได้

เราต้องสืบไปตั้งแต่ต้นตอว่าทำไมพวกเราต้องออกมาเคลื่อนไหว ถ้าทาง กวป.พูด ความก็จะกระจ่างตั้งแต่ต้น การเลือกพูดบ้างส่วน พูดความจริงครึ่งเดียวเป็นเรื่องของการทำโฆษณา ซึ่งผมก็ถนัดเหมือนกัน(หัวเราะ) แต่ตอนนี้ผมไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับงานโฆษณาแล้ว เนื่องจากว่ามันไม่จริงและอยู่ไม่นาน สิ่งที่เราพูด เราทำ มันจะเป็นประวัติศาสตร์ เพราะมันจะสะท้อนความจริงและความรู้สึกที่เราใช้สติไตร่ตรอง มีปัญญามากพอที่จะรู้ว่าอะไรจริงอะไรไม่จริง อะไรชั่ว แล้วเราก็แสดงออก ผมคิดว่าเรามีสิทธิที่จะแสดงออกในทางที่เราถนัด อาจารย์ป๊อบเขาถนัดทางด้านถนัดศิลป์ เขาก็ทำของเขา ผมถนัดทางด้านกราฟิก ผมก็ทำกราฟิกไป ต่างคนต่างทำ ทุกคนก็มีหน้าที่อยู่แล้วใช้ถนัดให้เป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง การที่จะมาตัดสิน มันเป็นเรื่องที่ผิดนะครับผมว่า คุณมีหน้าที่ออกความเห็นได้ แต่ไม่มีหน้าที่ไปพิพากษาว่าควรปลดหรือไม่ปลดผลงานศิลปะ คุณแค่ประท้วง และเปิดเผยความจริงตั้งแต่ต้นดีกว่า เป็นเรื่องที่ควรจะทำ”

##อย่าลืมว่า…ศัตรูของประชาชนคืออำนาจรัฐ…เราอยู่ด้วยกันไม่ได้แล้วหรือ?

การวิจารณ์ทางด้านศิลปะ ไม่ว่าจะวิจารณ์ภัณฑารักษ์,พิพิธภัณฑ์,สถาบันศิลปะ,ศิลปิน รวมไปถึงตัวผลงานศิลปะ เป็นสิ่งที่มีมาทุกยุคสมัย และในบางกรณีก็มีรุนแรงจนเป็นเหตุให้หมั่นไส้กัน ด่ากัน ทะเลาะกัน ชกต่อยกัน แต่ท้ายที่สุดเรื่องก็ลงเอยที่ทั้งสองฝ่ายสามารถจับมือกัน เป็นเพื่อนกัน ไปกินเหล้าด้วยกันได้

คือสิ่งที่ จุมพล อภิสุข ศิลปินด้านศิลปะแสดงสด และผู้ริเริ่มเทศกาลศิลปะแสดงสดเอเชียโทเปีย พยายามจะให้ข้อมูลและแสดงความเห็นว่าปัจจุบันนี้ การที่ศิลปินหรือประชาชนด้วยกัน พยายามแบ่งค่ายกัน ตั้งตัวเป็นศัตรูกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าเกิดขึ้น รวมถึงย้ำเตือนและตั้งคำถามทิ้งท้ายว่า อย่าลืมว่าศัตรูของประชาชน คืออำนาจรัฐ….เราอยู่ด้วยกันไม่ได้แล้วหรือ

“ยิ่งประเทศไทย โดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีการต่อสู้กับอำนาจรัฐมาโดยตลอด ผมเกิดมาก็สู้กันมาตลอด 40-50 ปี ก็ยังไม่เคยเห็นเวลาที่ประเทศไทยเราจะอยู่อย่างสงบสุข โดยที่ไม่ต้องไปด่ารัฐบาล เราต้องชัดเจนว่าศัตรูของเราคือใคร ศัตรูของเราคืออำนาจรัฐ อำนาจรัฐบาลเผด็จการทหาร เผด็จการนายทุน ระบบราชการที่ล้มเหลว ฯลฯ สิ่งเหล่านี้คือศัตรูของประชาชน ถ้าประชาชนมาทะเลาะกันเองเมื่อไหร่เราจะไปสู้รบปรบมือกับเขาได้ อันนี้เป็นความเห็นของผม

เราจะต้องหันหน้ามาคุยกัน ผมยังคิดว่าเราคงจะคุยกันได้ ผมมีความตั้งใจอย่างนั้น และผมก็คิดว่า บางทีอาจจะเริ่มต้นด้วยการด่ากันแรงๆก่อน เดี๋ยวต่อไปภายหน้าก็อาจจะคุยกันได้ ผมคิดว่าอย่างนั้นนะ ผมยังมีความหวังด้านดีอยู่ แม้ว่าจะสู้มาตั้งแต่อายุ 18 ปี จนป่านนี้จะ 70 ปี แล้ว ก็ยังสู้ไม่เลิก มันมีเรื่องให้เราต้องสู้ตลอด ทำไงได้ก็ต้องหาความร่วมมือกันไป ถ้าหากว่าการเคลื่อนไหวของประชาชนไม่สามารถจะรวมกันได้ มีการแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย แบ่งเป็นค่าย ประชาธิปไตยของกูมึงอย่ามายุ่ง ประชาธิปไตยของมึงกูไม่ยุ่ง ผมว่ามันไม่ใช่แล้วล่ะ

และช่วงนี้มันกระแสทางการเมืองแปลกๆหลายๆอย่างออกมา และมันมีกระแสที่จะไปล้มอีกกระแส และมีอีกกระแสที่จะไปปลุกกระแส มันมีความพยายามที่จะลบบางอย่างออก และมีความพยายามที่จะชูบางอย่างขึ้น ความพยายามที่จะทำให้มันเกิดความขัดแย้งที่นอกเหนือจากความขัดแย้งจริงๆ มันเป็นการเพิ่ม ….เข้าไปในระบบของเราซึ่งผมคิดว่ามันไม่งดงามเท่าไหร่ และยิ่งกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหว เป็นประชาชนด้วยกัน เป็นศิลปิน เป็นนักวิชาการด้วยกัน ผมว่ามันก็ดูแปลกไป ดูเหมือนว่าประเทศไทยมีการแบ่ง ต่อไปต้องใส่หมวกหลายๆสีเดินไป หมวกแดง หมวกเหลือง หมวกเขียว มันไม่ใช่ โลกและสังคมมนุษย์ไม่ควรจะเป็นอย่างนี้ คำถามที่ผมมีอยู่ก็คือ ผมถามง่ายๆ….เราอยู่ด้วยกันไม่ได้แล้วเหรอ”

##ศิลปินทัศนศิลป์ดีเด่น ด้านสันติภาพ ประชาธิปไตยและความเป็นธรรม รางวัลมนัส เศียรสิงห์ “แดง” ปี 2549 โอด.. ถูกโจมตีจากกรรมการผู้เคยพิจารณาให้รางวัลว่า “ต่อต้านประชาธิปไตย”

ปิดท้ายที่ รศ.สุธี คุณาวิชยานนท์ เจ้าของผลงานศิลปะในนิทรรศการที่กวางจูซึ่งกลายมาเป็นประเด็นร้อนในแวดวงศิลปะของเมืองไทย หลังจากที่ก่อนหน้านั้น เคยออกมาปฏิเสธไปบางส่วนแล้วว่าไม่ได้สนับสนุนการทำรัฐประหาร เวทีแถลงข่าวครั้งนี้ รศ.สุธี ร่ายยาว นับตั้งแต่ออกตัวว่าเป็นข้าราชการและศิลปิน ไม่ได้ทำเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง

เหตุผลที่เข้าร่วมเคลื่อนไหวทางการเมือง รวมไปถึงผลงานศิลปะชุดที่นำไปจัดแสดงในนิทรรศการที่กวางจูซึ่งกลายเป็นประเด็นให้กลุ่ม กวป.นำไปเรียกร้องให้ภัณฑารักษ์นิทรรศการและพิพิธภัณฑ์ศิลปะกวางจู ทบทวนถึงเหตุผลที่คัดเลือกไปจัดแสดง และกล่าวหาว่าเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่ปูทางให้นำไปสู่การทำรัฐประหารในเมืองไทย

รศ.สุธี กล่าวว่า ตลอดระยะที่ผ่าน ตนมีอาชีพรับราชการเป็นอาจารย์สอนศิลปะมาร่วม 20 ปี และเป็นศิลปินทำงานศิลปะมาร่วม 30 ปี ผลงานศิลปะของตนนำเสนอหลากหลายเรื่องราว ไม่ใช่เฉพาะเรื่องการเมือง ตนเองไม่ใช่นักเคลื่อนไหวด้านการเมืองเป็นอาชีพ แค่เป็นส่วนหนึ่งในชีวิต และ บางช่วงเวลาผลงานศิลปะของตนเองก็ไปรับใช้ฝ่ายซ้าย และถูกฝ่ายซ้ายทางการเมืองเชิญไปร่วมแสดงผลงาน

เคยได้รับ รางวัลมนัส เศียรสิงห์ “แดง” ครั้งที่ 2 ประจำปี พุทธศักราช 2549 ในฐานะศิลปินทัศนศิลป์ดีเด่นทางด้านสันติภาพ ประชาธิปไตยและความเป็นธรรม จากสถาบันปรีดีพนมยงค์ (แต่ในช่วงเวลาที่ผลงานศิลปะของตนในนิทรรศการที่กวางจู ถูกกลุ่ม กวป.ร้องเรียน รศ.สุธีกล่าวว่า ได้มีหนึ่งในคณะกรรมการที่พิจารณาให้รางวัลนี้แก่ตนคือ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ออกมาโจมตี ว่าเตนเป็นศิลปินต่อต้านประชาธิปไตย),เคยมีผลงานศิลปะไปตีพิมพ์เป็นภาพประกอบในหนังสือของนักวิชาการฝ่ายซ้ายด้วย เช่น ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ในขณะเดียวกันก็เคยมีผลงานถูกเชิญไปร่วมแสดงในนิทรรศการเทิดพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์

“ฝ่ายไหนที่ทำดีผมก็ร่วมด้วยทั้งหมด ไม่ว่าจะขวาหรือซ้าย”

##ใช้เงินส่วนตัวเคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่ได้ปูทางให้การทำรัฐประหาร

และแม้จะมีอาชีพเป็นข้าราชการ แต่มีความเป็นปัจเจกชน มีอิสระเสรีภาพ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยต้นสังกัด ไม่เคยมาบังคับให้ทำงานศิลปะแนวไหน ต้องพูด หรือ ห้ามพูดเรื่องการเมือง รวมถึงอธิการบดี และคณบดี ที่ไม่เคยมาสั่งให้ต้องทำอะไร แต่ยอมรับว่าการออกมชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองเมื่อปี 2556-2557 ของตนได้รับการชักชวนจาก อำฤทธิ์ ชูสุวรรณ คณะบดีคณะจิตรกรรมฯ ซึ่งไม่ได้ใช้อำนาจหน้าที่บีบบังคับให้เข้าร่วม โดยที่ก่อนหน้านั้นอำมฤทธิ์ และพี่ๆน้องๆอาจารย์และศิลปินในคณะจิตรกรรมฯ ได้รับการชักชวนจากศิษย์เก่าของคณะซึ่งเป็นศิลปินชื่อดังคือ ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี ก่อนที่อำมฤทธิ์จะมาชักชวนตนและคนอื่นๆให้เข้าร่วม

“แต่ผมยังเป็นอิสระไม่ได้รับคำสั่งจากใคร ถ้าจะเป็นความผิดอะไรไม่ต้องไปโทษคนอื่น ผมไปด้วยความสมัครใจของผมเอง และการออกไปเคลื่อนไหว ทางการเมือง ทำโปสเตอร์ ผมออกเงินเองทั้งหมด โดยใช้เงินเดือนราชการ ไม่มีใครออกเงินให้ทั้งนั้น เงินส่วนตัวล้วนๆ”

รศ.สุธีให้ข้อมูลว่าการออกไปรวมตัวกับเพื่อนศิลปินคนอื่นๆ เพื่อเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงปี 2556- 2557 ของตนเริ่มต้นจุดแรกที่เวทีอุรุพงศ์ อันเป็นช่วงเวลาที่ยังไม่ก่อเกิดกลุ่ม Art Lane และ กปปส.

“ประเด็นที่พวกผมออกมาคือ ประท้วง พรบ.นิรโทษกรรม สุดซอย ต่อด้วย การคอรัปชั่นของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการรับจำนำข้าว พ่วงไปถึงเรื่องชาวนาไม่ได้เงิน ถูกโกงเงิน ผูกคอตาย และเรียกร้องการปฏิรูปการเมืองไทย เพราะเราอยากเห็นบ้านเมืองเราดีกว่าที่ผ่านมา

สิ่งที่ผมทำในช่วงนั้นคือ โปสเตอร์ ทำบล็อคด้วยเทคนิค ตัดกระดาษใช้สีสเปรย์พ่น และใช้บล็อกพิมพ์ลงบนเสือยืดแจกบ้างขายบ้างเพื่อหาเงินเป็นทุนเคลื่อนไหวของพวกเรา

กระทั่งเกิดเป็นกลุ่มศิลปินและนักออกแบบที่รวมตัวกันในนาม Art Lane มีกิจกรรมขายของหาเงินเข้าแต่ละครั้งขายได้หลายหมื่น เงินบางส่วนนำไปใช้เพื่อการบริหารจัดการของ Art Lane บางส่วนนำไปช่วย กปปส. บางส่วนช่วย คปท. ช่วยเวทีหลวงปู่ พุทธอิสระ บางส่วนไปช่วยชาวนา บางส่วนนำช่วยผู้ที่บาดเจ็บล้มตายในการชุมนุม”

รศ.สุธียืนยันว่า ตนไม่ได้รู้เรื่องเกี่ยวกับการทำรัฐประหาร ไม่เรียกร้อง ไม่สนับสนุน ไม่ปูทางเพื่อนำไปสู่การทำรัฐประหารตามที่ทาง กวป.พยายามจะกล่าวหา

##ศิลปิน กปปส.ใช้ดัชนีอะไรชี้วัด

ส่วนการที่ กวป. กล่าวหาว่าตนปฏิเสธและรังเกียจที่จะเป็นศิลปิน กปปส. ทั้งที่เป็น ความจริงนั้นตนก็ไม่ได้รังเกียจและขยะแขยงอะไร แต่ต้องการตั้งคำถามว่า การจะเป็นศิลปิน กปปส. มีดัชนีชี้วัดอย่างไร

“ผมเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมเคลื่อนไหวกับมวลมหาประชาชนที่มีจำนวนเป็นแสนเป็นล้านคน มันยุติธรรมแล้วเหรอ ว่าผมเป็นศิลปิน กปปส. ผมไม่ได้รังเกียจ แต่ผมเคลื่อนไหวด้วยความเป็นอิสระของผมคนเดียว ผมไม่ได้รับใบสั่งจาก กปปส. โอเค ผมกับกปปส.มีสิ่งที่เห็นด้วยตรงกัน เราถึงได้ร่วมกันได้ในหลายๆจุด แต่จะมาปะชื่อว่าผมเป็นศิลปิน กปปส.ถูกต้องแล้วหรือ”

##ศิลปะชุด Thai Uprising โชว์ที่กวางจู บันทึกประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของไทย ไม่ประสงค์กระทบชิ่งเหตุการณ์ปัจจุบันในไทย

ในส่วนของผลงานศิลปะที่นำไปจัดแสดงในนิทรรศการที่กวางจู เป็นนิทรรศการที่มีศิลปินจากหลายชาติถูกเชิญให้นำผลงานไปแสดงในนิทรรศการเดียวกัน ได้แก่ ไทย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ และเวียดนาม โดย รศ.สุธีมีผลงานศิลปะไปแสดงจำนวน 4 ชุด

“ งานชุดอื่นใน 4 ชุดนี้ ถ้าคนจะหาเรื่องผมจริงๆ ว่าผมโจมตีฝ่ายขวา ทหาร เผด็จการ และบางอันก็อาจจะหาว่าผมล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็สามารถทำได้ เพราะมันเป็นเรื่องประวัติศาสตร์การเมือง มีเรื่องของการต่อสู้ สลับซับซ้อนมาก แต่ก็ไม่มีใครไปแตะต้อง

แต่งานชุดที่มีปัญหาคือ(ชุด Thai Uprising )งานชุดที่ผมไปทำโปสเตอร์ ทำเสื้อยืด ในการชุมนุม ปี 2556-2557 เป็นทำขึ้นมาใหม่หรือ Re Make จากแท่นพิมพ์เดิม บางชิ้นแกะขึ้นใหม่ เพราะบล็อกพังไปแล้ว เสื้อยืดก็เหมือนกันซื้อมาใหม่พ่นใหม่”

รศ.สุธีให้เหตุผลว่า เหตุที่เลือกผลงานชุดนี้ไปจัดแสดงที่กวางจูเพราะมองว่างานเป็นประวัติหน้าหนึ่งของเมืองไทย ในช่วงเวลานั้น

“ ผมไม่ได้มีความตั้งใจจะกระทบชิ่งปัจจุบัน เพื่อเป็นเครื่องมือในการเคลื่อนไหวของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในปัจจุบัน ผมมองในแง่ว่าเป็นประวัติศาสตร์ และผมก็ไม่ได้บังคับนายลิม จง ยอง ภัณฑารักษ์ เขาดูงานผมหลายๆชิ้น แล้วเขาก็เลือกชิ้นนี้ เพราะเขาบอกว่ามันคล้าย มินจุง อาร์ต ศิลปะเพื่อประชาชน เพื่อการต่อสู้ประชาธิปไตยของเกาหลี มันมีอะไรที่มันสอดคล้อง เหมาะกับการจัดงานของเขา”

รศ.สุธีกล่าวทิ้งท้าย และขอบคุณ บุคคล 512 คนที่ร่วมลงนามเพื่อสนับสนุนการแสดงผลงานศิลปะของตน อันประกอบด้วย เพื่อนอาจารย์และศิลปิน ครอบครัว (ยกเว้นภรรยา ลักขณา คุณาวิชยานนท์ ผอ.หอศิลป์ กทม. ที่ให้ข้อมูลว่าไม่ได้ร่วมลงชื่อด้วย ) และอีกจำนวนมากจากหลายอาชีพที่ไม่รู้จักเป็นการส่วนตัว แต่ส่วนหนึ่งรู้ว่าเป็นใคร เช่น นักแสดง และส่วนหนึ่งไม่รู้ว่าเป็นใคร

นอกจากนี้รศ.สุธีได้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า พิพิธภัณฑ์ศิลปะกวางจู ไม่ใช่พิพิธภัณฑ์ศิลปะในต่างประเทศแห่งแรกที่ตนมีผลงานศิลปะไปจัดแสดง แต่เคยไปแสดงที่พิพิธภัณฑ์อื่นมาแล้วหลายแห่งในหลายประเทศ

“เช่น ก่อนที่จะไปแสดงที่กวางจู เคยไปแสดงที่ โมริอาร์ต ที่โตเกียว เขาเอางานของผมที่อยู่ในคอลเลกชั่นของเขาไปแสดงและเชิญผมให้ไปทำเวิร์คชอป รวมถึงพิพิธภัณฑ์ที่เบอร์ลิน ก็เคยไปแสดงกับพี่มานิต รวมถึงพิพิธภัณฑ์ฟูกูโอกะ ที่ญี่ปุ่น และควีนแลนด์ ที่ออสเตรเลียก็เคยไปแสดง และเขาก็สะสมผลงานของผมเอาไว้ด้วย”

##ติดจดหมายเปิดผนึกของ กวป.เคียงคู่ได้ แต่ไม่ยินยอม ถ้าปลดผลงานศิลปะออกจากนิทรรศการ

และตอบคำถามว่า หากยังมีการเคลื่อนไหวของกลุ่ม กวป.ต่อไป จนเป็นเหตุให้ทางภัณฑารักษ์และพิพิธภัณฑ์ต้องต้องตัดสินใจจัดแสดงจดหมายเปิดผนึกจาก กลุ่ม กวป. เคียงคู่กับผลงานศิลปะของตนเองในนิทรรศการ ตามที่กลุ่มกวป.เคยเรียกร้องก่อนหน้านี้ ตนก็ยินดีแต่ต้องจัดแสดงจดหมายของตนด้วย ถือว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่เลว และประชาชนชาวเกาหลีจะได้ร่วมตัดสินด้วย แต่ไม่ยินยอมถ้าจะมีการปลดงานออกจากนิทรรศการ

“จากที่ทาง Curator(ภัณฑารักษ์) เคยคุยกับผม แต่ก็ได้คุยกันไม่เยอะนะฮะ เหมือนกับว่าเขายุ่งๆยังไงไม่รู้ เขาไม่ค่อยตอบผมเท่าไหร่นะ เขาบอกว่าเขารู้ เขาเข้าใจสถานการณ์ในเมืองไทยพอสมควร แต่ว่าแน่นอนคนอยู่ไกลเขาก็ไม่รู้ล่ะนะว่าดีกรีขนาดไหน แต่ตอนนี้เขาบอกว่าเขาเข้าใจแล้วว่าดีกรีมันขนาดไหนและเขาก็เห็นได้ชัดเลยว่าตอนนี้ประเทศไทยแบ่งออกเป็นสองขั้ว คำของเขานะฮะ เขาเข้าใจแล้ว เขาและ Museam(พิพิธภัณฑ์) ก็จะพยายามหาทางออกที่ดีที่สุดให้กับสถานการณ์นี้ อย่างไรก็จะแสดงงานต่อไป ยินดีที่จะอธิบาย ชี้แจง ทุกคำถาม

ส่วนถ้ามีการปลดงานออก ผมก็ไม่ยินยอม เพราะเขาก็เคยบอกมาเหมือนกัน วันแรกๆเลยที่เกิดเหตุ(ได้รับจดหมายเปิดผนึกจาก กวป.) เข้าใจว่าเขาก็คงเสียขวัญไปเหมือนกัน เกิดอะไรขึ้นวะเนี่ย เขาบอกผมว่า เขาก็กำลังคิดว่ากำลังจะปลดงานทั้งหมดออก หรือว่าไม่จัดแสดงออกเฉพาะงานชุดนี้ Thai Uprising โดยความยินยอมของผม

เพราะว่าการทำงานในระดับนี้ ไม่ใช่ความยินยอมของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นความยินยอมของสองฝ่าย นั่นก็คือฝ่ายพิพิธภัณฑ์ ,คนจัด และฝ่ายศิลปิน ว่าจะแสดงชิ้นไหน ไม่แสดงชิ้นไหน และถ้าจะเอาออกก็ต้องตกลงร่วมกัน ไม่ใช่ทำโดยพลการ

และจริงๆแล้วต้องเล่าให้ฟังนะฮะ การทำงานกับพิพิธภัณฑ์ มีการเซ็นสัญญากันก่อนนะครับว่า เราจะทำนิทรรศการแบบนี้ มีใครๆๆ ผู้จัดคือพิพิธภัณฑ์ ทำสัญญากับนายสุธี เป็นศิลปิน จะเอาผลงานชิ้นนี้ๆ และเซ็นสัญญากันแล้วศิลปินก็ต้องส่งงานชุดพวกนี้ ยินดีให้เอางานพวกนี้ไปแสดงจนกระทั่งจบนิทรรศการ ตามที่ทำสัญญากันไว้ ใครจะมาเปลี่ยนแปลงก่อนหน้านี้ไม่ได้ เป็นสัญญาร่ามกัน”

และให้ข้อมูลด้วยว่าก่อนที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะกวางจูจะเชิญตนให้นำผลงาน 4 ชุดไปจัดแสดง ต่อเนื่องมาจากเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2558 ที่ผ่าน ทางพิพิธภัณฑ์เคยเชิญไปทำเวิร์คชอป

“แต่จริงแล้วก็ไปบรรยายนั่นแหล่ะ ให้ฟังว่า ผมคือใคร ทำงานอะไรมาบ้าง มีงานชุดไหนบ้าง ไปบรรยายให้พิพิธภัณฑ์เขาฟัง ก็ได้เชิญไปตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว ก็ได้เห็นพื้นที่ สถานที่ อะไรต่างๆ และเขาก็บอกกับผมตั้งแต่ปีที่แล้วว่า เดือนพฤษภาคม ปี 2559 ปีนี้ เขาจะจัดงานนี้ รำลึก 36 ปี เหตุการณ์ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยที่กวางจู เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ.1980 จะมีผมเป็นหนึ่งในศิลปินที่ถูกเชิญให้ร่วมแสดง ก็คุยและวางแผนล่วงหน้าไว้หนึ่งปีแล้ว”

สงคราม “ศิลปะ” ยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพศิลปิน …. ติดตามดูกันต่อไปว่ากรณีเรียกร้องเพื่อทบทวนและปลดงานศิลป์ รศ.สุธี คุณาวิชยานนท์ ออกจากนิทรรศการรำลึกประชาธิปไตยที่กวางจู จากนี้ไปทางกลุ่ม นักกิจกรรมวัฒนธรรมเพื่อประชาธิปไตย หรือ กวป. จะมีความเคลื่อนไหวอย่างไร และฝั่งผู้สนับสนุนการแสดงผลงานศิลปะของ รศ.สุธี ในนาม “กลุ่มศิลปินและประชาชนผู้รักความเป็นธรรม” จะมีท่าทีโต้ตอบอย่างไร

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.manager.co.th Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It