Art Eye View

สัมผัส “ชีวิตและความหวัง” ของญี่ปุ่นหลังสงคราม ที่ราชดำเนิน

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW—ในช่วงบ่ายของวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ.1945 สงครามที่มีระยะเวลาอันยาวนานก็ได้สิ้นสุด การได้ยินข่าวเรื่องการสิ้นสุดของสงครามนั้นทำให้ ฮิโรชิ ฮามายะ วิ่งออกจากบ้านของเขาทันที และเล็งกล้องของเขาไปที่ ดวงอาทิตย์ที่อยู่บนท้องฟ้า….

“ผมหวังว่าภาพถ่ายในนิทรรศการครั้งนี้จะทำให้ผู้ชมได้เข้าใจภูมิหลังของประเทศญี่ปุ่นและเป็นกระจกสะท้อนวัฒนธรรมความเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยด้วย”

คือคำกล่าวส่วนหนึ่งของ โนริฮิโกะ โยชิโอกะ ผู้อำนวยการบริหารเจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ ในวันเปิดนิทรรศการภาพถ่าย การเปลี่ยนแปลงของญี่ปุ่นหลังสงคราม (The Metamorphosis of Japan After the War) เมื่อวันเสาร์ที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน อันเป็นนิทรรศการจัดแสดงภาพถ่าย ที่ถ่ายในช่วงหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 ของญี่ปุ่น(ค.ศ.1945- 1964 หรือ พ.ศ. 2488 – 2507 ) ผลงานของช่างภาพชาวญี่ปุ่น จำนวน 11 คน ได้แก่ อิเฮ คิมุระ, ยาสึฮิโระ อิชิโมโตะ, เคน โดมอน, เอโคะ โฮโซเอะ, ฮิโรชิ ฮามายะ, คิคุจิ คาวาดะ, โชเม โทมัตสึ, ทาเคโยชิ ทานูมะ, ชิเจกิ นากาโนะ, อิคโคะ นาราฮาระ และทาดาฮิโคะ ฮายาชิ

นิทรรศการจัดโดย เจแปนฟาวเดชั่น ( หน่วยงานซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1972 และมีเป้าหมายส่งเสริมความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างผู้คนให้ดียิ่งขึ้นผ่านการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและความรู้ทางวิชาการ) เคยสัญจรไปจัดแสดงมาแล้วหลายประเทศ และก่อนจะมาปักหลักจัดแสดง ระหว่างวันที่ 17 กันยายน – 14 ตุลาคม พ.ศ.2559 ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ก่อนหน้านี้ ระหว่างวันที่ 8 กรกฎาคม – 28 สิงหาคม พ.ศ.2559 เคยสัญจรไปจัดแสดง ณ หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่


“หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ.1945 ประเทศญี่ปุ่นกลับมาเริ่มต้นใหม่ในฐานะประเทศที่พ่ายแพ้สงคราม และหลังจากผ่านไป 20 ปี สังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่นก็ได้ประสบกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้งนี้เป็นเรื่องยากที่เราจะกำหนดระยะเวลาของช่วงหลังสงครามว่าสิ้นสุดลงเมื่อไรได้อย่างชัดเจน แต่สำหรับงานนิทรรศการนี้ เรานิยามยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ของญี่ปุ่นว่า เป็นช่วงตั้งแต่สงครามสิ้นสุดในปี ค.ศ.1945 จนถึงปี ค.ศ.1964 ซึ่งเป็นปีที่มีการจัดแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงโตเกียว และมีการเปิดตัวรถไฟหัวกระสุน หรือ ชินกังเซน เป็นครั้งแรกและการเกิดแผนการเพิ่มรายได้ประจำชาติสองเท่าตัวทำให้เกิดการยกระดับความเป็นอยู่และนำมาซึ่งการมีเครื่องใช้ในการอุปโภคบริโภค เช่น โทรทัศน์ เครื่องซักผ้า และตู้เย็นในครัวเรือนจำนวนมาก โดยช่างภาพทั้ง 11 ท่านนี้ แต่ละท่านก็อยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ด้วย ภาพถ่ายของพวกเขาได้บันทึกการเปลี่ยนแปลงของสังคมญี่ปุ่นในตอนนั้นเอาไว้และภาพถ่ายหลายภาพล้วนมีความสำคัญในมุมมองทางด้านศิลปะ นอกเหนือไปจากการเป็นหลักฐานบันทึกที่สำคัญอย่างเดียว”

คือถ้อยแถลงส่วนหนึ่งของเจแปนฟาวน์เดชั่นเกี่ยวกับภาพถ่ายในนิทรรศการซึ่งถูกจัดแสดงเป็น 3 ช่วงเวลา ได้แก่ ช่วงที่ 1 ผลที่เกิดขึ้นหลังสงคราม,ช่วงที่ 2 ระหว่างวัฒนธรรมประเพณีและความเป็นสมัยใหม่ และช่วงที่ 3 สู่การเป็นญี่ปุ่นยุคใหม่

นอกจากนี้ยังมีโซนจัดแสดงประวัติของช่างภาพทั้ง 11 คน และผลงานหนังสือภาพถ่ายบางส่วนของช่างภาพเหล่านี้ด้วย โดยมี ซึกุโอ ทาดะ และมาร์ค ฟอยสเทล นักวิจัยด้านภาพถ่ายซึ่งอาศัยอยู่ในฝรั่งเศส ทำหน้าที่ภัณฑารักษ์คัดสรรภาพถ่ายมาจัดแสดงในนิทรรศการ
โนริฮิโกะ โยชิโอกะ ผู้อำนวยการบริหารเจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ
อาจารย์อรรฆย์ ฟองสมุทร ภัณฑารักษ์ของหอศิลปมหาวิทยาลัยกรุงเทพ
“ภาพถ่ายในนิทรรศการครั้งนี้ไม่ใช่สิ่งที่ดูยาก มันเป็นเรื่องค่อนข้างง่าย การเข้าถึงภาพถ่ายไม่ใช่การเข้าถึงแบบที่จะต้องผ่านกระบวนทัศน์อะไรมากมาย ถ้ามีความเข้าใจพื้นฐานทางสังคมมาบ้างก็ยิ่งจะทำความเข้าใจกับมันได้อย่างง่ายดาย”

อาจารย์อรรฆย์ ฟองสมุทร ภัณฑารักษ์ของหอศิลปมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ( Bangkok University Gallery) ซึ่งถูกเชิญมาเป็นวิทยากรในเสวนาก่อนเปิดนิทรรศการ กล่าวถึงความน่าสนใจของภาพถ่ายในนิทรรศการซึ่งเชื่อว่าคนทุกกลุ่มที่สนใจน่าจะเข้าถึงได้ไม่ยาก

“ส่วนตัวผม มีช่างภาพคนหนึ่งซึ่งมีผลงานภาพถ่ายจัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ ผมอยากรู้เรื่องของเขามากคือ Yasuhiro Ishimoto ชีวิตของเขาน่าสนใจ เพราะเขาเกิดที่อเมริกา มาญี่ปุ่นแล้วกลับไปโตที่อเมริกา และมีชีวิตอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ผมอยากรู้ว่า คนๆนึงที่ไปอยู่ที่อื่นมานาน เรียนก็เรียนที่นั่น เขาจะบอกตัวเองว่าอย่างไรดี ภายใต้รูปลักษณ์ที่เขาเป็นอยู่ ในสถานการณ์ที่เขาต้องอยู่ตรงกลาง คงลำบากใจตายเลยเนี่ย

แต่ภาพถ่ายของเขาที่จัดแสดงในนิทรรศการก็ค่อนข้างจะเป็นภาพถ่ายแนวสตรีท แยกออกจากมิติการสะท้อนเรื่องชีวิตอย่างตรงไปตรงมา ปัจจุบันเขาก็ยังคงมีชีวิตอยู่ ถ้าได้เจอได้คุยกับเขาคงจะดี”

ขณะที่ อาจารย์ดาวเรือง วิทยรัฐ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในผู้ชมนิทรรศการผู้มีความสนใจศึกษาด้านประวัติศาสตร์ของประเทศญี่ปุ่น กล่าวแสดงความเห็นว่า นิทรรศการนี้คือการบอกเล่าประวัติศาสตร์ในอีกรูปแบบหนึ่ง นั่นก็คือ เป็นการบอกเล่าผ่านภาพถ่าย และเห็นว่าการชมนิทรรศการครั้งนี้จะสนุกมากขึ้นหากผู้ชมมีความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นมาบ้าง

หลังจากที่ค่อยๆไล่ชมภาพถ่ายแต่ละภาพในนิทรรศการ อาจารย์ดาวเรืองบอกด้วยว่า ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเป็นความรู้สึกที่หลากหลาย และสัมผัสได้ถึงความหวังของคนญี่ปุ่นที่สะท้อนผ่านภาพถ่าย

“เห็นด้วยกับอาจารย์อรรฆย์ ที่พูดในช่วงเสวนาด้วยว่าภาพถ่ายที่จัดแสดงในนิทรรศการพยายามเสนอมุมมองในเรื่องของความหวัง นอกจากนี้ในฐานะคนที่ยังไม่เคยไปญี่ปุ่น การได้ชมภาพถ่ายชีวิตผู้คนในชนบถของญี่ปุ่น หรือแม้แต่ภาพถ่ายในเมืองใหญ่อย่างโตเกียว แต่เป็นญี่ปุ่นในช่วง 50 ปีก่อนหรือมากกว่านั้น บางภาพทำให้สงสัยว่า ขณะที่ภาพแบบนี้ยังมีให้พบเห็นในเมืองไทย แล้วที่ญี่ปุ่นยังมีอยู่ไหม

ภาพถ่ายที่ดิฉันค่อนข้างสะเทือนใจที่สุดคือภาพทหารญี่ปุ่นกลับจากสงคราม ซึ่งถ่ายในปี ค.ศ.1946 ทหารส่วนนี้เป็นคนส่วนน้อยที่รอดชีวิตกลับมาจากสงคราม ร่างกายไม่พิการ ยังครบ 32 ประการ ถ้าดูจากสีหน้า แววตารอยยิ้มในภาพถ่าย เราจะไม่เห็นเลยว่าทหารกลุ่มนี้เขาผ่านความยากลำบากอะไรมาบ้าง ทั้งทีปี ค.ศ.1946 เป็นช่วงเวลาที่สงครามเพิ่งสิ้นสุดรอบๆตัวก็คงจะมีอะไรหลายๆอย่างที่ไม่น่าอภิรมย์นัก

มันทำให้เราฉุกคิดได้ว่า บางทีคนเราในความเป็นมนุษย์ก็มีโมเม้นท์ของความสุขได้ ไม่ว่าจะอยู่ท่ามกลางสถานการณ์แบบใดก็ตาม ไม่ว่าจะสูญเสียอะไรไป แต่ชีวิตและความหวังยังมีอยู่”

รายงานโดย : อ้อย ป้อมสุวรรณ













ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.manager.co.th Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It