ในสถานการณ์ช่วงโควิด-19 ระบาดตอนนี้ หลายคนคงต้องกักตัวอยู่บ้าน ทั้งยังต้องรักษาระยะห่างทางสังคม ช่วงเวลาแบบนี้ การได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารน่ากังวลใจมากมายที่ทำให้รู้สึกเครียด เหนื่อยล้าทั้งจิตใจและร่างกาย องค์กรและบริษัทต่าง ๆ ยังออกนโยบายให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน ก็ยิ่งทำให้ระดับความเครียดของเราเพิ่มสูงขึ้นเพราะไม่ได้พบปะผู้คนในสังคมเหมือนเดิม
เวลานี้จึงเป็นเวลาสำคัญที่เราต้องใส่ใจสุขภาพจิตใจของเราเป็นอันดับแรก การรู้ว่าตัวเองกำลังเครียดและรู้วิธีจัดการกับมันสำคัญมาก เพราะหากปล่อยให้เกิดความเครียดเรื้อรัง ย่อมจะส่งผลร้ายต่อสุขภาพร่างกายและทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอเกินกว่าที่จะต่อสู้กับเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ ความเครียดยังสร้างผลเสียต่อสุขภาพกายและใจด้วย
ซึ่งเรามี 8 ข้อ How to ดูแลใจช่วง “โควิด-19” ระบาด อยู่บ้านอย่างไรไม่ให้เครียด โดย ดร. แกรี่ สมอลล์ คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านโภชนาการของเฮอร์บาไลฟ์ นิวทริชั่น มาฝากกัน
เรากำหนดความรู้สึกในใจตัวเองได้
มนุษย์มีวิวัฒนาการจนกลายเป็นสัตว์สังคมที่มีครอบครัว เพื่อนฝูง รวมถึงกลุ่มคนที่ชอบและสนใจในสิ่งคล้าย ๆ กัน ซึ่งช่วยให้เรารับมือกับปัญหาความเครียดต่าง ๆ ในชีวิตและดูแลจิตใจตัวเองได้ แม้ว่าปัจจุบันเราจะอยู่ในยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีสามารถช่วยให้ติดต่อสื่อสารกันได้อย่างใกล้ชิด เราก็ยังโหยหาการมีปฏิสัมพันธ์แบบมนุษย์กับมนุษย์ เช่นการสัมผัสหรือการพบเจอหน้ากัน เพราะทำให้ใจรู้สึกดีและผ่อนคลาย
ทุกวันนี้ เรากักตัวเองอยู่ในบ้าน พยายามเข้าใจและทำตามข้อมูลคำแนะนำมากมายของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานด้านสาธารณสุขที่มีอย่างต่อเนื่อง จึงไม่น่าแปลกใจที่เราหลายคนจะเกิดความเครียด หดหู่ รวมถึงเกิดปัญหาสุขภาพจิตต่าง ๆ ตามมา แม้ว่าการติดตามสถานการณ์ความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ให้ทันจะเป็นเรื่องสำคัญ แต่การเฝ้าหน้าจอดูหรือฟังข่าวตลอดทั้งวันก็อาจทำให้เราเกิดความกลัวและเครียดได้ อย่างไรก็ดี วันนี้เรามีวิธีการจัดการความเครียดดี ๆ มาแนะนำที่จะช่วยให้คุณและคนรอบตัวคุณดูแลจิตใจตัวเองได้ดีขึ้นและคลายความกังวลท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19
เราแต่ละคนมีวิธีรับมือกับความเครียดที่ต่างกัน ดังนั้นจึงต้องจำไว้ว่าวิธีที่ได้ผลกับคนหนึ่งอาจจะไม่ได้ผลกับอีกคนก็ได้ ลองทำตาม 8 ข้อควรรู้ดูแลใจโดย ดร. แกรี่ สมอลล์ คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านโภชนาการของเฮอร์บาไลฟ์ นิวทริชั่น ที่จะช่วยให้คุณจัดการกับระดับความเครียดของตัวเองได้ง่าย ๆ ช่วง #อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ
1.สังเกตสัญญาณความเครียด – การชอบกัดหรือขบฟัน น้ำหนักขึ้น ปวดหัว อารมณ์แปรปรวน ปวดหลังปวดคอ และอาการนอนไม่หลับ ล้วนเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณกำลังเครียด การจับสังเกตอาการเหล่านี้ได้จะช่วยให้คุณรู้ว่าถึงเวลาที่ต้องหาวิธีลดความเครียดเสียที
2.รู้ปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เครียด – ถ้าคุณทำงานจากบ้านหรือดูข่าวสารแล้วรู้สึกว่าตัวเองเครียด หงุดหงิด หรือรู้สึกปวดหัวปวดคอ ก็ควรลุกจากที่นั่งและหยุดสิ่งที่ทำอยู่ ลองเดินเล่นในบ้านหรือฟังเพลงหรือหามุมสงบ ๆ เพื่อผ่อนคลาย ก็จะช่วยรีเซ็ตสภาวะจิตใจตัวเองได้ ก่อนจะกลับไปทำงานในแต่ละวันให้เสร็จ
3.พักเบรคระหว่างวัน – ลองจัดเวลาในแต่ละวันให้คุณได้พักเบรคจากการทำงานหรือจากการดู อ่าน หรือฟังข่าวสารบ้าง รวมถึงข่าวสารจากโซเชียลมีเดียด้วย การทำงานหรือตามอ่านข่าวสารตลอด 24 ชั่วโมงทุกวันจะทำให้เครียดและสมองล้า หาเวลาผ่อนคลายด้วยการทำกิจกรรมที่แตกต่างจากสิ่งที่ทำเป็นประจำ หรือพูดคุยเกี่ยวกับความรู้สึกของคุณกับคนที่คุณไว้ใจได้ก็จะช่วยให้คุณอารมณ์ดีขึ้น
4.หากิจกรรมสร้างสรรค์ทำ – ใช้เวลานี้กลับมาสนุกกับงานอดิเรกที่คุณชอบหรือมองหากิจกรรมใหม่ ๆ ดู การเปลี่ยนโฟกัสไปยังสิ่งใหม่ ๆ จะช่วยให้คุณรู้สึกกระตือรือร้นและผ่อนคลาย แนะนำให้ลองฝึกทำเมนูอาหารใหม่ ๆ เดินเล่น ปัดกวาดทำความสะอาดบ้าน หรือร่วมกิจกรรมออกกำลังกายออนไลน์ ก็จะช่วยลดความเครียดและทำให้รู้สึกสดชื่นขึ้นกว่าที่เคย
5.หายใจเข้าออกลึก ๆ ให้อารมณ์ผ่อนคลาย – การหายใจโดยธรรมชาติแล้วต้องใช้กะบังลม เวลาเราหายใจโดยใช้กะบังลม ท้องเราจะขยายเมื่อเราหายใจเข้าและยุบตัวลงเมื่อหายใจออก ในหลาย ๆ ครั้ง เราลืมที่จะหายใจให้ถูกต้องและมักใช้แค่อกหรือไหล่ทำให้เราหายใจสั้นและไม่ลึกพอ ซึ่งทำให้รู้สึกเครียดและกังวลเพิ่มขึ้น ช่วงนี้เป็นเวลาที่เหมาะมากที่คุณจะได้ฝึกหายใจให้ดีขึ้น เริ่มจากหาที่เงียบ ๆ ในบ้านแล้วนอนลง วางมือข้างหนึ่งไว้บนอกและมืออีกข้างไว้บนท้อง เมื่อคุณพร้อมก็หายใจเข้าช้า ๆ จะรู้สึกว่าท้องพองขยาย และเมื่อหายใจออก หน้าอกของคุณจะยุบต่ำลง ลองฝึกหายใจแบบผ่อนคลายสัก 20-30 นาทีต่อวันเพื่อลดความกังวลและฝึกให้ใจผ่อนคลายสบาย ๆ
6.เคลื่อนไหวร่างกายให้มากขึ้น – ออกกำลังกายเป็นประจำ หากิจกรรมที่คุณชอบ การออกกำลังกายช่วยเสริมสร้างสุขภาพโดยรวมและทำให้รู้สึกว่าร่างกายแข็งแรง รวมทั้งเป็นวิธีการจัดการความเครียดชั้นดี เมื่อคุณออกกำลังกาย ร่างกายจะหลั่งสารเอ็นโดรฟินในสมองที่ช่วยลดอาการปวดและกระตุ้นความรู้สึกในแง่บวกได้ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอยังช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น ซึ่งช่วยลดความเครียดและความอ่อนล้าของร่างกาย ถ้าคุณมีสายรัดข้อมือเพื่อสุขภาพหรือ Fitness Tracker ให้ตั้งเป้าเดินให้ได้ 10,000 ก้าวต่อวัน การตั้งเป้าหมายจะช่วยให้เรากระตือรือร้นและมุ่งมั่นที่จะทำให้สำเร็จ
7.พูดคุยสื่อสารกับคนใกล้ชิด – การหมั่นพูดคุยติดต่อกับครอบครัวและเพื่อนฝูงเป็นสิ่งสำคัญ แม้ตัวจะอยู่ห่างไกลกันก็ไม่ได้แปลว่าคุณจะตัดขาดการติดต่อกับคนอื่นซะทีเดียว ลองทักไปหาคนที่คุณห่วงใยทุกวันด้วยช่องทางโซเชียลมีเดีย วิดีโอคอล หรือโทรหาก็ได้
8.จัดระเบียบชีวิตประจำวันให้เหมือนปกติ – ท่ามกลางสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่เราควบคุมไม่ได้ ให้จัดระเบียบกิจกรรมที่คุณต้องทำในแต่ละวันให้ดี ถ้าคุณทำงานจากบ้านให้จัดตารางประจำวันเหมือนกับว่าคุณต้องไปทำงาน ตื่นเช้าตามเวลาไปทำงานปกติและอาบน้ำแต่งตัวให้เรียบร้อย คุณไม่จำเป็นต้องใส่ชุดทำงานเต็มยศ แต่เลือกชุดทำงานที่ใส่สบาย ๆ แล้วก็ต้องจัดพื้นที่ทำงานให้มีสิ่งรบกวนน้อยที่สุดเพื่อให้คุณมีสมาธิ และจำไว้ว่าต้องมีพักเบรคระหว่างวันเพื่อผ่อนคลาย มีหลายคนที่ทำงานจากบ้านมักตัวติดกับโต๊ะทำงานตลอดวันและไม่ลุกมาเคลื่อนไหวร่างกายเลย การพักเบรคเหมือนที่คุณเคยได้พักตอนอยู่ออฟฟิศจะช่วยให้คุณรู้สึกมีระเบียบชีวิตชัดเจนและไม่รู้สึกแปลกไปจากวิถีชีวิตปกติ
เราต้องจำไว้ว่าความเครียดเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ แต่มันทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของเราลดลง และส่งผลร้ายต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ การรู้วิธีการจัดการความเครียดและนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันจะช่วยให้คุณสามารถดูแลตัวเองและเอาชนะปัญหาความเครียดได้ในท้ายที่สุด
Comments are closed.