Advice

ความเข้าใจในเรื่องหญิงชาย เกิดขึ้นได้ด้วยหัวใจที่เปิดกว้าง /อ้วน อารีวรรณ

Pinterest LinkedIn Tumblr

jatung_32@yahoo.com

เป็นประเด็นกันไป สำหรับการทำหน้าที่นำเสนอมุมมองมิติหญิงชาย หรือเรื่องความเสมอภาคเท่าเทียมกันระหว่างหญิงกับชาย

เรื่องราวเหล่านี้ ดูเหมือนจะเป็นประเด็นที่สร้างข้อถกเถียง ชวนวิพากวิจารณ์กันอย่างที่อาจก่อให้เกิดอารมณ์ขุ่นมัว หรือมีปัญหากันได้ ค่อนข้างเยอะนะคะ

เหมือนกับว่า อ้วนนำเสนอในประเด็นที่ไม่ควรจะพูดถึง..ยังไงก็ไม่รู้? หรือถ้าไม่ต้องการให้เกิดปัญหาอะไรขึ้นมา ก็กลายเป็นว่า เรื่องเหล่านี้ควรพูดกันในวงเฉพาะกลุ่มที่มีความคิดเห็นคล้ายๆ กัน หรือเหมือนกันเท่านั้น ไม่เช่นนั้นจะเป็นเรื่อง !?!

ทำไม? ถึงเกิดสถานการณ์แบบนี้ขึ้น.. อ้วนเองที่นำเสนอประเด็นเหล่านี้ขึ้นมา เพราะอยากให้สังคมได้มีการรับฟัง ได้มีการพูดถึง และได้นำไปคิดพิจารณา ถกเถียงกันเพื่อเกิดผลทางวิชาการ และสะท้อนภาพความเป็นจริงในสังคมให้ชัดเจนขึ้น

นอดีตที่ผ่านมา อ้วนเองไม่ได้มีความเข้าใจในเรื่องราวมิติหญิงชาย หรือประเด็นความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย เหล่านี้ มาก่อนเลย แม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาที่แย่ที่สุดในชีวิต ก็ไม่ได้คิดอะไร นอกจากอยากหนีออกจากสถานการณ์ที่เลวร้ายแบบนี้ จนเมื่อหลุดมาจากสถานการณ์เหล่านั้นได้จริงๆ

และถูกตั้งคำถามว่า ถูกทำร้ายขนาดนั้น ทำไม? เราถึงไม่หนีตั้งแต่ช่วงแรกๆ อดทนไปทำไม? อดทนไปเพื่ออะไร?

คำถามนี้ ฉุกคิดอะไรบางอย่าง

เพราะเราเองใช่ไหม? ที่ถูกสอนมาโดยทัศนคติความเชื่อตามแบบแผนโครงสร้างสังคมวัฒนธรรมไทยที่ว่า เป็นผู้หญิงต้องอดทน เพื่อรักษาสถาบันครอบครัว แล้วถ้าเราเลือกผิด ก็ต้องโชคร้ายไป ต้องเป็นฝ่ายยอมรับชะตากรรมทุกอย่าง เพียงเพราะเราได้เลือกเขาเป็นคู่ชีวิตอย่างนั้นหรือ?

เพราะเราอาย เพราะเรากลัว กับคำพูดในเชิงลบของผู้คนในสังคม ที่จะพูดถึงตัวเราว่า “แต่งกัน ก้นหม้อข้าวไม่ทันดำ ก็ต้องเลิกกันแล้ว” ???

เห็นได้ชัดว่า การตัดสินใจอะไรสักอย่างของคนๆ หนึ่ง อาจไปผูกติดกับวิธีคิดที่กังวลกับทัศนคติทางสังคม หรือว่าง่ายๆ คือ ยึดติดคำพูดของผู้คนในสังคมมากเกินไป จนทำให้คนๆ นั้น ต้องยอมตกอยู่สภาพ “หน้าชื่นอกตรมไปตลอดชีวิต” ก็เป็นได้

ชีวิตที่ผูกติดในลักษณะเช่นนี้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์หลายๆ อย่าง เช่น ความมีชื่อเสียง, ฐานะเศรษฐกิจ หรือสังคม และมุมมองของความเป็นเพศ ทำให้ผู้หญิงคิดกังวลในเรื่องเหล่านี้มากกว่าผู้ชาย

เพราะการมีแฟน หรือมีครอบครัว ถือว่าเป็นเรื่องปกติ และบ่งบอกว่าผู้หญิงคนนั้นก็เป็นคนปกติ ไม่มีปัญหา แต่ถ้าไม่มีแฟน หรือไม่มีครอบครัว ก็ต้องถูกตั้งคำถาม ถูกตั้งข้อสงสัยว่า ทำไม? รวมถึงกรณีของคนที่เคยมีแต่ต้องเลิกลากันไป ก็เช่นกัน

สิ่งเหล่านี้ ย่อมทำให้คนที่เคยกับปัญหา หรือเคยมีแล้วเลิกลากันไป ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง เกิดความกังวล กลัวการถูกตอกย้ำ จากคนในสังคมที่ไม่เข้าใจ ไม่ยอมรับ และยึดติดกับสิ่งๆ นั้น ให้อยู่กับตัวเขาตลอดไป

นี้ก็เป็นหนึ่งในเหตุผลของความอดทน ซึ่งอาจดูไร้สาระสำหรับบางคน การก้าวข้ามผ่านสิ่งเหล่านี้ได้ จึงเป็นการต่อสู้ขึ้นภายในจิตใจของตนเอง ทำอย่างไรจึงจะกล้าลุกขึ้นมาพูด เพื่อการเปลี่ยนแปลง เพื่อปลดแอดความรู้สึกที่กดทับตัวเอง

เรื่องเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกับมิติหญิงชายในสังคม แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความเสมอภาคเท่าเทียมกันระหว่างหญิงกับชายแต่อย่างใดนะคะ

**********

ช่วงเวลาที่อ้วนได้เรียนรู้ และเข้าใจในเรื่อง “ความเสมอภาคเท่าเทียมกัน” เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ได้เรียนกฎหมาย “รัฐธรรมนูญ” เรียนถึงตัวบทบัญญัติ มาตรา 30 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่เขียนไว้ว่า

“บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน

การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ สภาพร่างกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญจะกระทำมิได้

มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น ย่อมไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามวรรคสาม”

เรียนแล้วก็คิด ในเมื่อรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด กฎหมายอื่นๆ จะขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ แต่ทำไม? ยังมีกฎหมายที่ดูแล้ว ไม่ได้มีความเสมอภาคระหว่างหญิงชายเลย เช่น เหตุหย่า

ต้องบอกก่อนว่า สิ่งที่อ้วนคิดเกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2543-2547 ระหว่างที่ศึกษาในคณะนิติศาสตร์ ระดับปริญญาตรีนะคะ

**********

เมื่อได้เรียนต่อในระดับปริญญาโท สาขากฎหมายมหาชน และค้นคว้าข้อมูลเพื่อทำวิทยานิพนธ์ จึงได้ทราบว่า บทบัญญัติที่เขียนถึง “ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน” มีอยู่ในรัฐธรรมนูญของไทย มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 แล้ว แต่หลังจากนั้น ก็ถูกถอดเข้าถอดออกในถ้อยคำนี้มาแล้วหลายครั้ง จนแทบจะเขียนเป็นประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ให้คงคำว่า “ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน” ของนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรีได้เลย

ยังไม่นับรวมถึงที่ประเทศไทยของเรา ได้เข้าร่วมให้สัตยาบันใน “อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ” หรือ CEDAW ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 แล้วด้วย ซึ่งเนื้อหาสาระสำคัญในอนุสัญญานี้ คือ

รัฐภาคีที่ร่วมลงนาม ต้องตระหนักว่า การเลือกปฏิบัติต่อสตรีขัดต่อหลักการของความเสมอภาคในสิทธิและการเคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นอุปสรรคต่อการมีส่วนร่วมของสตรีทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรม ขัดขวางความเจริญรุ่งเรืองของครอบครัวและสังคม และทำให้การพัฒนาศักยภาพในการให้บริการของสตรีแก่ประเทศของตนและมนุษยชาติเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น โดยให้คำมั่นว่า รัฐภาคีจะ

“บรรจุหลักการของความเสมอภาคของชายและหญิงไว้ในรัฐธรรมนูญ และประกันที่จะให้มีการปฏิบัติตามหลักการที่กำหนดโดยทางกฎหมายและวิธีการที่เหมาะสมอื่นๆ

กำหนดมาตรการด้านนิติบัญญัติ ข้อบังคับ และมาตรการที่เหมาะสมอื่นๆ เพื่อห้ามการเลือกปฏิบัติใดๆ ต่อสตรี

ให้การคุ้มครองทางกฎหมายแก่สตรีอย่างเสมอภาคกับบุรุษ และมีประสิทธิภาพ และรับประกันการคุ้มครองการเลือกปฏิบัติต่อสตรีอย่างมีประสิทธิภาพจากองค์กรตุลาการและหน่วยงานภาครัฐ

งดเว้นจากการเข้าไปพัวพันในการกระทำหรือการปฏิบัติใดๆ เกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติต่อสตรีและรับประกันว่าเจ้าหน้าที่และองค์กรของรัฐจะปฏิบัติโดยสอดคล้องกับข้อผูกพันนี้

ใช้มาตรการที่เหมาะสมทุกอย่าง เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีโดยบุคคล องค์กร หรือวิสาหกิจใดๆ

ใช้มาตรการที่เหมาะสมทุกอย่าง รวมทั้งการออกกฎหมาย เพื่อเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกกฎหมาย ข้อบังคับประเพณีและแนวปฏิบัติที่ก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี”

ขออธิบายความหมายของ “การเลือกปฏิบัติต่อสตรี” ไว้เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน ไม่ผิดเพี้ยนนะคะ

“การเลือกปฏิบัติต่อสตรี หมายถึง การแบ่งแยก การกีดกัน หรือการจำกัดใดๆ เพราะเหตุแห่งเพศ ซึ่งมีผลหรือความมุ่งประสงค์ ที่จะทำลายหรือทำให้เสื่อมเสียการยอมรับ การได้อุปโภค หรือใช้สิทธิ โดยสตรี โดยไม่เลือกสถานภาพด้านการสมรส บนพื้นฐานของความเสมอภาคของชายและหญิงของสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพขั้นพื้นฐานในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม พลเมือง หรือด้านอื่นๆ”

(ความจริงเนื้อหาเหล่านี้ อ้วนเคยนำเสนอไปก่อนหน้านี้แล้ว แต่อาจเป็นเพราะ ตอนนั้นไม่ได้นำเสนอมุมมองที่ขมวดปมชัดเจนเท่าที่ควร จึงต้องขออนุญาตนำมากล่าวถึงอีกครั้งคะ)

**********

เห็นภาพบางอย่างไหมคะ? กว่าผู้หญิงจะได้รับสิทธิของตน โดยบัญญัติเป็นกฎหมายได้จริงๆ ใช้เวลาเนิ่นช้าแค่ไหน แม้ว่าประเทศไทยจะได้ร่วมลงนามให้สัตยาบันในอนุสัญญาว่าด้วยกรขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ หรือ CEDAW ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 แล้วก็ตาม

และแม้ว่ารัฐธรรมนูญไทยได้บัญญัติรับรองสิทธิ “ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน” มานานหลายสิบปี แต่สภาพความเป็นจริง เนื้อหากฎหมายอื่นๆ ที่เป็นกฎหมายลำดับรอง หรือกฎหมายลูก ยังไม่มีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับเนื้อหาในส่วนนี้แต่อย่างใด จนมาในยุครัฐบาลท่านสุรยุทธ พ.ศ. 2550 นี้แหล่ะค่ะ ถึงยอมปรับเปลี่ยนแก้ไขเนื้อหา เป็นที่มาของกฎหมายคำนำหน้าชื่อ, การแก้ไขเนื้อหากฎหมาย เหตุหย่า หรือ ข่มขืนฯ

เหตุผล ของความเนิ่นช้าเช่นนี้ เกิดจากอะไรคะ?

**********

เป็นเพราะที่ผ่านมา เราไม่เคยเห็นปัญหาเหล่านี้หรือเปล่าคะ?

หรือว่า เห็นแล้ว ก็ไม่รู้สึกว่า มันเป็นปัญหาอะไร?
หรือว่า เห็นแล้ว ก็ไม่รู้สึกว่า มันมีความสำคัญตรงไหน?
หรือเพราะ เรามองแค่ว่า มันเกี่ยวข้องอะไรกับเรา?
หรือการมีผลประโยชน์ หรือส่วนได้ส่วนเสียกับเรา เป็นสิ่งสำคัญ ?

…หรือว่า อ้วนเป็นผู้หญิงที่เคยมีปัญหา ก็เลยเดือดเนื้อร้อนใจไปคนเดียว?

**********

การเปิดพื้นที่ให้ทุกท่านได้คอมเม้นท์เข้ามา จึงเป็นการได้รับคำตอบจากคำถามที่ตั้งโจทย์ไว้ ทำให้เราได้รู้ว่า แค่ในสังคมเล็กๆ เช่นในคอลัมน์นี้ ท่านผู้อ่านแต่ละท่านยังมีมุมมอง ทัศนคติ ความเข้าใจในเรื่องมิติหญิงชาย ความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป

คอมเม้นท์ของแต่ละท่านเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอย่างหนึ่งในสังคม ที่ถือว่า ค่อนข้างชัดเจน และตรงไปตรงมา ตามทัศนคติ มุมมอง ประสบการณ์ ภูมิความรู้ ภูมิหลัง ของแต่ละท่าน ในแบบที่ไม่รู้จักกันด้วย น่าสนใจก็ตรงนี้ล่ะคะ

เพราะเวลาเจอหน้าค่าตากันจริงๆ ก็ไม่รู้ว่าจะพูดคุยได้เนื้อหาขนาดนี้หรือเปล่า?

ดังนั้นอ้วนจึงไม่ปิดกั้นคอมเม้นท์ของใครนะคะ ถ้าเราอยากรู้ว่าเขาคิดอย่างไรกับเรา หรือคิดอย่างไรกับความคิดเห็นของเรา ก็ต้องเปิดโอกาสให้เขาได้พูดออกมาอย่างเต็มที่

อ้วนเชื่อมั่นเสมอว่า คนเราจะเข้าใจคนอื่นๆ ได้ ก็ต่อเมื่อเรามีหัวใจเปิดกว้างมากพอสำหรับทุกๆ คน (ยกเว้นหมิ่นประมาทกันก็คงไม่ได้นะคะ..)

Comments are closed.

Pin It