เห็นข่าว “เด็กชายอายุ 14 ปี ข่มขืนเด็กหญิง วัยเพียงแค่ 6 ขวบ อ้างอ่านหนังสือโป๊ที่ยืมมาจากเพื่อนแล้วเกิดอารมณ์ทางเพศ”
เห็นเรื่องราวความจริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเช่นนี้ แล้วน่าเศร้าใจมาก ถ้าเรามีลูก มีหลาน อยู่ในวัยเพียง 6 ขวบ เป็นเด็กผู้หญิงตัวน้อยๆ ที่เพิ่งจะเข้าเรียนชั้นประถมหนึ่งเท่านั้น แต่ก็ต้องเจอะเจอกับเหตุการณ์เลวร้ายที่สุดในชีวิตเช่นนี้
ฝ่ายผู้กระทำความผิด ก็เป็นเด็กชายวัยรุ่นอายุ 14 ปี ที่กำลังเริ่มเรียนรู้และอยากลองหาประสบการณ์ด้านเพศ ความไม่รู้หรือความโง่เขลาเบาปัญญา คิดสั้นๆ ได้แค่ว่า เมื่อเกิดอารมณ์ความต้องการทางเพศแล้วต้องระบายออกกับเพศหญิง เมื่อเห็นเด็กหญิงตัวน้อยเดินผ่านมา ก็คิดแค่ว่า ฉันจะต้องปลดปล่อยความต้องการทางเพศกับเด็กคนนี้
….. สิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้นนี้ มีสาเหตุจากสิ่งใดกัน?
เด็กผู้ชายคนนั้น แน่นอนว่า เป็นผู้กระทำความผิด เด็กชายอายุเพียง 14 ปี ที่ควรจะได้ร่ำเรียนหนังสือในชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ก็ต้องทำงานหาเงินเลี้ยงดูตัวเองแล้ว..ย่อมแสดงว่า เด็กคนนี้ ไม่ได้รับสิทธิในการศึกษา ได้เรียนหนังสือตามเกณฑ์มาตรฐานขั้นพื้นฐานที่รัฐต้องจัดให้ !! แต่เราก็ไม่รู้ว่า เด็กคนนี้เรียนจบชั้นไหน? อาจจะแค่ ป. 6 ก็เป็นได้ เด็กคนนี้ เติบโตในสังคมแบบไหนกัน?
โดยวัยที่อยากรู้ อยากลอง มีความต้องการทางเพศที่เกิดขึ้นตามสรีระและฮอร์โมนในร่างกาย แต่เค้าไม่สามารถเรียนรู้ได้ว่า สิ่งที่ตัดสินใจกระทำลงไปด้วยอารมณ์ชั่ววูบ จะส่งผลกระทบต่อตัวเองและผู้อื่นรุนแรงมากน้อยแค่ไหน อย่างไรบ้าง
ถามว่า สื่อ..หนังสือโป๊ .. มีส่วนต้องรับผิดชอบในการกระทำครั้งนี้ไหม?
และสุดท้าย คงต้องถามว่า หน่วยงานภาครัฐเอง เป็นส่วนหนึ่งของความรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้นนี้หรือไม่ ? เพราะนี้ คือ ภาพสะท้อนของสังคมไทย ในหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็น ระบบการศึกษาของเด็กไทย เป็นอย่างไร? ระบบเศรษฐกิจของสังคม เป็นอย่างไร? สถาบันครอบครัว? ฯลฯ และระบบการบริการสุขภาพ โดยเฉพาะ ระบบบริการอนามัยเจริญพันธุ์เป็นอย่างไร?
หลายๆ คน อาจสงสัยระบบบริการอนามัยเจริญพันธุ์มาเกี่ยวข้องกับเรื่องราวนี้ได้อย่างไรเนื่องจากอ้วนทราบว่า มีหลายประเทศในโลกได้มีกฎหมายที่พูดถึงการบริการอนามัยเจริญพันธุ์ โดยระบุถึงเรื่อง การให้ข้อมูลและการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องเพศและบทบาทการเป็นพ่อแม่อย่างมีความรับผิดชอบ, การบริการอนามัยเจริญพันธุ์สำหรับวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาว , การบริการและกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับการวางแผนครอบครัว ฯลฯ
ในเมืองไทยเอง เคยมีการผลักดันให้เกิดกฎหมายในลักษณะเช่นนี้ ตั้งแต่ปี 2547 ภายใต้ชื่อ “ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองอนามัยเจริญพันธุ์” เพื่อกำหนดหลักการ ทิศทาง เครื่องมือและเงื่อนไขสำคัญ ในการดูแลคุ้มครองระบบสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ที่รัฐต้องจัดการให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย ที่เราต้องยอมรับ !!! เพราะเราพบปัญหาหลากหลายเรื่อง เกิดจากความทัศนคติที่ผิดในเรื่องเพศ ปัญหาหลากหลายเรื่อง เกิดจากการขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการดูแลสุขภาพตนเอง โดยเฉพาะสุขภาพทางเพศ
รู้ไหมว่าปรากฎการณ์ของสตรีที่เสียชีวิตด้วยโรค.. อันดับ 1 คือ “โรคมะเร็งปากมดลูก” ตามมาด้วย “โรคมะเร็งเต้านม” แค่โรคมะเร็งปากมดลูกเพียงอย่างเดียว สตรีไทยก็เสียชีวิตโดยเฉลี่ย สูงถึงวันละ 9 คน และรู้ไหมว่า ปรากฎการณ์ของเด็กหญิงที่ตั้งครรภ์ตั้งแต่อายุเพียง 12 ปีหรือ 13 ปี มีมากมายแค่ไหน? ในปัจจุบัน
จากข้อมูลที่ผ่านมาของ ยูนิเซฟ พบว่า สถิติแม่วัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปีของไทย มีจำนวนสูงถึง 150,000 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงสุดอันดับ 1ในเอเชีย และจากผลการสำรวจในครั้งนี้ก็พบว่า เด็กรู้เรื่องการคุมกำเนิด การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ต่ำมาก สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยยังไม่เตรียมตัวให้เด็ก ที่สำคัญเด็กวัยรุ่นตอนต้น หากอยากรู้ในเรื่องเหล่านี้โดยไม่มีเกราะป้องกันอาจจะนำไปสู่การอยากลอง
การติดอาวุธทางปัญญาด้วยการให้ความรู้ที่ถูกต้องอย่างตรงไปตรงมา เพื่อสร้างทัศนคติเชิงบวกในเรื่องเพศว่าเป็นเรื่องปกติของชีวิต และการเข้าถึงอุปกรณ์คุมกำเนิดและป้องโรคทางเพศสัมพันธ์ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
รู้ไหมว่า สถิติของคนที่ติดเชื้อโรคเอดส์ในปัจจุบัน กลับกลายเป็นเด็ก เยาวชน นักเรียน นักศึกษาเพิ่มมากขึ้นทุกๆ ปี วัยรุ่นอายุระหว่าง 15-24 ปี เป็นผู้ติดเชื้อกว่า 30,000 คน ซึ่งเป็นการได้รับเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ถึงแปดสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ สาเหตุที่ทำให้วัยรุ่นไทยกลายเป็นเหยื่อโรคเอดส์มากขึ้นในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งมาจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป มีการเรียนรู้วัฒนธรรมตะวันตกจากสื่อต่างๆ สังคมมีเสรีทางเพศมากขึ้น จนทำให้เด็กจำนวนมากมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร โดยที่ยังไม่มีความรู้ในการป้องกันตนเอง
หากสังคมเข้าใจในสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ ว่านี้คือ สิทธิมนุษย์ชนขั้นพื้นฐาน ..เป็นสิทธิบนเนื้อตัวร่างกายของแต่ละคน มนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นหญิง หรือ ชาย สามารถมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย บนพื้นฐานของเสรีภาพและความรับผิดชอบ ว่าจะมีเพศสัมพันธ์หรือไม่มีเมื่อไร อย่างไร และจะมีบุตรหรือไม่ มีเมื่อไร จำนวนกี่คน จะเว้นระยะห่างของการมีบุตรนานเท่าไร สามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับการคุมกำเนิด และเครื่องมือคุมกำเนิดที่มีความปลอดภัย มีประสิทธิภาพ สามารถเข้าถึงบริการทางสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ได้อย่างแท้จริง
ถึงเวลาหรือยังคะ ที่สังคมไทยจะตระหนักและยอมรับรู้..เรื่องเหล่านี้เสียที ???
Comments are closed.