Advice

สาวๆ อยากสวยสู้แดด ทิ้ง 4 นิสัยเสียนี้ซะ!

Pinterest LinkedIn Tumblr

แสงแดด! แค่โดนนิดหน่อย ผิวหน้าหมองคล้ำ ก็เซ็งแย่แล้ว
ยิ่งถ้าเกิดจุดด่างดำ ถึงขั้นเป็นกระเป็นฝ้า คุณคงแทบอยากนำใบหน้าอันแสนสวยของคุณแทรกแผ่นดินหนี
เท่านั้นไม่พอ อานุภาพของแสงแดดยังส่งผลให้เกิดริ้วรอยก่อนวัย กระทั่งอาจจะทำให้เกิดเป็นมะเร็งผิวหนังชนิดต่างๆได้


เชื่อว่า สาวสมัยนี้รู้อยู่แล้วว่าแดดทำร้ายผิวขนาดไหน ประกอบกับโฆษณาผลิตภัณฑ์ครีมกันแดด แถมจุดขายทำให้ผิวขาวใสที่เรียกทับศัพท์กันติดปากว่า ‘ไวท์เทนนิ่ง’ (whitening) ก็อัดโปรโมทออกทีวีถี่ยิบไม่ว่าเดือนไหนซีซันใด เพราะภูมิอากาศบ้านเราโดยเฉลี่ยอากาศร้อนแดดแรงทั้งปี

การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์อย่างถูกต้องเหมาะสมกับตนเองเป็นสิ่งสำคัญค่ะ

ทว่าปัญหาคือ สาวเรามักเลือกซื้อยี่ห้อนี้เพราะเพิ่งออกใหม่(อยากลอง) ยี่ห้อนั้นเพราะนางแบบสวย(อยากเหมือน) ยี่ห้อโน้นเพราะค่า SPF สูงๆ(อยากคุ้ม) หรือยี่ห้อนู้นเพราะราคาแพง(อยากหรู) ฯลฯ

ก่อนที่คุณจะตัดสินใจควักเงินซื้อผลิตภัณฑ์แบรนด์ใดก็ตาม คุณควรปรับเปลี่ยนนิสัยความคิดความเคยชินผิดๆบางอย่างซะ
1) นิสัยขี้เกียจ
ไม่ทาครีมกันแดดก็ไม่เห็นเป็นไร

แม้ฟันธงไม่ได้ว่าต้องใช้เวลานานเท่าไร โดดแดดขนาดไหน ถึงจะเกิดฝ้ากระ ริ้วรอย จุดด่างดำ ทว่าทุกตำราความงามล้วนกำชับให้ทาครีมกันแดดเป็นนิสัยตั้งแต่แรกรุ่น

ดร.นพ.เวสารัช เวสสโกวิท หัวหน้ากลุ่มงานพันธุศาสตร์ระดับโมเลกุล สถาบันโรคผิวหนัง รพ.ราชวิถี กล่าวว่า

“เมื่อผิวโดนรังสีอัลตราไวโอเล็ตเป็นเวลานานๆหลายปี จะทำให้เกิดความผิดปกติของผิวหนัง เกิดสีกระดำกระด่าง กระฝ้า หรืออาจทำให้เกิดเป็นมะเร็งผิวหนังชนิดต่างๆได้”

รังสี UVA และ UVB จากแสงแดดจะกระทบผิวหนังชั้นบนของคุณ และเริ่มแทรกตัวลงไปถึง DNA ซึ่งอยู่ภายในเซลล์ผิวหนัง ทีนี้ร่างกายของคุณจะเร่งการผลิตเมลานิน ทำให้ผิวดำคล้ำลง

ผิวสีแทนคือ ข้อพิสูจน์ว่า DNA ของคุณถูกทำลายแล้ว

เพราะฉะนั้นสาวคนใดที่นิยมนอนอาบแดด เพลาๆลงบ้างก็ดีนะคะ ผิวพรรณของคุณจะได้เฮลท์ตี้ขึ้น ไม่เหี่ยวย่นหย่อนยานเร็ว ไงล่ะ

ปกติ ร่างกายของคนเราจะซ่อมแซมตัวเอง โดยกำจัดเซลล์ซึ่งเสียหายและเร่งผลิตผิวหนังที่แข็งแรงขึ้นมา

หากคุณยังตากแดดไม่หยุด ระบบการซ่อมแซมทำงานไม่ทัน แค่เซลล์เสียหายตัวเดียวก็สามารถกลายพันธุ์เป็นมะเร็งผิวหนังได้ภายในระยะเวลา 5 ปีเท่านั้น

หลังจากหมอเวสารัชพูดถึงอันตรายของแสงแดดแล้ว แกยังบอกวิธีป้องกันด้วยค่ะ

“ยากันแดดที่มีค่า SPF 10 –15 เท่านั้น สามารถปกป้องการเกิดมะเร็งผิวหนังได้ถึง 500-1000 เท่า”

ฮั่นแน่ ไม่ซับซ้อนเลย เพียงทาครีมกันแดดหลังอาบน้ำทุกเช้า ทั้งใบหน้าและผิวกายทั่วตัว ผิวคุณก็จะเนียนเด้ง สวยนานสมวัยแล้วล่ะค่ะ

แต่สาวบางคนอาจคิดว่ายุ่งยาก ลำพังตอนเช้าก็รีบเร่งจะตายอยู่แล้ว ไม่มีอารมณ์มานั่งละเมียดทาโลชันหรอก

“คิดซะว่าการทาครีมกันแดดเหมือนแต่งตัวใส่เสื้อผ้า เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำทุกวันก่อนออกนอกบ้าน ไม่งั้นเหมือนไม่ได้ใส่อะไรไป เพื่อปกป้องผิวจากแสงแดดข้างนอก” กูรูด้านความงามแนะวิธีกำหนดทัศนคติ

เมื่อปรับมุมมองวิธีคิดแล้ว การทาครีมกันแดดทุกเช้าก็จะไม่ใช่เรื่องยากเย็นเลย

“อยากคงความสาวนานๆต้องมีวินัย” เธอฝากภาษิตแก่สาวๆ โดยเฉพาะค่ะ
2) คิดเอาเอง
เลือกครีมกันแดดค่า SPF สูงๆ ไว้ก่อน เพื่อกันแดดได้เยอะๆ นานๆ

ผู้คนจำนวนมากทีเดียวทึกทักเองว่าครีมกันแดดที่มีค่า SPF (Sun Protect Factor – ตัวเลขที่บอกว่าเราจะสามารถอยู่ท่ามกลางแสงแดดโดยไม่เกิดผิวหนังไหม้) 30 40 ขึ้นไปว่าเป็นเกราะกันแดดดีเยี่ยม ยิ่งเกือบ 100 ยิ่งชัวร์ !

“จากงานวิจัย Percentage การป้องกันการทำลายจากแสงแดดออกมาว่า ใช้ SPF15 สามารถป้องกันได้ถึง 93% แต่ใช้ SPF30 ป้องกันได้ 97% ใช้ SPF45 ป้องกันได้ 98%”

พญ.รัศมี อัครพันธุ์ รองผู้อำนวยการด้านบริหารสถาบันโรคผิวหนัง รพ.ราชวิถี ชี้ให้เห็นว่าระหว่าง SPF30 กับ 45 ซึ่งเปอร์เซ็นต์การป้องกันต่างกันเพียง 1% ควรเลือกใช้ SPF30 ดีกว่า

“แต่ถ้าใช้ชีวิตในเมือง ถูกแดดไม่มาก เลือกระดับ SPF15 ก็เพียงพอ”

หมอรัศมี ให้หลักการเลือกครีมกันแดดว่า

“เลือกตามความเหมาะสมกับผิวและงาน หรืองานอดิเรกที่จะทำในชีวิตประจำวัน คนๆหนึ่งตากแดด 30 นาทีแล้วผิวแดงแสบ เมื่อทาครีมกันแดดที่มี SPF15 หมายความว่าคนๆนั้นสามารถตากแดดได้นานเป็น 15 เท่า หรือประมาณ 7 ชั่วโมงครึ่ง โดยไม่ก่อให้เกิดอาการแดงไหม้ที่ผิว

หากเล่นกีฬากลางแจ้ง ต้องใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF สูงขึ้น หรือไปว่ายน้ำ ก็ควรเลือกครีมกันแดดที่กันน้ำได้ มีข้อความระบุว่า-Water Proof

ครีมกันแดดที่วางขายกันทุกวันนี้ประกอบด้วยสารกันแดด 3 ชนิด

1.Chemical Sunscreen มีคุณสมบัติในการดูดซับแสง เมื่อทาผิวแล้วจะซึมลงไปสู่ผิว
2.Physical Sunscreen มีคุณสมบัติสะท้อนแสง
3.Tanning Sunscreen มีคุณสมบัติทำให้ผิวสีคล้ำขึ้น ผิวหนังจึงทนต่อแสงแดดได้ดีมากขึ้น

“อย่างที่หนึ่งนั้น แบ่งเป็นสารดูดซึมเฉพาะ UVB หรือดูดซึมได้เฉพาะ UVA และสารที่ดูดซึมได้ทั้ง UVB และ UVA” เภสัชกรคนสวย ดร. พนิดา วยัมหสุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์ เภสัชภัณฑ์และเครื่องสำอาง สำนักนวัตกรรม บริษัท แพน ราชเทวีกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) อธิบาย

“รังสี UVB แสดงออกมาในค่า SPF ซึ่งมีมากในช่วง 10.00 – 15.00 น.”

แน่นอน คุณไม่ควรเผชิญหน้ากับแดดจังๆระหว่างแดดจัดๆช่วงนั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าตอนแดดอ่อนๆจะปลอดภัยนะคะ

“UVB เป็นแค่ตัวการที่ทำให้เกิดผิวหนังไหม้ และรอยด่างดำ แต่ UVA ซึ่งมีอยู่ในตอนเช้ากับตอนเย็น สามารถส่องผ่านทะลุถึงชั้นผิวหนังแท้ ก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนัง ริ้วรอยเหี่ยวย่น

UVA ไม่แสดงออกมาในค่า SPF แต่แสดงออกมาในค่า PA+++”

หมอยาคนหน้าใส จึงฝากกำชับว่า เวลาเลือกซื้อผลิตภัณฑ์กันแดดว่า

“ต้องดูทั้งค่า SPF และค่า PA ที่ควรมีเครื่องหมายบวกติดกัน 3 ตัวด้วย เพื่อช่วยปกป้องได้ทั้ง UVA และ UVB”
3) ชะล่าใจ
ครึ้มฟ้าครึ้มฝน ไม่ต้องทาครีมกันแดดก็ได้


ปีนี้บ้านเราไม่ว่าหน้าหนาวหรือหน้าร้อนมักฝนตก เดี๋ยวพายุนั้นเข้าพายุนี้เข้า อากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝน แดดไม่แรงจัดเท่าไหร่ สาวหลายคนบอกตัวเองไม่ต้องทาครีมกันแดดก็ได้

ขอบอก คุณผิดแล้วค่ะ

เพราะ 70% ของรังสี UV ทะลุผ่านกลุ่มเมฆได้ แม้กระทั่งพื้นผิวน้ำในสระ รังสี UV ก็สามารถทะลุผ่านถึง 80%

เท่านั้นไม่พอ น้ำยังสะท้อนแสง UV ได้ถึง 100% ดังนั้นตำแหน่งริมทะเลริมสระน้ำเป็นพื้นที่เสี่ยงทีเดียวค่ะ

สาวออฟฟิศอาจแย้งขึ้นว่าถ้าชั้นไม่ได้ออกไปตากแดดล่ะ! เช้าขึ้นมาชั้นออกจากบ้านก็อยู่ในรถ ขับถึงที่ทำงานก็อยู่ในตึกทั้งวัน!! จำเป็นต้องทาครีมกันแดดอีกรึ

ตอบเลยว่า MUST ค่ะ เนื่องจากรังสีUVA ทะลุทะลวงกระจก ไม่ว่าจะเป็นหน้าต่างบ้าน หน้าต่างรถ หรือหน้าต่างตึกได้ทั้งนั้น

“ถึงทาครีมกันแดดแล้วออกข้างนอกก็ควรสวมแว่นกันแดด ไปไหนเจอแดดจ้าหาร่มมาถือหาหมวกมาใส่ซะ” เภสัชกรพนิดาแนะว่าพยายาม safe ตัวเองจาก sun มากที่สุด

ต้องเป็นแว่นกันแดดที่บล็อคได้ทั้งรังสี UVA และ UVB

หมวกแบบมีปีก และร่มชนิดกันแสง ไม่ใช่ร่มธรรมดากันฝน

กระจกรถยนต์ติดฟิล์มซะ เวลาอยู่กลางแจ้งมุ่งหาที่ยืนใต้ร่มเงาเป็นหลักไว้ก่อน

มิหนำซ้ำ การเลือกเสื้อผ้าและสีสันก็เช่นกัน

“หน้าร้อนคนชอบใส่เสื้อโปร่งๆสีขาว เพราะใส่แล้วไม่ร้อน แต่ความจริงกันแสงได้น้อยมาก”

หมอรัศมีบอกว่าผ้าฝ้ายค่อนข้างไร้ประสิทธิภาพในการป้องกันรังสีUV

“เสื้อผ้าเนื้อแน่นละเอียดกันแดดได้ดี ยิ่งเป็นโทนสีเข้ม ยิ่งช่วยปกป้องได้มากขึ้น”

4) หลงผิด
อยากหน้าขาว ใช้ครีมไวท์เทนนิ่งดะไปหมด

เดี๋ยวนี้ครีมกันแดดมักโฆษณาบวกสรรพคุณว่าทำให้หน้าขาวขึ้นด้วย

“ในกลุ่มไวทเทนนิ่งจะใส่สารกันแดดด้วย เพราะพวกสารกันแดดค่า SPF ช่วยไม่ให้ผิวคล้ำอยู่แล้ว แต่อยู่ในข้อ 2 Physical Sunscreen ที่มีคุณสมบัติสะท้อนและกระจายแสง ครีมตัวไหนใส่ปริมาณที่เป็น Physical Block มากๆ หน้าจะขาวโพลน ถ้าใช้ปริมาณไม่มาก และไปเน้นที่ขนาดนาโน หน้าจะไม่ขาวโพลน”

เภสัชกรพนิดาเชื่อว่าครีมไวท์เทนนิ่งทำให้หน้าขาวขึ้นจริง

“เพราะสมัยเป็นอาจารย์ที่คณะเภลัชฯ จุฬาฯ เคยเป็นกรรมการทำวิจัยสารพวกนี้ และผลวิจัยออกมาว่าขาวจริง แต่พอตากแดดปั๊บก็คล้ำเลย”

หมอยาสาวใหญ่จึงบอกว่าใช้ครีมอย่างเดียวไม่พอ ต้องดูแลระมัดระวัง อย่าพาตัวเองออกไปโดนแสงแดดจังๆบ่อยๆ

“ถามว่าขาวนานมั้ย มันขึ้นกับพฤติกรรม แต่ถ้าถามว่าขาวมากมั้ย ตอบว่า ‘ไม่’ เพราะสารไวท์เทนนิ่งทั่วไปในเครื่องสำอางค์ไม่ได้ให้ผลมากขนาดนั้น ไม่ต้องกังวลเลย”

ทว่าสิ่งน่ากังวลกลับเป็นครีมไวท์เทนนิ่งชนิดสรรพคุณแรง ทำให้หน้าขาวจนเป็นหน้ากระดาษน่ะสิ

“ส่วนใหญ่ห่วงกันในเรื่องของไฮโดรควิโนน(Hydroquinone) กับพวกสารที่มีส่วนผสมของอนุพันธ์ปรอทที่นิยมใช้กันมาตั้งแต่อดีต ด้วยความไม่เข้าใจและผลิตพวกนี้ออกมา ถ้าผลิตภัณฑ์นั้นไม่มีส่วนผสมที่เป็นอนุพันธ์ของปรอท ก็ไม่มีอันตรายใดๆ

แต่ไฮโดรควิโนนสิ อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง อย่าง เกิดอาการแพ้ระคายเคือง เกิดจุดด่างขาวที่ใบหน้าหรือผิวหนังถาวร ถ้าใช้ระยะยาวเกิน 6 เดือน อาจทำให้เกิดฝ้าเส้นเลือดได้ หรือว่าหากต้องการหยุด ต้องค่อยๆหยุด”

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข จึงประกาศห้ามใช้สารนี้ในเครื่องสำอางค์ แต่ใช้ในการดูแลของแพทย์

สารประกอบในครีมไวท์เทนนิ่งมี 2 แบบ

1.สารที่มีคุณสมบัติกระตุ้นการหลุดลอกของเซลล์ผิวชั้นนอก จะผลัดเซลล์ผิวเก่าที่ตายแล้วออกไป ไม่ได้ลดการสร้างเม็ดสีโดยตรง เช่น AHA (Alphahydroxy Acids) ความเข้มข้นไม่เกิน 15% กรดวิตามินเอ และ BHA (Beta Hydroxy Acids) ฯลฯ

2.สารที่มีคุณสมบัติยับยั้งการทำงานของเม็ดสี ซึ่งอยู่ในชั้นล่างสุดของหนังกำพร้า เช่น กรดโคจิก สารสกัดจากชาเขียว และวิตามินซี เป็นต้น”

หมอยาหน้าใสอธิบายกลไกที่ทำให้หน้าขาว

“ผิวเราจะขาวรึเปล่าขึ้นอยู่กับเซลล์สร้างเม็ดสี เซลล์ที่เรียกว่า “เมลาโลไซด์” มีหน้าที่ผลิตเม็ดสีที่เรียกว่า “เมลานิน”

การที่ผิวจะขาวได้ จะต้องใช้สารที่ทำให้เมลาโลไซด์ไม่ทำงาน ดังเช่น ครีมกันแดดซึ่งดูดซับรังสีอุตราไวโอเลตไม่ให้ไปกระตุ้นการสร้างเม็ดสี ผิวจึงดูขาวขึ้น”


* ใช้ไวท์เทนนิ่งให้ได้ผล ต้อง…

– เพื่อเสริมประสิทธิภาพผิวให้ทนต่อรังสี UVB ได้ดีขึ้น คุณสาวๆ ต้องลงทุนซื้อวิตามินมากินเสริมด้วยนะคะ วิตามินที่ดร. พนิดา แห่งแพนฯ แนะนำ ได้แก่ วิตามินซี, วิตามินอี, และเบต้าแคโรทีน

– ผิวที่อุ่นและชื้นจะดูดซึมไวท์เทนนิ่งได้ดีกว่าผิวที่เย็นและแห้ง ดังนั้นก่อนทาไวท์เทนนิ่ง คุณควรประคบใบหน้าด้วยผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่น แล้วครีมไวท์เทนนิ่งของคุณจะมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นค่ะ

– แถมวิธีการทดสอบครีมไวท์เทนนิ่งว่ามีไฮโดรควิโนนรึเปล่า สามารถทำง่ายๆ โดยนำผงซักฟอกมาละลายน้ำ แล้วผสมกับเนื้อครีม ถ้าสีออกเป็นสีน้ำตาลเข้มๆ แสดงว่ามีไฮโดรควิโนน ต้องระมัดระวังแล้วล่ะ

Comments are closed.

Pin It