jatung_32@yahoo.com
ย้อนกลับไปเมื่อร้อยปีก่อน เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2453 ในนครชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ในยุคสมัยที่อุตสาหกรรมในประเทศอเมริกาเริ่มเติบโต ผู้หญิงเริ่มออกจากบ้านเข้ามาเป็นแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่ขยายตัวมากขึ้นหลายแห่ง สตรีที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมเหล่านั้น ต้องทำงานอย่างหนักและต่อเนื่องยาวนานกว่าผู้ชาย โดยที่ได้รับค่าแรงน้อยกว่าผู้ชายค่อนข้างมาก เธอต้องอยู่อย่างยากลำบากและแร้งแค้น แรงงานผู้หญิงเหล่านั้นจึงร่วมตัวกันลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของตนเองที่ถูกนายจ้างเอารัดเอาเปรียบ เพื่อให้พวกเธอได้รับสิทธิค่าแรงที่เท่าเทียมกับผู้ชาย นี้คือที่มาของ “วันสตรีสากล” นั้นเอง!
มีการตั้งคำถามว่า เมื่อมีวัน “สตรีสากล” แล้วทำไมไม่มีวัน “บุรุษสากล” บ้าง??
คำถามนี้ คงมีหลายๆ คนอยากรู้ เช่นเดียวกับที่อ้วนเคยเจอคำถามจากผู้ชายว่า ผู้หญิงมี “สภาสตรี” แต่ทำไมผู้ชายไม่มี “สภาบุรุษ”
ถ้าผู้หญิงต้องการความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ก็ต้องยอมรับให้มี “สภาบุรุษ” หรือ วัน “บุรุษสากล”
เรื่องนี้ก็ต้องถามย้อนกลับไปที่คนตั้งคำถามเช่นนั้นว่า คุณเห็นว่าสตรีกับบุรุษมีความเสมอภาคเท่าเทียมกันแล้ว จริงๆ หรือ??
แม้ว่าจะมีหลายคนเข้าใจว่า สิ่งที่เป็นอยู่ในสังคมไทยทุกวันนี้ ผู้หญิงได้รับสิทธิและความเสมอภาคเท่าเทียมกันแล้ว เพราะในรัฐธรรมนูญของไทย ก็ได้บัญญัติไว้เช่นนั้น อีกทั้งได้มีการแก้กฎหมายหลายฉบับที่ทำให้เกิดความเชื่อเช่นนั้นได้ แต่ความเป็นจริง สังคมไทยโดยส่วนใหญ่ ยังไม่ได้เข้าใจในเนื้อแท้ของ “สิทธิความเสมอภาคเท่าเทียมกันระหว่างหญิงชาย” ได้จริงๆ
ทุกคนพูดถึง “สิทธิสตรี” ทุกคนพูดคำว่า “เสมอภาคเท่าเทียมกัน” ได้ แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเข้าใจว่าสิทธิสตรีคืออะไร? มีหน้าตาอย่างไร? ได้แต่เดาความหมายสร้างความเข้าใจขึ้นมากันเองจนเป็นปัญหา ทำให้หลายๆ คนเข้าใจผิดในความหมายของคำเหล่านี้ไป
เช่น “สิทธิสตรี” คือ สิทธิที่ผู้หญิงจะลุกขึ้นมาทำอะไรๆ อย่างที่ผู้ชายทำได้ทุกอย่าง โดยไม่มองว่า เป็นสิ่งที่ควรกระทำหรือไม่? อย่างไร?..
เช่น เห็นว่า เมื่อผู้ชายมีกิ๊ก มีชู้ มีเมียน้อย ผู้หญิงก็ย่อมสามารถมีสิทธิ มีกิ๊ก มีชู้ มีผัวน้อย ได้เช่นกัน..อย่างนั้นหรือ??
แสดงว่า เราเข้าใจคำว่า “สิทธิสตรี คือสิทธิมนุษยชน” ผิดเพี้ยนไปแล้วนะคะ
คำว่า “สิทธิสตรี คือ สิทธิมนุษยชน” หมายความว่า สตรีก็มีสิทธิความเป็นมนุษย์ที่ไม่แตกต่างกับบุรุษ ในความหมายถึงสิทธิที่มีติดตัวมาตั้งแต่เกิด เริ่มต้นตั้งแต่สิทธิในการดำรงชีวิตอยู่ โดยที่ไม่มีใครจะมีอำนาจเหนือมาทำลายชีวิตของเราได้, สิทธิบนเนื้อตัวร่างกายของเราเอง, สิทธิในการพูด, สิทธิในการเดินทาง, สิทธิในการรับบริการจากรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การรักษาพยาบาล และอื่นๆโดยต้องอยู่ภายใต้กฎกติกา หรือการบังคับใช้กฎหมาย เฉกเช่นเดียวกัน ที่สำคัญเป็นการใช้สิทธิอย่างเป็นมนุษย์ของตน ภายใต้ขอบเขตว่าจะไม่ไปละเมิดสิทธิของคนอื่นๆในสังคม
กลับมาที่คำถามเดิมว่า ที่ผ่านมาผู้หญิงไทยได้เรียกร้อง “สิทธิสตรี เรียกร้อง “ความเสมอภาคเท่าเทียมกัน” มากขึ้นเรื่อยๆ ก็ต้องย้อนกลับไปในอดีตที่ผ่านมาว่า ผู้หญิงไทยได้สิทธิความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกับผู้ชายหรือเปล่า? ในเมื่อทั้งชายและหญิงต่างก็เป็นมนุษย์ที่มีความต้องการขั้นพื้นฐานไม่แตกต่างกัน
แม้ในทุกวันนี้สังคมไทยก็ยังมีการละเมิดสิทธิสตรีอยู่ แต่เป็นการกระทำในรูปแบบที่เรามองไม่เห็น และที่สำคัญ เราเองไม่รู้สึกว่าเป็นการละเมิดสิทธิสตรี อาจเป็นเพราะโครงสร้างสังคมชายเป็นใหญ่ ที่หล่อหล่อมให้สังคมและตัวเรา มีความเคยชินกับสิ่งที่พบเห็นมาตั้งแต่เกิดจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ว่านี้คือ เรื่องปกติ!
ค่านิยมหรือโครงสร้างสังคมชายเป็นใหญ่ ให้อำนาจกับผู้ชาย หรือผู้ที่มีอำนาจ ครอบงำให้ผู้หญิงอยู่ภายใต้อำนาจอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะมีกฎหมายออกมาบังคับใช้เพื่อให้เกิดความเสมอภาคเท่าเทียมกัน หรือช่วยแก้ไขปัญหาที่ผู้หญิงประสบ เช่น เรื่องความรุนแรงต่อเด็กและสตรี
อ้วนเองได้มีโอกาสพูดคุยกับสตรีที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ของชุมชนต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนมุมมองความคิดเห็นต่างๆ อาทิเช่น กฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งเป็นปัญหาว่า เมื่อเพื่อนบ้านได้แจ้งเรื่องราวของการกระทำความรุนแรงฯ ไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว แต่เจ้าหน้าที่กลับไม่ให้ความสนใจที่จะเข้าช่วยระงับเหตุฯ ที่เกิดขึ้น บอกเพียงแค่ว่า เรื่องของผัวเมีย ไม่อยากยุ่ง หรือแม้กระทั่งตำรวจเองก็กระทำความรุนแรงต่อภริยาตนเองก็มี
ทำให้อ้วนมองว่า “กฎหมายเองก็ไม่สามารถเอาชนะโครงสร้างสังคมชายเป็นใหญ่ได้ใช่ไหม?” แล้วส่งผลให้กฎหมายนี้ไม่เกิดสภาพบังคับใช้ได้จริง หากเจ้าหน้าที่ของรัฐเองยังไม่มีความเข้าใจหรือตระหนักในปัญหาที่เกิดขึ้น ชาวบ้านเองก็รู้สึกว่า แจ้งความไปก็เท่านั้น ไม่เกิดผลอะไรเลย สังคมไทยก็ยังเป็นแบบเดิมๆ ที่ไม่อาจยอมรับหรือสร้างความเข้าใจใน “สิทธิสตรี หรือสิทธิบนเนื้อตัวร่างกายที่เป็นของตนเอง ไม่มีใครจะสามารถทำร้ายร่างกายกันและกันได้ โดยไม่ผิดกฎหมาย”
ดังนั้น เราควรกำหนดประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง เพื่อให้เห็นภาพว่า ทำไมเราต้องมาพูดเรื่อง “สิทธิสตรี” ที่มากกว่า การลุกขึ้นมาบอกว่า ฉันจะทำอะไรก็ได้ .. ในฐานะที่ฉันเป็นสตรีที่มีสิทธิ หรือได้รับสิทธิความเสมอภาคเท่าเทียมกับผู้ชายแล้ว ..
ผู้หญิงควรต้องสนใจในประเด็นต่างๆที่อยู่ในสังคม เช่น ผู้หญิงกับเศรษฐกิจ, ผู้หญิงกับสื่อมวลชน, ผู้หญิงกับอำนาจและการตัดสินใจ, ผู้หญิงกับสิ่งแวดล้อม, ผู้หญิงกับสุขภาพอนามัย เป็นต้นว่า เราเป็นผู้หญิงที่ได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียมกันหรือยัง? หรือช่วยแก้ไขปัญหาจากการถูกเลือกปฏิบัติฯ หรือไม่?
ยกตัวอย่าง ผู้หญิงได้มีโอกาสก้าวเข้าสู่ตำแหน่งงานในระดับสูงน้อยมากเมื่อเทียบกับผู้ชาย แต่เราอยู่ในตำแหน่งระดับคนทำงานมากกว่าผู้ชายเยอะมาก เป็นเพราะอะไร?
หรือในกรณี ผู้หญิงกับสื่อมวลชนที่เรายังเห็นภาพผู้หญิงตกเป็นเหยื่อของการนำเสนอข่าว ภาพ เรื่องราวอย่างมีอคติ ให้มีฐานะเป็นเพียงวัตถุทางเพศ หรือถูกจัดวางในสถานะที่ต่ำกว่าผู้ชาย เป็นผู้หญิงที่คิดอะไรไม่เป็น นอกจากกรี๊ดกร๊าด แย่งชิงผู้ชาย แต่งตัวโป๊ สนใจแต่ความสวย สาว ขาว หมวย หรือการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง จนทำให้สังคมซึบซับภาพของผู้หญิงจากการผลิตซ้ำของสื่อมวลชน จนส่งผลให้เกิดทัศนคติและอคติทางลบต่อผู้หญิงโดยไม่รู้ตัว และนำไปสู่ปัญหาพฤติกรรมเลียนแบบของคนรุ่นใหม่ โดยปราศจากความเข้าใจในสิ่งที่ถูกต้อง เรียกสั้นๆ ว่า “แข่งกันทำสิ่งที่ไม่ดี” ก็ว่าได้
ซึ่งก็ตอบคำถามที่ว่า เมื่อผู้ชายมีกิ๊ก มีชู้ มีเมียน้อย หรือใช้ความรุนแรงต่อสตรี ถามผู้หญิงว่า เราพึงพอใจในการกระทำเหล่านี้ของผู้ชายหรือเปล่า? เมื่อเราเองก็ไม่ต้องการ และเห็นว่า เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง รวมถึงเรียกร้องว่า มันเป็นสิ่งที่ผู้ชายไม่ควรจะกระทำ แล้วการเรียกร้อง “สิทธิ สตรี” หมายความว่า เราเรียกร้องเพื่อให้ตัวเราเองกระทำในสิ่งเหล่านั้นได้แค่นั้นหรือคะ? ทั้งๆ ที่รู้ว่า เป็นสิ่งที่ไม่ดี ก็ควรจะหลีกเลี่ยง ไม่ประพฤติ ปฏิบัติสิคะ ถึงจะถูกต้อง ..
ในโอกาสที่ครบรอบ 100 ปี วันสตรีสากล อ้วนก็ขอนำคำพูดของคลารา เซทคิน ผู้ให้กำเนิดวันสตรีสากล มาฝากผู้หญิงทุกๆ คน ด้วยนะคะ
“การต่อสู้ของผู้หญิง มิใช่เป็นเรื่องที่ใครจะหยิบยื่นให้ใครได้ แต่เป็นสิ่งที่ผู้หญิงทุกระดับจะต้องตระหนัก และร่วมกันไขว่คว้าให้ได้มา ซึ่งสิทธิและความเท่าเทียมกันในสังคม
และแน่นอน..ผู้หญิงที่ต้องการสิทธิและเสรีภาพของเพศหญิง จะต้องเป็นทั้งผู้คิด และผู้กระทำ และจะต้องร่วมในขบวนการต่อสู้ของผู้หญิงด้วย”
Comments are closed.