Advice

สิ่งดีๆ จากการเดินทาง/อ้วน อารีวรรณ

Pinterest LinkedIn Tumblr

jatung_32@yahoo.com

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปจังหวัดขอนแก่น หนองคาย และเวียงจันทน์ เมืองหลวงของประเทศลาว เนื่องจากทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานโครงการ “การพัฒนาศักยภาพแกนนำชุมชนหญิงด้านสุขภาวะชุมชนเมือง ในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล” โดยนำผู้เข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตร “นักจัดการสุขภาวะชุมชน ภาคประชาชน” ซึ่งประกอบด้วยแกนนำชุมชนหญิงและชาย จำนวน 44 คน เดินทางไปศึกษาดูงานในหลายพื้นที่ และพื้นที่แรกที่ได้ไปเยี่ยมชม คือ โรงพยาบาลอุบลรัตน์ ศูนย์ค้ำคูณ และบ้านแม่นิต หนูพวก ซึ่งอยู่ในอำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น

ซึ่งทำให้ตัวผู้เขียนเองได้รับแนวคิดดีๆ จากการไปศึกษาดูงานครั้งนี้หลายเรื่องด้วยกัน จึงถือโอกาสนำบางสิ่งบางอย่างที่ได้รับทราบมาแบ่งปันให้กับท่านผู้อ่าน โดยเฉพาะหัวใจที่ทำให้เกิดการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนได้สำเร็จคือ “หลักธรรมะ 4 อ.” ที่ปราชญ์ชาวบ้านหลายคนในพื้นที่ยึดเป็นหลักการสำคัญในการทำงานเพื่อชุมชนของตน ซึ่งประกอบด้วย

อ ที่ 1 คือ อริยสัจ 4 ซึ่งประกอบด้วย

ทุกข์ หมายความว่า รู้ว่าอะไรคือ “ทุกข์หรือปัญหา” ที่กำลังเผชิญอยู่
สมุทัย หมายความว่า รู้ว่าอะไรคือ “ต้นเหตุแห่งทุกข์หรือปัญหา” นั้น
นิโรธ หมายความว่า รู้ว่าอะไรคือ “การดับไปแห่งทุกข์หรือปัญหา”
มรรค หมายความว่า รู้ว่าอะไรคือ “หนทางสู่การดับไปแห่งทุกข์หรือปัญหา”

ส่วน อ ที่ 2 คือ อตฺตาหิ อตฺโน นาโถ ซึ่งหมายความว่า “ตนนั้นแล เป็นที่พึ่งแห่งตน เมื่อเกิดปัญหาใดๆ ขึ้นมา เราก็ต้องช่วยเหลือตนเอง ไม่ใช่เอาแต่รอคอยให้คนอื่นมาช่วยแก้ไขปัญหาให้กับเรา”

ส่วน อ ที่ 3 คือ อิทธิบาท 4 ซึ่งเป็น “ธรรมแห่งความสำเร็จ” อันประกอบด้วย

ฉันทะ หมายถึง ความพอใจ ตั้งใจ มุ่งมั่น ในการกระทำนั้น
วิริยะ หมายถึง ความพากเพียร ขยัน อดทน ไม่ท้อถอย ในการกระทำนั้น
จิตตะ หมายถึง ความเอาใจใส่ ในการกระทำนั้น
วิมังสา หมายถึง ความมีปัญญา พิจารณาใคร่ครวญตรวจสอบ คิดค้นปรับปรุงแก้ไข ในการกระทำนั้น

ส่วน อ ที่ 4 คือ อปริหานิยธรรม ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของการทำงานและอยู่ร่วมกันใน ชุมชน สังคม ที่ต้องร่วมกันรับผิดชอบต่อชุมชน สังคม และช่วยกันทำให้ชุมชน สังคม ไม่เสื่อมถอย ด้วยการประชุมกันอย่างเนื่องนิตย์ มีความพร้อมเพรียงในการประชุม ตลอดจนการรับฟังความคิดเห็นจากผู้อาวุโสในที่ประชุม เป็นต้น

จากหลักธรรมะ 4 อ. ที่ปราชญ์ชาวบ้านในพื้นที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาของชุมชน สังคม ตลอดระยะเวลาหลายสิบปี ทำให้ชาวบ้าน ชุมชนในพื้นที่อำเภออุบลรัตน์ได้ปรับเปลี่ยนแก้ไขสภาพปัญหาเดิมที่ชาวบ้านละทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิด ทิ้งลูก ทิ้งเมีย ทิ้งพ่อ ทิ้งแม่ ปู่ย่าตายายไปขายแรงงานเป็นกรรมกร คนรับใช้ตามบ้านในเมืองหลวงให้กลับมาใช้ชีวิตในถิ่นฐานบ้านเกิด มาช่วยกันพัฒนาชุมชนที่ตนอยู่ให้มีความยั่งยืน เพื่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดี

ชาวบ้านร่วมกัน “ปลูกทุกอย่างที่กิน และกินทุกอย่างที่ปลูก” เน้นทำเกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียง ปลูกพืช ทำไร่นาแบบผสมผสาน ไม่ทำไร่เกษตรเชิงเดี่ยวที่ต้องซื้อหาอาหารกินแทบทุกอย่าง ใช้ของฟรีจากธรรมชาติ อันได้แก่ แสงแดด น้ำ และ ที่ดินที่มีอยู่ เปลี่ยนแนวความคิดของชาวบ้านในชุมชนว่า “เงินก็สำคัญ แต่ “ความสุข” ที่ไม่ต้องเป็นหนี้เป็นสินใคร ก็ทำให้มีทุกข์ที่น้อยกว่า จริงหรือไม่?

นอกจากนี้ ผู้เขียนยังได้รับพลังความคิดเชิงบวกจากแม่นิต หนูพวก อีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะความสัมพันธ์ฉันท์สามีภริยา เรื่องราวภายในครอบครัว แม้จะต้องทรหดอดทนสู้ชีวิตอย่างหนักหน่วง ขอเพียงมีศรัทธา เห็นคุณค่าของกันและกัน ช่วยเหลือกันและกัน ไม่ตำหนิติเตียน มีแต่ความเข้าใจให้กัน ก็ทำให้ความสัมพันธ์ฉันท์สามีภริยานั้นมั่นคงยืนยาว เป็นพลังภายในครอบครัวที่นำไปสู่การพัฒนาชุมชนให้ยั่งยืนต่อไป

จากหลักคิดดีๆ หลักธรรมะดีๆ ที่ได้รับจากปราชญ์ชาวบ้านในพื้นที่ ทำให้เราได้รู้ว่า องค์ความรู้ไม่จำเป็นต้องมาจากสถาบันการศึกษาดังๆ ระดับประเทศ ประชาชนที่อยู่กับพื้นที่ เป็นชาวไร่ ชาวนา เป็นเกษตรกรในพื้นที่ที่ห่างไกลความเจริญ ก็มีความสามารถที่จะแก้ไขปัญหาของตนเองได้ด้วยฐานประสบการณ์การเรียนรู้ของชีวิตเขาเอง ซึ่งหลักคิดดีๆ เหล่านี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับผู้คนในสังคมเมืองหลวงอย่างเราท่านได้อย่างไม่ขัดเขิน

เพียงแต่คนในสังคมเมืองหลวงเรา ดูเหมือนจะปล่อยวางอัตตาตัวตน “ตัวกู ของกู” ได้ยาก ทำให้เกิดการปะทะกันอย่างรุนแรงทั้งความคิด วาจา และกำลังกาย อันนำมาซึ่งความเสื่อมถอยของความสามัคคีของคนในชาติ จนกลายเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงอีกต่อได้

ผู้เขียนเองมีความเสียดายเป็นอย่างยิ่งที่ไม่สามารถแวะไปกราบพระสุปฎิปันโน “หลวงตามหาบัว” ที่วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี ทั้งๆ ที่เส้นทางการเดินทางจากขอนแก่นไปหนองคาย และเวียงจันทน์ ต้องผ่านจังหวัดอุดรธานี ซึ่งต่อมา ตัวผู้เขียนเองได้ทราบข่าวการละสังขารของ “หลวงตามหาบัว” เมื่อจะออกเดินทางจากเมืองเวียงจันทน์ ประเทศลาว กลับเข้าประเทศไทย

สุดท้ายนี้ ผู้เขียนจึงขออนุญาตนำธรรมะดีๆ ที่ “หลวงตามหาบัว” ได้สั่งสอนลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลาย อยู่ในบทหนึ่งของหนังสือประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ว่า

“ใจเป็นธรรมชาติที่ใหญ่โตกว่าสิ่งใดๆ ทั้งหลายในโลก เรื่องและอาการทั้งหลายที่เป็นมาเหล่านี้ เป็นสาเหตุมาจากใจอันเป็นรากฐานสำคัญ

สิ่งทั้งหลายดังกล่าว ดีหรือชั่วต้องขึ้นอยู่กับใจ ผู้เป็นใหญ่และรับผิดชอบ ถ้าใจพาชั่ว โลกแม้จะใหญ่โตเพียงไร ก็มีทางบรรลัยได้อย่างไม่มีปัญหา

ดังนั้นใจจึงควรได้รับการอบรมหรือศึกษา พอที่จะปกครองตัวปกครองโลกให้เป็นโดยความสะดวกปลอดภัยเท่าที่ควร ตัวก็เป็นบุคคลน่าอยู่ไม่เดือดร้อนรำคาญ โลกก็เป็นโลกน่าอยู่ ไม่เป็นโลกที่ยุ่งเหยิงวุ่นวายจนเกินไป”

เมื่อความตายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ปุถุชนอย่างเสมอภาคกัน ไม่ว่ามนุษย์ปุถุชนคนนั้น จะเป็นคนดีคนชั่ว หรือ พระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงความตายไปได้ ความสำคัญจึงอยู่ที่ “เมื่อมนุษย์คนหนึ่งได้ตายไป เขาได้เหลืออะไรทิ้งไว้ให้กับมนุษย์ปุถุชนคนรุ่นหลัง” นั้นเอง

>> อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่  http://www.celeb-online.net

Comments are closed.

Pin It