By Lady Manager
อาการใกล้หมดระดู หรือที่เรียกกันว่า หมดประจำเดือน อารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ เป็นสาวใหญ่วัยทอง นอกจากสร้างความน่าเบื่อหน่ายระอาใจแก่คนรอบข้าง ตัวเองก็หงุดหงิดแล้ว ที่สำคัญ ยังกระทบกระเทือนต่อคุณภาพชีวิต ประสิทธิภาพในการทำงานด้วย ทว่าวัยทองไม่ใช่ “โรค” เราสามารถเตรียมตัวรับมือได้ค่ะ ถ้าเรารู้เท่าทัน…
ศูนย์สุขภาพ ไลฟ์ เซ็นเตอร์ จัดสัมมนา “ผู้หญิงรุ่นใหม่เครียดจัด เร่งสู่วัยทองเร็วกว่ารุ่นแม่” โดยเชิญ ผศ.นพ.อภิชัย วสุรัตน์ จาก Nawabutra Women & Children Medical Center มาเป็นวิทยากรให้ความรู้เรื่องวัยทองอย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะแนะวิธีการสังเกตอาการที่บ่งบอกว่า คุณน่ะ..ใกล้หมดประจำเดือนแล้ว ตลอดจนแนวทางการดูแล พร้อมหนทางปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อรับมือและอยู่เป็นสุขกับวัยทอง
“วัยหมดประจำเดือน ภาษาอังกฤษว่า Menopause คือ หลังหมดระดูไปแล้ว ซึ่งหัวเฉลี่ยคนไทยหมดระดูที่อายุ 47-50 ปี ขณะที่คนตะวันตกจะหมดที่ 50-52 ปี ดังนั้นโดยเฉลี่ยคนไทยอาจเริ่มมีอาการก่อนหมดระดูตอน 48 ปีโดยที่เมนส์ยังมา แต่ไม่ปกติ”
‘เมนส์ยังมา แต่ไม่ปกติ’ เป็นอาการหนึ่งของวัยทอง ซึ่งคุณหมอบอกว่าสาเหตุหลักๆ คือ ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิงลดน้อยลง หมอจึงแนะให้สังเกตตามนี้
“ข้อแรก-ความผิดปกติของประจำเดือน พบตั้งแต่รังไข่ทำงานไม่ดี รอบเดือนไม่ตรง บางคนบอก-เมนส์หนูมาไม่ตรง จาก 28 วัน มันถอยขึ้นมา 2 วัน เช่น เดือนนี้มาวันที่ 30 เดือนหน้ามาวันที่ 28 อย่างนี้ถือว่าโอเค คำว่า ‘ไม่ตรง’ ของแพทย์คือ ไม่มีวงรอบที่แน่นอนเลย เช่น 2 เดือนมา แล้วต่อไป 3 เดือน รวมทั้งกรณีที่ช่วงแรกวงรอบสั้นลง จากเคย 28 วันมา กลายเป็น 20 วันมา พอสั้นไปช่วงหนึ่ง หลังจากนั้นมันกลับยาวออก จากรอบเดือน 20 วัน กลายเป็น 2-3 เดือนมาทีหนึ่ง และหายไปเลย ลักษณะนี้ไปหาหมอ หมอบอกโอเค อย่างนี้เป็นปกติของการหมดเมนส์ ส่วนใหญ่เป็นอาการนี้ 90%”
สาวใดที่มีเมนส์มาผิดปกติดังกล่าวเป็นระยะเวลาต่อเนื่องสัก 1 ปี หรือ 12 รอบเดือน คุณเตรียมตัวเตรียมใจได้เลยค่า
“ข้อสอง-อาการระบบประสาทอัตโนมัติร้อนวูบวาบ ที่เรียกว่า Hot Flush หรือ Hot Flash อาการอาจแค่ไม่กี่ 10 วินาทีถึงหลายนาที บางคนครึ่งชั่วโมง แต่ส่วนใหญ่มาสักพักก็หาย หลังหายต้องมีเหงื่อออก และมักเป็นกลางคืน เพราะอาการนี้รบกวนต่อระบบการนอนหลับ ทำให้นอนไม่หลับ จะมีอาการใจสั่น เวียนศีรษะ และอาจหน้ามืด”
โดยทั่วไปอาการนี้จะหายเองภายใน 1-2 ปี แต่ถ้าคนที่เป็นมาก ก็จะมีผลต่ออารมณ์ จิตใจ เหนื่อยอ่อนเพลียรู้สึกเหมือนคนไม่มีแรง หงุดหงิด อารมณ์เสียง่าย นอนไม่หลับ ซึมเศร้า ขาดสมาธิ หลงลืม ขาดความมั่นใจในตนเอง ความรู้สึกทางเพศลดลง หมออภิชัยแนะว่า จำเป็นต้องไปรักษาแล้วล่ะ
“ข้อสาม-ระบบปัสสาวะและอวัยวะสืบพันธุ์ ฮอร์โมนเอสโตรเจนมีส่วนสำคัญทำให้เกิดความชุ่มชื่นและความแข็งแรงของเยื่อบุต่างๆ พอหมดประจำเดือน ฮอร์โมนฯหมด ความแข็งแรงยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อน้อยลง ทำให้มดลูกยืดหยุ่นน้อยลง ช่องคลอดแห้ง ปัญหาตามมาคือ ผิวหนังช่องคลอดถลอกได้ง่าย ทำให้เจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์ ส่งผลให้ไม่อยากมีเพศสัมพันธ์
รวมทั้งมีผลทำให้อั้นปัสสาวะได้ไม่ดี และถ้าหมดประจำเดือนไปแล้ว จะมีอาการปัสสาวะเล็ดราดเวลาไอจาม แม้แต่เวลาหัวเราะ เป็นกันเยอะมาก ถือว่าเป็นโรคชนิดหนึ่ง เรียกว่า ‘โรคชำรั่ว’
ข้อสี่-ความแข็งแรงของกระดูก พอเอสโตรเจนหมดไป ปริมาณแคลเซียมน้อยลง โครงสร้างกระดูกจะเป็นรูๆ พรุนๆ เยอะขึ้น กระดูกบางลง ส่งผลต่อส่วนสูง หลังค่อมงอแบบคุณยาย ปวดหลังเรื้อรัง ช่องปอดแคบลง ทำให้หายใจลำบาก มีความเสี่ยงสูงว่ากระดูกจะหักเมื่อได้รับการบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย ถ้ากระดูกต้นขาหัก มักพบว่าหลังจากนั้นไม่กี่ปีก็เสียชีวิต”
ข้อห้า-อาการอื่นๆ อย่างผิวหนังแห้ง ผิวหนังขาดความยืดหยุ่น บางคนปากถลอกเป็นประจำ ความทรงจำเสื่อม ความรู้สึกทางเพศลดลง”
อาการเหล่านี้ไม่เพียงส่งผลลบต่อคุณภาพชีวิต สมรรถภาพในการทำงาน ยังสร้างปัญหาความขัดแย้งในครอบครัว ..เอาแต่หงุดหงิด เหวี่ยงวีน อาละวาดลูกผัวกระจุย แถมไร้อารมณ์..ไม่อยากมีเซ็กซ์กับสามีอีกแน่ะ หมอเล่าว่า มีคนไข้จำนวนไม่น้อยมารักษา เพราะทนเห็นตัวเองอยู่ในภาวะเยี่ยงนี้ไม่ได้
“มีแนวทางรักษา 2 อย่าง คือ ใช้ยา กับไม่ใช้ยา วิธีใช้ยาก็คือ ให้ฮอร์โมนทดแทน แต่ต้องเป็นกรณีที่มีอาการวูบวาบมากจนกระทั่งรบกวนชีวิตประจำวัน ไม่สามารถทำงานหรือดำเนินชีวิตตามปกติ บางคนมีปัญหาเฉพาะเวลามีเพศสัมพันธ์ ก็อาจให้ฮอร์โมนครีมไปทา”
ทว่าหมออภิชัยเตือนว่า ผู้ที่เป็นโรคตับระยะเฉียบพลัน ผู้เป็นโรคหลอดเลือดดำอุดตันจากก้อนเลือด และผู้ที่เป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ห้ามใช้ฮอร์โมนทดแทนเด็ดขาด
“มีการศึกษาออกมาว่า การกินฮอร์โมนอาจมีส่วนให้เกิดมะเร็งเต้านม หมอก็บอกคนไข้ตรงๆ แล้วแต่คนไข้ตัดสินใจเองว่า จะกินหรือไม่กิน บางคนต้องกิน เพราะมิฉะนั้นทำงานไม่ได้ แต่หลายคนบอกยินดีที่จะไม่กินดีกว่า
จริงๆ แล้ว อาการวูบวาบเป็นเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ 6 เดือน หรือ 1 ปี แล้วก็ดีขึ้น ทั้งๆ ที่ฮอร์โมนต่ำอยู่ ดังนั้นฮอร์โมนต่ำจึงไม่ใช่สาเหตุของอาการวูบวาบ
มันเกิดขึ้นแค่ช่วงเปลี่ยนแปลง มีสารสั่งสมองบางอย่างให้เกิดอาการวูบวาบ ถ้าใครต้องการกินฮอร์โมนทดแทนให้ได้ ก็กินแค่ในช่วงเวลาสั้นๆ นั้นและหยุดซะ ไม่จำเป็นต้องกินตลอด”
เพราะการดูแลรักษาอย่างแท้จริงไม่จำเป็นต้องใช้ยาเสมอไป หมออภิชัยเน้นว่าอยู่ที่ 'ใจ'
“หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้วูบวาบ ลดอุณหภูมิรอบตัว จัดการความเครียดที่มีอยู่รอบตัว ฝึกใจ ทำใจให้นิ่งๆ หายใจเข้าออกลึกๆ ทำสมาธิ รวมทั้งปรับพฤติกรรมให้เหมาะสม เริ่มตั้งแต่กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ มีแคลเซียมสูง เลี่ยงอาหารเผ็ด ออกกำลังกายอย่าง แอโรบิค วิ่ง เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรง ไม่ใช่สร้าง Six Pack ออกกำลังกายที่ได้ฝึกสมาธิด้วยยิ่งดีอย่าง โยคะ จี้กง และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ไม่ดี เช่น สูบบุหรี่ กินเหล้า กินกาแฟเยอะ”
หมออภิชัยเน้นแนะยาวไปถึงว่า ควรปรับสถานที่ในบ้านเตรียมการรับวัยทองกระดูกบางไว้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ห้องน้ำ
“ห้องน้ำสำคัญมาก เดี๋ยวนี้มียางปูกันลื่น เก้าอี้อาบน้ำ มีราวจับตรงที่นั่ง เวลาขึ้นจะได้ขึ้นได้ง่าย เฟอร์นิเจอร์ก็ควรปรับระดับความสูงให้เหมาะสม วางของให้หยิบฉวยง่าย ไม่วางของเกะกะ พื้นไม่ควรมี step มีแสงสว่างที่เพียงพอ เพราะสิ่งสำคัญคือ ต้องป้องกันการบาดเจ็บ ต่อให้คุณกระดูกบาง แต่คุณไม่บาดเจ็บ คุณก็ไม่เป็นไร อย่าลืมนะ วัยทองไม่ใช่โรค แต่มันมีผลต่อสุขภาพ”
คนทุกวันนี้มีอายุขัยเฉลี่ยมากขึ้น จากสมัยก่อนคนเสียชีวิตโดยเฉลี่ยที่อายุ 50 ปี แต่ในปัจจุบันอายุขัยเฉลี่ยของผู้ชายไทย 70 ปี ขณะที่ผู้หญิงไทย 75 ปี นั่นหมายความว่า หญิงไทยเราอยู่ในช่วงวัยทองนานขึ้น โดยเฉลี่ยตั้ง 27 ปีเชียวแน่ะ ดังนั้นช่วงสุดท้ายของชีวิต เราควรปรับตัวปรับใจรับมืออยู่ร่วมกับวัยทองอย่างมีความสุข และใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพมิใช่รึ *_*
>> อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่ http://www.celeb-online.net
Comments are closed.