By Lady Manager
มักได้ยินคำว่า ศาสตร์แห่งการชะลอวัย หรือ Anti-Aging บ่อยๆ ถึงขนาดมีการร่ำเรียนเป็นล่ำเป็นสัน ผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจบสาขาวิชานี้โดยตรง
เรามารู้จักกันหน่อยว่า เจ้าศาสตร์นี้ใช้วิธีอะไรในการรักษา และภาวะเริ่มแก่(แล้ว)เป็นโรคด้วยหรือ ฯลฯ พญ.กฤดากร เกษรคำ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านชะลอวัย จาก Addlife Anti-Aging Center มาอธิบาย ณ ตรงนี้ค่ะ
ร่างกายเริ่มเสื่อม โรคร้ายเริ่มมา บ่งชี้ “แก่”
“ร่างกายรู้สึกล้าตลอดเวลา โดยเฉพาะช่วงบ่าย รู้สึกอ่อนเพลีย แม้จะนอนพักเพียงพอ น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น โดยไม่สามารถหยุดยั้งได้ ขี้หลง ขี้ลืม มากขึ้นเรื่อยๆ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดหลัง ปวดข้อ นอนไม่หลับ หรือหลับไม่สนิทดี ความรู้สึกว่าสมรรถภาพ หรือความต้องการทางเพศลดลง”
คุณหมอกฤดากร บอกว่า ปัญหาต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นเพราะความแก่หรือร่างกายเริ่มเกิดความเสื่อม
“ซึ่งโรคร้ายมากมายล้วนมีสาเหตุมาจากความเสื่อมของร่างกาย เช่น โรคมะเร็งต่างๆ โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคต้อกระจก โรคเสื่อมระบบประสาท โรคกระดูกพรุน เป็นต้น จึงทำให้คนให้ความสนใจเรื่องความเสื่อมของร่างกาย และหาวิธีที่จะดูแลและป้องกันกันมากขึ้น”
และนี่คือ ที่มาของศาสตร์แห่งการชะลอวัย
ศาสตร์ชะลอวัย เน้นป้องกัน
“หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า Anti-Aging มาบ้างแล้ว แต่อาจยังไม่ค่อยเข้าใจว่าจะเข้ามาช่วยได้อย่างไร ซึ่งการแพทย์เฉพาะทางด้านชะลอวัย (Anti-Aging Medicine) จะมุ่งเน้นการป้องกันโรคโดยอิงหลักธรรมชาติ การฟื้นฟูสุขภาพ รวมถึงการรักษาสุขภาพก่อนที่จะเกิดโรคที่เกิดจากความเสื่อม และการฟื้นฟูภาวะเสื่อมของร่างกายที่เกิดขึ้นเมื่อเราอายุมากขึ้น
โดยแพทย์จะใช้ความรู้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางการแพทย์ เช่น การตรวจวัดและรักษาปรับสมดุลระดับสารอาหารวิตามิน แร่ธาตุ สารต้านอนุมูลอิสระ สารสื่อประสาท รวมถึงฮอร์โมนต่างๆ ในร่างกาย เป็นต้น ซึ่งส่งผลดีกับคุณภาพชีวิตในระยะยาว และการจะรักษาด้วยวิธีใดนั้น เราดูที่สาเหตุความเสื่อมของร่างกายว่ามาจากสาเหตุใด สามารถอธิบายแบ่งออกได้เป็น 2 เรื่องด้วยกัน
เรื่องแรก-สารอนุมูลอิสระ คือโมเลกุลที่มีอิเล็กตรอนที่ไม่สมดุล พยายามไปจับโมเลกุลเซลล์ปกติ ก่อให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ไปทำลายเซลล์ที่ดีให้เสื่อมลง เมื่อเซลล์เสื่อมจึงทำให้อวัยวะทั้งหลายทำงานลดลง แล้วในที่สุดร่างกายก็เสื่อมตาม ทำให้ความแก่และโรคภัยต่างๆ มาเยือน”
คุณหมอบอกว่า พบสารอนุมูลอิสระได้ทั้งภายในและภายนอกร่างกาย
“ภายในร่างกาย คือ โดยธรรมชาติร่างกายของคนเราเป็นผู้สร้างสารอนุมูลอิสระนี้ขึ้นเองและสร้างอยู่ตลอดเวลาในขบวนการเผาผลาญอาหาร ซึ่งสารอนุมูลอิสระตัวร้ายนี้มีฤทธิ์ไปทำลายส่วนต่างๆ ของร่างกายในระดับของเซลล์ ค่อยๆ สะสมเป็นไปทีละเล็กทีละน้อยแล้วในที่สุดเซลล์ก็จะตายไปเอง
พบว่าอนุมูลอิสระเข้าไปทำลายเซลล์พันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ มีผลทำให้เซลล์ที่ถูกทำลายจะสามารถกลายเป็นเนื้อร้ายได้ เช่น โรคมะเร็งต่างๆ โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคต้อกระจก
ส่วนสารอนุมูลอิสระที่พบจากภายนอกร่างกาย คือ มลภาวะเป็นพิษต่างๆ รังสี UVA และ UVB ในแสงแดด ควันบุหรี่ เป็นแหล่งอนุมูลอิสระที่สามารถเข้ามาทำร้ายร่างกายและผิวพรรณของเราได้โดยตรง
สารต้านอนุมูลอิสระ หรือ Anti-oxidant มีคุณสมบัติคือจับสารอนุมูลอิสระทำให้สารอนุมูลอิสระคงตัวไม่ไปทำลายเซลล์ในร่างกาย ระดับการถูกทำลายจะช้าลง นี่ก็เป็นการชะลอความชราอีกวิธีหนึ่ง ในร่างกายตับสามารถผลิตสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิดด้วยกัน
แต่เพราะความเสื่อมย่อมเกิดขึ้นตามวัย การผลิตสารอนุมูลอิสระดังกล่าวก็จะลดน้อยลง เราจึงควรทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสสระ เช่น วิตามินซี วิตามินอี วิตามินเอ เบต้าแคโรทีน (Beta-carotene) โคเอ็นไซม์คิวเท็น (Coenzyme Q10) อัลฟาไลโพอิกแอสิด (Alpha Lipoic Acid ; ALA) และสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) กับโพลีฟีนอล (Pholyphenols) และควรเลือกรับประทานอาหารประเภทที่ไม่ผ่านกระบวนการขัดสี ทานผักและผลไม้ที่มีประโยชน์ให้มากขึ้น”
นอกจากนี้ คุณหมอแนะให้หลีกเลี่ยงมลภาวะที่เป็นพิษต่างๆ อย่างเช่น ควันรถ ควันบุหรี่ หลีกเลี่ยงรังสีในแสงแดด UVA และ UVB รวมทั้งควรลดความเครียด
“เรื่องที่สอง ภาวะพร่องฮอร์โมนเร่งเสื่อม ฮอร์โมนมีหน้าที่คอยควบคุมทุกระบบในร่างกายรวมไปถึงจิตใจด้วย เช่น การเจริญเติบโต เพิ่มมวลกล้ามเนื้อ ความต้องการทางเพศ ควบคุมอารมณ์ ช่วยในเรื่องความจำ เป็นต้น
แหล่งที่ผลิตฮอร์โมนในร่างกาย ได้แก่ ต่อมหมวกไต ต่อมใต้สมอง หรือต่อมไทรอยด์ ถ้าระดับฮอร์โมนลดต่ำลงการทำงานของร่างกายก็จะไม่ดีเท่าที่ควร
หญิงวัยทอง ชายเซ็กซ์เสื่อม
“ตัวอย่างผู้หญิงที่อยู่ในภาวะประจำเดือนหมด (Menopause) มักจะมีอาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกง่าย ขาดชีวิตชีวา เฉื่อยชา อารมณ์หดหู่ซึมเศร้าแต่บางครั้งก็หงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย เครียดและวิตกกังวลไม่มีสาเหตุ ความจำพร่าเลือนหรือขาดสมาธิ มักจะปวดศีรษะบ่อย หน้าอกหย่อนยาน การตอบสนองทางเพศไม่เป็นที่พอใจ ช่องคลอดขาดความชุ่มชื้น ผมและผิวแห้งเสียสมดุล
ส่วนในผู้ชายที่สูงอายุก็จะผลิตฮอร์โมนเพศชายน้อยลงหรือบกพร่อง คือ หย่อนสมรรถภาพทางเพศ ขาดความกระปรี้กระเปร่าพละกำลังลดลง เริ่มลงพุง อ่อนเพลีย เหนื่อยล้าง่าย มักจะอารมณ์หงุดหงิดฉุนเฉียวบ่อยครั้งหรือบางครั้งหดหู่ซึมเศร้า ท้อแท้ต่อชีวิต ความจำพร่าเลือนหรือขาดสมาธิ ปวดหลัง ปวดข้อ มีความเครียดง่ายขึ้นทำให้มีปัญหาสุขภาพหลายประการได้”
อย่างไรก็ตาม คุณหมออธิบายว่า อาการเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือน หาใช่ผิดปกติจนถือว่าเป็นโรค เพียงแต่ทำให้เกิดความทุกข์ใจและทำให้คุณภาพชีวิตไม่ดีเท่าที่ควร สามารถให้ฮอร์โมนทดแทน เพื่อช่วยให้การทำงานของร่างกายดีขึ้น ความจำดีขึ้น มวลกระดูกหนาแน่นขึ้น อารมณ์คงที่มากขึ้น
ทว่าการให้ฮอร์โมนทดแทนควรจะอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งควรไปเจาะเลือดตรวจระดับสารอาหาร วิตามิน แร่ธาตุ ฮอร์โมนเฉพาะบุคคล หมอชะลอวัยจะเป็นผู้แนะนำปริมาณสารอาหาร วิตามิน แร่ธาตุ ฮอร์โมนที่มีคุณภาพและตรงกับความต้องการของร่างกาย
และนี่แหล่ะค่ะ วิธีการป้องกันรักษาตามหลักชะลอวัยสไตล์
>> อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่ http://www.celeb-online.net
Comments are closed.