Advice

สารเติมเต็มตัวใด-ใครฉีด เสี่ยงตาบอด จมูกเน่า หน้าเละ สลบหมดสติ?

Pinterest LinkedIn Tumblr

By Lady Manager

ช็อกโคม่า! หามพริตตี้สาวน็อกหมดสติส่งโรงพยาบาล หลังฉีดเสริมสะโพกให้กลมกลึงกับหมอเถื่อน แพทย์ระบุ สมองขาดออกซิเจนนานกว่า 4 นาที เสี่ยงเป็นเจ้าหญิงนิทรา

ข่าวคึกโครมนี้สร้างความสะพรึงกลัวให้กับสาวๆ ผู้พิศมัยความสวยแบบเสี่ยง ด้วยการฉีดฟิลเลอร์ (Filler) เข้าสู่ร่างกายหวังสวยทางลัด กะว่าเอาเข็มจิ้มปุ้บเสกสะโพกก้นกลมกลึงปั้บ หารู้ไม่ความงามอันพึงปรารถนากลับทำพิษเกือบถึงชีวิต!

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ออกโรงแถลงข่าวเตือนประชาชนให้รู้เท่าทันพิษสงของ “อันตรายจากการฉีดสารเติมเต็ม” ที่เรียกว่า “ฟิลเลอร์” ที่ฮอตฮิตในแวดวงคลินิกความงาม เพราะไม่ต้องพักฟื้น ไม่เสียเวลา ฉีดปั้บ กลับไปทำงานต่อ นัดแฟน ควงกิ๊กไปดินเนอร์ได้ทันที

“ประเภทของสารเติม หรือ ฟิลเลอร์ แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่

1. แบบชั่วคราว (Temporary Filler) จะมีอายุการใช้งาน 4-6 เดือน จากนั้นจะสลายตัวไปตามธรรมชาติ จึงมีความปลอดภัยสูง อาทิ สารไฮยาลูโรนิค แอซิด (Hyaluronic Acid)

2. แบบกึ่งถาวร (Semi Permanent Filler) จะมีอายุการใช้งานประมาณ 2 ปี มีระดับความปลอดภัยปานกลาง

3. แบบถาวร (Permanent Filler) เช่น ซิลิโคน หรือ พาราฟิน ซึ่งเมื่อฉีดเข้าไปแล้วสารจะอยู่ในผิวหนังตลอดและมักมีผลข้างเคียง” นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง

ทว่าการฉีดฟิลเลอร์ได้ถูกนำมาใช้รักษาทางการแพทย์อย่างแพร่หลาย เพื่อใช้รักษาผิวพรรณให้ริ้วรอยร่่องลึกต่างๆ ตื้นขึ้น โดยจะนิยมฉีดบริเวณใบหน้า จมูก แก้ม โหนกแก้ม ริมฝีปาก สะโพก คาง หรือใบหน้าให้ดูอวบอิ่มขึ้น

ส่วนผลข้างเคียงและอาการแทรกซ้อนจากการฉีดเพียบ เช่น เกิดผื่นแดงบริเวณทีฉีด เกิดรอยนูนมากเกิดผิว เกิดการเคลื่อนย้ายของสารที่ฉีดทำให้เกิดการผิดรูป เกิดการแพ้ซึ่งอาจเกิดได้ตั้งแต่ภายหลังฉีดเสร็จแล้วถึงขั้นเป็นเดือนหรือเป็นปี เกิดการอุดตัน โดยการฉีดผิดตำแหน่ง เช่น การฉีดเข้าไปในเส้นเลือดแดงทำให้เกิดการอุดตันในเส้นเลือด หรือบางกรณีอาจรุนแรงถึงขั้นตาบอด

ระวัง! หมอฉีดฟิลเลอร์จุดนี้ แต่เจ็บจุดอื่น ร้องหยุดทันที!

คุณหมอจินดาบอกด้วยว่า สารเติมเต็มที่ได้รับการยอมรับ คือ สารไฮยาลูโรนิค แอซิด ซึ่งระหว่างการฉีดต้องมีการสังเกตอาการ หากพบว่ามีอาการเจ็บบริเวณอื่นนอกจากจุดที่ฉีดควรบอกแพทย์ให้หยุดการฉีด ซึ่งแพทย์จะทำการแก้ไขด้วยการฉีดสารละลายแก้ไขที่เรียกว่า ไฮยาลูโรนิเดส เข้าไปเพื่อสลายสารไฮยารูโลนิค แอซิด แต่สารตัวดังกล่าวยังไม่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เนื่องจากสกัดมาจากหลายชนิด อาจทำให้เกิดการแพ้ได้ จึงควรต้องมีการทดสอบก่อน

สอดคล้องกับ ผศ.นพ.ถนอม บรรณประเสริฐ หัวหน้าหน่วยศัลยศาสตร์ตกแต่งและเสริมสร้างใบหน้า ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า

“ประเทศไทยนิยมใช้สารฟิลเลอร์มากขึ้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา โดยมักนำมาใช้กับการศัลยกรรมเสริมจมูก ประกอบกับดารานักแสดงส่วนใหญ่นิยมทำ เนื่องจากทำง่ายเหมือนฉีดยา ไม่บอบช้ำเหมือนการผ่าตัด ใช้เวลาไม่กี่นาทีก็สามารถกลับทำงานได้ ทำให้การฉีดสารฟิลเลอร์ที่จมูกเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายและรวดเร็ว

แต่ปัญหาที่พบ คือ หากไม่ได้รับการฉีดจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและมีความระมัดระวัง อาจเกิดความผิดพลาดเข้าไปในเส้นเลือด แม้เพียงปริมาณเล็กน้อย 0.4-0.5 ซีซี ก็สามารถทำให้ตาบอดได้ เนื่องจากบริเวณจมูกมีแขนงหลอดเลือดจำนวนมาก และเชื่อมกับเส้นประสาทตา หากไม่ระวังย่อมส่งผลให้ตาบอดตั้งแต่บอดชั่วคราวกระทั่งถาวร

“ขอให้หลีกเลี่ยงการเสริมจมูกด้วยวิธีนี้ เนื่องจากไม่คุ้มค่าหากต้องเสี่ยงตาบอดถาวรแลกกับการทำให้จมูกโด่งเพียงชั่วคราว แม้แต่ฟิลเลอร์ที่ อย.รับรองก็อาจเกิดตาบอดได้เช่นกัน เพราะอาการตาบอดไม่ได้เกิดจากคุณภาพของสารที่ฉีด แต่เกิดจากกระบวนการฉีดที่มีการรั่วไหลของฟิลเลอร์เข้าไปอุดตันหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงประสาทตาทำให้ตาบอด ส่วนจำนวนผู้ที่ได้รับผลข้างเคียงยังไม่มีตัวเลขแน่ชัด ส่วนใหญ่เป็นการบอกเล่า ซึ่งคาดว่าในไทยคงมีประมาณ 5-10 ราย” ผศ.นพ.ถนอม กล่าว

ฟิลเลอร์อุดตันเส้นเลือด เสี่ยงตาบอด จมูกเน่า

นอกจากนี้ ผลข้างเคียงของการฉีดฟิลเลอร์ที่พบมาก คือ จมูกเน่า เพราะไปอุดตัน ทำให้เลือดไม่ไหลเวียน ซึ่งส่วนใหญ่จะพบราว 10 – 20 ราย ซึ่งกรณีการเกิดผิดพลาดจะต้องรีบแก้ไขภายใน 90 นาที ไม่เช่นนั้นจะตาบอดทันที ดังนั้น การฉีดสารเหล่านี้ควรอยู่ในสถานที่ได้รับการรับรอง และมีเครื่องมือช่วยเหลืออย่างพร้อมเพรียง และก่อนที่จะทำต้องพิจารณาและศึกษาข้อมูลให้ดีเสียก่อน

ปัจจุบันพบการฉีดฟิลเลอร์ชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า สารโพลีอะคริลาไมด์ (Polyacrylamide) มีชื่อการค้าอื่นหลายชื่อ ซึ่งสารนี้จะไม่สลายตัว แต่มักถูกโฆษณาหลอกลวงว่าสลายตัวช้าอยู่ได้หลายปี ประชาชนส่วนใหญ่จึงหลงเชื่อนิยมไปฉีดสะโพก หรือฉีดเสริมหน้าอก โดยสามารถฉีดเป็นจำนวนมาก เป็นพันซีซี หรือเป็นกิโลกรัม ในราคาที่ไม่แพง ซึ่งหากเกิดภาวะแทรกซ้อนจะไม่สามารถแก้ไขได้เลย เช่น หากสารรั่วไหลเข้าเส้นเลือดไปอุดปอด หรือสมองก็อาจโคม่าหรือเสียชีวิต

เช่น กรณีพริตตี้ที่ไปฉีดเสริมสะโพกจนหมดสติไปนั้น สันนิษฐานว่า สารน่าจะเข้าไปในหลอดเลือดดำ และย้อนกลับไปยังปอด ทำให้คนไข้ขาดออกซิเจน และหยุดหายใจ ซึ่งสารตัวนี้คงไปอุดกั้นระบบหายใจ ทำให้สมองขาดออกซิเจนนั่นเอง ซึ่งในกรณีพริตตี้ไปฉีดที่คอนโดมิเนียม ก็เป็นสถานที่ที่ไม่ได้รับการรับรอง ไม่มีเครื่องมือช่วยชีวิตกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน

อย่างไรก็ตาม ผศ.พญ.สุวิรากร โอภาสวงศ์ ประธานประชาสัมพันธ์สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ย้ำเตือนสาวกฟิลเลอร์ทั้งหลายให้หูตากว้างไกลด้วยว่า

“ในประเทศไทยได้จัดประเภทของสารเติมเต็มไว้เป็นยา การนำเข้าต้องผ่านการขึ้นทะเบียนกับสำนักยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งได้รับเพียงไม่กี่ชนิด ตัวอย่างของสารเติมเต็มที่ผ่าน อย.ได้แก่

กลุ่มที่ 1 Esthelis Basic, Esthelis Soft, Fortelis Extra, Modelis

กลุ่มที่ 2 Juvederm Forma , Juvederm Refine, Juvederm Ultra, Juvederm Ultra XC, Juvederm Ultra Plus, Juvederm Ultra Plus XC

และกลุ่มที่3 Restylane, Restylane Lipp, Restylane Perlane,
Restylane Sub Q, Restylane Touch, Restylane Vital Light ,Restylane Vital Light Injector, Revanesse Ultra

นอกเหนือจากสารเติมเต็มหรือฟิลเลอร์ชนิดอื่นๆ ถือว่าเป็นสารเติมเต็มที่ผิดกฎหมาย และควรฉีดสารเติมเต็มโดยแพทย์เท่านั้น และควรฉีดในสถานพยาบาลที่มีอุปกรณ์พร้อม มีความสะอาด และฉีดด้วยสารเติมเต็มที่ผ่าน อย. เท่านั้น และต้องถามแพทย์ที่ฉีดทุกครั้งว่า ฉีดสารเติมเต็มชนิดไหน ยี่ห้ออะไร

“อย่าเขิน อย่าอาย ขอดูเลย อย่ากลัวคุณหมอว่า คุณหมอจะฉีดอะไรให้คะ ขอดูขวดยาหน่อย ผมเชื่อว่าคุณหมอที่ทำถูกต้องตามหลักวิชาการแพทย์ และคุณหมอที่ปฏิบัติตามจรรยาบรรณ เขายินดีให้ดูอยู่แล้วครับ คือเราทำอะไรในที่แจ้ง เราไม่ต้องกลัว” หมออาร์ม-วรพจน์ ศิรามังคลานนท์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง แห่ง Hertitude Clinic (เฮอร์ทิจูท คลินิก) กล่าวย้ำในประโยคข้างต้น

และยังไม่หมดแต่เพียงเท่านี้..เราขอล้วงเข้าไปอีกว่า ที่ฮอตฮิตกันนักกับการฉีดกลูต้าฯ ให้ขาว ฉีดเซลล์ให้เด้งดึ๋ง รวมทั้งฟิลเลอร์ตัวดีซิลิโคนเหลวราคาถูกนั้น ถูกต้องตามกฎหมายและผ่านอย.ล่ะยัง และผลร้ายคืออะไร คุ้มหรือไม่ที่ต้องเสี่ยงกับความสวยที่ไม่ชัวร์!?

ตามต่อพรุ่งนี้

 

>> อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่  http://www.celeb-online.net
 

Comments are closed.

Pin It