Advice

ลดน้ำหนัก…ลดภัยคุกคาม “มะเร็งระบบทางเดินอาหาร”

Pinterest LinkedIn Tumblr


โรคกรดไหลย้อนเป็นหนึ่งในโรคฮิตของยุคนี้ที่ไม่ว่าใครก็มีโอกาสเป็นได้ หากละเลยการดูแลตนเอง หรือมีพฤติกรรมที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่า หนึ่งในสาเหตุเริ่มต้นของการเป็นกรดไหลย้อน ที่อาจจะพัฒนาไปสู่โรคร้ายแรงอื่นๆ ในระบบทางเดินอาหารที่ถูกมองข้ามไป คือ การมีภาวะน้ำหนักเกิน หรือ โรคอ้วนนั่นเอง


นพ.รัชพงศ์ หลายวัฒนไพศาล อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลวิภาวดีกล่าวว่า สาเหตุที่พบได้บ่อยในการเกิดกรดไหลย้อนมักมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม จนส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น เข้านอนทันทีหลังรับประทานอาหาร รับประทานอาหารปริมาณมากในหนึ่งมื้อ ทานอาหารมันๆ รวมถึงการสูบบุหรี่ ดื่มน้ำอัดลม ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือความเครียด จนทำให้เกิดความผิดปกติของหูรูดส่วนปลายหลอดอาหาร ซึ่งทำหน้าที่ป้องกันกรดไหลย้อนจากกระเพาะอาหาร ส่งผลต่อความผิดปกติของการบีบตัวของกระเพาะอาหารในที่สุด


อาหารการกินและไลฟ์สไตล์ มีความสัมพันธ์โดยตรงกับการทำงานของระบบทางเดินอาหาร จากสถิติของผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาด้วยโรคระบบทางเดินอาหารพบว่า ส่วนใหญ่มีจุดเริ่มต้นมาจากการมีภาวะน้ำหนักเกิน หรือโรคอ้วน ซึ่งโรคที่มักพบได้บ่อยคือ โรคกรดไหลย้อน โดยในผู้ป่วยที่ภาวะโรคอ้วน จะมีไขมันในช่องท้องมาก ซึ่งมีผลต่อการเกิดแรงดันในช่องท้องเพิ่มขึ้น ทำให้มีโอกาสเป็นโรคกรดไหลย้อนได้ง่ายนั่นเอง

“ช่วงต่อระหว่างหลอดอาหารกับกระเพาะอาหารจะมีหูรูดเป็นประตูกั้นไม่ให้อาหารไหลย้อนกลับ ซึ่งผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากหรือเป็นโรคอ้วน หูรูดจะอ่อนแอลงและเกิดการเปิดได้ง่าย อาหารก็จะไหลย้อนกลับไปได้ง่าย ดังนั้น คนที่น้ำหนักมากและมีดัชนีมวลกาย (BMI) เกิน 25 การปรับพฤติกรรมและลดน้ำหนักจะช่วยให้อาการของโรคกรดไหลย้อนดีขึ้น และลดโอกาสการกลับไปเป็นซ้ำอีก” นพ.รัชพงศ์ กล่าว


การมีภาวะน้ำหนักเกินไม่เพียงแต่เป็นหนึ่งในสาเหตุของโรคกรดไหลย้อนเท่านั้น แต่ยังเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคในระบบทางเดินอาหารอื่นๆ เช่น มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับอ่อน มะเร็งลำไส้ เป็นต้น โดยมีงานวิจัยที่บ่งชี้ว่า ผู้ป่วยโรคอ้วนที่มีความสัมพันธ์กับภาวะดื้ออินซูลิน จะมีโอกาสเกิดติ่งเนื้อในลำไส้เพิ่มขึ้นมากกว่าคนทั่วไป และมีจำนวนมากขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะพัฒนาไปเป็นมะเร็งลำไส้ในอนาคตมากขึ้นไปด้วย โดยในปัจจุบัน การศึกษาพบว่าการมีน้ำหนักเกินหรืออ้วนอาจเพิ่มโอกาสของการเกิดมะเร็งลำไส้ได้ในอายุยังน้อย จึงควรเฝ้าระวังความผิดปกติของร่างกาย ควบคู่ไปกับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี


นพ.รัชพงศ์ กล่าวอีกว่า การลดน้ำหนักเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยให้ผู้ป่วยด้วยโรคในระบบทางเดินอาหาร ตั้งแต่หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ตับ ตับอ่อน ท่อน้ำดี และลำไส้ใหญ่ ร่างกายกลับมาฟื้นตัวและมีอาการดีขึ้น แต่จะดีกว่าหากรู้ว่า ตนเองมีน้ำหนักเกิน และเริ่มลดน้ำหนักอย่างจริงจัง ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคได้ การลดน้ำหนักที่ได้ผลควรลดให้ได้ประมาณ 7-10% ของน้ำหนักตัวตั้งต้นภายใน 6 เดือน โดยเน้นที่การควบคุมอาหารและการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

การควบคุมอาหารเป็นพื้นฐานสำคัญของการลดน้ำหนักอย่างถาวร ด้วยการรับประทานอาหารที่พลังงานน้อยกว่า ที่ร่างกายต้องใช้ในแต่ละวันอย่างน้อย 500 แคลอรี่ โดยลดอาหารประเภทแป้งและน้ำตาล แต่ยังคงรับประทานอาหารที่หลากหลายครบทั้ง 5 หมู่ ควบคู่กับการออกกำลังกายประเภทแอโรบิก (Aerobic Exercise) ซึ่งเป็นการออกกำลังกายที่ต้องใช้ออกซิเจนขณะออกกำลังกาย เพื่อนำออกซิเจนไปเป็นตัวช่วยในการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีนในร่างกาย


การออกกำลังกายประเภทแอโรบิกเพื่อการลดน้ำหนัก ไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายอย่างหนัก แต่ต้องออกให้พอเหนื่อยและต่อเนื่อง โดยใช้ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 20 นาทีในแต่ละครั้ง หรือไม่น้อยกว่า 150 นาทีต่อสัปดาห์ แอโรบิกที่เหมาะกับการลดน้ำหนัก เช่น เดินเร็ว วิ่ง ปั่นจักรยาน การเต้น กระโดดเชือก เป็นต้น แต่หากเป็นผู้ที่มีปัญหาเรื่องข้อเข่า ข้อต่อไม่แข็งแรง ก็อาจเลือกการว่ายน้ำแทนการใช้ขาแทนการออกกำลังกายแบบอื่นๆ เพื่อลดโอกาสการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นตามมา

การดูแลสุขภาพร่างกายอยู่เสมอ จะเป็นการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคร้ายแรงและโรคเรื้อรังอื่นๆ อีกมากมาย ถ้าพบว่าเริ่มอ้วน ลงพุง มีน้ำหนักเกิน ควรรีบควบคุมและลดน้ำหนัก หรือปรึกษาแพทย์ เพราะภาวะน้ำหนักเกินหรือความอ้วนไม่ใช่แค่รูปร่างที่เปลี่ยนไป แต่เป็นโรคที่มีข้อมูลทางการแพทย์ที่บ่งชี้ถึงความเสี่ยงต่อสุขภาพในระยะยาวประเมินตัวเอง ปรับปรุงพฤติกรรม คุมอาหาร และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่วันนี้ เพื่อไม่ให้ความอ้วนเป็นสาเหตุของโรคร้ายต่างๆ ที่จะตามมาในอนาคต

Comments are closed.

Pin It