Advice

ผลพลอยได้หรือผลข้างเคียง! ฉีดโบท็อกซ์ช่วยผ่อนคลายโรคซึมเศร้าหรือยิ่งหนักกว่าเดิม?

Pinterest LinkedIn Tumblr

By Lady Manager

หลายต่อหลายคนอาจเสพข้อมูลจากสื่อในคุณประโยชน์ของ โบท็อกซ์ (Botox-Botulinum toxin A) กันไปแล้วว่า ริ้วรอยที่ตื้นลง จะช่วยลดความเครียด มีสภาวะทางอารมณ์ที่ดี ช่วยบำบัดโรคซึมเศร้าได้
แต่ในทางกลับกันจากบทความของหนังสือพิมพ์เดอะซัน มีบทความวิจัยโต้แย้งว่า

“นักวิจัยแคนนาดา พบว่าการต่อสู้กับความเหี่ยวบนใบหน้าด้วยการฉีดโบท็อกซ์ จะปิดกั้นการแสดงความรู้สึกที่ใบหน้า ทำให้จิตใจซึมเศร้าได้ เพราะมันได้ไปสะกดกล้ามเนื้อบางส่วนให้เย็นชาไว้ ทว่าการทำเช่นนั้นทำให้ไม่อาจแสดงความรู้สึกออกมาทางดวงตาได้ ปล่อยให้ความรู้สึกนั้นคงตกค้างฝังอยู่ในอก

การวิจัยย้ำว่า เพราะกล้ามเนื้อที่ช่วยในการแสดงความรู้สึกเหล่านั้นโดนถูกทำให้เป็นอัมพาต จึงทำให้ความรู้สึกนั้นตกค้างอยู่ในใจ ทำให้รู้สึกว่าโลกซึมเศร้า และมันจะรู้สึกฝังใจอยู่นานกว่า”

ต่อประเด็นนี้เราจึงต้องขอความคิดเห็นจากคุณหมอผู้เชี่ยวชาญทางจิตเวชเป็นการด่วน ว่าตกลงแล้ว เจ้าโบท็อกซ์จะเป็นตัวนางเอกหรือกลับตาลปัตรสวมบทนางร้ายแห่งโรคซึมเศร้ากันแน่!

“โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่รักษาได้ แต่โรคซึมเศร้ามีรายละเอียดหลายรูปแบบมาก กระบวนการทางการแพทย์มีความพยายามที่จะพัฒนาต่อเนื่องไปเรื่อยๆ เพื่อที่จะหาวิธีการรักษาให้ตรง หรือเฉพาะเจาะจงกับรูปแบบย่อยๆ ของโรค”

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น และผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต อธิบายถึงโรคซึมเศร้า

“โรคซึมเศร้าเป็นโรคหนึ่งที่วงการแพทย์และยา พยายามจะค้นคว้ากันมาโดยตลอด ขณะนี้เราก็มียารักษาโรคซึมเศร้าอยู่หลายกลุ่มด้วยกัน สมัยโบราณก็จะมียาที่อาจจะมีผลข้างเคียงเยอะ เช่น ทำให้ง่วงนอน ปากแห้ง คอแห้ง ตาพร่ามัว หรืออาจจะทำให้รู้สึกอ่อนเพลียหน้ามืด หรือในอดีตอาจจะมียาที่หนักกว่านี้อีก คือ ใช้แล้วซึมเศร้าน้อยลง แต่เสพติด ต้องกินเป็นประจำ เป็นโทษต่อร่างกายด้วย แต่ก็ช่วยลดความเศร้าได้บ้าง เข้าข่ายยาเสพติด

จากความรู้เดิมๆ ก็จะถูกสะสมจนพัฒนาต่อเนื่องมาเรื่อยๆ หลังจากนี้จะมียาซึมเศร้าที่ดีขึ้น จนกระทั่งปัจจุบันนี้ก็ถือว่าเป็นยาที่ดีมากแล้ว ปัญหาความง่วงซึม ความเพลีย ปากแห้ง คอแห้ง รวมถึงเรื่องของการเสพติดก็ไม่เกิดแล้ว แต่ยังมีความช้าของการออกฤทธิ์

และในผู้ป่วยบางรายก็ดูเหมือนว่าจะไม่สามารถจะรักษาได้ดีเท่าที่ควรก็เลยค้นคว้าต่อเนื่องไป สมุนไพรบางตัว เช่น เซนต์ จอห์น เวิร์ท (St John's Wort) ซึ่งก็เป็นสมุนไพรที่มีการวิจัยแล้วพบว่าช่วยเรื่องอาการซึมเศร้าได้เล็กน้อย และอีกอันคือ โบท็อกซ์

ค่ะ มาถึงประเด็นจากบทความที่ทำเอาสับสนกันว่า ตกลงเจ้าโบท็อกซ์นั้นทำให้เกิดโรคซึมเศร้า หรือช่วยรักษาอาการซึมเศร้ากันแน่!

สัญญาณดี! แสงใหม่ของคนไข้ที่ไม่ตอบสนองจากยาแก้ซึมเศร้า

“มีงานวิจัยว่าโบท็อกซ์จะเกี่ยวกับกลไกอะไรของร่างกายได้บ้าง ทว่าพื้นฐานของโบท็อกซ์จะทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว โปรดสังเกต จึงมักจะนำไปใช้ในวงการเสริมสวย คนที่มีริ้วรอยเหี่ยวย่น จะเอาโบท็อกซ์ไปฉีดเพื่อให้การเกร็งของกล้ามเนื้อ หรือริ้วรอยคลายออก เรื่องของไมเกรน (Migraine) ก็มีคำอธิบายที่เกิดจากการเกร็งของกล้ามเนื้อต่างๆ ด้วยเหมือนกัน รวมถึงกลไกอื่นๆ ในระบบที่ลึกซึ้งกว่านั้น

เช่นเดียวกันการค้นพบก็จะนำไปสู่เรื่องของการรักษาโรคซึมเศร้า ซึ่งตอนนี้ก็จะมีข้อมูลออกมาในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ชัดเจนหรือหนักแน่นเพียงพอว่าจะเอาไปใช้ในการซึมเศร้าแบบไหน

กลไกรายละเอียดของการเกิดโรคซึมเศร้าเป็นปัญหาโรคที่เกิดจากระดับของสื่อนำประสาทอยู่ในส่วนที่ลึกเข้าไป ดังนั้นกลไกการใช้มันจะไม่ใช่การออกฤทธิ์ที่กล้ามเนื้อในจุดที่ฉีดเหมือนที่นำไปฉีดริ้วรอย เป็นอะไรที่ลึกซึ้ง ทั้งนี้ต้องอาศัยการวิจัยต่อเนื่องเพิ่มเติม เป็นแค่ความคืบหน้าที่เราเห็นสัญญาณดีๆ ว่า โรคซึมเศร้าจะมีทางเลือกที่มากกว่านี้ ดังนั้นหมอยังคิดว่าเรื่องโบท็อกซ์ต้องรอการสรุปผลการวิจัยเพิ่มพอสมควร

ยังไม่ฟันธงและข้อสรุปว่าจะต้องแบบนั้น แบบนี้นำมาวางขายในท้องตลาดยังไม่ได้ เป็นเพียงแค่สัญญาณดีๆ ว่า คนที่ไม่ตอบสนองกับยาบางตัวเลยยังมีทางเลือกใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ ก็ประคองอาการกันไปก่อน”

ทว่าในความคิดเห็นของคุณหมอเห็นว่า

หมอคิดว่าการแปลความจากเนื้อหาการวิจัยแบบนี้ยังขาดความลึกซึ้ง ทว่าการแสดงสีหน้าสัมพันธ์กับอารมณ์ความสัมพันธ์นั่นคือส่วนหนึ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าการไปแก้ที่การแสดงออกภายนอกจะสามารถรักษาความเศร้าได้ทั้งหมด กลไกความเชื่อมโยงโปรดรอติดตาม

แต่หมอคิดว่ามีส่วนช่วยได้มากกว่าเป็นโรค

“ประเด็นหนึ่งที่ต้องสังเกตด้วยว่า สารบางอย่าง ยาบางตัว ถ้าใช้ในปริมาณที่มากหรือน้อยเกินไปบางครั้งไม่ได้ช่วยแต่กลับทำให้แย่ลง เหมือนกับภาษาทางการแพทย์ที่เรียกว่า Optimum Dose ขณะที่พอเหมาะสม เป๊ะ ใช่เลย

แม้แต่ยาปฏิชีวนะ ถ้าเราใช้น้อยเกินไป เชื้อยังไม่ทันตายหมดก็ดื้อยาขึ้นมาอีก ถ้าใช้มากไปร่างกายก็เยินหมด คนเราก็เยินไปเลย หรือแม้แต่ยานอนหลับ เรากินไปเยอะๆ ก็อาจทำให้สับสน เบลอ ทุกอย่างต้องมีความพอดี

ดังนั้นในบางช่วงหรือบางบุคคลถ้าได้รับสารนี้ไปอาจจะรักษาโรค แต่บางคนอาจจะได้รับสารนี้เข้าไปเป็นอีกแบบ เกิดภาวะอย่างนี้ได้”

พื้นฐานหมกมุ่นรูปโฉมตัวเองส่อเป็นโรคซึมเศร้า!

จากหนังสือพิมพ์เดอะซัน กับประเด็นเสพติดการฉีดโบท็อกซ์จนแพร่เชื้อไปถึงลูกสาว เป็นคุณแม่ยอดแย่ที่โดนชาวโลกสวดยับ กับคุณแม่ชาวอังกฤษวัย 34 ปีที่อาศัยอยู่ในอเมริกา ได้ซื้อโบท็อกซ์มาจากอินเตอร์เน็ตและฉีดโบท็อกซ์ให้ลูกสาววัย 8 ขวบ!! เพราะเธอใฝ่ฝันและตั้งใจอยากให้ลูกสาวประกวดนางงาม!

การฉีดโบท็อกซ์อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานจะส่งผลทางจิตอย่างไร คุณหมอแจงว่า

“คนที่ประเภทใส่ใจถึงขั้นหมกมุ่นกับรูปโฉมตัวเองหลายคนมีฐานของความรู้สึกไม่พึงพอใจตัวเองอย่างลึกซึ้ง เหมือนกับคนที่ selfesteem ไม่ดี ซึ่งตรงนี้จะสัมพันธ์กับโรคซึมเศร้า

เขาอาจจะเหมือนกับมีอาการจะเป็นอยู่แล้ว เหมือนอย่างเราเป็นคนรักสวยรักงามก่อนที่จะมีโบท็อกซ์ทาลิปสติกอยู่นั่นแหล่ะ แต่ว่าโรคซึมเศร้าก็เดินไปเรื่อยๆ ลิปสติกไม่ได้เกี่ยวด้วยเลย แต่เรามาสรุปตอนท้ายว่าทาลิปสติกแล้วซึมเศร้า ซึ่งมันไม่ใช่ เพราะความที่เราฐานไม่เต็ม เขาก็ดิ้นรนแบบนั้น ฉะนั้นพื้นฐานทำให้เป็นโรค ไม่ใช่การดิ้นรนทำให้เป็นโรค

คือ พื้นฐานจะเศร้าอยู่แล้ว ไม่มีความมั่นใจอยู่แล้วเลยต้องฉีดประจำ อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับโบท็อกซ์เลยก็ได้

แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่โบท็อกซ์ไม่ใช่ลิปสติก ไม่ใช่แป้งแปะหน้า มันสามารถจะซึมซาบเข้าไปในระบบร่างกายของเรา และยิ่งประเภทใช้นานๆ แทงเข้าไปๆ ก็ต้องตั้งเผื่อเหมือนกันว่าจะเป็นจากโบท็อกซ์ก็ได้ การสรุปแบบนั้นก็จะต้องเอามาทดลองโดยพื้นฐานของคนที่ไม่ได้เป็นแบบคนนั้น ว่าคนที่สวยอยู่แล้วมาฉีดโบท็อกซ์ขณะนี้จะทำให้เศร้าไหม แต่การทดลองแบบนี้จะผิดจริยธรรม ดังนั้นจึงต้องนำไปทดลองในสัตว์ทดลอง”


 
>> อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่  http://www.celeb-online.net
 

Comments are closed.

Pin It