Advice

ยากินรักษาสิว! ได้ผลหน้าใสแต่ตับทรุด!?

Pinterest LinkedIn Tumblr

By Lady Manager

เบื้องหลังหน้าใสไร้สิวของสาวหลายคน อาจแอบกินยารักษาสิว หลายคนเริ่มจากหาแพทย์จ่ายยา ครั้นหลังๆ ขี้เกียจต่อคิว ก็ไม่พบแพทย์ตรวจตามนัด แต่ซื้อยาเดิมกินต่อเนื่องเอง โดยหารู้ไม่ว่ายาเหล่านี้ให้ผลข้างเคียงเพิ่มค่าเอ็นไซม์ในตับ ส่งผลให้คุณเป็นเจ้าของตับอักเสบได้อย่างไม่ทันตั้งตัว

พญ.รจนา อรัณยกานนท์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชสำอาง และศัลยศาสตร์เลเซอร์ผิวหนัง โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ประชาชื่น พบคนไข้ประเภทนี้บ่อยค่ะ ท่านจึงอยากเตือนสาวๆ ผู้ห่วงสวยไม่อยากมีสิวขึ้นบนใบหน้าว่า การกินยารักษาสิวไม่ใช่เรื่องเล่นๆ นึกจะกินก็กิน นึกจะหยุดก็หยุด หรือนึกจะเอาของญาติพี่น้องมากินก็กินเองหน้าตาเฉย…

“ปกติขั้นตอนการรักษาสิว อย่าง สิวอุดตัน จะเริ่มที่ยาทาก่อน แล้วค่อยยากิน ทำเลเซอร์ทรีตเม้นต์ควบคู่ไป ไม่ใช่คนไข้ทุกคนที่มาถึงต้องให้กินยา หรือคนไข้เริ่มเยอะขึ้น ก็จะให้ยาฆ่าเชื้อก่อน ยังไม่รีบให้กินยา” หมอรจนาอธิบาย ก่อนเข้าประเด็น

กลุ่มยากินรักษาสิว ขับออกทางตับ 

เรื่องจริงจากกรณีสาวใหญ่หน้าใสกิ๊กวัย 40 ต้นๆ เพิ่งไปตรวจสุขภาพประจำปี พบว่าตับอักเสบ พอหมอตรวจละเอียดขึ้นพร้อมซักประวัติ จึงสืบทราบสาเหตุได้ว่า มาจากการกินยารักษาสิวอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาเนิ่นนานหลายปี

เธอไปหาหมอรักษาสิวที่คลินิกห้องแถวชื่อดัง ซึ่งได้ผล หนังหน้าไม่มีสิวขึ้น แต่เธอต้องไปหาหมอและซื้อยาจากคลินิกนั้นทุกเดือน บางครั้งขี้เกียจต่อคิว ก็ขอไม่พบแพทย์ ซื้อแต่ยากลับมากินเอง

“บางทีคนไข้อาจมีพื้นฐานที่ตับผิดปกติอยู่แล้วด้วยก็ได้ อันนี้เราโทษใครไม่ได้ บางทีคนไข้มีภาวะเป็นพาหะนำโรคตับอยู่แล้ว คนไข้ไม่รู้ เพราะไม่มีอาการอะไร แต่ไม่เคยเจาะเลือดตรวจเจอ คนไข้บางคนก็ดื่มแอลกอฮอล์เยอะอยู่แล้ว คนไข้บางคนกินยาฆ่าเชื้อสิวตัวนี้ด้วยและกินยาแก้ปวดด้วย มันก็เจอได้”

หมอรจนากล่าวว่ามีหลายเหตุปัจจัย

“แต่ว่าแน่นอน ยาส่วนมากที่เราเอามารักษา จะกำจัดออก 2 ทาง คือ ตับกับไต แต่ว่ายาทางกลุ่มผิวหนังที่รักษาสิว ส่วนมากกำจัดทางตับ ที่ใช้เยอะๆ เลย คือ พวกอนุพันธ์ของวิตามิน A ซึ่งหากซื้อกินเอง โดยไม่คำนวณ ก็แน่นอน มันย่อมมีผลต่อการทำงานของตับ ยามันทำให้เอนไซม์ของตับสูงขึ้น”

อันตราย! ซื้อยากินเอง กินนาน กิน ON/OFF 

“ยาตัวนี้มีมานานแล้ว ถ้าให้โดยคำนวณ ให้กินอย่างเหมาะสม ก็ยังเป็นทางเลือกที่ดีอยู่ แต่ว่าถ้าซื้อกินเอง แน่นอน มันก็มีปัญหาได้” หมอรจนาเน้นอีกครั้งถึงประเด็น-ซื้อยากินเอง

“มันเป็นยาที่อยู่ในการควบคุม ไม่สามารถไปซื้อเองตามร้านขายยาได้ ต้องจ่ายโดยแพทย์

ถ้าเป็นแพทย์ผิวหนังจริงๆ นะ จะตรวจก่อนว่าคนไข้มีโรคประจำตัวอะไรไหม ซักประวัติก่อน หากคนไข้ไม่ได้มีโรคประจำตัวอะไรที่เป็นข้อห้ามชัดเจน”

ข้อห้ามก็ได้แก่ ห้ามให้ในคนเป็นโรคซึมเศร้า ห้ามให้ในคนเป็นไวรัสตับอักเสบ A B เพราะมีภาวะของการทำงานที่ผิดปกติของตับอยู่แล้ว

“ถ้าไม่อยู่ในข่ายข้อห้าม ก็ไม่ต้องเจาะเลือดเช็ค แพทย์จะจ่ายยาให้อยู่ใน dose ที่คำนวณ กี่มิลลิกรัมต่อน้ำหนักที่เท่าไร แพทย์จะดูเป็นรายบุคคลไป บางคนมีสิวเยอะมาก ลักษณะสิวหัวช้างตลอด แพทย์อาจให้ยาเริ่มต้นที่ขนาดสูง เช่น เริ่มที่ 20 มล.สัก 3 เดือน และค่อยลดขนาดยาลง แล้วค่อยส่งไปเจาะเลือด เพื่อดูว่าการทำงานของตับปกติไหม

หรือแพทย์ดูแล้วมี plan ที่ต้องกินนานมากๆ ก็ต้องเจาะเลือดตรวจ หรือกรณีคนไข้มีอาการอ่อนเพลียประจำ ไม่แน่ใจว่าตัวเองมีโรคตับหรือเปล่า เคยทานยาแก้สิวอักเสบสิวแบบ on/off กินๆหยุดๆ มาตลอด เปลี่ยนคลินิกมาแล้วหลายที่ แพทย์ก็อาจสงสัยว่าเค้าอาจมีภาวะตับที่ไม่ปกติอยู่แล้วหรือเปล่า

แต่โดยทั่วไป ซักประวัติไม่มีอะไร ไม่แพ้ยา ก็ให้ยาไปก่อน และคอยเจาะเลือด follow up เอา”

ยาสิวเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ห้ามซี้ซั้วเอายาของคนอื่นมากิน

ดังนั้นการกินยารักษาสิวต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ คำนวณปริมาณยาที่ควรกินกับน้ำหนักคนไข้ รวมทั้งกินแล้วนอกจากติดตามผลเรื่องสิว ยังต้องคอยตรวจเลือดเช็คค่าตับ แพทย์จะเป็นผู้คอยปรับ/เปลี่ยนขนาดยาตามความเหมาะสมของแต่ละคน

“บางคนเห็นเพื่อนกินยาสิวแล้วหาย อยากกินบ้าง เห็นเพื่อนกิน 1 เม็ดก่อนนอน หรือ 1 เม็ดเช้าเย็น ก็กินตาม ซึ่งจริงๆ อาจไม่ต้องกินถึงขนาดนั้น เพราะมันอยู่ที่น้ำหนักของแต่ละคน ที่ต้องคำนวณโดยแพทย์ ไม่ใช่คุณน้องกินแล้วดีขึ้น มียาเหลือที่บ้านคุณพี่เอาไปกิน คุณพี่ไม่ได้มาตรวจแต่เอายาของคุณน้องไปกิน โดยไม่รู้ว่ามีโรคประจำตัวอะไร มีข้อห้ามอะไรไหม”

รวมทั้งกรณีไปคลินิกแต่ไม่พบแพทย์ และซื้อยาเดิมมากินเอง ก็ไม่ถูกต้องค่ะ

“มันเป็นไปได้ว่าเวลาไปหาแพทย์แล้วไม่ได้มีการซักประวัติเพิ่มเติม และจ่ายยาเดิม รวมทั้งกินยาแบบเดี๋ยวกิน เดี๋ยวหยุด วันนั้นไปคลินิกแต่ไม่ตรวจ ซื้อยาเดิมที่คลินิก หรือพอสิวดีขึ้น คนไข้ก็หยุดกิน พอเดือนหน้าขึ้นใหม่ ก็ไปซื้อยามากิน กินแบบ on/off ไปเรื่อยๆ มันก็ทำให้กินนาน นานกว่าช่วงที่ควรจะกิน

การกินยาเหล่านี้อยู่ที่การคำนวณ อยู่ที่การกินต่อเนื่อง ถ้ามีการคำนวณ จะไม่มีการกินติดต่อกันเป็นปี อย่างเช่น คนไข้หนัก 45 กก. อาจกินยาประมาณ 15-16 อาทิตย์ ก็อยู่ที่ 3-4 เดือน และก็จะลดยา และก็หยุด ถ้าคนไข้หนักขึ้น ก็กินยาวขึ้น เป็น 6-8 เดือน แต่ก็จะมีช่วงปรับยาลดลง ไม่ได้กินตลอด หรือกินแล้วดี ควบคุมความมันได้ ไม่มีสิวขึ้น แพทย์ก็จะให้ลดลง จากทุกวัน เป็นวันเว้นวัน วันเว้นสองวัน กระทั่งอาทิตย์หนึ่งกินแค่สองเม็ดซึ่งไม่ใช่เพื่อผลการรักษาแล้วแต่เพื่อคุมความมันสักนิด ทีนี้คนที่กินเพื่อควบคุมความมัน ควรเจาะเลือดตรวจ ต้องรู้ตัวว่าต้อง check up”

ท้ายสุด หมอรจนาอดแสดงความห่วงใยไม่ได้ว่า

“ทุกวันนี้เปิดคลินิกรักษาสิวกันเยอะมากเหมือนเซเว่นฯ เลย ไม่รู้ว่าให้ความรู้แก่คนไข้ไหม กำชับหน้าเคาน์เตอร์คนที่จ่ายยาไหมว่าต้องให้คนไข้พบหมอ ห้ามซื้อยาไปกินเอง มันคุมยาก บางทีอาจตรวจสอบไม่ได้ครบ ตรวจสอบไม่ได้ตลอด บางช่วงเข้าไปตรวจ ก็ดูถูกต้องดี แต่บางช่วงไม่มีคนมาตรวจ เค้าก็คงจ่ายไป มันไม่เหมือนโรงพยาบาลที่ต้องมีเภสัช มีห้องยา มีระบบควบคุม แต่ข้างนอกควบคุมยาก หรืออย่างจะส่งคนไข้ไปเจาะเลือดเช็คเลือด ก็ยาก โอกาสที่จะส่งมันก็ยาก หรืออาจแนะนำให้คนไข้ไปเช็ค แต่ไม่รู้คนไข้จะไปหรือเปล่า”

ฉะนั้นหาหมอ ก็ต้องหาความรู้ควบคู่ไปด้วยนะคะ และเหนืออื่นใด อย่าห่วงสวยจนละเลยสุขภาพล่ะ
 

>> อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่  http://www.celeb-online.net
 

Comments are closed.

Pin It