Advice

เตือนสาวออฟฟิศ! กินอาหารด่วนเป็นประจำ เสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่

Pinterest LinkedIn Tumblr

By Lady Manager

สาวๆ ออฟฟิศที่ต้องนั่งอยู่กับโต๊ะทำงานทั้งวัน การกินที่ง่ายๆ เร็วๆ ในชั่วโมงที่เร่งรีบ เพื่อจะทำงานให้เสร็จตามกำหนดเวลาของเจ้านายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เป็นประจำ

เช้าแซนด์วิชจากร้านสะดวกซื้อ กลางวันไก่ทอดข้าวเหนียวป้าหน้าออฟฟิศ บ่ายขนมกรุบกรอบ เย็นตามด้วยพิซซ่า 1 ถาดกับเพื่อนสาวในออฟฟิศ

มีข้อมูลว่า ผู้หญิงเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่สูงเป็นอันดับ 5 รองจากมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม มะเร็งตับ และมะเร็งปอด

“พฤติกรรมการรับประทานฟาสต์ฟู้ดที่เรามักคิดไปว่า “ สะดวก ง่าย รวดเร็ว ” เป็นอาหารที่มีกากใยน้อย ไขมันสูง ยิ่งกลุ่มที่ไม่ออกกำลังกาย และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ พบประวัติคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคดังกล่าว เคยมีประวัติป่วยด้วยโรคมะเร็งรังไข่ ปากมดลูก, เคยมีติ่งเนื้อชนิดโพลิปส์ในลำไส้ใหญ่, เคยเป็นโรคลำไส้ใหญ่อักเสบ”

นพ.อิทธิชัย วัชรีคุปต์ แพทย์สาขาอายุรกรรมทั่วไป คลินิกเครือรพ.กล้วยน้ำไท กล่าวอีกว่า สูบบุหรี่เป็นประจำ หรืออ้วน ยิ่งเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่

“มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นมะเร็งที่อยู่บริเวณส่วนของลำไส้ใหญ่ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เรียกว่าลำไส้ใหญ่โคลอน และลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย คือ ช่วงส่วนยาว 6 นิ้วสุดท้ายก่อนถึงทวารหนัก เกิดจากการที่เซลล์เจริญเติบโตแบบผิดปกติไม่สามารถควบคุมได้ และยังไร้ระเบียบ โดยการโตจะคล้ายกับขาปูที่ยื่นเข้าไปในเนื้อเยื่อที่ปกติอยู่รอบๆ และยังสามารถเคลื่อนย้ายเพื่อไปโตในตำแหน่งที่อยู่ไกลจากบริเวณเดิมได้

สาเหตุการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ไม่พบแน่ชัด แต่คาดว่าเกิดจากการระคายเคืองหรือถูกกระตุ้นอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ หรือเกิดจากการแบ่งตัวอย่างผิดปกติของเซลล์บริเวณเนื้อเยื่อของลำไส้

แต่จากการศึกษาพบว่าผู้ที่รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูงเป็นประจำและในปริมาณที่เพียงพอในแต่ละวันจนสามารถขับถ่ายอุจจาระเป็นประจำทุกวันในปริมาณ 350 – 500 กรัมต่อวัน มักจะใช้เวลาให้อาหารเดินทางภายในลำไส้จนถึงขับถ่ายเป็นเวลาประมาณ 20 – 30 ชั่วโมง ไม่ค่อยพบว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่

ส่วนคนที่ทานไฟเบอร์น้อย ไขมันสูง ไม่ค่อยออกกำลังกาย อุจจาระแม้ทุกวันแต่ปริมาณน้อยเพียง 75 – 100 กรัมเท่านั้นเสี่ยงต่อการเป็นโรคดังกล่าว เพราะอาหารที่มีไขมันสูงและเนื้อสัตว์จะใช้เวลาเดินทางภายในลำไส้จนถึงขับถ่ายถึง 2 -4 วัน ซึ่งลักษณะของเนื้ออุจจาระมักจะเป็นครีมติดชักโครก สีน้ำตาลเข้มเกือบดำ และกลิ่นเหม็นตลบอบอวล ยิ่งมีอุจจาระปนเลือด และท้องเสียสลับท้องผูกควรรีบพบแพทย์” คุณหมออิทธิชัย อธิบายต่อว่า

“ลำไส้ใหญ่จะมีเชื้อโรคชนิดดี และชนิดไม่ดีอาศัยอยู่ แบคทีเรียชนิดไม่ดีเกิดจากการบูดเน่าสะสมของเศษอาหารในลำไส้ ที่เกิดจากการรับประทานเนื้อสัตว์ หรือแป้งชนิดขัดขาวเป็นประจำ ทำให้เกิดเป็นคราบติดอยู่ในลำไส้ และเกิดการบูดเน่าในที่สุด

ส่วนการดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลต่อโรคมะเร็ง เพราะแอลกอฮอล์จะไปเพิ่มการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งลำไส้” ซึ่งพบว่าผู้ที่ดื่มสุราเป็นประจำเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่มากกว่า 2 – 3 เท่า

“ถ้าพบว่าการขับถ่ายเปลี่ยนแปลงไป เช่น มีเลือดสีแดงสดหรือแดงคล้ำปนออกมากับอุจจาระ อุจจาระก้อนเล็กลงกว่าเดิมมาพักหนึ่ง ท้องเสียสลับกับท้องผูก และมักรู้สึกว่าถ่ายไม่หมด อาหารไม่ค่อยย่อย อาเจียน ความอยากอาหารลดลง ท้องอืด ปวดท้อง ผอมลงกะทันหัน และมีโลหิตจางโดยไม่ทราบสาเหตุ มีแผลที่บริเวณทวารหนักมานานและมีอาการเจ็บอย่างต่อเนื่อง หรือคลำพบก้อนในท้อง มีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องมาน และบวมน้ำควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจหามะเร็งลำไส้ใหญ่”

อย่างไรก็ตาม ช่วงแรกๆ ของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่มักไม่ค่อยแสดงอาการ สิ่งที่สังเกตได้คือ พฤติกรรมการรับประทานอาหาร ถ้ารับประทานอาหารฟาสต์ฟู้ดเป็นประจำ อุจจาระมีกลิ่นเหม็น มีปริมาณน้อย และมักเป็นคราบติดชักโครก ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

“มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นเรื่องที่ใกล้ตัว ที่สำคัญเป็นระยะแรกจะไม่แสดงอาการ จึงทำให้โอกาสในการตรวจพบและรักษาให้หายขาดมีน้อยลง ดังนั้นหากอยู่ในกลุ่มเสี่ยงคือ มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ พฤติกรรมการกินผักน้อยชอบรับประทานเนื้อและไขมัน ไม่ค่อยออกกำลังกาย บวกกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เร่งรีบในปัจจุบัน จึงควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นประจำทุกปีโดยไม่ต้องรอให้มีอาการผิดปกติ จะช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ดีกว่าครับ”
 

>>
อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่ 
 http://www.celeb-online.net

Comments are closed.

Pin It