Advice

7 อาการหลอนบ่งบอกโรค/นพ.กฤษดา ศิรามพุช

Pinterest LinkedIn Tumblr

โดย นพ.กฤษดา ศิรามพุช

งานปล่อยผีของฝรั่งเป็นเรื่องคึกคักทั้งประชาชนและคนค้าขาย ด้วยมีกิจกรรมสนุกไปจนถึงพิลึกพิลั่นอยู่มากมาย ธุรกิจผี เอ๊ย…ธุรกิจขายของเกี่ยวกับผีๆ ก็เฟื่องฟูดี ซึ่งเมื่อดูเทียบกันก็จะเห็นว่าแต่ละชาติมี “วันปล่อยผี” ทำนองเดียวกันนี้เป็นของตัวเอง (ไม่ได้หมายถึงมีผีเป็นของตัวเอง)

ไทยเรามีงานสารทเดือนสิบ มีการตั้งหลาวชะโอนชิงเปรตที่พี่น้องชาวนครฯ รู้จักกันดี

ส่วนคนจีนมีเทศกาลวันไหว้ผีคือ “เชงเม้ง” ที่ลูกหลานต้องไปไหว้บรรพชนต้นสาแหรกตระกูลที่ฮวงซุ้ย

นอกจากนั้นแต่ละชาติยังมีอีกหลายต่อหลายกิจกรรมเกี่ยวกับผีหรือการระลึกถึงผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งเราจะไม่เรียกว่ากิจกรรมผีๆ แต่เรียกว่าวันที่คนเป็นและคนตายได้มาเกี่ยวข้องกันอีกครั้ง

เรื่องนี้สุดแล้วแต่วิจารณญาณ

โดยส่วนตัวผมเป็นมนุษย์ที่นิยมเชื่อปู่ย่าตายาย ซึ่งเมื่อโตขึ้นมาทำงานวิชาการสอนหนังสือหนังหาแล้ว ก็เห็นว่าไม่ใช่เรื่องเสียหายที่จะเชื่อผู้ใหญ่ เพราะเรื่องที่ “โบราณท่านว่า” นั้น ล้วนมาจากการเก็บสถิติที่เป็นประสบการณ์ของคนยุคก่อนซึ่งเป็นสิ่งที่ได้ผ่านการ “ตกผลึก” มาอย่างดีแล้ว

คนไทยเราเกิดมาโชคดีที่มีปูมความรู้สืบต่อกันมา ถ้าดูให้ดีจะเห็นว่าความรู้ส่วนใหญ่ที่สอนกันมานั้นล้วนแต่เป็นสิ่งที่ช่วยให้ชีวิตเราเป็นมงคล ซึ่งมงคลที่ว่าก็คือ “ความเจริญ” ทั้งทางจิตใจและร่างกายนั่นเอง

ดังนั้นถ้าใครที่รู้จักนำ “ความรู้ดั้งเดิม” มาเติมกับ “ของรุ่นใหม่” ก็ยิ่งจะช่วยไขความลับต่างๆ ได้ดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องที่เราจะคุยกันวันนี้ที่มีเพียงเส้นแบ่งบางๆ ระหว่างป่วยกายกับป่วยใจ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับอาการแปลกๆ ที่เกิดกับเจ้าตัวเพียงคนเดียว จนบางครั้งทำให้คนนั้นพลอยสงสัยตัวเองไปด้วย

เรื่องเหล่านี้มีอยู่จริง ดังจะขอให้ท่านที่รักลองมาทัศนาเรื่องหลอนๆ ทางสุขภาพดังต่อไปนี้ดูครับ

* 7 เรื่องหลอนที่มีอยู่จริง *

1) เสียงหลอน

แบ่งเป็น 2 แบบเสียง อย่างแรกคือเสียงหลอนจริง ฟังเหมือนมีใครมากระซิบข้างหูหรือได้ยินคนที่อยู่ไกลๆ พูดนินทาตนพาให้สับสนและหวาดระแวง อย่างนี้เป็นอาการทางจิตเวชนะครับ (Auditory hallucination) เป็นพารานอยด์หนึ่งในโรคจิตเภทได้

ส่วนเสียงแบบที่สองไม่เชิงหลอนแต่ได้ยินเสียงหึ่งคนเดียวในหูคล้ายเสียง “วิ้ง” หรือมีใครมาตีระฆังดังติงๆในหูจนรู้สึกรำคาญ

อาการนี้เรียก “ทินนิตุส (Tinnitus)” ซึ่งมีส่วนเกี่ยวกับประสาทหูส่วนในสุดซึ่งเกิดจากเสียงดังมาก, ยาหรืออุบัติเหตุที่ศีรษะก็ได้ครับ

2) สั่นหลอน

อาการสั่นชนิดนี้ไม่ได้เกี่ยวกับโรคสั่นหรือพาร์กินสันแต่มันเป็น “อาการยุคใหม่” ที่เกิดจากเทคโนโลยี “มือถือ” ครับ โดยเป็น “ความรู้สึก” ที่เกิดกับผู้ใช้มือถือที่เปิดระบบสั่น ซึ่งอาการที่ว่านี้มีทั้งแบบปกติและไม่ปกติ จะเรียกว่า “สั่นมโน (Phantom phone vibration)” ก็พอไหว

โดยสื่อใหญ่อย่างบีบีซีได้เผยว่านี่เป็นอาการแห่งอนาคตที่พบว่าคนถึง 80% เคยรู้สึกว่ามือถือในกระเป๋าตัวเองสั่นทั้งที่ไม่ได้สั่นจริง ซึ่งอย่าเพิ่งคิดว่าเป็นอาการผิดปกติเสมอไป ยกเว้นว่ามันรบกวนจิตใจและการงานอย่างแรง ก็ต้องจัดการและแบ่งเวลาระหว่างโทรศัพท์งานกับเวลาพักผ่อนส่วนตัวครับ 

3) ภาพหลอน

การเห็นภาพที่เห็นอยู่คนเดียวนั้นเป็นอาการที่เกิดได้จากความผิดปกติในจุดพิเศษของร่างกาย มีอยู่ 3 จุดที่ต้องดูคือ ระบบสมอง, เรื่องทางตา, และจิตใจ

โรคทางใจก็เช่นจิตเภทเป็นต้น ซึ่งสาเหตุของภาพหลอนไม่จำเป็นต้องป่วยโรคจิตโรคประสาทอย่างที่หลายคนคาดเสมอไปนะครับ ดังเช่นในกรณีของกลุ่มอาการชาร์ลส์บอนเน็ต (CBS) ที่มาจากจอตาเสื่อม, ต้อหิน, ต้อกระจก, เส้นเลือดสมองหรือเนื้องอกได้ ซึ่งในเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับโรคทางจิตใจเลย

หรืออย่างกรณี “ลมชัก” ที่คนไข้อาจเห็นแสงแวบวิบวับที่ตาได้ เอาที่ง่ายกว่านั้นอย่าง “ไมเกรน” ที่ก่อนปวดหัวอาจมีตาพร่านำมาก่อน

4) เจ็บหลอน

เจ็บจริงก็ว่าแย่พอแล้วยังมีเจ็บหลอนอีก อาการเจ็บหลอนที่ว่าเกิดได้ทั้งที่ไม่มีร่องรอยบาดเจ็บใดๆ ให้เห็นก็ได้ครับ ยกตัวอย่างเช่นคนที่ป่วยด้วยโรคงูสวัด ไวรัสร้ายนี้จะเพ่นพ่านลึกเข้าไปแฝงในปมประสาทจนทำให้เจ็บแปลบปลาบขึ้นมาทั้งที่แผลงูสวัดหายดิบดีแล้วก็ได้ (Postherpetic neuralgia)

รวมถึงคนที่ถูกตัดขาหรือนิ้วไปหมาดๆ อาจมีอาการรู้สึกคันหลอนว่ายังมีแขนขาข้างที่ตัดไปนั้นอยู่ (Phantom limb) หรือในบางท่านอาจมีอาการ “เจ็บหลอน (Phantom pain)” แบบแสบร้อนก็ได้

5) ยานอนหลับหลอน

อันนี้น่ากลัวไม่น้อยถ้าได้เคยเห็นครับ อาการหลอนที่ว่าคือ อาการสับสนปนวุ่นวาย (Benzodiazepine-induced delirium) ที่เกิดได้จากการรับประทานยานอนหลับ โดยเฉพาะกลุ่มยอดนิยมอย่างไดอะซีแพม, ลอร่าซีแพม เป็นต้น

ซึ่งอาการสับสนที่ว่านี้มีสัญญาณให้สังเกตได้ก็คือหลงลืมง่าย, ดูลอยๆงงๆ, ไม่มีสมาธิและอารมณ์แปรปรวนง่าย ส่วนอาการนอนที่ผิดปกติไปนั้นก็พอดูได้เช่นกัน อย่างเช่น กลางคืนตาค้าง นอนไม่หลับ นับแกะเล่นหลายต่อหลายชั่วโมงเป็นต้น

6) สุราหลอน

หรืออาการแอลกอฮอล์หลอน ข้อนี้น่ากลัวมากและต้องจับตาไว้ให้ดีโดยเฉพาะในช่วงปลายปีที่มีเทศกาลฉลองมากมาย อันตรายของมันคือทำให้ถึงขั้น “หลุดโลก (Alcohol-induced psychosis)” ได้นานครับ

แม้เกิดไม่บ่อยแต่มีเสี่ยงมากในนักดื่มที่แอลกอฮอลิซึ่มทั้งหลาย อาการของมันมักเกิดเมื่อตอนเจ็บป่วยไม่สบายต้องหยุดเหล้าเมื่อเข้าโรงพยาบาล มันทำให้เกิดอาการหูแว่วได้ยินเสียงคนด่าว่าหรือขู่ฆ่าทำร้าย ซึ่งอันตรายของมันอยู่ตรงที่เกิดขึ้นได้ปุบปับแบบที่คนรอบข้างไม่ตั้งตัวและน่ากลัวถึงขั้นทำให้ “จิตเสื่อม (Delirium tremens)” ซึ่งถึงตายได้ถ้าไม่รักษา

7) ขาดวิตามินหลอน

เกิดกับผู้ที่ขาดวิตามินบีหนึ่งหรือ “ไทอะมิน” เรียกชื่อกลุ่มอาการตามชื่อผู้ค้นพบว่า “เวอนิค-คอซาคอฟ” ปรากฏการณ์นี้เป็นที่รู้จักกันมานานในหมู่แพทย์ ซึ่งเป็นอาการแสนคลาสสิกที่เจอในคนไข้ติดสุรา

แต่ว่าถูกตรวจเจอแค่ 20% เท่านั้น เพราะต้องอาศัยประสบการณ์การสังเกตอย่างละเอียดละออ เพราะคนไข้จะมีอาการไม่ธรรมดาร่วมกันหลายอย่างโดยอาการหนึ่งคือ สับสน “กุเรื่อง (Confabulation)” พูดไปเรื่อยเพราะความจำมีปัญหากับอาการได้ยินหรือเห็นภาพหลอน (Hallucinations) ครับ

ปรากฏการณ์หลอนทั้งหมดที่กล่าวมาสามารถเกิดกับใครก็ได้ที่มีความเสี่ยง โดยไม่จำเป็นต้องป่วยทางจิตเสมอไป เพราะอาการป่วยกายหลายอย่างดังที่เล่าไป ก็ให้กำเนิดความหลอนแบบไม่คาดได้

พูดง่ายๆ ว่า “หลอน” ไม่ใช่ “จิตป่วย” เสมอไป

แต่เกิดได้จากความเพี้ยนของสมองหรือระบบประสาทใดๆ จนให้ข้อมูลเราผิดไปก็ได้ ทำให้ได้ยินและได้ยลในสิ่งที่คนอื่นสัมผัสไม่ได้ ซึ่งใครที่ไม่เคยเป็นก็ยากที่จะเข้าใจจึงเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ และพึงเข้าอกเข้าใจเพื่อนมนุษย์ที่ป่วยให้มาก

เพราะสิ่งที่มองไม่เห็นใช่ว่าจะไม่มี เช่นเดียวกับสิ่งที่มองเห็นก็อาจไม่เป็นดังภาพสวยงามตรงหน้าก็ได้
* ช่วยคลิก Like ด้วยนะคะ เพื่อเป็นแฟนเพจ Lady Manager รับข่าวสารแซ่บๆ ของผู้หญิงในแวดวงสุขภาพความงาม แฟชั่น และความสัมพันธ์ (**)

 

>>
อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่ 
 http://www.celeb-online.net
 

Comments are closed.

Pin It