Fashion

เลือกอัญมณีอย่างไรให้มีมูลค่าเพิ่ม

Pinterest LinkedIn Tumblr


>>ใครๆ ก็อยากจะเป็นเจ้าของเพชรพลอยเลอค่าน้ำงามๆ สักชิ้น แต่จะเลือกอย่างไรให้สามารถเพิ่มมูลค่าได้ในอนาคต วันนี้ เยือนจันทร์ ชัยวัฒน์ นักอัญมณีศาสตร์ (Gemologist) ได้มาแนะนำหลักในการเลือกก่อนตัดสินใจซื้อมาครอบครอง ในงาน “Sparkling Life & Colorful Gemstones” ซึ่งจัดโดย TREZ Jewelry ร่วมกับสยามพารากอน ณ ร้าน TREZ Jewelry ชั้น 1 สยามพารากอน

1. Origin (แหล่งกำเนิด) : แหล่งกำเนิดของอัญมณีแต่ละเม็ดนั้น ไม่เพียงแต่จะบอกเล่าเรื่องราวของแหล่งที่มาที่น่าสนใจแล้ว แหล่งการผลิตแต่ละแห่งล้วนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งก่อให้เกิดลักษณะอันโดดเด่นของอัญมณีเม็ดนั้นๆ เช่น แทนซาไนต์ มีแหล่งกำเนิดที่แทนซาเนียเท่านั้น จึงเป็นที่ต้องการและมีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

2. Gems Treatment : พลอยที่สวยจากธรรมชาติเป็นสิ่งที่หายากและราคาสูงมาก ปัจจุบันพลอยมีค่าหลายชนิด ได้ผ่านกรรมวิธีปรับปรุงคุณภาพให้เป็นที่ยอมรับในทางสากล เช่น การเผาพลอย (แบบเก่า) เพื่อให้สีสวยขึ้นและความสะอาดในพลอยดูดีขึ้นอย่างถาวรและราคาสามารถจับจ่ายได้

3. Phenomenon (ปรากฏการณ์ธรรมชาติ) : ลักษณะพิเศษที่เกิดขึ้นในอัญมณีอาจเกิดขึ้นจากตำหนิ โครงสร้างทางกายภาพ หรือการดูดกลืนแสงของแต่ละชนิด ไม่ว่าจะเป็น Chatoyancy (Cat’s eye) แสงสะท้อนที่เกิดจากตำหนิเส้นเข็มในหนึ่งระนาบ มักพบในพลอยคริสโซเบอริลตาแมวหรือทัวมาลีนตาแมว การเล่นสีของอัญมณีที่เมื่อแสงส่องผ่านและกระทบกับธาตุซิลิกอน จะเกิดเป็นลักษณะหย่อมสีหลายๆ สี เป็นต้น

4. 4C : มาตรฐานสากลที่ใช้กันทั่วโลกนี้ ยังเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรลืม จำแนกออกเป็น
Color (สี) อัญมณีแต่ละชนิดมีสีสันและลักษณะเฉพาะ การพิจารณาในแง่ของสีนั้นนอกจากจะสัมพันธ์กับคุณสมบัติตามธรรมชาติของอัญมณีชนิดนั้นๆ แล้ว รสนิยมส่วนบุคคล รวมถึงความนิยมของอัญมณีนั้นๆ ในแต่ละช่วงเวลาล้วนส่งผลต่อคุณค่าในอนาคต

Clarity (ความใส) รอยตำหนิที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ อาจเป็นตัวชี้วัดมูลค่าของอัญมณีเม็ดนั้นๆ เพราะอัญมณีแท้ตามธรรมชาติอย่างไรก็ต้องมีตำหนิ Clarity จึงใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาจากความชัดเจน ความมากน้อยของตำหนิ เช่น รอยขีดข่วน รอยบิ่น หรือมลทินที่อยู่ภายในซึ่งไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า จึงต้องใช้กล้องที่มีกำลังขยายสูงเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา

Cutting (การเจียระไน) สัดส่วนของเพชรซึ่งถือเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความงามของเพชรและอัญมณีอื่นๆ มีองค์ประกอบสำคัญ คือ ความลึก ความกว้าง รูปทรงของหน้าเจียระไน และความสมมาตร การเจียระไนโดยช่างที่มีฝีมือ นอกจากจะมีผลต่อน้ำหนักที่พยายามรักษาไว้ และความสวยงามของเพชรแล้ว ยังส่งผลถึงประกายแวววาวที่ทำให้จิวเวลรีและผู้สวมใส่นั้นเจิดจรัสอย่างแท้จริง

Carat (กะรัต) น้ำหนักมาตรฐานที่ใช้ในการซื้อขายอัญมณี โดย 1 กะรัตมีน้ำหนักเท่ากับ 200 มิลลิกรัม อัญมณีที่มีกะรัตสูงมักหาพบได้ยาก จึงมีมูลค่าที่สูงตามค่ากะรัต

Comments are closed.

Pin It