Beauty

ธัญ แนะวิธีเลือกครีมกันแดดให้เหมาะกับกิจกรรมในแต่ละไลฟ์สไตล์

Pinterest LinkedIn Tumblr


“ช่วงซัมเมอร์” ฤดูกาลแห่งการท่องเที่ยวที่หลายคนต่างเตรียมตัวออกเดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ เพื่อพักผ่อน และสนุกกับกิจกรรมกลางแจ้ง พร้อมถ่ายรูปอวดผิวสวยลงโซเชียล แต่ก็อาจมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาผิวคล้ำเสียจากแสงแดด กระ ฝ้า ริ้วรอย รวมถึงผิวแก่ก่อนวัย (Photoaging) ‘ธัญ’ (THANN) ร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังและความงาม แพทย์หญิงสุรีย์รัตน์ ศรีตั้งรัตนกุล แนะ “วิธีเลือกครีมกันแดดให้เหมาะกับกิจกรรมในแต่ละไลฟ์สไตล์” กับผลิตภัณฑ์ปกป้องผิวจากแสงแดดและรังสียูวี อาทิ Oil-Free Facial Sunscreen SPF30 PA+++ และ Very Water Resistant Facial Sunscreen SPF50 PA++++ เพื่อเสริมความมั่นใจให้คุณได้สนุกกับทุกกิจกรรมกลางแจ้งโดยไม่ต้องห่วงเรื่องผิวเสีย


แพทย์หญิงสุรีย์รัตน์ ศรีตั้งรัตนกุล แนะวิธีเลือกครีมกันแดดให้เหมาะกับกิจกรรมในแต่ละไลฟ์สไตล์ “เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูร้อนก็มักพบปัญหาผิวที่ถูกทำร้ายจากแสงแดดและรังสียูวี โดยค่าดัชนีความเข้มข้นของรังสีอัลตราไวโอเลต (UV Index) ของประเทศไทยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 11 – 12 เกือบทั้งปี เป็นระดับความรุนแรงที่สูงมาก ซึ่งช่วงเวลาที่ค่า UV Index รุนแรงที่สุด คือช่วงเวลา 10.00 – 15.00 น. ยิ่งผิวสัมผัสกับแสงแดดนานเท่าไหร่ ย่อมส่งผลกระทบต่อผิวของเรา โดยสามารถแบ่งได้เป็น 2 ระยะ คือ ระยะสั้น ทำให้ผิวไหม้แดด เกิดอาการแดง แสบ ร้อนผิว เกิดอาการแพ้แสง (Photo allergic) ส่วนในระยะยาวจะทำให้ผิวแก่ก่อนวัย (Premature aging และ Photo aging) ผิวเกิดความเหี่ยวย่น เนื่องจากคอลลาเจนใต้ชั้นผิวถูกทำลาย รวมถึงการเกิดริ้วรอย กระ ฝ้า และอาจลุกลามเป็นโรคผิวหนังได้ หากจำเป็นต้องออกไปข้างนอก ควรทาผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดที่เหมาะสมกับแต่ละสภาพผิว รวมถึงเหมาะกับกิจกรรมที่ต้องทำด้วย


แสงแดดประกอบด้วยรังสีต่างๆ หลายชนิด ได้แก่ รังสีอินฟราเรด (Infrared light) แสงที่มองเห็นได้ (Visible light) และรังสีอัลตราไวโอเลต (Ultraviolet light; UV) ซึ่งเป็นรังสีที่เป็นตัวการทำร้ายผิวของเราสามารถแบ่งได้ 3 ช่วง คือ

UVA1 ความยาวคลื่นอยู่ระหว่าง 340 -400 นาโนเมตร (75% ของรังสียูวีในแสงแดด) และทำร้ายผิวได้ลึกที่สุด ทำให้เกิดผิวคล้ำในระยะ Immediate tan ผิวจะคล้ำทันทีตั้งแต่ถูกแสงแดดจนถึง 8 ชั่วโมงจึงจะเริ่มจาง

UVA2 ความยาวคลื่นอยู่ระหว่าง 320 -340 นาโนเมตร (20% ของรังสียูวีในแสงแดด) ทำให้เกิดผิวคล้ำในระยะ Persistent tan ผิวจะคล้ำทันทีจนถึง 8-24 ชั่วโมงจึงจะเริ่มจาง และส่งผลต่อการเกิดริ้วรอยก่อนวัย

UVB ความยาวคลื่นอยู่ระหว่าง 280-320 นาโนเมตร (5% ของรังสียูวีในแสงแดด) ทำให้เกิดผิวคล้ำในระยะ Delay tan โดยผิวจะคล้ำทันทีจนถึง 24-72 ชั่วโมงจึงจะเริ่มจาง ทำให้เกิดอาการผิวไหม้แดด เป็นสาเหตุหลักนำไปสู่โรคมะเร็งผิวหนัง


ปัจจุบันได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ปกป้องผิวแสงแดดหลากหลายชนิดเพื่อให้เลือกใช้ได้ถูกต้องตามประเภทผิว หรือเลือกใช้ให้ตรงตามประเภทกิจกรรม เพราะมีประสิทธิภาพในการป้องกันได้ทั้งรังสี UVA และUVB ซึ่งผลิตภัณฑ์ปกป้องผิวจากแสงแดดสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่

Physical Sunscreen สารกันแดดที่ทำหน้าที่เสมือนกระจกเงาสะท้อนหรือหักเหรังสี UV ออกไปจากผิว สามารถปกป้องผิวจากรังสี UVA1, UVA2 และ UVB ได้ สารในกลุ่มนี้มีอยู่สองตัวคือ Titanium Dioxide และ Zinc Oxide แต่อาจทำให้ผิวหน้าจะขาวเกินไป เหนียว เกลี่ยยากและไม่กันน้ำ หลุดลอกง่าย จึงต้องทาซ้ำบ่อยๆ

Chemical Sunscreen สารกันแดดที่ทำหน้าที่ดูดซับรังสี UV ไม่ให้ทะลุผ่านลงไปยังชั้นผิวหนัง สามารถปกป้องผิวจากรังสี UVB ได้ทุกตัว แต่ความสามารถในการปกป้องผิวจากรังสี UVA1, UVA2 แตกต่างกันไป เนื้อบางเบาเกลี่ยง่าย แต่มีโอกาสทำให้แพ้หรือระคายเคืองได้มากกว่า อาจก่อให้เกิดการอุดตันรูขุมขน และเกิดสิวได้ง่าย

Hybrid Sunscreen สารกันแดดแบบผสมที่มีคุณสมบัติทั้งสะท้อนและดูดซับรังสีในตัวเอง พัฒนามาเพื่อลดข้อด้อยของสารกันแดดทั้ง 2 แบบข้างต้น สามารถทาแล้วออกแดดได้ทันทีไม่ต้องรอ ปกป้องผิวจากรังสี UVA1, UVA2 และ UVB ได้ เนื้อเกลี่ยง่าย ไม่เหนียว ไม่ทำให้หน้าขาว


เราสามารถพิจารณาปัจจัยหลักในการปกป้องผิวจากรังสียูวีแต่ละประเภทได้จากค่า SPF (Sun Protection Factor) คือ ค่าที่บอกถึงประสิทธิภาพในการปกป้องผิวจากรังสี UVB เป็นค่าระยะเวลาที่ผิวสามารถทนต่อแสงแดดได้โดยที่ผิวเราไม่ไหม้ (Sunburn) คำนวณจากระยะเวลาที่ผิวทนต่อแสงแดดได้คูณกับค่าของ SPF ตัวอย่างเช่น คนเอเชียผิวขาวทั่วๆ ไปสามารถโดนแสงแดด 20 นาทีก่อนที่ผิวจะเริ่มอักเสบแสบแดง การใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดที่มีค่า SPF30 จะช่วยให้ผิวเราจะสามารถทนต่อแสงแดดได้นานขึ้นคิดเป็น 20 นาที x ค่า SPF30 = 600 นาที หรือ 10 ชั่วโมง

ค่า SPF 15 สามารถป้องกันรังสี UVB ได้ 93.3% เหมาะสำหรับผู้ที่ทำกิจกรรมภายในอาคาร ตึก หรือบ้าน แต่ไม่มีการโดนแสงแดดเลย สำหรับผู้ที่มีผิวสองสี หรือผิวสีน้ำผึ้ง ค่า SPF ในระดับนี้ หากอยู่กลางแสงแดดนานเกินไปอาจก่อให้เกิดอาการผิวแดงเล็กน้อย

ค่า SPF 30 สามารถป้องกันรังสี UVB ได้ 96.7% เหมาะกับกิจกรรมกลางแจ้งที่มีเงาร่มและอากาศที่ไม่ร้อน

ค่า SPF 50 สามารถป้องกันรังสี UVB ได้ 98% เหมาะสำหรับกิจกรรมที่อยู่กลางแจ้ง หรือสถานที่แสงแดดแรงจัด เช่น ทะเล ภูเขา


ส่วนอีกสิ่งหนึ่งที่ควรให้ความสำคัญ คือ ค่า PA (Protection grade of UVA) บ่งบอกถึงประสิทธิภาพในการปกป้องรังสี UVA เป็นค่าที่สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องสำอางประเทศญี่ปุ่น (Japan Cosmetic Industry Association, JCIA) กำหนดขึ้นเพื่อแสดงถึงความสามารถในการป้องกันอาการดำคล้ำของผิวหนังที่เกิดจากการสัมผัสรังสี UVA โดยใช้เครื่องหมายบวก (+) ในการแสดงระดับของประสิทธิภาพ ปัจจุบันค่า PA++++ ถือว่าเป็นค่าที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UVA ได้มากกว่า 16 เท่า

ส่วนเกณฑ์การเลือกผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดให้เหมาะกับสภาพผิว ผิวมันหรือเป็นสิวง่าย ควรเลือกใช้ครีมกันแดดที่มีเนื้อบางเบาอ่อนโยน เช่น โลชั่นหรือเจล และควรเลือกเป็นสูตร Oil-free ส่วนผิวแห้ง ควรเลือกใช้แบบชนิดของเนื้อครีม เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว แต่หากผิวแพ้ง่าย ก็ควรเลี่ยงครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของน้ำหอม แอลกอฮอล์ และสารกันเสีย นอกจากนี้ยังสามารถเลือกใช้ครีมกันแดดให้เหมาะกับแต่ละกิจกรรมที่ทำในแต่ละวันได้ อย่างวันที่อยู่บ้าน ทำงานในออฟฟิศ หรือไม่ได้เผชิญกับแสงแดดจัด สามารถเลือกใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF 30 และ PA+++ ก็เพียงพอแล้ว หากวันที่ต้องออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้ง ควรเลือกใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF 50 และ PA++++ หากเป็นกิจกรรมกลางแจ้งที่มีเหงื่อออก หรือว่ายน้ำ ควรเลือกครีมกันแดดที่มีคุณสมบัติกันน้ำได้เป็นอย่างดี (Very Water Resistant)


ครีมกันแดดทั่วไปๆ มักจะมีเพียงคุณสมบัติในการปกป้องผิวจากแสงแดดเพียงอย่างเดียว ทำให้ต้องใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวชนิดอื่นควบคู่กัน แต่ในปัจจุบันนี้ครีมกันแดดได้มีบทบาทสำคัญในการดูแลผิวพรรณของเรามากขึ้นด้วยนำคุณสมบัติในการบำรุงผิวที่ได้จากสารสกัดธรรมชาติมาเป็นส่วนผสม อาทิ สารสกัดจากชิโซะ (Shiso extract) ที่มีความโดดเด่นในด้านการให้ความชุ่มชื้น ช่วยฟื้นฟูเซลล์ผิวจากความแห้งกร้านและการเสื่อมสภาพของผิว อีกทั้งยังช่วยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนส (Tyrosinase Inhibitor) ในกระบวนการสร้างเม็ดสีเมลานิน (Melanin), สารสกัดอูกอน (Ougon extract) พืชทะเลทรายที่มีคุณสมบัติลดการอักเสบ รวมถึงช่วยปรับสีผิวที่หมองคล้ำให้กลับแลดูสว่างอย่างเป็นธรรมชาติ (De-colorizing action) หรือสารสกัดจากชาขาว (White tea extract) ที่มีสารโพลีฟีนอล ช่วยยับยั้งกระบวนการที่ผิวทำปฎิกิริยากับออกซิเจน (Anti-oxidant) ช่วยให้ผิวกระจ่างใสเป็นต้น ส่วนวิธีการทาครีมกันแดดให้มีประสิทธิภาพนั้น ควรทาครีมกันแดดในปริมาณที่พอเหมาะ โดยเกลี่ยให้บริเวณของผิวที่ต้องสัมผัสกับแสงแดด หากเป็นบริเวณใบหน้า ควรใช้ครีมกันแดดประมาณ 2 ข้อนิ้วมือ หรือปริมาณเท่าเหรียญ 10 บาท และควรทาซ้ำทุกๆ 2 ชั่วโมง หากเป็นครีมกันแดดชนิดที่ไม่กันน้ำ ควรทาซ้ำ เมื่อเหงื่อออกมากหรือระหว่างทำกิจกรรม ควรทาให้ครอบคลุมพื้นที่บริเวณลำคอ ใบหู และบ่าด้วยค่ะ”

Comments are closed.

Pin It