Beauty

โรคเพียบ! ที่มากับน้ำ แต่หมอแนะวิธีหลีกเลี่ยงและบรรเทา

Pinterest LinkedIn Tumblr


>> ปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดและลุกลามต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้ ทำให้คนไทยหลายล้านคนได้รับผลกระทบอย่างหนัก คนจำนวนมากต้องอพยพออกจากที่อยู่อาศัยเพราะน้ำท่วมสูง แต่อีกหลายครอบครัวยอมใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางมวลน้ำที่ล้อมรอบเพราะห่วงบ้าน ในสภาวะที่มีการเกิดน้ำท่วมเป็นเวลานาน สิ่งที่ควรระวัง คือ “โรคต่างๆ ที่มากับน้ำ” ที่อาจส่งผลต่อสุขภาพร่างกายของคนเราให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บขึ้นมาได้

ศ.นพ. รัชตะ รัชตะนาวิน คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ร.พ.รามาธิบดี และประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธิรามาธิบดี ได้แนะวิธีรับมือกับโรคต่างๆ ที่มากับน้ำเพื่อให้ประชาชนที่ต้องเผชิญกับน้ำท่วมได้ทราบและสามารถดูแลตนเองในเบื้องต้น โดยโรคที่มากับน้ำส่วนใหญ่เกิดจาก 2 สาเหตุหลัก คือ สาเหตุมาจากการบริโภค ได้แก่ ท้องเสีย อาหารเป็นพิษ โรคบิด โรคไข้ไทฟอยด์ และสาเหตุที่มาจากการสัมผัส หรือการติดเชื้อ ได้แก่ ไข้หวัด ปอดบวม ไข้เลือดออก ตาแดง โรคผิวหนัง น้ำกัดเท้าจากเชื้อรา แผลพุพองเป็นหนอง และโรคฉี่หนู

อาการของโรคต่างๆ ที่มาจากการบริโภคสังเกตได้ดังนี้ อาการท้องเสีย จะมีอุจจาระเหลว ถ่ายเป็นน้ำ มีมูกเลือดปน อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน แต่ถ้าปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวร่วมด้วยแสดงว่าอาจมีอาการอาหารเป็นพิษ ถ้าใครมีอาการคล้ายท้องเสียแต่ถ่ายเป็นน้ำคล้ายน้ำซาวข้าวทีละมากๆ จะเป็นอาการของอหิวาตกโรค ส่วนโรคบิด ลักษณะจะคล้ายกับท้องเสีย ปวดท้อง มีอาการปวดเบ่งร่วมด้วย แต่มีอาการเรื้อรังมากกว่า ส่วนไข้ไทฟอยด์จะมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร ท้องผูก บางรายอาจท้องเสีย

สำหรับผู้ป่วยท้องเสีย และอาหารเป็นพิษ ห้ามทานยาหยุดถ่าย เพราะจะทำให้เชื้อโรคค้างอยู่ในร่างกาย อันตรายมาก ควรดื่มน้ำหรืออาหารเหลว และดื่มเกลือแร่ทดแทน วิธีป้องกันโรคเหล่านี้ทำได้ง่ายๆ คือ ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนปรุงอาหาร รวมทั้งก่อนและหลังกินอาหาร ดื่มน้ำสะอาด ถ้าไม่แน่ใจให้นำไปต้มก่อน ควรทานอาหารที่ปรุงสุก ทำความสะอาดภาชนะให้ดี หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ที่ดูดความชื้น เช่น เขียงไม้ ตะเกียบไม้ เพราะเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคทั้งนั้น ที่สำคัญอย่าถ่ายลงน้ำโดยตรง ให้ถ่ายใส่ถุงพลาสติก ปิดปากถุงให้แน่น แล้วนำไปทิ้งขยะ

ในส่วนของโรคที่มีสาเหตุมาจากการสัมผัส หรือการติดเชื้อ โรคที่น่าห่วงได้แก่

ไข้เลือดออก จะมีอาการไข้ขึ้นสูงทั้งวัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย มีจุดแดงเล็กๆ ตามลำตัว แขน ขา คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง เบื่ออาหาร ข้อควรระวัง ถ้าผู้ป่วยเริ่มมีไข้ลด แต่รู้สึกกระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ไอมีเลือดปน ถ่ายเป็นสีดำ รีบนำมาพบหมอทันที ที่สำคัญห้ามใช้ยา กลุ่มแอสไพรินเด็ดขาด เพราะจะทำให้เลือดออกง่าย ให้ใช้กลุ่มพาราเซตามอลได้เท่านั้น

วิธีป้องกันโรคไข้เลือดออก ให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว ควรนอนในมุ้ง ทายากันยุง อย่าให้ยุงกัด และควรกำจัดแหล่งน้ำต่างๆ ที่จะเป็นแหล่งเพาะพันธ์ยุง เช่น การปิดฝาภาชนะเก็บน้ำให้สนิท

โรคปอดบวม อาจจะเกิดจากการสำลักน้ำที่มีเชื้อโรคเข้าไปในปอด ทำให้ปอดอักเสบ โรคนี้สามารถติดต่อกันได้ทางลมหายใจต้องควรระวัง อาการจะมีไข้ขึ้นสูง ไอ หอบ เหนื่อย หายใจเร็ว ริมฝีปากซีด กระสับกระส่าย ถ้าใครมีอาการเหล่านี้ควรพบหมอทันที เพราะอาจก่อให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมาได้ วิธีป้องกัน ถ้าไม่จำเป็นไม่ควรลงน้ำที่เกินกว่าศีรษะ อย่าใส่เสื้อผ้าเปียกชื้น

นอกจากนี้ยังมีอีก 3 โรคยอดฮิตที่ผู้ประสบภัยน้ำท่วมส่วนใหญ่จะเป็นกัน นั่นก็คือโรคตาแดง โรคผิวหนังเช่นน้ำกัดเท้า และโรคฉี่หนู แม้บางโรคจะดูเหมือนไม่น่ากลัว แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจจะเกิดการติดเชื้อได้ จึงควรป้องกันไว้ก่อน

โรคตาแดง สาเหตุมาจากน้ำที่สกปรก สามารถติดต่อกันได้จากการสัมผัสทางน้ำตา ขี้ตา และน้ำมูก การใช้สิ่งของร่วมกัน หรือแม้แต่แมลงวันมาตอมที่ตา วิธีป้องกันคือ ถ้ามีสิ่งสกปรกเข้าตา รีบล้างด้วยน้ำสะอาดทันที อย่าขยี้ตา ล้างมือบ่อยๆ อย่าใช้ของร่วมกัน ส่วนโรคผิวหนัง เช่น น้ำกัดเท้าจากเชื้อรา แผลพุพองเป็นหนอง เท้าเปื่อย เกิดมาจากการย่ำ หรือแช่น้ำที่มีเชื้อโรค ดังนั้นถ้าจำเป็นต้องย่ำน้ำ ควรใส่รองเท้าบู๊ท เมื่อขึ้นมาจากน้ำแล้วรีบล้างเท้าให้สะอาด และเช็ดให้แห้ง ถ้าเป็นแผลควรใช้แอลกอฮอล์ หรือยาฆ่าเชื้อเช็ดแผลด้วย

สำหรับ โรคฉี่หนู เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียจากสัตว์ไปสู่คน โดยมีหนูเป็นพาหะ รวม ทั้งวัว ควาย และหมู ได้เช่นกัน ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะน่อง โคนขา และหลัง ตาแดง ปวดท้อง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน เชื้อนี้สามารถกระจายไปทั่วร่างกาย ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย การป้องกันคือ ควรใส่รองเท้าบู๊ทเวลาลงน้ำ โดยเฉพาะถ้ามีแผล เมื่อขึ้นมาจากน้ำแล้วต้องทำความสะอาด และเช็ดให้แห้งทันที

ไม่เพียงแต่โรคภัยไข้เจ็บเท่านั้นที่จะมาคุกคามผู้ที่ประสบภัยน้ำท่วม แต่ยังมีอันตรายใกล้ตัวอีกอย่างหนึ่งที่พบกันมาก คือ การถูกไฟฟ้าดูด มีวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น ก่อนนำส่งโรงพยาบาลว่า หากมีใครภายในบ้านถูกไฟดูด ให้รีบไปตัดไฟในบ้านก่อน แล้ว สวมรองเท้าให้เรียบร้อยก่อนที่จะจับตัวคนไข้ จากนั้นทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นดังนี้ จับผู้ป่วยนอนหงาย รีบโทรขอความช่วยเหลือ 1669 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ตรวจดูการหายใจ ด้วยการวัดชีพจร เปิดทางเดินหายใจผู้ป่วยด้วยการให้ผู้ป่วยนอนแหงนหน้าไปข้างหลังให้มากที่สุด

เป่าปาก 2 ครั้ง หลังจากนั้นให้วางส้นมือตรงกึ่งกลางหน้าอกเหนือลิ้นปี่เล็กน้อย กดหน้าอก 15 ครั้ง โดยตั้งลำแขนให้ตรง ทำสลับกันจนกว่าจะถึงมือแพทย์

แต่ในกรณีที่ถูกสัตว์กัด หากไม่ทราบว่าเป็นสัตว์อะไร และมีพิษหรือไม่ ให้ทำความสะอาดบาดแผลโดยการล้างด้วยน้ำต้มสุก หรือน้ำด่างทับทิม ซับให้แห้งด้วยผ้าสะอาด และใช้แอลกอฮอล์เช็ดบริเวณรอบๆแผล แต่อย่าเช็ดลงไปที่แผลโดยตรง

หากเรารู้ว่าถูกสัตว์มีพิษอย่างเช่น งูกัด ห้ามเด็ดขาดครับ ห้ามดูดพิษงูด้วยปาก ให้ทำความสะอาดแผลเหมือนที่กล่าวมา และรัดรอบแขนหรือขาเหนือปากแผลให้แน่น เสร็จแล้วรีบนำ ส่งโรงพยาบาล ในระหว่างที่นำส่งให้คลายเชือก หรือผ้าที่รัดทุก 10 – 15 นาที เพื่อไม่ให้เกิดการขาดเลือดไปเลี้ยง ::Report by FLASH

 
>> อัปเดตข่าวในแวดวงสังคม กอสซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่  http://www.celeb-online.net

Comments are closed.

Pin It