จอห์น มากูฟูลี อดีตประธานาธิบดีแทนซาเนีย กลายเป็นผู้นำประเทศอีกรายที่ต้องจบชีวิตลงด้วยภาวะแทรกซ้อนจากโรค COVID-19 โดยผู้ที่มารับตำแหน่งต่อจากเขาก็คือ รองประธานาธิบดี ซาเมีย ซูลูฮู ฮัสซัน ผู้ออกมาประกาศเรื่องการอสัญกรรมของเขานั่นเอง ซึ่งทำให้เธอกลายเป็น ผู้นำหญิงมุสลิมคนแรกของทวีปแอฟริกา
สำหรับอดีตประธานาธิบดี จอห์น มากูฟูลี ไม่ได้ปรากฏกายต่อหน้าสาธารณชนมาตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งสร้างความกังขาให้กับประชาชนชาวแทนซาเนียเป็นอย่างมาก และร่ำลือกันไปต่างๆ นานา โดย คาสซิม มาจาลีวา นายกรัฐมนตรีของแทนซาเนีย พยายามออกมาแก้ข่าวว่า ท่านสบายดี และสั่งให้หยุดปล่อยข่าว พร้อมทั้งบอกจะดำเนินคดีตามกฎหมายกับสื่อที่นำเสนอข่าวเรื่องการตายของประธานาธิบดีก่อนหน้านี้อีกต่างหาก
บรรยากาศความวุ่นวายในแทนซาเนีย ที่เกี่ยวเนื่องกับการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 มีมาอย่างต่อเนื่องตลอดปีที่ผ่านมา โดยไม่รู้ว่าข่าวไหนจริงข่าวไหนปลอม ซึ่งดูเหมือนรัฐบาลแทนซาเนียพยายามปกปิดข้อมูลที่แท้จริงของสถานการณ์โรคระบาดเอาไว้ ขนาดคนระดับผู้นำประเทศติดเชื้อยังไม่มีการประกาศแจ้งจนนาทีสุดท้าย
อย่างไรก็ตาม ชาวแทนซาเนียต่างหลั่งไหลมาแสดงความอาลัยต่อประธานาธิบดีผู้ล่วงลับ โดยจะมีการแสดงความอาลัยอย่างเป็นทางการ ด้วยการลดธงครึ่งเสาเป็นเวลา 14 วัน
สำหรับ ซาเมีย ซูลูฮู ฮัสซัน ชนะการเลือกตั้งเข้ามาเป็นรองประธานาธิบดีพร้อมๆ กับอดีตประธานาธิบดี จอห์น มากูฟูลี เมื่อปี 2015 จากประสบการณ์การเมืองที่ผ่านมา เธอมีคุณสมบัติครบพร้อมที่จะขึ้นเป็นผู้นำประเทศ
นอกจากจะเป็นผู้นำสตรีคนแรกของแทนซาเนีย และประเทศในแอฟริกาตะวันออกแล้ว ซาเมีย ยังกลายเป็นสตรีชาวมุสลิมคนแรกที่ขึ้นเป็นผู้นำประเทศในทวีปแอฟริกา โดยเป็นผู้นำชาวมุสลิมคนที่ 2 ในประวัติศาสตร์ของแทนซาเนีย หลังจาก อาลี ฮัสซัน มวินยี (ปี 1985 – 1995) ซึ่งทั้งคู่มีพื้นเพจากเกาะซานซีบาร์ เป็นชาวซานซีบารีเหมือนกันอีกด้วย
ซาเมีย มีบุคลิกที่ตรงกันข้ามกับ จอห์น มากูฟูลี เธอเป็นผู้หญิงทำงานที่เก็บเนื้อเก็บตัว ไม่ค่อยสังคม ตอนที่ จอห์น ประกาศว่า คู่หูที่จะมาเป็นรองประธานาธิบดีของเขาคือ ซาเมีย ในการหาเสียงเลือกตั้ง ทุกคนต่างแปลกใจในบุคลิกที่ขัดแย้งกันเป็นอย่างมาก แต่ต่างก็ยอมรับในความรู้ความสามารถของผู้เข้าชิงชัยตำแหน่งรองประธานาธิบดี
ประธานาธิบดีหญิง ได้รับการขนานนามว่าเป็น “คุณแม่ซาเมีย” นอกจากจะเป็นแม่จริงๆ ของลูกๆ 4 คนแล้ว ยังมาจากบุคลิกที่อบอุ่น พูดช้าๆ ของเธอ รวมทั้งการทำงานตามหลักการอย่างไม่เคยโต้เถียงกับฝ่ายค้าน ต่างจากอดีตเจ้านายของเธออย่างลิบลับ
ก่อนจะมาเป็นนักการเมือง ซาเมีย เคยทำงานเพื่อสังคมมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 ขณะนั้นเธอรับตำแหน่งเจ้าหน้าที่พัฒนบริหาร เขตปกครองตัวเองซานซีบาร์ ก่อนที่จะไปเป็นผู้จัดการโครงการพิเศษ ของโครงการอาหารโลก ในแทนซาเนีย
ประธานาธิบดีคนล่าสุดของแทนซาเนีย ยังเคยเป็นสภานิติบัญญติของซานซีบารี และยังเคยทำงานเป็นผู้บริหารองค์กรที่ไม่หวังผลกำไร ที่มีสาขาทั่วแทนซาเนียอีกด้วย
กมลา แฮร์ริส ได้ส่งสาส์นไปแสดงความยินดีแก่ผู้นำหญิงแอฟริกันเพียงคนเดียวในขณะนี้ โดยได้โพสต์ในทวิตเตอร์ส่วนตัว เพื่อแสดงความชื่นชม ซาเมีย อีกด้วยว่า “ขอแสดงความยินดีต่อ ซาเมีย ซูลูฮู หลังจากที่ปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของแทนซาเนีย กลายเป็นสตรีคนแรกที่เป็นผู้นำประเทศนี้ สหรัฐพร้อมที่จะยืนเคียงข้าง สนับสนุน และสานสัมพันธ์ที่มีมาอย่างยาวนานระหว่างสองประเทศอย่างต่อเนื่อง”
สตรีทั้ง 2 คนต่างก็สร้างประวัติศาสตร์ให้กับชาวแอฟริกา คนหนึ่งในฐานะสตรีคนแรกของแทนซาเนียและแอฟริกาตะวันออกที่ขึ้นเป็นประธานาธิบดี ส่วนอีกคนเป็นสตรีผิวสีคนแรกที่ได้เป็นรองประธานาธิบดีสหรัฐ
แทนซาเนีย นับว่าเป็นคู่ค้าที่สำคัญยิ่งในแอฟริกาตะวันออกของอเมริกา โดยมีมูลค่าการซื้อขายระหว่างกันถึง 462 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2019 นอกจากนี้ สหรัฐยังมีการลงทุนในแทนซาเนียราว 1,500 ล้านดอลลาร์อีกด้วย
Comments are closed.