World Celeb

ชาติไหนบ้างที่ยืนเคียงข้าง ‘ปาเลสไตน์’?

Pinterest LinkedIn Tumblr


ในเวลานี้ ไม่มีความขัดแย้งใดที่สามารถแบ่งแยกโลก ได้มากเท่าวิกฤตในตะวันออกกลาง บางประเทศประกาศเลือกข้างอิสราเอลในทันที หลังจากการโจมตีของกลุ่มฮามาส แต่ก็มีบางประเทศเช่นกัน ที่วิพากษ์วิจารณ์อิสราเอลในเชิงลบ ต่อการโจมตีตอบโต้ในฉนวนกาซา เรามาดูกันว่าประเทศไหนบ้างที่เข้าข่าย “โปร-ปาเลสไตน์”


:: ไอร์แลนด์
เมื่อเริ่มแรก รัฐบาลในดับลินกล่าวประณามการโจมตีของกลุ่มฮามาสในอิสราเอล แต่หลังจากที่กองทัพอิสราเอลปฏิบัติการตอบโต้ โดยการมุ่งโจมตีฉนวนกาซา ปฏิกิริยาของไอร์แลนด์ที่มีต่อกรณีความขัดแย้งนี้ได้เปลี่ยนไป “มิเชล มาร์ติน” รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของไอร์แลนด์ (บุคคลในภาพ) ก็ออกมาเรียกร้องให้มีการหยุดยิงเพื่อมนุษยธรรม เขากล่าวว่าความทุกข์ทรมานของพลเรือนผู้บริสุทธิ์ ถึงระดับที่ต้องยุติการต่อสู้ในทันที นักประวัติศาสตร์อธิบายเกี่ยวกับปฏิกิริยาของไอร์แลนด์ว่า เนื่องจากไอร์แลนด์อยู่ภายใต้ร่มเงาของบริเตนใหญ่ ชาวไอริชส่วนใหญ่จึงมีแนวโน้มที่จะเลือกข้างผู้ถูกกดขี่มากกว่า


:: สเปน
“เปโดร ซานเชซ” นายกรัฐมนตรีของสเปน เรียกร้องให้ยุติการสู้รบในฉนวนกาซา เพื่อปกป้องพลเรือนผู้บริสุทธิ์ “ถ้าไม่มีทางออกที่ดีกว่านั้น อย่างน้อยก็ควรมีการหยุดยิงเป็นการชั่วคราว เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม แก่ประชากรชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาที่กำลังต้องการอย่างเร่งด่วน” ข้อพิพาทเรื่องความขัดแย้งในตะวันออกกลางได้ปะทุขึ้นในสหภาพยุโรปแล้วเหมือนกันว่า ควรเรียกร้องให้มีการหยุดยิงหรือไม่ เนื่องจากประเด็นนี้อาจจำกัดสิทธิของอิสราเอลในการปกป้องตนเอง


:: ตุรเกีย
ความจริงแล้วอิสราเอลและตุรเกียกำลังอยู่ในระหว่างการสร้างสายสัมพันธ์ หลังจากปฏิบัติการอันโหดเหี้ยมของกลุ่มฮามาสในอิสราเอล “เรเจป ไตยิป แอร์โดอัน” ก็ได้สงวนท่าที จนกระทั่ง อิสราเอลเริ่มปฏิบัติการตอบโต้ ด้วยการโจมตีทางอากาศในฉนวนกาซา ประธานาธิบดีแอร์โดอันจึงประกาศจุดยืนที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เขากล่าวหาการกระทำของอิสราเอลว่าเป็น “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ต่อชาวปาเลสไตน์ และกล่าวหารัฐบาลอิสราเอลว่า กำลังก่ออาชญากรรมสงครามในอิสตันบูล ประธานาธิบดีแอร์โดอันยังได้เข้าร่วมการประท้วงที่สนับสนุนปาเลสไตน์ และประกาศว่าอิสราเอลเป็นเพียง “ตัวหมากรุก” ในภูมิภาคนี้ และอาจถูกบูชายัญได้เมื่อถึงเวลา เขายังกล่าวถึงกลุ่มฮามาสด้วยว่า เป็นนักสู้เพื่ออิสรภาพ ผลที่ตามมาก็คือ รัฐบาลอิสราเอลมีคำสั่งเรียกผู้แทนทางการทูตของตนออกจากตุรเกียทันที


:: โบลิเวีย
ในอเมริกาใต้ บางประเทศยืนหยัดอยู่เคียงข้างประชากรชาวปาเลสไตน์ และบางครั้งก็ประณามปฏิบัติการตอบโต้ของอิสราเอล โบลิเวียเป็นประเทศแรกในละตินอเมริกา ที่ประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอลหลังสงครามปะทุ การตัดสินใจดังกล่าว “เป็นการปฏิเสธและประณามการโจมตีที่ก้าวร้าวของกองทัพอิสราเอลในฉนวนกาซา ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ” อีกทั้งรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของโบลิเวีย ยังเรียกร้องให้ยุติการโจมตีฉนวนกาซาด้วย โบลิเวียเพิ่งกลับมาสานความสัมพันธ์กับอิสราเอลอีกครั้งเมื่อปี 2020 หลังจากที่อดีตประธานาธิบดีเอโบ โมราเลส เคยยุติความสัมพันธ์ไปเมื่อปี 2009 ครั้งนั้นโมราเลสให้เหตุผลในการตัดสินใจ เพราะการปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลในฉนวนกาซาคล้ายกัน


:: โคลอมเบีย
แม้จะยังไม่ประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอล แต่โคลอมเบีย-ประเทศทางตอนเหนือของอเมริกาใต้-ก็วิพากษ์วิจารณ์อิสราเอลอย่างรุนแรงเหมือนกัน ประธานาธิบดี “กุสตาโบ เปโตร” ได้เรียกตัวทูตของโคลอมเบียกลับประเทศผ่านแพลตฟอร์ม X “ข้าพเจ้าตัดสินใจเรียกตัวเอกอัครราชทูตของเราประจำอิสราเอลกลับ หากอิสราเอลไม่หยุดยั้งการสังหารหมู่ชาวปาเลสไตน์ เราก็ไม่สามารถอยู่ที่นั่นได้อีกต่อไป” ประธานาธิบดีฝ่ายซ้ายซึ่งอดีตเคยเป็นนักรบกองโจร ยังประณามการโจมตีทางอากาศของอิสราเอลในฉนวนกาซาหลายครั้ง บางครั้งเขาก็ใช้คำพูดรุนแรง โดยเปรียบเทียบฉนวนกาซาว่า ไม่ต่างอะไรกับค่ายกักกันชาวยิวในอดีต จนกระทั่ง อิสราเอลประกาศว่าจะจำกัดการส่งออกไปยังโคลอมเบีย


:: แอฟริกาใต้
หนึ่งในประเทศที่เข้มแข็งทางเศรษฐกิจที่สุดในภูมิภาค จึงเป็นอีกหนึ่งเสียงที่มีน้ำหนัก และชัดเจนว่าแอฟริกาใต้เลือกข้างปาเลสไตน์ สภาแห่งชาติแอฟริกัน (ANC) เรียกอิสราเอลว่าเป็น “รัฐแบ่งแยกสีผิวและเชื้อชาติ” อิสราเอลถูกกล่าวหาหลายครั้งว่า เลือกปฏิบัติต่อชาวปาเลสไตน์ เช่นเดียวกับที่รัฐบาลคนผิวขาว ปฏิบัติต่อประชากรผิวดำในแอฟริกาใต้มานานหลายปี “นาเลดี ปันดอร์” รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของแอฟริกาใต้ เรียกการกระทำของอิสราเอลว่าเป็น “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” หลังการโจมตีทางอากาศในฉนวนกาซา และเรียกร้องให้ดำเนินคดีอาชญากรรมสงครามกับอิสราเอล


:: กาตาร์
อีกประเทศเล็กๆ ในภูมิภาคที่เป็นตัวเล่นที่ทรงอำนาจ สามารถทำหน้าที่เป็นคนกลางในการเจรจาต่อรอง เพื่อความปลอดภัยของตัวประกันหรือการหยุดยิง ขณะเดียวกัน รัฐก็ให้การสนับสนุนกลุ่มฮามาส ว่ากันว่ากาตาร์ได้ส่งเงิน 2.1 ล้านดอลลาร์ไปยังฉนวนกาซาแล้ว เมื่อไม่นานมานี้ “ตะมีม บิน ฮะมัด อัษษานี” เจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์ ทรงเรียกร้องให้ยุติ “สงครามข้ามพรมแดน” และเป็นเรื่องไม่สมควรที่อิสราเอลจะมีไฟเขียวแบบไม่มีเงื่อนไข และใบอนุญาตในการสังหารพลเมืองผู้บริสุทธิ์


:: จอร์แดน
ประเทศเพื่อนบ้านของอิสราเอล ได้ตัดสินใจเรียกตัวเอกอัครราชทูตของตนกลับประเทศ เพื่อประท้วงต่อการโจมตีของกองทัพอิสราเอลในฉนวนกาซา กระทรวงต่างประเทศของจอร์แดนประกาศว่า “เราขอปฏิเสธและประณามสงครามของอิสราเอลที่กำลังดำเนินอยู่ในฉนวนกาซา” สงครามกำลังสังหารผู้บริสุทธิ์ และก่อให้เกิดภัยพิบัติด้านมนุษยธรรมอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การขยายตัวของสงครามที่มีความเป็นไปได้ อาจเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของทั้งภูมิภาค รวมถึงสันติภาพทั่วโลก “กษัตริย์อับดุลเลาะห์ที่ 2 แห่งจอร์แดน” ทรงเรียกร้องให้มีการหยุดยิง จอร์แดนเป็นหุ้นส่วนใกล้ชิดของสหรัฐอเมริกา และมีข้อตกลงสันติภาพกับอิสราเอลมาตั้งแต่ปี 1994 จอร์แดนถือเป็นกลางต่อความขัดแย้งในตะวันออกกลาง มานานหลายทศวรรษ และมีผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์อาศัยอยู่ในประเทศประมาณ 2 ล้านคน


:: อิหร่าน
แม้ว่าความขัดแย้งและการสู้รบจะเป็นที่รับรู้กันมานานหลายทศวรรษ แต่รายชื่อประเทศที่เกี่ยวข้องจะไม่สมบูรณ์หากไม่มีอิหร่าน ในขณะที่ อิสราเอล สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา เรียกกลุ่มฮามาสเป็นองค์กรก่อการร้าย อิหร่านก็ได้ชื่อในเรื่องการสนับสนุนทางการเงินและการทหารแก่กลุ่มฮามาส รัฐบาลในกรุงเตหะรานเรียกการโจมตีของกลุ่มฮามาสในอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมว่า เป็น “ความสำเร็จ” แต่ก็ปฏิเสธการมีส่วนร่วม “อะยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี” ผู้นำทางจิตวิญญาณของอิหร่าน (ภาพ) เรียกร้องให้รัฐมุสลิมอื่นๆ จำกัดการค้ากับอิสราเอล ใจความคือ เราไม่ควรร่วมมือกับระบอบไซออนิสต์ คาเมเนอียังวิจารณ์รัฐบาลของประเทศตะวันตกที่ต่อต้านปาเลสไตน์ และกดขี่ประชาชนในฉนวนกาซาด้วย

Comments are closed.

Pin It