World Celeb

อินเดียมาแรง! คุมเก้าอี้ใหญ่งานระดับโลก

Pinterest LinkedIn Tumblr


ปีนี้อินเดียขึ้นแท่นเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก คือ 1.4 พันล้านคน แซงหน้าจีนที่เคยครองแชมป์มาตั้งแต่ปี 1750 และตอนนี้ชาวอินเดียยังขึ้นแท่นเป็นผู้บริหารบริษัทใหญ่ๆ ของโลกหลายแห่ง โดยเฉพาะ บริษัทด้านไอที ในการประชุม ‘World Economic Forum 2023’ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ชาวอินเดียกวาดที่นั่ง 8 แถวของการประชุม สื่ออย่าง CNN รายงานว่า อินเดียเป็นดาวเด่นในการประชุม และมีผู้บริหารชาวอินเดียในบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก 18 คน วันนี้ เรามาทำความรู้จักชาวภารตะตัวตึงเงินเดือนนับพันล้านกันดีกว่า


:: อาเจย์ บังกา
อดีตผู้บริหารบริษัทมาสเตอร์การ์ด ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานธนาคารโลกคนปัจจุบัน เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เขาถูกนับเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดียคนแรกที่รับตำแหน่งนี้ และเริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่เดือนมิถุนายน ชายวัย 64 เติบโตมาในครอบครัวชาวซิกซ์ มีพ่อเป็นทหาร ทำให้ต้องย้ายที่อยู่ไปเรื่อยๆ เขาเป็นเด็กเรียนเก่ง กวาดรางวัลและทุนการศึกษาได้หลายทุน จบเกียรตินิยมด้านเศรษฐศาสตร์จากวิทยาลัยเซนต์สตีเฟน ในกรุงเดลี และเรียนต่อด้านบริหารเทียบเท่าวุฒิ MBA บังกาเริ่มทำงานที่อินเดียในบริษัทเนสเล ตั้งแต่ตำแหน่งพนักงานขาย การตลาด และผู้จัดการทั่วไป เขาเป็นหัวหอกในการเปิดตัวสินค้าใหม่ๆ ของบริษัทมากมาย หลังจากนั้น ก็ย้ายไปทำงานที่ซิตี้กรุ๊ป นำเทคโนโลยีมาใช้ในระบบการเงินการธนาคาร โดยเฉพาะ การสื่อสารออนไลน์ที่เรียกว่า ‘fintech’ พลิกโฉมจากบริษัทการเงินแบบดั้งเดิมมาเป็นการวิเคราะห์ข้อมูล เขาทำงานสายธนาคารนานกว่า 10 ปี ก่อนจะออกไปทำงานกับบริษัทกฎหมายอยู่พักหนึ่ง และต่อมาก็ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งประธานธนาคารโลก โดย ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ด้วยเหตุผลว่า อาเจย์ บังกา เป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง เพราะมีสายสัมพันธ์กับภาคเอกชนและบริษัทเกิดใหม่ ซึ่งจะช่วยยกเครื่องธนาคารโลก ซึ่งเป็นสถาบันเงินกู้ระดับโลกที่มีอายุ 77 ปีให้ดีขึ้น และเชื่อว่าเขาจะหันมาสนใจ และให้ความสำคัญกับสภาพภูมิอากาศโลก ที่กำลังเปลี่ยนแปลงมากขึ้นด้วย


:: ปารัก อักราวัล
ผู้บริหารวัยเพียง 39 ปี ติดอันดับ CEO อายุน้อยที่สุดจากการจัดอันดับของ ‘Youngest CEO in Top 500 Companies’ ปารักมาจากครอบครัวที่มีพื้นเพดี พ่อเป็นเจ้าหน้าที่อาวุโส แม่เป็นศาตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ที่รีไทร์แล้ว เขาจบปริญญาตรีด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์และวิศวกรรมจาก ITT บอมเบย์ ก่อนบินไปเรียนต่อปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา และได้ฝึกงานเป็นนักวิจัยที่ Microsoft และ Yahoo จากนั้นเริ่มทำงานกับ Twitter ในตำแหน่งวิศวกร เมื่อปี 2011 เขาได้รับรางวัลวิศวกรดีเด่นของบริษัท และเพียง 6 ปีเขาก็ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี (CTO) ในปี 2021 “แจ็ก ดอร์ซีย์” ผู้ร่วมก่อตั้งและ CEO ของทวิตเตอร์ลาออก ปารักจึงได้รับแต่งตั้งแทนทันที เพราะเขาคือมือขวาของดอร์ซีย์ เป็นหนึ่งในวิศวกรคนสำคัญของบริษัท ผู้เคยแก้ปัญหาด้านความมั่นคงปลอดภัยของรหัสผ่าน เขามีความโดดเด่นด้านการสร้างแมชชีนเลิร์นนิ่ง และระบบปัญญาประดิษฐ์ให้กับทวิตเตอร์ รวมถึงเป็นหัวหน้าโปรเจกต์ Bluesky ของทวิตเตอร์มาก่อน ในฐานะ CEO เขาจะได้รับรายได้ปีละ 1 ล้านดอลลาร์ และหุ้นอีก 12.5 ล้านดอลลาร์ แต่เขานั่งตำแหน่งสำคัญได้ไม่ทันครบปี เมื่อปลายปีที่แล้ว “อีลอน มัสก์” เข้าซื้อกิจการทวิตเตอร์ สั่งปลดผู้บริหารชุดเก่าออกรวมทั้งปารักด้วย ซึ่งปารักได้เงินชดเชยจากทวิตเตอร์ราว 42-60 ล้านดอลลาร์


:: สัตยา นาเดลลา
ชาวอินเดียวัย 56 ปี สำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมไฟฟ้าจากมหาวิทยาลัย Mangalore ที่อินเดีย และจบปริญญาโทสองใบด้านคอมพิวเตอร์และบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยชิคาโก นาเดลลาทำงานให้กับ Microsoft มานานกว่า 20 ปี ในวันที่ “สตีฟ บอลเมอร์” CEO ของบริษัทลาออก เขาก็ได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนั้นแทน ด้วยความเห็นชอบจาก “บิล เกตส์” และบอลเมอร์ ซึ่งเห็นพ้องกันว่าไม่มีใครเหมาะที่จะเป็น CEO คนที่สามของบริษัทเท่า สัตยา นาเดลลาอีกแล้ว ด้วยมุมมอง ความสามารถ และการมัดใจทีมงาน ทั้งสองเชื่อว่านาเดลลาจะนำพาบริษัทเฟื่องฟูอีกครั้ง นาเดลลามีปรัชญาส่วนตัวเรียกว่า ‘Growth Mindset’ ที่เชื่อว่า ทุกคนสามารถพัฒนาทักษะและความสามรถเพิ่มขึ้นได้ด้วยการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เขาอีเมลบอกพนักงานทุกคนในบริษัทถึงเรื่องนี้ เพื่อเปลี่ยนวัฒนธรรมขององค์กรเก่า นั่นคือ “อย่ายึดติดกับความสำเร็จใจอดีต แต่จงเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ” เขาสามารถชุบชีวิตไมโครซอฟต์ให้กลับมายืนหนึ่งในโลกไอทีได้อีกครั้ง ด้วยผลงานสำคัญๆ เช่น ปรับปรุง Skype ให้เป็นเวอร์ชันที่แปลได้ และเปิดตัว Windows 10 เป็นต้น ดังนั้น เพียงเขานั่งตำแหน่งได้ไม่ถึง 5 ปี มูลค่าของไมโครซอฟต์ก็แซงแอปเปิล และเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกได้อีกครั้ง


:: ซันดาร์ พิชัย
CEO วัย 51 ปีของ Google ที่นิตยสาร Time ยกย่องว่า เป็น ‘100 Most Influential People 2020’ ซันดาร์ พิชัย เป็นคนขยันสู้ชีวิตตัวพ่อ และมีความเชื่อว่าเทคโนโลยีสามารถช่วยให้ชีวิตทุกคนดีขึ้น เขาทำงานกับคอมพิวเตอร์มาตลอด ทั้งๆ ที่สมัยเรียนเขาแทบไม่มีโอกาสได้แตะมันเลย อาศัยสอบชิงทุนมาเรื่อยๆ ภายหลังเรียนจบวิศวะฯ ที่อินเดีย เขาสอบชิงทุนไปเรียนอเมริกา ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ต่อด้วยวุฒิ MBA อีกใบ ก่อนเข้าทำงานบริษัทพัฒนาชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ทำให้พบว่า อินเทอร์เน็ตต่างหากคือเทคโนโลยีที่เข้าถึงชีวิตคนได้มากที่สุด จากนั้นเขาจึงไปสมัครงานที่ Google ในปี 2004 มีเรื่องเล่าที่ตลกคือ วันที่เขาไปสมัครงานที่กูเกิล เป็นวันที่กูเกิล เปิดตัว Gmail และตรงกับวันที่ 1 เมษายน ซึ่งเป็นวัน April Fool’s Day ผู้สัมภาษณ์ถามเขาถึงการทำงานของ Gmail ซึ่งแน่นอนว่าเขาไม่รู้จัก เพราะเพิ่งจะเปิดตัววันนั้น และก็ไม่รู้ว่ามันมีจริงหรือไม่ หรือเป็นแค่เรื่องอำเล่น “ในวันเมษาหน้าโง่” สุดท้ายเขาก็ตอบไปตรงๆ ว่าไม่เคยใช้งาน ผู้สัมภาษณ์เปิดให้ดู และเปลี่ยนมุมมองความคิดที่เขาเชื่อว่า จะพัฒนาให้มันดีขึ้นเรื่อยๆ ได้ เขาได้งานในตำแหน่งรองผู้จัดการฝ่ายพัฒนาสินค้า ไต่เต้าขึ้นสู่ตำแหน่ง Product Manager พัฒนากูเกิล ทูลบาร์ แถบเครื่องมือในการค้นหา รวมถึงสร้าง Google Chrome และพัฒนา Gmail อยู่นาน 11 ปีให้ชาวโลกได้ใช้กันทุกวันนี้ จน “แลร์รี เพจ” ผู้ก่อตั้งกูเกิล ประจักษ์ด้วยตาตนเองว่า ชายอินเดียคนนี้แหละคือผู้ที่เหมาะจะเป็น CEO ของกูเกิลมากที่สุดแล้ว

Comments are closed.

Pin It