ใครที่ยังติดภาพ “โอ๊ต-พิทักษ์ สภาธรรม” แฟนหนุ่มมาดอบอุ่นของ “มิน–พีชญา วัฒนามนตรี” นางเอกสาวชื่อดัง ในฐานะที่ปรึกษาด้านการลงทุนสุดคูล เห็นทีคงต้องเปลี่ยนภาพจำเสียใหม่ เพราะตอนนี้หนุ่มโอ๊ตกำลังอินกับธุรกิจใหม่ ที่นอกจากจะตอบโจทย์โลกยุคโควิด-19 สุดๆ ยังเป็นธุรกิจที่ตอบแพสชั่นลึกๆ ของตัวเอง ที่อยากจะทำให้คุณภาพชีวิตของคนบนโลกนี้ดีขึ้น
ธุรกิจที่พูดถึงคือ การนำเข้าเทคโนโลยีสุดล้ำจากสหรัฐอเมริกา ที่กล้าเคลมว่าเป็นเทคโนโลยีแรกของโลก ที่สามารถกำจัดเชื้อโรคโควิด-19 ในระบบปรับอากาศในอาคารได้ไม่พอ ยังสามารถกำราบวายร้าย อย่าง PM ที่มีขนาดเล็กถึง 0.3 ไมครอน ซึ่งเล็กกว่า PM 2.5 เกือบ 10 เท่า รวมถึงสารพิษอื่นๆ ในระบบปรับอากาศได้อีก
ส่วนเบื้องหลังที่ทำให้โคจรมาเจอกับเทคโนโลยีนี้ จะเป็นอย่างไร ผู้บริหารหนุ่มรอไขทุกข้อข้องใจ?
งมเข็มในภูเขางานวิจัยตามหาเทคโนโลยีที่ใช่!
กว่าจะมาเจอเทคโนโลยีที่หนุ่มโอ๊ตมองว่าใช่เลย กับโลกยุคโควิด-19 เจ้าตัวเล่าอย่างออกรสว่า ต้องย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน สมัยที่ยังทำงานในแวดวงก่อสร้างอาคาร เขาเคยตั้งข้อสงสัยว่า ระบบท่อปรับอากาศที่ทอดยาวตามอาคารต่างๆ มีวิธีการดูแลความสะอาดอย่างไร แต่ก็ไม่เคยหาคำตอบอย่างจริงจัง จนเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้ฉุกคิดอีกครั้ง หลังได้อ่านข่าวและงานวิจัยหลายชิ้น จนพบว่า จริงๆ แล้วเชื้อโควิด-19 สามารถแพร่กระจายตามช่องแอร์ได้ หมายความว่า ถ้าอยู่ในห้องแอร์แล้วมีคนหนึ่งจาม แล้วคนในห้องใส่หน้ากาก อาจจะป้องกันการติดเชื้อจากน้ำลายที่กระเด็นออกมา แต่ละอองขนาดเล็กมากๆ จากการจาม ซึ่งสามารถกระจายไปได้ไกลถึง 60 เมตร และอยู่ในอากาศได้นานถึง 3 ชม. อาจจะถูกดูดเข้าไปตามช่องแอร์ และแพร่กระจายไปตามส่วนอื่นๆ ของอาคาร กลายเป็นว่าแทนที่เชื้อจะอยู่ในห้องเดียว กลับแพร่กระจายไปได้
“ธรรมชาติคนเรามักกลัวในสิ่งที่มองเห็น แต่ไม่กลัวสิ่งที่มองไม่เห็น ยกตัวอย่าง ถ้าโต๊ะไม่มีรอยเปื้อนเราไม่เช็ด แต่จะเช็ดเมื่อเห็นว่ามีรอยเปื้อน เหมือนตอนที่มีฝุ่น PM 2.5 ช่วงแรกๆ คนไม่กลัว แต่พอเห็นเป็นหมอกหนา ถึงเริ่มใส่หน้ากาก เปรียบเทียบกับเชื้อโควิด-19 น่ากลัวกว่ามาก เพราะมีขนาดเล็ก ถึงได้สามารถเข้าไปทำลายปอดได้ลึกถึงชั้นใน ยิ่งศึกษาทำให้ผมยิ่งอยากหาคำตอบว่า จะมีเทคโนโลยีตัวไหนที่มาจัดการกับระบบปรับอากาศ ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ (EPA) ชี้ชัดว่า คนส่วนใหญ่ใช้เวลามากกว่า 90% ในอาคารที่ใช้ระบบปรับอากาศ คุณภาพอากาศในอาคาร จึงเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ เพราะมีผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพ ผมใช้เวลาศึกษาอยู่ 5 เดือนเต็ม ค้นคว้าเกือบ 10 เทคโนโลยี กว่าจะมาเจอเทคโนโลยี AQinnotech”
สิ่งที่โอ๊ตมองว่าเทคโนโลยีตัวนี้แตกต่างจากที่มีในท้องตลาดคือ การทำงานแบบ Realtime Active ด้วยการปล่อยประจุไอออนบวกและลบ ในความเข้มข้นที่มากพอสำหรับกำจัดเชื้อโรค ฝุ่นและมลพิษในอากาศ สามารถทำให้อนุภาคของฝุ่นขนาดเล็กมีอนุภาคใหญ่พอให้ฟิลเตอร์ดักได้ สามารถดึงผนังโปรตีนของเชื้อโรค ทำให้หยุดการแพร่เชื้อ ทำให้สารประเภท VOCs มีค่าเป็นกลาง ซึ่งไม่เกิดอันตราย ที่สำคัญ สามารถทำงานในบริเวณที่มีคนอยู่ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อมากที่สุด
จากจุดแข็งของเทคโนโลยีที่มองว่า น่าจะตอบโจทย์กับ Pain Point ที่คนทั้งโลกกำลังเผชิญนี้เอง ทำให้โอ๊ตคิดว่าธุรกิจที่เขาปลุกปั้นมากับมือ ศึกษา และลุยติดต่อจนปิดดีลหมาดๆ น่าจะไปได้สวย
“โควิด-19 เป็นโรคจะอยู่กับโลกนี้ไปอีกสักพัก และมีแนวโน้มว่า อาจจะกลายพันธุ์ได้ เพราะฉะนั้น นอกจากวัคซีน ซึ่งผมมองว่ายังต้องใช้เวลาอีกสักระยะ กว่าจะได้มาและต้องมีการทดลองว่า ฉีดแล้วจะตอบสนองได้ดีแค่ไหน เรายังต้องการโซลูชั่นที่ดีกว่ามาตอบโจทย์ อย่าง เทคโนโลยีตัวนี้พัฒนามา 12 ปีแล้ว มีการใช้อย่างแพร่หลายทั้งที่ทำเนียบขาว สำนักงานของกูเกิล โรงพยาบาลจอห์น ฮอปกินส์ และโรงพยาบาลเด็กบอสตัน สำหรับประเทศไทย ถือเป็นครั้งแรกที่มีการนำเข้ามา เท่าที่ทราบ หลังจากผมติดต่อไปทางดูไบและอาบูดาบีก็สนใจจะนำเข้าเช่นกัน”
อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนอาจสงสัยว่า ถ้าเทคโนโลยีดีจริง ทำไมอเมริกาถึงมีตัวเลขผู้ติดเชื้อสูง งานนี้ดูเหมือนโอ๊ตจะเคยสงสัยเช่นกัน เลยหาคำตอบมาพร้อม “อเมริกาบูมเรื่องการดูแลมาตรฐานคุณภาพอากาศภายในอาคารมานานแล้ว แต่เหตุผลที่ทำให้ชาวอเมริกันติดเชื้อโควิด-19เยอะ เพราะไม่ยอมสวมหน้ากากอนามัย ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวก็ช่วยป้องกันไม่ได้เช่นกัน ซึ่งตอนนี้ทางเขาก็มียอดออเดอร์ถล่มทลาย ทางผมเองแม้จะมีออเดอร์เขามาพอตัว แต่ก็ยังถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมากของเขา เป้าหมายของผมตอนนี้เน้นเจาะกลุ่มอาคารขนาดใหญ่ ในหลากหลายธุรกิจ ทั้งโรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า สำนักงาน โรงเรียน และศูนย์ประชุมต่างๆ เพราะมองว่าตอบโจทย์คนได้มากกว่า ในอนาคตอาจจะขยายมาตลาดกลุ่มผู้อยู่อาศัย”
ต่อยอดธุรกิจจากแพสชั่นให้ดัง+ปัง
ถามว่า พอเปลี่ยนแนวจากที่ปรึกษาการลงทุนมาลุยธุรกิจของตัวเอง ต้องปรับตัวอย่างไร “จริงๆ ผมจบสถาปนิก ที่ผ่านมาก็ไม่ได้ทำงานตรงสายอยู่แล้ว (หัวเราะ) ข้อดีคือ ทำให้ผมค้นพบว่าตัวเองชอบมองหานวัตกรรมใหม่ ๆ โซลูชั่นที่ต้องไม่ใช่ตอบโจทย์แค่วันนี้ แต่ต้องดีกว่าเดิมตลอดเวลา พอมาทำธุรกิจนี้เลยค่อนข้างอิน บวกกับสายงานก่อนหน้านี้ก็เปิดโอกาสให้เจอผู้คนเยอะมากและยังเปิดโอกาสให้เราเห็น Pain point ของลูกค้า เพราะเราเน้นฟังลูกค้ามากกว่าพูดออกไป จึงเห็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการได้เร็วขึ้น ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเป็นหัวใจของการทำธุรกิจยุคนี้ ไม่ว่าจะพัฒนาเทคโนโลยีหรือทำธุรกิจอะไร ต้องเริ่มจากลูกค้า ไม่ใช่สร้างของที่เราชอบ แล้วคนไม่ต้องการ
“โรคที่เป็นคู่ปรับของมนุษย์ออฟฟิศ ไม่ได้มีแค่ออฟฟิศซินโดรม แต่ยังมี Sick building syndrome ซึ่งเป็นต้นเหตุของอาการที่หลายคนมองข้าม อย่าง อาการแสบตา น้ำมูกไหลโดยไม่มีสาเหตุ ไอแห้ง ไปจนถึงไอเรื้อรัง ร้ายแรงถึงขั้นสู่โรคหัวใจ อัลไซเมอร์ ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากสภาพแวดล้อมที่ใช้ชีวิตอยู่วันละหลายๆ ชั่วโมง โดยที่เราไม่รู้ตัว ผมอยากสร้างมาตรฐานใหม่ให้อาคารในเมืองไทย ผมตั้งเป้าว่าภายในกลางปีหน้า อาคารขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ ต้องใช้เทคโนโลยีของเราทั้งหมด เรียกได้ว่าจากนี้ถ้าไปตึกไหนแล้วเห็น AQ Innotech ทุกคนมั่นใจได้ว่า คุณภาพอากาศภายในอาคารนั้นดีแน่นอน”
หมายมั่นปั้นมือขนาดนี้แอบสงสัยไม่ได้ว่า หรือธุรกิจนี้จะเป็นหนึ่งในแผนปูทางสู่การสร้างอนาคตที่มั่นคง เพื่อเตรียมลั่นระฆังวิวาห์กับแฟนสาวดีกรีนักแสดงแถวหน้าของเมืองไทยหรือเปล่า งานนี้ถึงกับทำเอาผู้บริหารหนุ่มที่ตอบฉะฉานมาตลอดไปไม่เป็น ก่อนตอบว่า
“ผมคิดว่าความมั่นคงก็เป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจครับ แต่ผมเองด้วยความที่นับถือศาสนาคริสต์ มีความเชื่อและตั้งใจว่า ชีวิตนี้ผมอยากสร้างประโยชน์ให้ผู้คนมากที่สุด หรือทำอะไรสักอย่างเพื่อให้ผู้คนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น วันนี้ผมกำลังเริ่มต้น อาจจะต้องใช้เวลาบ้าง แต่อย่างน้อยถ้าทำสำเร็จ ผมก็พร้อมมองไปถึงก้าวต่อไปของชีวิต อย่าง การแต่งงาน เพราะจริงๆ เราสองคนก็ไม่ได้เร่งรีบ ต่างฝ่ายต่างสนุกกับสิ่งใหม่ๆ ที่เข้ามา และอยากทำ อย่างธุรกิจนี้ผมก็ทำกับหุ้นส่วนแต่ไม่ใช่เขา เพราะอยากให้เขาเป็นหุ้นส่วนชีวิตมากกว่าครับ” โอ๊ตทิ้งท้ายอย่างเขินๆ
Comments are closed.