Interview

“ชนาธิป สิมะโรจน์” หนุ่มวิศวะไฟแรง ทายาทรุ่น 3 SUSCO ผู้รักการผจญภัย

Pinterest LinkedIn Tumblr


จากเด็กหนุ่มที่หลงใหลในประวัติศาสตร์ ชอบศึกษาเกี่ยวกับอารยธรรม มีตัวละครอินเดียน่าโจนส์ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีที่ชอบตามล่าหาขุมทรัพย์ล้ำค่าจากทั่วโลก เป็นขวัญใจ ทำให้ “ปลื้ม-ชนาธิป สิมะโรจน์” ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของคุณพ่อชัยฤทธิ์และคุณแม่ศรีเพ็ชรินทร์ สิมะโรจน์ ทายาทรุ่นที่ 3 แห่งซัสโก้ (SUSCO) ซึ่งดำเนินธุรกิจจำหน่ายน้ำมันผ่านสถานีบริการน้ำมันมาตั้งแต่รุ่นคุณปู่ เคยฝันว่าอยากเป็นนักโบราณคดี

ทว่า ในความจริง เส้นทางชีวิตที่เขาเลือกกลับแตกต่างจากเส้นทางความฝันอย่างสิ้นเชิง เพราะเขาเลือกที่จะวางกรอบชีวิตไปในแบบที่ควรจะเป็น และเก็บสิ่งที่รักไว้เป็นงานอดิเรก ที่ทำให้หัวใจกระชุ่มกระชวยทุกครั้งเมื่อนึกถึง


“พอจบ ม.6 ที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ผมก็เลือกเรียนต่อด้านวิศวกรรมนาโน หลักสูตรนานาชาติ ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ จริงๆ แล้วผมไม่ได้คิดว่าจะเป็นวิศวะ เพราะอาชีพในฝันของผมตั้งแต่เด็ก มีตั้งแต่หมอ นักบินอวกาศ ไปจนถึงนักโบราณคดี ฟังดูอาจจะไม่เข้ากับสิ่งที่เป็นตอนนี้ (หัวเราะ) แต่เป็นแพสชั่นของผมมาจนทุกวันนี้ เพราะผมชอบอ่านหนังสือ โดยเฉพาะ แนวท่องเที่ยว ประวัติศาสตร์ ชอบดูหนังสไตล์อินเดียน่า โจนส์ ไปหาขุมทรัพย์ มีเช็กลิสต์สถานที่ท่องเที่ยว แหล่งอารยธรรมในฝันที่ต้องไปเห็นด้วยตาให้ได้”


แต่เหตุผลที่ทำให้เข็มทิศชีวิตเปลี่ยน เพราะทางครอบครัว โดยเฉพาะ คุณพ่อ ช่วยชี้แนะว่า ถ้าอยากฝึกกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ มองทุกอย่างเป็นเหตุเป็นผลเพื่อเป็นพื้นฐาน น่าจะเอาดีทางสายวิศวะ มันช่วยฝึกทักษะการคิดเป็นระบบ การแก้ปัญหา แล้วหลังจากนั้นเราค่อยไปต่อยอดศึกษาต่อสายอื่นๆ ก็ได้ ซึ่งที่บ้านผมตั้งแต่รุ่นคุณปู่ คุณพ่อ คุณอา ก็เรียนวิศวะกันเกือบหมด


“พอโจทย์คือวิศวะ ผมเริ่มศึกษาว่าจะไปสายไหนดี จนมาเจอสาขา Nano Engineering หลายคนอาจจะสงสัยว่าเรียนอะไร ผมเองตอนแรกก็ไม่รู้ จนศึกษาไปเรื่อยๆ ถึงรู้สึกว่าน่าสนใจ เพราะวิศวะนาโนไม่ใช่แค่เทรนด์ของอนาคต แต่เป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคน นิยามง่ายๆ คือ การย่อส่วนเทคโนโลยีทุกอย่างให้เล็กลง แต่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อเป็นการลดต้นทุน ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ โปรเจกต์ที่เคยทำส่งอาจารย์ ผมทำนาโนเซ็นเซอร์เพื่อตรวจจับความเร่ง ไอเดียมาจากปัญหาที่หลายคนเคยเจอ นั่นคือปัญหาหน้าจอสมาร์ทโฟนแตก เพราะเวลาทำโทรศัพท์ตกพื้นไม่มีอะไรมาช่วยเซฟ ผมเลยคิดว่าน่าจะมีเทคโนโลยีอะไรมาช่วย อารมณ์เหมือนเวลาขับรถชนแล้วมีถุงลมพุ่งออกมา เลยเป็นที่มาของการพัฒนาแผงวงจรเซ็นเซอร์ตรวจจับความเร่งติดไว้กับเคส แต่ตัวที่เป็นเหมือนถุงลมเราเอามาติดตั้ง พอตรวจจับได้ว่ากำลังตก หรือกำลังจะได้รับการกระแทก ก็จะมีตัวรองรับออกมาป้องกัน”


ถามว่า 4 ปีการศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย ตอบโจทย์ชีวิตไหม ปลื้มตอบอย่างไม่ลังเลว่า “ผมคิดว่ามาถูกทาง ถึงผมเองจะไม่ได้คิดต่อยอดไปสายวิศวะนาโนแบบตรงๆ แต่ผมได้เรียนรู้วิธีการคิดแบบเป็นขั้นตอน อย่าง วิศวะ ได้เรียนรู้เทคโนโลยีและเทรนด์ใหม่ๆ ผมโชคดีที่ครอบครัวไม่เคยบังคับว่า ต้องกลับมาสานต่อธุรกิจครอบครัว แต่ให้อิสระเลือกทำในสิ่งที่อยากทำ ไม่ว่าจะลองไปเป็นลูกจ้างที่อื่น เป็นสตาร์ทอัพ แต่ตัวผมเองมากกว่าที่มีแพสชั่นลึกๆ ว่า อยากกลับมาช่วยธุรกิจครอบครัว ซึ่งผูกพันมาตั้งแต่เด็ก เพราะเราโตมากับตรงนี้”

นอกจากจะเรียนอย่างเต็มที่ ในอีกมุม ปลื้มยังถือเป็นเด็กกิจกรรมตัวยงมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม เพราะถือคติว่า “การเรียนทำให้คนมีงานทำ การทำกิจกรรมทำให้คนทำงานเป็น”

“ผมเป็นคนชอบทำกิจกรรม ตอนมัธยมก็เป็นประธานกีฬาสี สายกีฬา เพราะผมชอบเล่นกีฬาทุกอย่าง โดยเฉพาะ กอล์ฟกับฟุตบอล พอเข้ามหาวิทยาลัยก็ยังทำกิจกรรม เป็นหัวหน้าฝ่ายสันทนาการรับน้อง จัดทริป ทำงานจิตอาสา จนปี 4 ผมไปสมัครเป็นกลุ่มผู้อัญเชิญพระเกี้ยว เพราะอยากทำกิจกรรมก่อนจบ พอได้เข้าไปทำ รู้สึกคุ้มค่ามากๆ ได้ทั้งสังคม เพื่อนฝูงและครอบครัวใหม่

ในแต่ละปี กลุ่มผู้อัญเชิญพระเกี้ยวจะมีจำนวน 12 หรือ 14 คน ขึ้นอยู่กับว่า ปีก่อนหน้า ธรรมศาสตร์หรือจุฬาฯ ได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานในงานฟุตบอลประเพณี เพราะถ้ามหาวิทยาลัยไหนได้ จะต้องมีผู้ทำหน้าที่อัญเชิญถ้วยรางวัลพระราชทาน ซึ่งปีของผม ผมได้รับโอกาสทำหน้าที่ตรงนี้ ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก ได้เปิดโลกกว้างจากเดิมทำงานกับเพื่อนในคณะหรือในมหาวิทยาลัย แต่กิจกรรมนี้เราต้องทำงานกับทางธรรมศาสตร์ มีเดินสายออกสื่อ ได้เจอคนมากขึ้น”


เพราะฉะนั้น สำหรับ ปลื้ม การทำกิจกรรมให้หลายทักษะที่หาไม่ได้จากในตำราหรือห้องเรียน โดยเฉพาะ ทักษะการสื่อสารและการทำงานเป็นทีม

“พอเราทำกิจกรรมเราจะได้พบปะกับผู้คนที่หลากหลาย ทั้งวัยเดียวกัน และต่างวัย เลยเหมือนได้ฝึกการทำงานกับผู้ใหญ่ ดีลงานกับรุ่นน้อง การแบ่งงานกับเพื่อน ซึ่งได้มาโดยไม่รู้ตัว แต่เป็นประโยชน์มากในการเอามาทำงาน”

หลังจากพ้นรั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งปลื้มเพิ่งเข้ารับปริญญาไปหมาดๆ เขามีแผนจะไปเรียนต่อปริญญาโทที่แคนาดา ซึ่งเป็นประเทศในฝันมาตั้งแต่เดิม แต่เพราะพิษโควิด-19 ทำให้แผนมีอันต้องเลื่อนและปรับกะทันหัน

“เดิมผมวางแผน gap year ให้ตัวเอง 1 ปี เพราะในฐานะกลุ่มผู้อัญเชิญพระเกี้ยว ผมต้องกลับไปช่วยเทรนรุ่นน้อง แล้วค่อยไปเรียนต่อ ระหว่างนี้ตั้งใจว่าจะหาประสบการณ์ทำงานไปก่อน แต่พอเกิดโควิด-19 แผนเปลี่ยน จากเดิมที่พี่สาวต้องไปเรียนต่อที่อังกฤษกันยายนนี้ ต้องเลื่อนไปเป็นมกราคมปีหน้า คุณพ่อคุณแม่เลยเห็นว่า ถ้าอย่างนั้นผมน่าจะยื่นเอกสารทุกอย่างทัน และสามารถไปเรียนที่อังกฤษพร้อมกับพี่สาวเลย เพราะถ้าจะไปฝั่งอเมริกาหรือแคนาดาตามแผนเดิมคงยาก เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ค่อนข้างหนัก ผมเลยเลือกไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเดียวกับพี่สาวคือ มหาวิทยาลัยเซาต์แฮมป์ตัน ซึ่งใช้เวลาเรียนสั้นกว่าที่แคนาดา คือเรียนเพียง 1 ปีจบ”

ปลื้มยังเสริมด้วยว่า ข้อดีของการไปเรียนพร้อมกับพี่สาวคือ ไม่ต้องทำการบ้านเรื่องความเป็นอยู่เยอะ เพราะพี่สาวจะช่วยหาข้อมูล หาที่พัก เตรียมพร้อมทุกอย่างเรียบร้อยอยู่แล้ว “เขาเตรียมการมานานแล้ว ก็ยกหน้าที่ตรงนี้ให้เขาไปครับ ผมเลยสบายตัว(หัวเราะ)”


มาถึงมุมมองของชีวิตเด็กรุ่นใหม่ในยุค New Normal ปลื้มเล่าอย่างออกรสว่า เทอมสุดท้ายไม่ได้เจอเพื่อนเลย โมเมนต์ตอนสอบวิชาสุดท้ายเสร็จคือ การกดส่งข้อสอบแทนที่จะเป็นการเดินออกจากห้องสอบ แล้วไปฉลองกับเพื่อน ทำได้แค่ไลน์หาเพื่อนว่าจบแล้วนะ

“ถามว่ารุ่นเราโชคร้ายมั้ยก็ใช่นะ เรียนจบปุ๊บใครจะเรียนต่อ หางาน ก็ล้วนแต่เป็นปัญหา แต่ผมมองว่าชีวิตเราต้องเดินไปข้างหน้า ไม่ว่าจะมีโรคระบาดเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม ในเมื่อเกิดขึ้นแล้ว เราก็ต้องเปลี่ยนแผนชีวิตเพื่อรับมือกับสิ่งที่เกิด แทนที่จะบอกว่าแย่แล้ว ทำอย่างไรต่อดี ชีวิตยิ่งพัง

ผมมองว่าตัวเองยังโชคดี คือยังไม่ได้อยู่ในจุดที่ต้องรับผิดชอบอะไรมากมาย ผู้ใหญ่บางคนเขาอาจจะมีธุรกิจ กังวลว่าจะตกงาน ขณะที่ ผมเองคุณพ่อคุณแม่ยังสนับสนุนได้อยู่ แค่ปรับแผนชีวิตตัวเอง และมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประสบการณ์ ถ้าอนาคตเกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก อย่างน้อยก็สามารถเตรียมตัวรับมือได้ จากที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีใครคิดถึงโรคระบาด แต่ถ้าเลือกได้ก็ไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อยู่แล้ว”

อย่าไรก็ตาม ในช่วงรอยต่อก่อนจะเริ่มบันทึกบทใหม่ของชีวิต ด้วยการไปเรียนต่อ ปลื้มบอกว่าขอหยุดพัก 1 เดือน เพื่อใช้ชีวิตอิสระ ตามใจตัวเอง ด้วยการอ่านหนังสือ ไปเรียนร้องเพลง เพราะอยากมีทักษะการร้องไว้ติดตัว ทำอะไรที่ตอนแรกไม่มีเวลาได้ทำ เป็นการให้เราได้หยุดพัก ชาร์ตแบตก่อนเริ่มบทใหม่ของชีวิต


ตอนนี้เขาได้เริ่มเข้ามาฝึกงานที่บริษัทของครอบครัว ซึ่งเป็นจังหวะที่มีการเริ่มต้นสารพัดโปรเจกต์ใหม่ๆ พอดี รวมทั้งหลายโปรเจกต์ที่พักไปช่วงโควิด-19 ก็เพิ่งจะกลับมาสตาร์ทใหม่ ก็นับเป็นช่วงเวลาที่ดีที่จะได้เข้ามาเรียนรู้ตั้งแต่ต้น

“ผมเข้ามาเป็น Management trainee ส่วนใหญ่เน้นสายงานที่เกี่ยวข้องกับวิศวะ เข้ามาดูโปรเจกต์ต่างๆ เช่น สร้างปั๊มน้ำมัน ติดต่อกับผู้รับเหมา หลังจากทำงานมา 2 เดือน ผมก็ได้ไอเดีย มีหลายอย่างที่ได้เรียนรู้เก็บข้อมูล อย่างการสร้างปั๊ม ถ้าเราไม่ได้เข้ามาดูตั้งแต่ต้น จะไม่รู้เลยว่ารายละเอียดเยอะมาก และมีอะไรบ้างที่เราสามารถนำความรู้ที่มีมาเติมเต็ม หรืออย่างบริษัทเรามีการขายน้ำมันให้ประเทศเพื่อนบ้าน ผมก็มองว่ายูนิตนี้เป็นอะไรที่น่าสนใจ เพราะผมจะไปเรียนต่อด้าน International Business Management เน้นเรื่องการทำธุรกิจระหว่างประเทศอยู่แล้ว ส่วนเรื่องการปรับตัวกับการทำงานไม่มีปัญหา ผมถือคติอาม่าที่ว่า ไปไหน ทำอะไร ให้อ่อนน้อมถ่อมตนไว้ เป็นสิ่งที่ผมยึดเป็นคติประจำใจ ไปอยู่ที่ไหน คนก็รัก เอ็นดู ไม่ต้องมีปัญหา”

ปิดท้ายด้วยไลฟ์สไตล์วันว่างของหนุ่มไฟแรง ที่มีหลายแง่มุมให้ค้นหา “ความฝันสูงสุดของผมคือ ให้เงินทำงานแทน แต่ตอนนี้ยังทำไม่ได้ ก็ต้องทำงานหาเงินไปก่อน ไปถึงจุดนั้นเมื่อไหร่ ค่อยตามฝันที่มีตั้งแต่เด็ก คือไปเก็บสิ่งมหัศจรรย์ของโลกให้ครบ ตระเวนดูอารยธรรมที่เราอ่านมาแต่เด็ก ซึ่งผมอยากไปเห็นด้วยตา และออกเดินทางไปด้วยทุนตัวเอง ผมเชื่อว่าคนเราเกิดมาครั้งเดียว มีชีวิตเดียว อยากให้ 40 ปีข้างหน้า เมื่อมองย้อนกลับมา ผมไม่เสียดายที่ใช้ชีวิตไม่คุ้มค่า ตอนนี้ผมอายุ 22 ปี ผมมองว่าเหมือนเราเพิ่งผ่านคิว(ไตรมาส) แรกของชีวิต เรายังวางแผนชีวิตให้คุ้มค่าได้อยู่”

ถามว่าสถานที่ไหนที่อยากไปที่สุด ตั้งเป้าว่าชีวิตนี้ต้องไปให้ได้ ปลื้มตอบอย่างไม่ต้องเสียเวลาคิด ว่า “มาชูปิกชู” ที่เปรู “จริงๆ ยังมีอีกหลายที่ที่ลิสต์ไว้ รวมๆ ไม่เกิน 100 ที่ เพราะคิดตามความจริงว่า ถ้าเยอะกว่านี้คงไปไม่ไหว (หัวเราะ) จริงๆ ด้วยความชอบเดินทาง ผมเคยคิดนะว่าอยากเป็นยูทูบเบอร์สายท่องเที่ยว เแต่ยังไม่ได้ลงมือทำสักที เช่นเดียวกับการไปเที่ยวคนเดียว คิดไว้ว่าชีวิตนี้ต้องแบคแพคไปเที่ยวคนเดียว แต่อีกใจก็คิดว่าคงเหงา เพราะผมเป็นคนชอบคุย อยากมีคนแชร์โมเมนต์ว่าเราได้มาที่ที่เราอ่านมาแต่เด็ก ได้มีคนแบ่งปันความตื่นเต้น ความประทับใจของเราครับ” ปลื้มกล่าวทิ้งท้าย

Comments are closed.

Pin It