หลายคนที่ได้รู้จักร้านขายโทรศัพท์มือถือชื่อดัง อย่าง “เจ มาร์ท” (Jaymart) คงสนใจไม่ใช่น้อยเมื่อทราบว่าลูกชายของเจ้าของธุรกิจนี้มีชื่อเล่นว่า “เจ” และคงอดสงสัยไม่ได้ว่าระหว่างชื่อเล่นของ “เจ” กับชื่อ “Jaymart” นั้นความจริงเกี่ยวข้องกันหรือไม่!? เพราะถ้าย้อนไป ธุรกิจนี้เปิดมาแล้วเกือบ 35 ปี แท้จริงแล้วเจ้าของธุรกิจนำชื่อของลูกชายไปตั้งเป็นชื่อบริษัทหรือเปล่า? งานนี้หนุ่มเจเลยถือโอกาสเฉลยให้หายข้องใจ
“มีคนถามเยอะมากครับ จริงๆ แล้ว ชื่อ Jaymart ตัว J มาจากตัวอักษรแรกของชื่อพี่สาว (จุฑามาศ) A อักษรตัวแรกของคุณพ่อ (อดิศักดิ์) และ Y เป็นอักษรตัวแรกของชื่อคุณแม่ (ยุวดี) ซึ่งตอนที่คุณพ่อคุณแม่ตัดริบบิ้นเปิดบริษัท ผมอยู่ในท้องคุณแม่ครับ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ก็เลยตั้งชื่อว่า “เจ” ซึ่งผมก็เคยถามคุณพ่อคุณแม่เล่นๆ นะครับว่า ถ้าตอนนั้นไม่ชื่อ “เจ” จะชื่ออะไร? คุณแม่บอกว่า จะตั้งชื่อ “โอ” เพราะพี่สาวชื่อเล่นว่า “ส้ม” รวมกันเป็นส้มโอ เพราะคุณแม่ชอบกินส้มโอ” เจเล่าไปขำไป
ใครจะคิดว่า ทายาทธุรกิจที่ลืมตาดูโลกในปีที่ครอบครัวก่อตั้งบริษัท มาถึงวันนี้ เขาได้กลายเป็นหนึ่งในกำลังหลักที่เข้ามาช่วยคุณพ่อคุณแม่สานต่อธุรกิจครอบครัวได้ 8 ปีแล้ว!
“เจ-เอกชัย สุขุมวิทยา” ลูกชายคนเล็กของ “อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา” และ “ยุวดี พงษ์อัชฌา” ผู้ก่อตั้ง บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (Jaymart) ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เจมาร์ท และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีนส์แอนด์บราวน์ จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของร้านกาแฟคาซ่า ลาแปง (Casa Lapin)
“ผมเรียนจบปริญญาตรี ด้านการเงิน จากมหาวิทยาลัย Babson College ประเทศสหรัฐอเมริกา เหตุผลที่เลือกเรียนด้านนี้ เพราะรู้อยู่แล้วว่า อนาคตต้องกลับมาช่วยสานต่อธุรกิจครอบครัว บวกกับมองว่าการเงินเป็นเรื่องสำคัญ เลยอยากเรียนรู้เรื่องที่จำเป็นก่อน ส่วนความชอบส่วนตัวที่สนใจด้านการตลาด ผมมาเรียนตอนปริญญาโท ซึ่งผมจบด้านการตลาด จากมหาวิทยาลัย Imperial College London ประเทศอังกฤษ”
หลังจากเรียนจบ แทนที่จะเลือกไปหาประสบการณ์ทำงานนอกบ้านก่อน เจเลือกที่จะกลับมาช่วยสานต่อธุรกิจครอบครัวทันที เพราะถ้าย้อนเวลาไปเมื่อ 8 ปีที่แล้ว เป็นช่วงที่ Jaymart กำลังเติบโต
“นั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผมไม่ไปทำงานที่อื่นก่อนครับ เพราะผมอยากเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทในช่วงที่กำลังเติบโต บวกกับเห็นว่า คุณพ่อคุณแม่ท่านก็เริ่มเหนื่อย ก็เลยอยากกลับมาช่วยครับ”
ตำแหน่งแรกของเจในการทำงานคือ การเป็นนักลงทุนสัมพันธ์ (Investor Relations หรือ IR) ซึ่งตอนนั้น Jaymart มี 3 ธุรกิจหลักคือ Jaymart mobile บริษัทจัดจำหน่ายโทรศัพท์มือถือและสมาร์ทดีไวซ์ JMT Network Service ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการติดตามหนี้ Jas asset บริษัทดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการบริหารพื้นที่เช่าในส่วนของธุรกิจมือถือ และศูนย์การค้าแบบคอมมูนิตีมอลล์
“ระหว่างทางผมก็ย้ายมาหลายตำแหน่งครับ ตอนแรกเลยผมเข้าไปเป็น IR ให้บริษัท เพราะ 8 ปีที่แล้วยังไม่มีคนที่สามารถสื่อสารกับนักลงทุนฝรั่งได้ ด้วยความที่ผมเรียนจบจากเมืองนอก สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ คุณพ่อก็เลยให้มาทำ การเป็น IR เหมือนเป็นคอร์สเร่งรัดที่ทำให้ผมต้องศึกษาธุรกิจ ให้เข้าใจทั้งหมดในเวลาอันสั้น เพื่อสื่อสารกับนักลงทุน ทำอยู่ประมาณ 1-2 ปี ก็ไปช่วยงานฝั่ง Jaymart Mobile เข้าไปเรียนรู้เรื่องการทำสต็อก ดูเรื่องซัพพลายแล้วก็การตลาด หลังจากนั้นไปช่วยฝั่ง Accessories และ Gadgets ซึ่งตอนนี้รีแบรนด์ไปเป็น Jaymart IOT”
ปัจจุบัน เจ เข้ามาดูภาพรวมของ Jaymart Group เน้นเรื่องการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าไปใช้กับบริษัทในกลุ่ม
“การได้มาทำงานกับคุณพ่อ ทำให้ได้เรียนรู้หลายอย่าง ซึ่งส่วนใหญ่คุณพ่อจะไม่ได้สอนตรงๆ แต่ให้ตามคุณพ่อไปประชุมทุกครั้ง ผมก็จะเห็นสไตล์การทำงานของคุณพ่อ ซึ่งอาจจะเป็นสายบู๊หน่อย ส่วนผมจะมาสายคุณแม่ที่มีความซอฟต์ เน้นการประนีประนอม ซึ่งข้อดีคือการได้เห็นมุมบู๊ๆ ของคุณพ่อ ก็ทำให้เราได้ปลุก Fighter Spirit ได้แรงบันดาลใจและแรงผลักดันในการมาทำธุรกิจมากขึ้น”
ตลอด 8 ปีที่เข้ามาช่วยบริหารธุรกิจครอบครัว เจบอกว่าได้เรียนรู้จากทุกบริษัท อย่าง Jas asset ก็ได้เข้าไปช่วยตอนช่วงที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ อยู่ 1-2 ปี ก่อนจะย้ายไปอยู่ J Venture บริษัทที่ลงทุนใน Fintech และสตาร์ทอัพเป็นหลัก
“การที่ไปเรียนรู้จากหลากหลายธุรกิจ ทำให้ได้ประสบการณ์เยอะ เพราะแต่ละธุรกิจก็ไม่เหมือนกัน การได้เจอคนหลายประเภท ทำให้ได้เรียนรู้ว่าเราต้องดีลกับคนประเภทไหน อย่างไร เพราะในเรื่องเนื้องาน เราได้จากการทำงานอยู่แล้ว แต่สิ่งที่มากกว่า Soft Skill อย่างการเจรจาต่อรอง การดีลงาน ยิ่งช่วงหลังๆ เรามีดีลเยอะ ผมได้เข้าไปอยู่ในกระบวนการที่ผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์ 20-30 ปีคุยกัน ก็ทำให้ได้เรียนรู้วิธีคิดว่าผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์เขาทำงานอย่างไร รู้วิธีที่จะเจรจา เพราะแต่ละคนมีคาแรกเตอร์ของตัวเอง”
เรียนรู้คาแรกเตอร์ที่หลากหลายมามาก แล้วถ้าถามว่า เจนิยามว่าตัวเองเป็นผู้บริหารสไตล์ไหน “ยังไม่ค่อยนิ่งนะครับ แต่ก็เริ่มมีทรง ฝั่งหนึ่งจะเป็นแนวใจดีๆ ซอฟต์ๆ แต่บางจังหวะก็ต้อง Push ต้องสู้ เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่คุณพ่อวางไว้ว่า แต่ละบริษัทต้องมีเติบโต 50% ทุกปี”
นอกจากธุรกิจในฝั่ง Jaymart เจยังเข้ามาดูแลร้านกาแฟคาซ่า ลาแปง เต็มตัวอีกด้วย
“ธุรกิจร้านกาแฟก็ไม่ง่ายครับ มีรายละเอียดเยอะ อย่าง คาซ่า ลาแปง มาอยู่กับเราเป็นปีที่ 4 แล้ว ช่วงแรกเรามีการปรับโครงสร้าง ปรับทิศทางอยู่พอสมควร เพื่อให้ คาซ่า ลาแปง เป็นมากกว่า SME แต่เป็นแบรนด์ที่ได้มาตรฐาน ซึ่งจุดเด่นของ คาซ่า ลาแปง คือ แบรนด์ดิ้งที่มีความพรีเมียม”
แน่นอนว่า การบริหารร้านกาแฟในช่วงที่เกิดโควิด-19 ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายไม่น้อย แต่ผู้บริหารหนุ่มก็สู้สุดใจ
“ตอนโควิด-19 เราก็มีการปรับเปลี่ยนหลายอย่าง เพราะที่ผ่านมา คาซ่า ลาแปง ขายทั้งกาแฟและอาหาร ซึ่งยอดขายอาหารมาจากการที่คนมาดื่มกาแฟที่ร้านแล้วสั่ง แต่พอพฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนมาสั่งเดลิเวอรี นึกถึง คาซ่า ลาแปง เขาก็นึกถึงแต่กาแฟ เพราะฉะนั้น ยอดขายอาหารเรา หายไปเลย ผมเลยปรับกลยุทธ์ด้วยการตัดอาหารออก หันมาโฟกัสกาแฟ เพื่อลดต้นทุนและค่าโอเปอเรชันให้ร้านไปต่อได้ และขยายสาขาไปได้ไวขึ้น”
ที่ผ่านมา คาซ่า ลาแปง มีทั้งเปิดและปิดสาขา แต่ในปี 2021 มีแผนกลับมาขยายอีกรอบ มีการรีโมเดลใหม่ ด้วยการทำสาขาขนาดเล็กลง แต่สามารถเข้าถึงลูกค้ามากขึ้น ทั้งในเมืองและปริมณฑล มีการเพิ่มเดลิเวอรี ฮับตามมุมเมือง และมีการเพิ่มความหลากหลายของกาแฟ เพื่อให้ลูกค้าสามารถดื่มกาแฟของ คาซ่า ลาแปง ได้ทุกวัน
นอกจากนี้ ยังมีการแท็กทีมไปกับ Jaymart ที่ทำเป็นดิจิทัลคาเฟ่ ขาย ทั้งมือถือ แกดเจ็ต และกาแฟ ซึ่งตอนนี้มีที่ เดอะมอลล์ ท่าพระ กับแฟชั่นไอส์แลนด์
ฉายภาพให้เห็นภาพของการทำงาน ที่ไม่ต้องบอกก็พอสัมผัสได้ถึงความเป็นหนุ่มที่ Work Hard แล้ว มาถึงไลฟ์สไตล์วันว่างบ้าง เจบอกว่า นอกจากจะต้องคอยติดตามข่าวเทคโนโลยี ศึกษาเทรนด์ใหม่ๆ จากต่างประเทศอยู่เสมอจนเป็นนิสัยที่ติดตัวมาตลอด วันว่างของเขา ขออุทิศให้กับการดูซีรีส์ ออกกำลังกาย และถ่ายรูป
“ผมชอบถ่ายรูป แต่ส่วนใหญ่จะถ่ายรูปอาหาร เพราะผมชอบกิน พอกินก็เลยต้องออกกำลังกาย ทั้งวิ่ง และเวทเทรนนิ่ง เพื่อดูแลรูปร่าง ส่วนงานอดิเรก แต่ก่อนผมสะสมดีไซเนอร์ทอย เช่น แบร์บริค (Bearbrick) สะสม 4-5 ปี มีเป็นร้อยตัว เพราะมองว่าเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง แต่หลังๆ เริ่มเลือกเอาแค่ที่ชอบ เพราะไม่มีที่เก็บ เปลี่ยนมาสะสมงานศิลปะแนวใหม่ ศิลปินที่ชอบก็อย่างเช่น Kaws, มิสเตอร์ ดู้ดเดิ้ล, Gongkan, ซันเต๋อ เป็นต้น
ส่วนเรื่องการท่องเที่ยว เจบอกว่า ตั้งแต่โควิด-19 ก็ไม่ค่อยได้ไปไหน ถ้าเป็นแต่ก่อน ชอบไปญี่ปุ่นกับภรรยา ส่วนคุณพ่อคุณแม่ผมชอบไปยุโรป ก็จะไปด้วยกันทั้งครอบครัว เวลาไปเมืองนอก ก็จะมีทริปทำงานที่ไปสำรวจตลาดใหม่ๆ เพื่อขยายสาขาคาซ่า ลาแปง หรือถ้าเป็นทริปท่องเที่ยว ก็จะไปดูเรื่องเทรนด์อาหาร และเทคโนโลยี อย่างเรื่อง Cashless หรือสังคมไร้เงินสด
“แต่ละประเทศที่เราไปก็เป็นผู้นำด้านอาหารอยู่แล้ว อย่าง ฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกา เกาหลี ญี่ปุ่น เราก็จะไปดูว่าเทรนด์อะไรกำลังฮิต เพื่อจะเอามาปรับใช้กับแบรนด์เรา หรืออย่างเทรนด์ Cashless ผมไปอเมริกาปีที่แล้ว แทบไม่ต้องใช้เงินสดเลย ซึ่งผมว่าเมืองไทยก็กำลังไปตามเทรนด์โลก ตอนนี้เราก็เริ่มเอามาปรับใช้กับธุรกิจ นอกจากเรื่องการจ่ายเงินผ่าน QR ยังมีเรื่องของ JFin Coin มาใช้ใน Ecosystem ของ Jaymart”
สำหรับเป้าหมายนอนาคต เจมองว่า นี่คือช่วงเวลาสำคัญที่เขาต้องเตรียมตัวให้พร้อมที่สุด สำหรับเข้ามาช่วยคุณพ่อดูแลธุรกิจในอนาคต
“ตอนนี้คุณพ่อยังไฟแรง มีอะไรใหม่ๆ มาตลอด อย่าง สองปีที่ผ่านมาโลกธุรกิจเปลี่ยนไว แต่ Jaymart ก็มีธุรกิจใหม่หลายตัว ดังนั้น ผมก็ต้องศึกษาให้ได้เยอะที่สุด และตามคุณพ่อให้ทัน เพื่อวันหนึ่งที่ต้องเข้าไปสานต่อ หรือวางกลยุทธ์กำหนดทิศทางธุรกิจ จะได้มีความพร้อมครับ” เจทิ้งท้าย
Comments are closed.