Event

วธ. ประกาศ 5 ผู้ชนะการประกวดออกแบบ “Batik City”

Pinterest LinkedIn Tumblr


สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ประกาศผล 5 ผู้ชนะการประกวดออกแบบเครื่องแต่งกายผ้าไทยร่วมสมัยชายแดนใต้สู่สากลหรือ “Batik City” มอบโล่รางวัลเกียรติยศ พร้อมเงินรางวัลรวม 160,000 บาท


อิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในการประกาศผลผู้ชนะการประกวดออกแบบเครื่องแต่งกายผ้าไทยร่วมสมัยชายแดนใต้สู่สากล “Batik City” ประจำปี 2564 ผ่านระบบออนไลน์ ภายใต้โจทย์ในการนำผ้าบาติกจากพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) และ 4 อำเภอของสงขลา (จะนะ เทพา นาทวี สะบ้าย้อย) ซึ่งเป็นเมืองแห่งบาติก มาเป็นวัตถุดิบในการออกแบบและตัดเย็บ ซึ่งมีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดมากถึง 319 ราย ก่อนที่จะคัดเลือกผลงานที่มีความโดดเด่น จนได้ผู้ชนะในรอบสุดท้ายจำนวน 5 ราย


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมกล่าวแสดงความยินดีกับผู้ชนะทั้ง 5 ราย พร้อมขอบคุณผู้ทรงคุณวุฒิในวงการแฟชั่นที่ให้เกียรติเป็นคณะกรรมการตัดสิน ได้แก่ ศิริชัย ทหรานนท์, อธิษฐ์ ฐิรกิตติวัฒน์, ธีระ ฉันทสวัสดิ์, พิสิฐ จงนรังสิน และเอก ทองประเสริฐ โดยหวังว่าผลงานของผู้เข้าประกวดทุกท่าน จะเป็นการจุดประกายให้เกิดการใช้ผ้าไทยจากชายแดนใต้ ที่มีความสวยงานในรูปแบบที่ร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น ทั้งยังเป็นการช่วยกันรักษามรดกทางวัฒนธรรมชาติต่อไปอีกด้วย


สำหรับรางวัลชนะเลิศ ที่คว้าโล่รางวัลเกียรติยศ พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท ได้แก่ ณัฏฐ์ทร อธิษฐ์จรุงชัย ภายใต้แนวคิด “Sunset Nostalgia” ผ่านการนำลายผ้าจาก สงขลาบาติก แรงบันดาลใจจากภาพถ่ายเงาพระอาทิตย์อัสดงยามเย็นบนทะเล ที่เกิดความแปรเปลี่ยนจากเขียวฟ้ามรกต ไปเป็นสีฟ้าเทา จนถึงน้ำเงิน Midnight Blue ตัดสีกับเฉดของแสงอาทิตย์ยามเย็นไล่ไปตั้งแต่ส้ม ไปจนถึงสีอมม่วง ผสานกับ โครงสร้างของเสื้อได้แรงบันดาลใจจาก Street Style แนว Cultural Twist ที่นำมาผนวกกับโครงเสื้อของขุนนางชั้นสูงญี่ปุ่นโบราณ และคุมภาพรวมให้ออกมาอยู่ในโทน Resort Collection ผสานด้วยเทคนิคบนผ้า ไม่ว่าจะเป็นการตัดต่อลายผ้าร่วมกับเทคนิค Piping ริบบิ้นในดีเทลเสื้อและรวมไปถึงการสร้าง Texture เพิ่มเติมบนผ้าบาติกด้วยลูกไม้และริบบิ้น โดยให้สมานกลืนไปกับเนื้อผ้าก่อนนำไปทำการลงสีย้อมบาติก ร่วมด้วยเทคนิคการวางลายด้วยกำมะหยี่บนผืนผ้า


รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับโล่รางวัลเกียรติยศ และเงินรางวัล 40,000 บาท ได้แก่ ภาณุพงษ์ คำดี โดยนำลายผ้าจาก บาติกเดอรารา , ซาโลมาปาเต๊ะ และมีดีที่นาทับ มาสร้างสรรค์ ภายใต้แนวคิด “MORE IN MORE” โดยนำความประทับใจจากวันฮารีรายอซึ่งเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่ของชาวมุสลิมมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบ


รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับโล่รางวัลเกียรติยศ และเงินรางวัล 30,000 บาท ได้แก่ ฬียฑา ชลิตณัฐกุล โดยนำที่มาของผ้าจากผู้ประกอบการ เก๋ผาติก มาออกแบบภายใต้แนวคิด “ความสวยงามของคนตาบอด” จากความทรงจำหรือจินตนาการที่แปลงเป็นภาพในความคิดได้ต่างๆ นานา


นอกจากนี้ ยังได้มอบรางวัลชมเชยอีก 2 รางวัลให้แก่ นภสร พานิชพัฒน์ ที่นำลายผ้ามาจาก รายาบาติก , เก๋ บาติก และ อาดือนันบาติก มาผสมผสาน ภายใต้แนวคิด “Ocean Currents” และ วรนนท์ วงษ์กิติโสภณ ที่นำลายผ้าจาก อาดือนันบาติก มาสร้างสรรค์ ภายใต้แนวคิด “Birth of Southern Thailand”


คุณค่าของผ้าไทยมีความสวยงามและเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ตกทอดมาอย่างยาวนาน นับเป็นศิลปะงานฝีมือชุมชนที่ทรงคุณค่าควรแก่การส่งเสริมให้นักออกแบบรุ่นใหม่มาร่วมสร้างสรรค์ เพื่อต่อยอดผ้าไทยพื้นเมืองให้ก้าวสู่ระดับสากลได้อย่างเต็มภาคภูมิ ขอเชิญผู้ที่สนใจเข้าชม Fashion Video ผลงานจาก 15 ดีไซเนอร์ที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายได้ทาง www.ocac.go.th หรือ YouTube และ Facebook Fanpage สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย

Comments are closed.

Pin It