ตอนนี้ทั้งคนดังทั้งมหาเศรษฐี มีของเล่นเป็นโซเชียลเน็ตเวิร์ก ‘เสียง’ แพลตฟอร์มใหม่ ชื่อว่า ‘คลับเฮาส์’
ถ้าจะอธิบายง่ายๆ ‘คลับเฮาส์’ ก็คล้ายๆ สถานีวิทยุ ที่อาศัยธรรมชาติแบบ ‘คลับ’ ก็คือ คนที่มีส่วนร่วมความสนใจในสิ่งเดียวกัน มี ‘โฮสต์’ สร้าง ‘ห้อง’ ขึ้นมาเชื้อเชิญสมาชิกเข้ามาพูดคุยในเรื่องที่ตัวเองสนใจ
ใน ‘คลับเฮาส์’ มีฟีเจอร์เหมือนอินสตาแกรม คือ สามารถติดตามผู้คนที่คุณชื่นชอบได้ และเขาก็สามารถจะติดตามคุณกลับได้ด้วย ถ้าเราเข้าไปร่วม ‘คลับ’ เราสามารถพูดคุยแสดงความคิดเห็นได้ด้วย ถ้า ‘โฮสต์’ เปิดโอกาส (เหมือนประธานรัฐสภาอนุญาตให้พูด–ประมาณนั้น) หรืออยากจะเข้าไปเป็นนักฟังที่ดีเฉยๆ ก็ได้
แอพนี้มันน่าตื่นเต้นยังไง ทำไมคนดังถึงอยากลองเข้าไปเล่น? มันเริ่มจาก อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีชาวอเมริกัน ‘เข้าร่วม’ กับ ‘คลับเฮาส์’ เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา แล้วเข้าไปพูดปลุกกระแสเรื่องมนุษย์ต่างดาว การใช้ชีวิตบนดาวอังคาร และเรื่องอื่นๆ เกี่ยวกับอวกาศ ทำให้ผู้คนมากมายหลั่งไหลเข้าไปใน ‘ห้อง’ ของเขา ซึ่งจุได้มากที่สุดคือ 5,000 คน — ปรากฏว่าเกิดอาการระบบล่มไปถึง 10 นาที แต่สักพัก ‘ห้อง’ ที่สมาชิกล้นทะลักเพราะมีคนสร้างชื่อว่า อีลอน มัสก์ ก็โผล่ขึ้นมาอีกหลายห้องให้คนเข้าไปฟังสิ่งที่เขาพูดกันได้
การมาของอีลอน มัสก์ เหมือนเป็นการช่วย ‘โปรโมท’ แอพฯ ‘คลับเฮาส์’ อย่างเป็นทางการ ซึ่งขณะนี้สามารถดาวน์โหลดกันได้เพียงในแพลตฟอร์มไอโอเอสเท่านั้น ยังไม่ได้มีการพัฒนาในแอนดรอยด์
‘คลับเฮาส์’ ยังปังต่อเนื่อง เมื่อในอีกวันต่อมา เจ้าพ่อเฟซบุ๊ก อย่างมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ยังต้องแวะเวียนเข้ามาบ้าง โดยเข้ามาพูดเรื่องเทคโนโลยี เออาร์ และวีอาร์ ยังมี “ห้อง’ ของนักการตลาดอย่าง กาย คาวาซากิ ที่ย้ายจากสังกัดแอปเปิ้ลมาอยู่ที่แคนวาเรียบร้อยแล้ว ก็กลายเป็นอีกห้องที่คนเบียดเสียดจนระบบจะล่ม
กาย คาวาซากิ ที่เทิดทูนต้นสังกัดเก่าของตัวเองมาก พอไม่สามารถที่จะเผยแพร่ความรู้เรื่องการตลาดของตัวเองต่อผู้ฟังได้ดังใจ ก็เลยเปรียบว่า แพลตฟอร์ม ‘คลับเฮาส์’ นี่ไม่เสถียรยังกับวินโดว์ 95 ไม่มีผิด
ในโซเชียลเน็ตเวิร์กทางเสียงนี้ ยังมีเรื่องสรรพเพเหระให้เข้าไปร่วมฟังอีกมากมาย ทั้งห้องการเมือง ที่มีคนหน้าเหมือนบารัก โอบามา กับโดนัลด์ ทรัมป์ มาร่วมตอบคำถามขำๆ ฮาๆ พวกโปรโมทซีรีส์ทางโทรทัศน์ก็มี ส่วนนักแสดงเกาหลี-อเมริกัน แดเนียล แด คิม อาศัยแพลตฟอร์มนี้มาพูดถึงอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง ท่ามกลางกระแสต่อต้านคนเอเชียในสหรัฐขณะนี้ ซึ่งก็มีบรรดาเซเลบริตี้และนักเคลื่อนไหวทางสังคมเข้ามาร่วมสนับสนุนมากมาย
นักเขียน/นักวิจารณ์ชื่อดังจากเดอะ นิว ยอร์กเกอร์ อย่างมัลคอล์ม แกลดเวลล์ ก็อาศัย ‘คลับเฮาส์’ เป็นช่องทางแสดงออกถึงมุมมองของเขาที่มีต่อหนังสือใหม่ของ อดัม แกรนต์ Think Again แล้วก็ยังมีห้องเก๋ๆ ที่รวมนายทุนที่มีคอนเนคชั่นบนสื่อทีวี อย่างเควิน โอเลียรี บาร์บารา คอร์โครัน และเดย์มอนด์ จอห์น ที่ส่วนใหญ่ก็เข้ามาโปรโมทรายการของตัวเอง แต่ถ้ามองในมุมกลับกันสำหรับคนที่มีไอเดีย ก็อาจจะเข้าไปนำเสนอผลงานของตัวเองได้
สำหรับการเป็นโซเชียลเน็ตเวิร์กที่เน้นการสื่อสารผ่านเสียงเป็นหลัง ทำให้กำแพงหลายๆ อย่างถูกทำลายลงไป ต่างจากแอพฯ อื่นๆ ที่เห็นหน้า สำหรับคนที่หวงแหนความเป็นส่วนตัวก็อาจจะไม่ค่อยสะดวกใจเท่าไหร่ในการพูดคุยกับคนแปลกหน้า แต่กับ ‘คลับเฮาส์’ เพื่อนร่วม ‘ห้อง’ จะไม่เห็นหน้าของคุณ เขาจะตัดสินคุณผ่านน้ำเสียง สำเนียง และวาจาเท่านั้น
หลังจากที่อีลอน มัสก์ เข้ามาเป็นสมาชิก ทำให้ ‘คลับเฮาส์’ ขยายสู่เอเชีย มาที่ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย และญี่ปุ่นอย่างรวดเร็ว แถมบรรดาสมาชิกยังช่วยกันแปลภาษาที่ไม่คุ้นเคยทั้งหลาย อย่างภาษาจีนเป็นภาษาอังกฤษ ทำให้โลกตะวันตกและตะวันออกสื่อสารกันได้เข้าใจกันมากขึ้น
ลองจินตนาการว่า ‘คลับเฮาส์’ ฝั่งเอเชีย หาก ลีกาซิง เข้ามาเปิดห้อง ‘ทอล์ค’ เรื่องการประสบความสำเร็จเป็นมหาเศรษฐี หรือ อาเดรียน เช็ง มาเล่าเบื้องหลังของธุรกิจอัญมณีและอสังหาริมทรัพย์ของเขา ห้องก็คงจะระเบิดไม่แพ้กรณีอีลอน มัสก์ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก และกาย คาวาซากิ เป็นแน่แท้
ลองหาดู อาจจะมีโปรแกรมแบบนี้แล้วก็ได้นะ ชาว ‘คลับเฮาส์’
Comments are closed.