“นักอนุรักษ์ ไม่ใช่แค่ตำแหน่ง แต่เราแค่รักอะไร ก็ไม่อยากทำร้ายสิ่งนั้น” นี่คือความในใจส่วนหนึ่งของ “ทราย-สิรณัฐ สก็อต” ทายาทรุ่นที่ 4 ของ ‘บุญรอดบริวเวอรี่’ หลานชายของ นิดหน่อย-จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี อีกคนหนุ่มอนาคตไกลที่เปี่ยมไปด้วยแพสชั่นที่อยากจะปกป้องท้องทะเลไทย จนเมื่อหลายปีก่อนตัดสินใจก่อตั้ง Sea You Strong เพื่อรณรงค์และปลูกจิตสำนึกให้อนุรักษ์ท้องทะเลไทย ด้วยการลงพื้นที่จัดกิจกรรม ให้ความรู้แก่เยาวชนและชาวบ้าน พร้อมขยายวงกว้างทำงานร่วมกับภาครัฐ และเหล่าจิตอาสา กระทั่งล่าสุด ภารกิจในการอนุรักษ์ทะเลของทราย กำลังก้าวไปอีกขั้น เมื่อเขาได้รับโอกาสให้มารับหน้าที่เป็น “ที่ปรึกษาอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ”
ทรายเป็นลูกครึ่งไทย-สก็อตแลนด์ มีพี่ชาย 1 คนคือ “พาย-สุนิษฐ์ สก็อต” สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านแอนิเมชั่น ภาพยนตร์และวิดีโอจาก California Institute of the Arts สหรัฐอเมริกา ก่อนหน้านี้ ทรายกลายเป็นที่พูดถึงบนโลกโซเชียล เมื่อเขาตัดสินใจสานฝันตัวเอง ด้วยการว่ายน้ำข้ามทะเล อ่าวนาง-เกาะปอดะ แบบไป-กลับระยะทางกว่า 30 กม. จนได้รับการยกย่องว่าเป็น “อควาแมนเมืองไทย” นอกจากนี้ เขายังเคยนำเสนอหนังสั้นเรื่อง ‘Merman’ โดยรับบทเป็นมนุษย์เงือกเอง เพื่อเล่าเรื่องความสวยงามและความมืดมนใต้ท้องทะเล
ย้อนไปสู่จุดเริ่มต้นที่ทำให้ทรายหลงรักทะเล เขาบอกว่าผูกพันกับทะเลมาตั้งแต่เด็ก และเชื่อว่าทะเลคือหัวใจของสังคมมนุษย์
“ทรายรู้สึกว่าเข้าใจทะเล โดยไม่ต้องพยายาม การว่ายน้ำ สำหรับทรายจะเรียกว่าเป็นพรสวรรค์ก็ได้ ฉะนั้น เวลามีใครถามว่าว่ายน้ำในทะเลไม่หลงทางเหรอ ทรายก็ไม่รู้ แค่รู้สึกว่ามันเหมือนเป็นชาติพันธุ์ หรือดีเอ็นเอบางอย่างในตัว”
ส่วนการมาทำงานอนุรักษ์ทะเลจริงจัง ทรายบอกว่าเพิ่งเริ่มได้ 3-4 ปี ช่วงที่ทั่วโลกเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ทุกคนเห็นความสำคัญกับการอยู่กับธรรมชาติ
“ทรายคิดว่าเราทุกคนต้องมีเสียงของตัวเอง ทุกเรื่องราวหรือปัญหาของเรา มันคือความรับผิดชอบของเรา อย่างปัญหาที่เกิดกับมหาสมุทร ทรายมองว่ามันเป็นเรื่องจริง ที่ไม่มีวันหายไปไหน และนับวันมีแต่จะแย่ลง ดังนั้น ทรายคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง ที่ผ่านมา ทรายไม่เคยมองว่าเป้าหมายที่อยากจะปกป้องทะเลใหญ่เกินไป ทรายไม่ได้พูดให้ฟังดูเท่นะครับ แต่ทรายเชื่อว่า ถ้าสิ่งที่ทำนั้นถูกต้อง ที่สุดเราก็จะชนะจนได้”
สำหรับบทบาทล่าสุด ที่ได้มาเป็นที่ปรึกษาอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ ทรายยอมรับว่าเป็นงานที่ตอบโจทย์และเกินฝัน
“ผมไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะได้มาทำงานนี้ ดังนั้น การได้มาอยู่ตรงนี้ ก็รู้สึกขอบคุณมากๆ แม้เนื้องานหลักๆ อาจจะไม่ได้แตกต่างจากก่อนหน้านี้ แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ ทรายได้มีโอกาสนำสิ่งที่ได้พบเจอไปเล่าให้ผู้ใหญ่ฟัง ได้เข้าไปอยู่ในระบบการทำงาน และช่วยสื่อสารเรื่องทะเลได้เข้มข้น เพราะเวลาลงพื้นที่ ทรายจะใช้วิธีว่ายน้ำสำรวจเกาะหรือทะเล แทนที่จะนั่งเรือเข้าไป ทำให้เข้าใจทะเลได้ดียิ่งขึ้น อารมณ์เหมือนคนที่ไปเดินสยามพารากอนจริงๆ แล้วมาเล่า ไม่ใช่แค่ขับรถผ่าน”
ด้วยความที่ทำงานด้านอนุรักษ์ทะเลมาต่อเนื่อง และ 2-3 ปีที่ผ่านมา ยังมีโอกาสทำงานกับทางอุทยานฯ มาตลอด เพราะเวลาไปทะเลเขาไม่ได้แค่ไปชื่นชมความสวยงาม แต่จะถือโอกาสสำรวจขยะไปด้วย เพื่อเก็บข้อมูลและไปรายงานกับทางอุทยานฯ และในที่สุด ก็ได้มาร่วมงานกันและสานต่อแพสชั่นที่อยากจะปกป้องทะเล
ปัจจุบันทรายอาศัยอยู่ที่ภาคใต้เป็นหลัก ซึ่งไม่ได้เป็นอุปสรรคเพราะก่อนหน้านี้เขาก็ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่กระบี่ แต่พอมารับหน้าที่นี้ อาจจะต้องตระเวนไปจังหวัดต่างๆ ทั้งภูเก็ต และพังงา โจทย์ในการทำงานแต่ละวัน ก็ไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับปัญหาหน้างานและฤดูกาล แต่ที่แน่ๆ ออฟฟิศของทรายคือท้องทะเลที่เขารัก จนทำให้เขาคิดว่าจะทำงานนี้ไปอีกนาน เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมในทะเลเกิดขึ้นทุกวัน ที่สำคัญ ยังมีอีกหลายอย่างที่ต้องผลักดัน และอาศัยความร่วมมือของหลายภาคส่วน เพื่อปกป้องท้องทะเลไทย
“หน้าที่ของผมตอนนี้คือ ไม่ว่าอะไรก็ตาม ที่เกี่ยวกับทะเล เกาะ หรือเกี่ยวกับอุทยานทางทะเล ผมทำหมด หลังจากเริ่มงานได้ 3-4 เดือน ผมตระเวนไปลงพื้นที่มาแล้ว 52 เกาะ ได้ทำหลายอย่าง ตั้งแต่ไปดูความเป็นอยู่ของเจ้าหน้าที่ ผลักดันให้มีการทำประกันภัยใต้ทะเล ช่วยเป็นปากเสียงให้กับชาวบ้าน รวมทั้งนำสิ่งที่พบเห็นมานำเสนอ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบจัดการต่างๆ”
หนึ่งในตัวอย่างภารกิจที่ทรายได้ลงมือทำคือ การลงพื้นที่อ่าวปิเละ เกาะพีพี ซึ่งด้วยปัจจัยหลายๆ อย่างทำให้สภาพอ่าวมีปัญหา ความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวอาจจะยังไม่ดีเท่าที่ควร ทรายเลยมีโอกาสทำงานร่วมกับหัวหน้าอุทยาน อธิบดี เพื่อวางแผนการจราจร
“ก่อนจะเข้าไปบริหารจัดการได้ ก็ต้องไปลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูล ดูหน้างาน ไปพูดคุยกับเรือทุกลำ จะได้มาปรับกระบวนการทำงานและให้คำแนะนำได้ถูกจุด หรืออย่างที่สิมิลัน ทรายก็ไปว่ายน้ำ สำรวจรอบเกาะ ไม่ใช่แค่เฉพาะจุดที่นักท่องเที่ยวไปดำน้ำ ผมว่ายไปแล้วให้เรือขับตาม ช่วยมาร์กตามจีพีเอสว่า มีขยะตรงไหน จะได้ตามไปเก็บภายหลังได้”
นอกจากงานหลักที่ดูเหมือนจะรัดตัว ทรายบอกว่า สำหรับโปรเจกต์พิทักษ์ทะเลอื่นๆ ที่ทำก่อนหน้านี้ก็ยังทำอยู่
“อย่างที่บอก เนื้องานทุกอย่างเป็นเรื่องเดียวกันหมด การมารับหน้าที่ตรงนี้อาจจะยุ่งขึ้น แต่มีความสุข จนทำงานแบบไม่ได้มีวันหยุดแน่นอน บางครั้งเสาร์-อาทิตย์ก็ไปลงพื้นที่ จะได้ไปเจอนักท่องเที่ยว แต่ทรายจะหยุดในวันที่รู้สึกเหนื่อย”
สำหรับอนาคต ทรายยังมีความสุขที่จะปกป้องทะเลแบบนี้ไปเรื่อยๆ แม้รู้ดีว่าขยะในทะเลที่เก็บจะไม่มีวันหมด
“ทรายมองว่า สิ่งที่เราทำก็ไม่ต่างจากคนกวาดขยะบนถนน ทรายเคารพพวกเขามาก หลายครั้งที่พวกเขาอาจจะโดนดูถูกว่างานที่ทำสกปรก ต้องเก็บขยะ แต่ทรายกลับมองว่า คนที่สกปรกคือคนที่สร้างขยะแล้วต้องให้คนอื่นมาตามเก็บกวาดมากกว่า”
อย่างไรก็ตาม นอกจากภารกิจพิทักษ์ทะเล ในยามว่าง ทรายยังชอบปีนเขาและกีฬาเอ็กซ์ตรีมต่างๆ เวลาว่าง เขาชอบท่องเที่ยว โดยหนึ่งในจุดหมายที่ต้องไปเยือนแทบทุกทริปคือ การไปว่ายน้ำชมความงามของทะเลในประเทศต่างๆ รวมถึงการไปลงแข่งขันว่ายน้ำในทะเลเปิด ที่สหรัฐฯ อิตาลี สเปน อียิปต์ และปีนี้ตั้งเป้าจะไปแข่งที่ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น และเยอรมนี และปลายปีนี้คิดว่าอยากไปเปิดประสบการณ์ที่ขั้วโลกเหนือ ซึ่งได้ยินเรื่องปรากฏการณ์น้ำแข็งละลายจากภาวะโลกร้อนมาตลอด จึงอยากไปสัมผัสและเรียนรู้ด้วยตาตัวเอง
“พอมาสนใจงานด้านการอนุรักษ์ เวลาไปเที่ยวผมจะไปดูวิธีการบริหารจัดการของแต่ละประเทศ เพื่อเก็บข้อมูลกลับมาวิเคราะห์ด้วย ยกตัวอย่างญี่ปุ่น เขาก้าวหน้าในการจัดการขยะก็จริง แต่รู้หรือไม่ว่า ที่โตเกียวมีเตาเผาขยะ 9 เตา เทียบกับกรุงเทพฯ มี 1 เตา ซึ่งสะท้อนว่า แม้ว่าบ้านเมืองเขาจะสะอาด แต่ก็มีการสร้างขยะในแต่ละวันมหาศาลเช่นกัน”
นอกจากกิจกรรมยามว่างที่ยังหนีไม่พ้นภารกิจของนักอนุรักษ์ ในแง่การใช้ชีวิต ทรายก็ยังไม่ทิ้งดีเอ็นเอของการเป็นสายรักษ์โลก เริ่มตั้งแต่เรื่องพื้นฐาน อย่าง การใช้ถุงผ้า การแยกขยะ รวมไปถึงการเลือกซื้อเสื้อผ้า หรือของใช้จากแบรนด์ที่มีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการปรับพฤติกรรมการกิน เลือกไม่กินอาหารทะเล บางมื้อก็กินคลีนหรือกินเจ
“จากการที่ได้ไปท่องเที่ยวมาเยอะ ผมว่าทรัพยากรทางทะเลของไทยสวยไม่แพ้ใคร และรู้เลยว่าทำไมใครๆ ก็อยากมาเที่ยว ผมคิดว่าทั่วโลก ก็มีปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ต่างกัน อย่าง การลักลอบล่าสัตว์ ทำประมง การท่องเที่ยวที่ทำลายทรัพยากร แต่อย่างน้อยผมมองว่าด้วยความที่ประเทศเป็นเมืองพุทธ คนไทยก็มีพื้นฐานจิตใจที่ดี ดังนั้น เวลาพูดเรื่องอนุรักษ์ จะเข้าถึง เข้าใจง่ายกว่า แต่ต้องมีคนมาวางระบบ ทำให้จูงใจ มีคนที่ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง หรือมีกิจกรรมมาส่งเสริม”
ส่วนตัวของทรายเอง แม้จะเป็นทายาทตระกูลภิรมย์ภักดี เขาไม่ได้ปิดกั้นว่า จะเอาดีด้านการอนุรักษ์อย่างเดียว แต่พร้อมทำทุกอย่างให้เป้าหมายการอนุรักษ์ทางทะเลสำเร็จ
“สิ่งที่อยากฝากไว้คือ การดูแลสิ่งแวดล้อมต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย และทุกระดับ สำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ อาจจะต้องกลับมาบทวนว่า ธุรกิจที่ทำจะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร เพราะอย่าลืมว่าธุรกิจที่ทำเงินมหาศาล ล้วนมาจากทรัพยากรในประเทศ ส่วนชนชั้นกลาง ก็ต้องตระหนักว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทีละน้อย ก็สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ เช่น การปฏิเสธไม่ใช่หลอด หรือหันมาใช้ถุงพลาสติก” ทรายกล่าวทิ้งท้าย
Comments are closed.