Interview

“สิรินดา ปรีชาวิทยากุล” เจนฯ 2 Senada อัปลุคแฟชั่นให้กลับมาเปรี้ยงปร้าง!

Pinterest LinkedIn Tumblr


ถ้าลองหลับตาแล้วลิสต์ชื่อแบรนด์ไทยระดับตำนาน เชื่อว่าหนึ่งในนั้นต้องมีชื่อของ “Senada*” ภายใต้การสร้างสรรค์ของ “ชนิตา ปรีชาวิทยากุล” ดีไซเนอร์ไทยระดับแนวหน้า ผู้คร่ำหวอดในวงการแฟชั่นมาอย่างยาวนานถึง32 ปี Senada* ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากมาย แถมยังมีผู้บริหารเจนฯ สองอย่าง “ลินน์-สิรินดา ปรีชาวิทยากุล” มาเสริมทัพ​​ รับบทซีอีโอ ช่วยปลุกปั้นแบรนด์ให้เติบโต

“ลินน์ผูกพันกับแบรนด์มาตั้งแต่เด็ก เพราะปีที่ลินน์เกิดคือปีที่คุณแม่ตั้งแบรนด์ Senada* คุณแม่เคยเล่าให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นที่มาทำแบรนด์ เพราะค้นพบว่า ตัวเองมีแพสชั่นเรื่องแฟชั่น ถึงจะไม่ได้เรียนจบสายแฟชั่นมาก็ตาม เพราะคุณตาคุณยายอยากให้ลูกๆ เรียนสายวิทย์ สุดท้ายคุณแม่จึงเลือกเรียนด้านเคมี พอเรียนจบก็ทำงานตรงสายอยู่พักหนึ่ง จนค้นพบว่า ตัวเองชอบด้านแฟชั่น บวกกับตอนนั้นตั้งท้องลินน์พอดี เลยลาออกจากงานประจำ มาเรียนรู้การทำแพตเทิร์น และเริ่มสร้างแบรนด์”


ด้วยจุดเริ่มต้นนี้เอง ทำให้ลินน์เติบโตมาพร้อมกับแบรนด์ Senada* ได้เห็นการเปลี่ยนผ่านของแบรนด์ตั้งแต่ยุค Senada* จะที่ภาพลักษณ์ของ มีความเป็นอินเตอร์เนชันแนลแบรนด์ มีการจัดแฟชั่นโชว์ที่ปารีส ส่งสินค้าไปขายในต่างประเทศ จนตอนหลังกระแสดีไซเนอร์ไทยในบ้านไทยเริ่มบูม

“จุดที่รู้สึกว่า Senada* เป็นที่รู้จักมากๆ คือตอนที่ลินน์เข้าสู่วัยรุ่น และเพื่อนๆ มาซื้อผ้าพันคอของ Senada* ไปใช้ เป็นโมเมนต์ที่เราเองภูมิใจและดีใจมากๆ” ลินน์ย้อนวันวานอย่างอารมณ์ดี ก่อนเสริมว่าแม้จะคลุกคลีกับแบรนด์มาตลอด แต่ลินน์กลับไม่เคยวาดภาพอนาคตว่า วันหนึ่งเธอจะมารับช่วงต่อธุรกิจของคุณแม่


“พอเริ่มโต ลินน์ก็จะมาช่วยคุณแม่เวลามีอีเวนต์ หรืองานใหญ่ๆ แต่ลินน์ไม่เคยคิดว่าจะมาทำงานที่แบรนด์แบบเต็มตัว เพราะรู้สึกตัวเองไม่ได้มีพรสวรรค์ด้านอาร์ต ทั้งที่คุณพ่อก็เป็นสถาปนิก คุณแม่ก็เป็นดีไซเนอร์ ซึ่งมาสายอาร์ตทั้งคู่ ดังนั้น พอตอนเลือกเรียนต่อมหาวิทยาลัยเลยฉีกแนวไปเรียนสายธุรกิจ เรียนจบ BBA จากธรรมศาสตร์ สมัยเรียน ลินน์ชอบศึกษาพวกเคสธุรกิจเลยไปเดินสายประกวดเยอะ พอเรียนจบก็ไปทำงานเป็นที่ปรึกษา โฟกัสด้าน Retail Consulting”

หลังจากสั่งสมประสบการณ์ทำงานนอกบ้านได้ราว 2 ปี แผนชีวิตที่ลินน์วางไว้ก็ต้องเปลี่ยนอีกครั้ง เมื่อธุรกิจของครอบครัวต้องการทายาทเข้ามาช่วยสานต่อ “พอทำงานได้ 1-2 ปี ที่บ้านก็เริ่มถามถึงแผนอนาคต คุยกันไปถึงขั้นว่าใครจะรับช่วงต่อแบรนด์ของคุณแม่ ตอนแรก ลินน์ก็ยังไม่ได้กลับมาเต็มตัว แต่มาช่วยคุณแม่แบบพาร์ทไทม์ แต่ทำไปทำมา ก็มานั่งแท่นเป็นซีอีโอเต็มตัว”

ผ่านมา 8 ปี ลินน์ยอมรับการเปลี่ยนผ่านธุรกิจจากยุคหนึ่งมาอีกยุคหนึ่ง เป็นเรื่องที่ค่อนข้างท้าทาย อย่างที่หลายคนรู้ว่า กระแสแฟชั่นไทยหลังๆ เริ่มแผ่ว ไม่เหมือนยุคที่มีการสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆ อย่าง “โครงการกรุงเทพฯ เมืองแฟชั่น” หรือการที่ดีไซเนอร์ไปขยายตลาดต่างประเทศ อย่างลินน์เอง ตลอด 8 ปีที่ผ่าน ถือเป็นช่วงที่ Senada* พยายามศึกษาแนวทางใหม่ๆ ลองจับตลาดใหม่ๆ จนตอนนี้แบรนด์เริ่มนิ่งและแข็งแรงพอที่จะกลับมาอีกครั้ง​”


การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดของแบรนด์ นอกจากการขยายตลาดใหม่ๆ เพิ่มเติมจากยุโรป อเมริกา คือประเทศจีน รวมถึงการขยายช่องทางออนไลน์ ทั้งของแบรนด์เอง โซเชียลคอมเมิร์สและอีคอมเมิร์ซต่างๆ ควบคู่ไปกับการทำงานกับลูกค้าในฝั่งคอร์ปอเรต

“บางคนอาจจะมองว่า แฟชั่นไทยเป็น sunset business หรือธุรกิจที่อยู่ในช่วงขาลง แต่ในฐานะคนที่อยู่ในวงการ เรารู้ดีว่าทุกคนที่อยู่ในวงการนี้ทำงานหนักแค่ไหน กว่าจะสร้างสรรค์แต่ละคอลเลกชันออกมา ซึ่งถ้าไปดูในฝั่งตลาด จริงๆ แล้วไม่ได้ซบเซา แต่มีการแข่งขันที่สูงมาก เห็นได้จากแต่ละปีมีแบรนด์ใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ทำให้โจทย์ของธุรกิจยิ่งท้าทาย พอมาเจอโควิด -19 ยิ่งทำให้เรารู้ว่า ตลาดแค่ในประเทศไทยอาจไม่พอ และเราเชื่อว่าด้วยเอกลักษณ์ของแบรนด์ไทยที่ชัดมาก มีศักยภาพพอที่จะไปเจาะตลาดต่างประเทศ อย่าง Senada* ด้วยความที่เรามีประสบการณ์ มีผ้าที่หลากหลาย ตั้งแต่ ทั้งผ้าฝ้าย, โพลีเอสเตอร์​ และผ้าวูล ทำให้เราขยายตลาดไปเจาะต่างประเทศได้ ด้วยการพัฒนาคอลเลกชันที่ตอบโจทย์ฤดูหนาว อย่าง โค้ด หรือ เดรสผ้าวูล เป็นต้น”


ส่วนการที่ได้มาทำงานร่วมกับคุณแม่นั้น ถือว่าราบรื่น มีการแบ่งงานชัดเจน “คุณแม่เป็นสายอาร์ติสต์ แต่มีความรู้ทางวิทย์ ดังนั้น การเลือกผ้า กระบวนการผลิตต่าง คุณแม่จะชำนาญ ดังนั้น พอลินน์เข้ามาทำ ลินน์ก็จะคุยกับคุณแม่ว่า​ งานไหนที่แม่รู้สึกว่าไม่สนุก แต่ลินน์สนุก เดี๋ยวลินน์มาทำเอง โดยที่เรายังทำในส่วนออกแบบคอลเลกชัน เพราะถึงลินน์จะมาดูฝั่งบริหาร การขายก็จริง แต่เราก็ต้องเข้าใจเรื่องทิศทางการออกแบบ ผ้าที่ซื้อต้องเป็นอย่างไร เทรนด์ตอนนี้เป็นอย่างไรอยู่ดี”

ถามถึงความกดดันในการเป็นทายาทที่เข้ามารับช่วงต่อ ลินน์บอกว่า “เราไม่ใช่ Self Made แต่เป็นทายาทที่เข้ามาสานต่อธุรกิจให้ดีขึ้น ลินน์เชื่อว่าทุกอย่างไม่มีอะไรที่ได้มาง่ายๆ แม้แต่งานในสายแฟชั่น ที่คนนอกอาจจะมองว่าเป็นงานที่สนุก ได้อยู่กับของสวยๆ งามๆ แต่เบื้องหลังคือ เราอยู่ในธุรกิจที่ขาย Emotion ฉะนั้น ในช่วงที่เป็นปีที่มีวิกฤติ คนไม่จับจ่าย การที่เราไม่ใช่สินค้าจำเป็น เราก็เหนื่อย อย่างช่วงโควิด​เราต้องอุ้มบริษัทและแบรนด์ เพราะกำลังซื้อหาย จะส่งออกก็ไม่ได้​นักท่องเที่ยวก็ไม่มา”

อย่างไรก็ตาม แม้ขึ้นชื่อว่าโลกธุรกิจไม่มีคำว่าง่าย แต่บทเรียนจากการทำงาน สอนให้รู้ว่า ไม่ว่าจะทำอะไร เราต้องศึกษาให้ลึกซึ้ง ถ้าไม่รู้ ให้บอกไม่รู้ คนที่รู้จะได้สอน การทำงานต้องพร้อมจะเปิดรับให้มากที่สุด เพราะจะทำให้เราได้มุมมองใหม่ๆ และไอเดียดีๆ ที่อาจจะคาดไม่ถึง​”


ไหนๆ ก็มาชวนคุยกับผู้บริหารสาวที่โลดแล่นอยู่ในวงการแฟชั่นทั้งที เลยอดสงสัยไม่ได้ว่า ตัวเธอเองมีนิยามสไตล์การแต่งตัวไว้อย่างไร?

“ลินน์แต่งตัวแนว​ Smart แบบ Feminine คือไม่ได้แต่งตัวแบบเท่สุด แต่จะมีความหวานซ่อนอยู่นิดๆ บางครั้งก็คุมโทนขาวดำ แต่บางมุมก็ชอบสีสันจัดจ้าน ที่ไม่ใช่สีพาสเทล แต่ใส่สีแรงๆ ตัดกัน เลยเป็นที่มาว่า คอลเลกชันหลังๆ ของ Senada* จะมินิมอลน้อยลง ไม่หวาน เป็นระบายฟรุ้งฟริ้งเหมือนแต่ก่อน ซึ่งนอกจากจะสะท้อนตัวตนของเรา ยังตอบโจทย์ลูกค้าของ Senada* ที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม Self Made ผู้หญิงทำงาน เช่น หมอ ทนายความ ซึ่งเราก็พยายามตีโจทย์ว่าลูกค้ากลุ่มนี้แต่งตัวแบบไหน เพื่อให้คอลเลกชันของเราตอบโจทย์ได้ในทุกวัน ใส่แล้วมั่นใจ มีความน่าเชื่อถือ ไม่ว่าจะใส่ไปทำงานหรือวันหยุด”


ส่วนไลฟ์สไตล์วันว่าง ลินน์กล่าวทิ้งท้ายว่า งานอดิเรกใหม่ของเธอ คือ การเรียนตีเทนนิส “จุดเริ่มต้นมาจากสามี ชวนไปเล่น แต่ลินน์ตีไม่เป็น เลยไปลองเรียนแล้วชอบ เลยเรียนยาว ถือเป็นการออกกำลังกายไปในตัว อีกกิจกรรมที่ชอบไม่แพ้กันคือ อ่านหนังสือ และหาความรู้เพิ่มเติม อย่างตอนนี้ที่อินเป็นพิเศษคือ เรื่องความยั่งยืน การลดคาร์บอน (Decarbon) อย่าง Senada* เองเราก็ให้ความสำคัญ โดยก่อนหน้านี้เรามีคอลเลกชันที่คัดสรรเฉพาะผ้าที่ได้รับการรับรองมาตรฐานระดับสากล FSC (Forest Stewardship Council) หรือมาจากแหล่งทรัพยากรป่าไม้ที่มีการบริหารจัดการป่า ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม คงไว้ซึ่งความสมดุลของระบบนิเวศน์ ควบคู่ไปกับการยังประโยชน์ให้แก่ทั้งชุมชนท้องถิ่น นอกจากนี้ เรายังมีบริการรับซ่อมให้ลูกค้า สามารถนำเสื้อผ้าคอลเลกชันเก่าของเรามาซ่อม เพื่อเป็นการลดการสร้างขยะอีกด้วย”

Comments are closed.

Pin It