Interview

“วิทยาลัยผู้ประกอบการ” คำตอบสำหรับไลฟ์สไตล์การทำงานของคนรุ่นใหม่ ฟันเฟืองที่ช่วยขับเคลื่อนอนาคตสังคมแห่งธุรกิจ

Pinterest LinkedIn Tumblr

ดร.ภูษิต วงศ์หล่อสายชล และ ดร.พีรพงษ์ ฟูศิริ
การศึกษาในความคิดเดิมๆ ในอดีตที่พ่อแม่ เน้นอยากให้ลูกๆ เรียนสายวิชาการ อยากให้ทำอาชีพหมอ ข้าราชการ เป็นพนักงาน ลูกจ้าง ด้วยเหตุผลอย่างความมั่นคงในอาชีพ แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันอย่างวิกฤตโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน การโดนลดเงินเดือน ให้หยุดงานโดย Leave without pay ไปจนถึงการลดหรือปลดคนงาน อีกทั้งการนำเสนอรูปแบบการเกษียณก่อนวัย ก็มีให้เห็นกันในแทบทุกวงการ เป็นหลักฐานอย่างหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าการทำงานในองค์กรใหญ่ใช่จะมั่นคงเสมอไป
สอดคล้องกับแนวคิดของคนรุ่นใหม่สมัยนี้ ล้วนไม่อยากเป็นลูกจ้าง และอยากเป็นเจ้านาย สร้างธุรกิจของตัวเอง ที่คุณสามารถปรับตัวได้ มีความยืดหยุ่น ใช้ความสามารถพลิกวิกฤตเป็นโอกาสได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องพึ่งระบบหรือรอโอกาสจากองค์กร แต่คุณจะก้าวเดินไปบนเส้นทางของการเป็นเจ้าของธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้อย่างไรหากขาดซึ่งประสบการณ์และคำชี้แนะ

คำตอบคือ “วิทยาลัยผู้ประกอบการ” ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่พร้อมจะสร้างผู้ประกอบการตั้งแต่ในวัยเรียน ผลักดันให้ก้าวสู่ความสำเร็จได้อย่างรวดเร็วขึ้นโดยไม่ต้องลองผิดลองถูกเองให้เสียเวลา ซึ่งจะทำได้อย่างไรนั้น ดร.พีรพงษ์ ฟูศิริ รองอธิการบดี ฝ่ายสื่อสารการตลาด และ ดร.ภูษิต วงศ์หล่อสายชล อาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ ซึ่งได้มีบทบาทในการบริหารจัดการรูปแบบการเรียนการสอน และเป็นผู้ที่เคยอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของวิทยาลัยผู้ประกอบการ ของมหาวิทยาลัยหอการค้า จะมาถ่ายทอดให้ฟังกัน

ดร.พีรพงษ์ ฟูศิริ และ ดร.ภูษิต วงศ์หล่อสายชล
“การเป็นผู้ประกอบการไม่ใช่ว่าจะไม่มีอนาคต ไม่มั่นคง เพราะที่จริงแล้วมันกลับเป็นโอกาสที่ให้คุณได้เติบโตได้เร็วกว่า ก้าวได้ไกลกว่า ยิ่งถ้าคุณเก่ง คุณมีความสามารถ ยิ่งไปได้ไกลกว่าการอยู่ในองค์กร หรือเป็นลูกจ้างเขา หลายเท่าเลย แถมในวิกฤตแบบนี้ เป็นลูกจ้าง พนักงาน ก็ใช่ว่าจะมั่นคง ในขณะที่ด้วยการมีจิตสำนึกความเป็นผู้ประกอบการ ถ้ารู้จักปรับตัวเร็ว รู้จักพลิกแพลง ก็สามารถทำให้รอดได้ หรือสามารถเจริญเติบโตทางธุรกิจได้อีกด้วยถ้าจับทางตลาดได้ถูกทาง” ดร.ภูษิตกล่าว

เพราะเล็งเห็นถึงความสำคัญตรงจุดนี้ “วิทยาลัยผู้ประกอบการ” จึงได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 2557 โดย ดร.พีรพงษ์ ได้อธิบายถึงเรื่องนี้ว่า “เรายกระดับจากกลุ่มวิชาสาขาขึ้นมาเป็นวิทยาลัย เพื่อที่จะได้ดึงศักยภาพของเด็กให้ออกมาได้อย่างเต็มที่ เขาจะได้เริ่มต้นการเรียนรู้การเป็นผู้ประกอบการตั้งแต่วันแรกที่ก้าวเข้ามา แทนที่จะเป็นแค่วิชาเอกหรือวิชาเลือก ที่กว่าจะได้เรียนจริงจังก็ต้องรอถึงปี 3 หรือ ปี 4 เสียเวลาเป็นปีๆ ไปกับวิชาพื้นฐานอื่นๆ ที่ไม่ตอบโจทย์ สำหรับคนที่มีความตั้งใจที่อยากจะเป็นผู้ประกอบการ

นักศึกษาที่เข้ามาเรียนที่นี่มีความหลากหลาย นักศึกษาบางคนก็มีกิจการอยู่แล้ว บางคนมีความตั้งใจไว้อยู่แล้วว่าอยากจะทำธุรกิจอะไร และบางคนก็อาจจะมีแค่ใจผู้ประกอบการ มีแค่ความอยาก แต่ยังไม่ตกผลึก ก็อยากจะมาหาคำตอบที่นี่ แต่เป้าหมายที่ทุกคนมีเหมือนกันคือ การเติบโตไปเป็นผู้ประกอบการ ทำธุรกิจ เป็นเจ้าของกิจการ”

ดร.พีรพงษ์ ฟูศิริ และ ดร.ภูษิต วงศ์หล่อสายชล
ดร.ภูษิต อธิบายถึงหลักสูตรการเรียนการสอนของวิทยาลัยผู้ประกอบการให้เราได้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า “เรารวบรวมเอาทุกศาสตร์ความรู้ที่จำเป็นสำหรับผู้ประกอบการมารวมไว้ ไม่ว่าจะเป็นการผลิต การตลาด การส่งออก นำเข้า การดูแลลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นการขายสินค้า หรือการให้บริการ โดยเราเน้นที่การลงมือทำ ให้ทุกคนได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง เข้าเรียนปี1 ได้ไม่ถึง 2 เดือน เราก็มีวิชาที่ให้เขาเริ่มต้นกิจการ ลงมือขายจริงเลย ให้คะแนนจากการทำธุรกิจจริง จะผลิตเองหรือไปรับของมาขายได้หมด แล้วแต่ความสามารถของแต่ละคน ซึ่งกำไรก็มี ขาดทุนก็มาก เป็นเรื่องปกติเพราะบางคนเพิ่งลงมือทำเป็นครั้งแรก จะให้ประสบความสำเร็จเลยมันก็เป็นไปได้ยาก

แต่นั่นคือจุดมุ่งหมายเรา ที่อยากให้เขาเรียนรู้ด้วยตนเอง แล้วอาจารย์ก็ค่อยช่วยแนะนำไประหว่างทาง ถ้าคุณไม่ได้ลงมือจริง มันไม่เห็นภาพ ไม่กลัวที่เด็กจะขาดทุน เพราะหัวใจผู้ประกอบการคือการล้มเหลว ถ้าคุณไม่เคยล้ม คุณไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร ต้องลองผิดก่อน ถ้ามาเป็นผู้ประกอบการแล้วไม่เคยลองผิดพลาดมา คุณจะไม่กล้าตัดสินใจ ไม่รู้การจัดการวิกฤต และการที่ให้เขาล้มเหลวในมหาลัย เขาเจ็บไม่เยอะ การเสียหายอาจจะแค่หลักร้อย หลักพัน แต่วันไหนที่ออกไปแล้ว ไม่ใช่สเกลนี้แน่ เราหัดให้เขาล้มที่นี่ก่อน แล้วสอนให้เขาแก้ปัญหา เขาจะได้มีภูมิคุ้มกัน มีวิธีการคิดจัดการได้”

ดร.พีรพงษ์กล่าวเสริมว่า “การที่เราให้นักศึกษาลงมือทำธุรกิจแบบนี้ เราไม่ได้มองตัวเงิน ผลกำไร หรือ ขาดทุน เอามาวัดเพื่อทำการประเมินเกรดเสมอไป ผลการเรียนรู้ที่เราอยากได้คือ เมื่อนักศึกษาได้ประสบการณ์ทำธุรกิจแล้ว มาสรุปผลให้เราฟัง แล้วถ้านักศึกษาทำได้ดี คือ ต้องสามารถอธิบายได้ว่าเพราะอะไร ทำอย่างไร ถ้าขาดทุน มันคือมีปัญหาอะไร แล้วจะแก้ตรงไหน ต้องทำอะไร อยากให้นักศึกษาได้เข้าใจตรงจุดนี้มากกว่า เพื่อที่เขาจะได้นำไปปรับใช้ในอนาคตได้”

ดร.พีรพงษ์ ฟูศิริ
สิ่งที่ทางวิทยาลัยผู้ประกอบการได้คิด นอกเหนือจากหลักสูตรที่คัดสรรมาเป็นอย่างดีแล้ว วิทยาลัยผู้ประกอบการยังมองไปรอบด้านนอกอื่นๆ ที่เหนือไปกว่าเนื้อหาในห้องเรียน คือ การพยายามสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการบ่มสร้างผู้ประกอบการให้ได้มากที่สุด เช่น การจัดตารางเรียน ในขณะที่บางมหาวิทยาลัยทำการจัดตารางเรียนตามจำนวนห้องเรียนที่ว่าง หรือจัดตารางเรียนตามเวลาที่อาจารย์ผู้สอนสะดวก แต่วิทยาลัยผู้ประกอบการของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้มีการจัดวางตารางสอนเพื่อเอื้อประโยชน์ให้นักศึกษามากที่สุด วิทยาลัยผู้ประกอบการได้มีการจัดให้มีการเรียนแบบเต็มวัน หรือครึ่งวัน และมีวันหยุดในแต่ละสัปดาห์อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะไม่ใช่กาเรียนเพียงวันละ 1-2 ชั่วโมงที่อาจจะทำให้นักศึกษาต้องมาทุกวัน แต่วิทยาลัยผู้ประกอบการได้บริหารจัดการตารางสอนเพื่อให้นักศึกษาได้ใช้เวลาได้อย่างคุ้มค่าที่สุด กับการทำกิจกรรม และการประกอบกิจการของตัวเองได้อย่างเหมาะสม

นักศึกษาที่เข้ามาเรียนในวิทยาลัยผู้ประกอบการ หลายคนก็มีธุรกิจของตัวเองตั้งแต่ในวัยเรียน การมีวันว่างๆ ในแต่ละสัปดาห์ จะทำให้นักศึกษาสามารถจัดตารางชีวิตได้ มีเวลาไปจัดการธุรกิจของตัวเองได้ หรือนักศึกษาคนไหนที่อยากจะฝึกงาน ก็สามารถจัดแบ่งเวลาไปได้อย่างเหมาะสม ที่สำคัญทางวิทยาลัยผู้ประกอบการ ก็พยายามที่จะจัดสรรเวลาว่างให้ตรงกันในทุกชั้นปี เพื่อให้นักศึกษารุ่นพี่รุ่นน้องได้มีเวลาร่วมกัน ทางวิทยาลัยได้มีการจัดกิจกรรมเสริมทักษะนอกห้องเรียนให้นักศึกษาได้มีโอกาสได้มาเสวนา ได้มีโอกาสทำความรู้จักกัน พี่น้องภายในวิทยาลัยผู้ประกอบการทุกชั้นปี นักศึกษาทุกคนก็สนิทกันหมด วิทยาลัยผู้ประกอบการมีกระบวนการในการทำกิจกรรมต่างๆ ที่จะหลอมหลวมให้นักศึกษาเป็นหนึ่งเดียวกัน เพราะการเป็นผู้ประกอบการ สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือ การสร้างเครือข่ายที่แข็งแรงทางธุรกิจ

การสร้างสายสัมพันธ์ การรู้จักคนเยอะๆ จำเป็นมากต่อการทำธุรกิจ การสร้างให้นักศึกษาผูกพันกับอาจารย์ ผูกพันกับรุ่นพี่รุ่นน้อง รวมไปถึงศิษย์เก่าด้วย การได้เห็นพี่คนนี้ทำธุรกิจนี้ รู้ว่าจะหาวัตถุดิบได้จากคนนี้ เครือข่ายหาได้จากคนนั้น ปรึกษาปัญหาได้ว่าคนไหนเคยผ่านประสบการณ์อะไรมา การมีเครือข่ายที่ดี ก็จะสามารถมีโอกาสช่วยให้เราดำเนินธุรกิจได้ดีในอนาคต

นอกจากการวางระบบเพื่อนักศึกษาอย่างดีนี้แล้ว ทางวิทยาลัยยังมีพันธมิตรทางการศึกษาอีกมากมาย ตั้งแต่ หอการค้าไทย และบริษัทในเครือหอการค้าต่างๆ ที่ทั้งมาช่วยจัดกิจกรรม รวมถึงให้ทุนการศึกษาที่คณะเรามีทุนให้มากมาย ตั้งแต่ทุนค่าเล่าเรียนเต็มจำนวน 50% และ 25% โดยในส่วนของการให้ทุนนั่น ทางคณะมีการคัดเลือกจากนักเรียนมัธยมปลายมาเข้าร่วม “แคมป์ผู้ประกอบการรุ่นเล็ก… เด็กหัวการค้า” ที่ทางหอการค้าจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี หาคนทีมีความโดดเด่น มีศักยภาพที่จะได้รับทุนไป

ดร.พีรพงษ์ ฟูศิริ
ดร.พีรพงษ์ กล่าวถึงรายละเอียดของแคมป์เด็กหัวการค้าที่ได้มีการจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องมากว่า 6 ปีแล้วว่า “แคมป์ของเราจัดให้นักเรียนมัธยมปลาย 4-6 ได้เข้ามาศึกษาเรื่องการทำธุรกิจ มาเรียนรู้ว่าเราสอนอะไร คนอาจจะมองว่าที่ทำนี่คืออยากให้เด็กมาเข้าวิทยาลัยเราใช่ไหม ผมบอกได้เลยว่านั่นไม่ใช่จุดมุ่งหมายสูงสุดของเรา อย่างเด็ก ม.4 เขายังไม่ถึงเวลาเข้ามหาวิทยาลัยหรอก อีกตั้งหลายปี สู้เราเอาแต่ ม.6 ไม่ดีกว่าเหรอ แต่ที่เราตั้งใจเปิดรับคนสมัครเข้าแคมป์แบบนี้ นั่นเพราะอยากสร้างสังคมผู้ประกอบการให้เกิดขึ้นในเมืองไทย เราอยากเปิดโลกทัศน์ของเด็กๆ สู่การเป็นผู้ประกอบการ

ผมว่าตรงนี้มันเป็นประโยชน์ต่อสังคมนะ เพราะการเป็นผู้ประกอบการ ทำให้ต้องคิดว่า จะดูแลลูกน้องยังไง ดูแลลูกค้ายังไง ดูแลสังคมอย่างไร ถ้าเราเป็นลูกจ้าง เราจะอาจจะคิดแค่มิติ อาจจะไม่ได้มองถึงอะไรในภาพรวมมาก นอกจากตัวเราเอง บริษัทเหรอ จะสนใจไหม พักเที่ยงจะปิดคอม ปิดไฟไหม เข้าห้องน้ำปิดน้ำสนิทไหม ซึ่งถ้าเราพัฒนาตั้งแต่เด็ก สนับสนุนให้เขาเติบโตไปในทิศทางนี้ นอกจากเราจะมีผู้ประกอบการที่มีคุณภาพแล้ว มันยังส่งผลดีต่อสังคมด้วย”

ดร.ภูษิต วงศ์หล่อสายชล
ทางด้าน ดร.ภูษิต ได้ฉายภาพของความสำคัญของแนวคิดแบบผู้ประกอบเสริมว่า “นักศึกษาของเราจบออกไป ไม่ใช่ว่าจะพร้อมเป็นผู้ประกอบการเองทันทีทั้งหมด มีบางส่วนที่ตัดสินใจเข้าทำงานกับบริษัทก่อน เก็บเกี่ยวประสบการ และเงินทุน ก่อนที่จะออกมาลงมือทำเอง ซึ่งเขาถือเป็นแรงงานคุณภาพที่องค์กรใหญ่ๆ บริษัทใหญ่ๆ ให้ความสนใจมาก มีหลายบริษัทที่เป็นพันธมิตรกับวิทยาลัยของเรา มาร่วมสนับสนุนกิจกรรม ให้ทุนการศึกษา รับเด็กของเราไปฝึกงาน

นั่นเพราะเขาอยากได้พนักงานที่มีเซนส์ของความเป็นผู้ประกอบการ หัวมาเก็ตติ้ง และความรู้สึกเป็นเจ้าของ ช่วยดูแลแทนเขา ทัศนคติของการเป็นเจ้าของมันสำคัญนะ ความคิดแบบเจ้าของ กับความคิดแบบลูกจ้างมันต่างกันมากเลย”

ดร.พีรพงษ์ช่วยเสริมว่า “ถามว่ามันต่างกันอย่างไร ถ้าคุณเป็นลูกจ้าง สิ่งที่คนส่วนใหญ่ทำคือ เปิดปฏิทิน ดูว่าเดือนนี้มีวันหยุดไหม หยุดกี่วัน ไปไหนดี เดือนไหนไม่มีวันหยุดก็เบื่อ เซ็งเลย แต่ถ้าคิดแบบผู้ประกอบการ เขาจะไม่ได้มองแบนนั้น เพราะการคิดแบบนายจ้างจะมองถึง การแคร์พนักงาน แคร์ต้นทุน แคร์ลูกค้า ยิ่งวันหยุดเยอะ ยิ่งไม่ดีกับองค์กร คิดแบบนี้ สิ่งที่ทำให้เด็กผูกพันกับองค์กร เข้าใจฝั่งขององค์กรมากกว่า อย่างช่วงโควิดแบบนี้ ถ้าคิดแบบลูกจ้าง คือ โควิดก็เรื่องของบริษัท ปัญหาของนาย แต่ห้ามมาตัดเงินเดือนผมนะ โดยไม่ได้มองเลยว่า เขามีวิกฤตไหม มีต้นทุนอย่างไร แต่ถ้าคนคิดแบบผู้ประกอบการจะเข้าใจสถานการณ์และพร้อมจะปรับตัว ช่วยหาทางออกไปด้วยกัน มันเลยเป็นคำตอบที่ว่าทำไมองค์กรถึงอยากได้คนแบบนี้”

นอกจากทุนการศึกษาแล้ว วิชาที่ต้องให้ทำธุรกิจ ทางวิทยาลัยก็ไม่ได้สร้างความลำบากให้กับนักศึกษา เพราะเขามีจัดสรรเงินทุนให้ยืมไปลงทุนทำธุรกิจในระหว่างชั้นปีอีกด้วย

“ไม่ใช่ว่าคนที่มาเรียนที่นี่ต้องมีเงิน เพราะทางวิทยาลัยผู้ประกอบการมีให้เงินยืมไปลงทุนก่อน แล้วค่อยนำมาคืน คนละ 20,000 บาทในการตั้งต้นธุรกิจ ทำให้ทุกคนสามารถเริ่มธุรกิจของตัวเองได้ เรียกว่ามีทุกอย่างให้พร้อมเหลือแค่ใจรักที่จะมาเรียนเท่านั้นแหละ เรื่องตรงนี้ใจสำคัญ คุณต้องมีความมุ่งมั่นอยากเป็นผู้ประกอบการจริงๆ เพราะไม่อย่างนั้นล้มเหลวหน่อย ขาดทุนหน่อย ก็จะไม่เอาไม่สู้แล้ว แต่ถ้าใจสู้เขาก็จะขวนขวานหาทางไปสู่ความสำเร็จได้

นักศึกษาของเรา คือ ต้องอยากเป็นเจ้านายตัวเอง เป็นเจ้าของกิจการจริง ต้องไม่ใช่แค่ไม่อยากเป็นลูกจ้างเขา คิดแค่นี้แล้วจบไม่ได้ คือไม่อยากเป็นลูกจ้างแต่ไม่อยากทำอะไรเลย อันนี้ไม่ใช้เด็กที่เหมาะกับเรา คุณต้องมองว่าอยากทำอะไร มองแล้วลงมือทำ ไม่ต้องกลัวเรื่องปัญหาและอุปสรรค เพราะช่วยทางอาจารย์ ศิษย์เก่า รุ่นพี่ และเพื่อนๆ จะค่อยช่วยเขาพัฒนา แก้ปัญหา ปรับเปลี่ยนให้ลงตัวได้ หรือถึงท้ายที่สุดไม่สำเร็จ แต่เราก็ได้บทเรียน ได้ประสบการณ์ จะได้เริ่มค้นหาสิ่งใหม่ที่เหมาะกับตัวเองต่อไปโดยไม่ต้องเสียเวลาไปเปล่าๆ” ดร.ภูษิต กล่าว

ดร.ภูษิต วงศ์หล่อสายชล
“ผมอิจฉาเด็กสมัยนี้นะ ที่มีหลักสูตรที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์และตอบโจทย์ความเป็นตัวตนของคุณได้ สมัยผมมีทางเลือกคือเรียนในห้องเรียนอย่างเดียว ไม่มีทางเลือกอื่น เพราะสภาพสังคมสมัยก่อน มันไม่ได้เอื้อให้ทำได้ แต่ทุกวันนี้มันไม่ใช่แล้ว คุณสามารถเรียนไปด้วย ทำอย่างอื่นไปด้วยได้ สามารถดิ้นรนหาโอกาสได้มากมาย เราไม่เคยสอนให้เรียนจบแล้วค่อยเป็นผู้ประกอบการ เราผลักดันให้เขาเริ่มเลย เริ่มยิ่งเร็วยิ่งดี ยิ่งก้าวไปได้เร็ว ได้ไกลกว่าคนรุ่นเดียวกัน

…ความภาคภูมิใจของเราไม่ได้อยู่ที่เกรดที่เด็กสอบได้ แต่อยู่ที่ว่าเขาออกไปทำธุรกิจแล้วประสบความสำเร็จมากกว่า” ดร.พีรพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับใครที่อยากเริ่มต้นบนเส้นทางผู้ประกอบการที่พร้อมสรรพทั้งให้ความรู้ คำแนะนำ เครือข่ายสังคมธุรกิจแบบครบถ้วนแบบนี้แล้ว ตอนนี้ทางวิทยาลัยผู้ประกอบการกำลังเปิดรับสมัครนักศึกษารุ่นใหม่อยู่ ลองเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็ปไซต์ของวิทยาลัยผู้ประกอบการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย https://www.utcc.ac.th/

Comments are closed.

Pin It