ต้องยอมรับว่า กระแสของไลฟ์โค้ช ในปีนี้มาแรงแซงทุกโค้ง จนถือว่าเป็นยุคทองของไลฟ์โค้ชบนโลกโซเชียลฯ ที่มีผู้คนติดตามเป็นจำนวนมาก ไม่ต่ำกว่าแสนคนเลยก็ว่าได้ อย่างที่ประเด็นดรามาล่าสุดที่สร้างกระแสดังโครมครามเพียงชั่วข้ามคืน เมื่อไลฟ์โค้ชชื่อดังของเมืองไทยทำคลิปปลูกป่ากับนักการเมืองคนดังจนเป็นกระแสดรามาทั้งประเทศ ถึงความไม่เหมาะสมของไลฟ์โค้ชคนดังกล่าว จนทำให้ยอดติดตามลดลงเป็นล้านเพียงชั่วข้ามคืน
ถึงแม้กระแสของไลฟ์โค้ชที่เกิดขึ้นมีทั้งบวกและลบ แต่ก็ทำให้เห็นว่าอาชีพไลฟ์โค้ชมีการแพร่หลายเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น Celeb Online จะพาไปพูดคุยกับไลฟ์โค้ชคนดัง โดยเฉพาะเซเลบที่ได้ผันตัวมาเป็นไลฟ์โค้ชอย่างเต็มตัวว่า กว่าจะมาเป็นไลฟ์โค้ชมือาชีพเหมือนดังเช่นทุกวันนี้ได้นั้นต้องผ่านอะไรมาบ้าง และผ่านบททดสอบอะไรมาบ้าง กว่าที่จะมีลูกศิษย์ลูกหาเต็มบ้านเต็มเมือง
เริ่มที่เซเลบสาวคนเก่ง “จอย-สุนันท์ษา นิธิวาสิน” managing director บริษัท People Development Consultant และนักกระบวนกร (วิทยากรกระบวนการ) หลักสูตรจัดระเบียบวิธีการคิด หรือ Whole Brain Thinking อันเป็นหลักสูตรที่นำเข้าจากออสเตรเลีย เพียงรายเดียวในปรเทศไทย รวมถึงเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านแบบทดสอบสมอง ที่โบกมือลาให้วงการบันเทิงอย่างถาวร แล้วหันมาเป็นไลฟ์โค้ช และนักกระบวนกรด้านการสร้างแรงบันดาลใจที่มีคนติดตามผ่านเพจหลายแสนคนอย่างเต็มตัว
จอยเริ่มเล่าถึงการเข้าสู่วงการไลฟ์โค้ช และนักกระบวนกรว่า เมื่อ 5 ปีที่แล้วเธอได้ตัดสินใจหันหลังให้กับวงการบันเทิง เพราะต้องไปใช้ชีวิตครอบครัวดูแลสามี จึงทำให้รู้สึกว่าตัวเองขาดคุณค่าและไร้ตัวตน ดังนั้น เธอจึงต้องการค้นคว้าหาสิ่งสำคัญให้แก่ชีวิต และค้นหาชีวิตที่มีคุณค่ากลับคืนมาอีกครั้ง
“พอแต่งงานต้องหยุดงานแสดงและใช้ชีวิตเป็นแม่บ้านอย่างเต็มตัว ช่วงนั้นจอยเกิดความรู้สึกท้อถอย และเกิดความรู้สึกที่ว่าตัวเองช่างไร้คุณค่าเหลือเกิน ทำอะไรก็ดูไร้ค่า ดังนั้น เราจึงมาตั้งสติและพยายามค้นหาสิ่งที่ตัวเองต้องการในชีวิตอย่างแท้จริง เพื่อนำไปสู่การจัดระบบระเบียบความคิดอย่างถูกต้องและมีคุณค่า เราจึงเริ่มไปศึกษาเกี่ยวกับศาสตร์การจัดระเบียบวิธีการคิด อันเป็นศาสตร์จากประเทศออสเตรเลีย รวมถึงการไปเรียนโค้ชชิ่งยังสถาบันต่างๆ และพอเราศึกษาจนสามารถตกผลึกความคิดได้อย่างเป็นระบบแล้ว เราจึงนำศาสตร์นี้เข้ามาที่ประเทศไทยและเปิดบริษัท เราเป็นที่ปรึกษาด้านการโค้ชชิ่งสำหรับคนทั่วไป ที่อยากเข้ามาในเส้นทางโค้ชชิ่ง และตัวเรายังเป็นโค้ชชิ่งให้กับหน่วยงานในองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน”
ตลอดเวลากว่า 3 ปี ที่โค้ชจอยมุ่งหน้าสู่วงการไลฟ์โค้ช และนักกระบวนกรอย่างเต็มที่นั้น เจ้าตัวก็มีลูกศิษย์ลูกหามากหน้าหลายตา ตั้งแต่ระดับผู้บริหารสูงสุดขององค์กรไปจนถึงพนักงานทั่วไปเลยก็มี แต่ละคนล้วนมีปัญหาที่แตกต่างกัน แต่หน้าที่สำคัญของโค้ชคือการเป็นผู้ตั้งคำถามที่ดี ไม่ใช่เป็นผู้มาแสดงแสนยานุภาพเหนือลูกศิษย์
“บังเอิญว่าจอยไม่ได้รับหน้าที่เป็นโค้ชอย่างเดียว แต่เราต้องเป็นพนักงานขาย เพื่อเข้าไปขายโปรแกรมการจัดระเบียบวิธีการคิดให้ลูกค้าด้วย เราจึงสัมผัสถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในองค์กร ทำให้เราเข้าใจในปัญหา และออกแบบหลักสูตรการโค้ชชิ่งให้ตรงกับปัญหานั้นๆ ซึ่งลูกศิษย์ที่เข้ารับการโค้ชชิ่งจากจอยมีหลายกลุ่มมาก โดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูงที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่ง เขามักประสบกับปัญหาการขาดการตัดสินใจ ผู้ร่วมงานยังไม่ยอมรับในความสามารถ ซึ่งเขาก็จะมาให้เราเป็นโค้ชให้ เบื้องต้นเราต้องตั้งคำถามกับเขาว่า เขามารับตำแหน่งนี้ต้องการอะไร มีวัตถุประสงค์อะไร มากกว่าการมาแสดงตนข่มลูกศิษย์ เมื่อเราไล่เรียงคำถามจากลูกศิษย์เสร็จแล้ว เราก็จะพาเขาผ่านกระบวนการคิดเพื่อให้ได้คำตอบ อันเป็นวิธีการจัดระเบียบความคิดที่ถูกต้อง และทำให้เขามีความมั่นใจในการทำงาน และแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
แต่กว่าที่ โค้ชจอย จะเข้ามาโลดแล่นในวงการไลฟ์โค้ชได้นั้น ต้องผ่านหลักสูตรการอบรมที่มีการรับรองโดยสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์กรมหาชน) เสียก่อน ถึงจะสามารถเป็นวิทยากรบรรยายในสถานที่ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายและกฎระเบียบ
“งานโค้ชชิ่งในเมืองไทยเป็นนามธรรมมาก เรายังไม่มีการรับรองอาชีพนี้ว่าเป็นโค้ชชิ่ง จึงทำให้ในทุกวันนี้มีโค้ชชิ่งเกิดขึ้นมากมาย เพราะเพียงแค่พูดสร้างแรงบันดาลใจให้คน และมีคนติดตามในเพจเป็นจำนวนมากก็สามารถเรียกตัวเองว่าโค้ชได้แล้ว ความจริงแล้วคนที่จะเป็นวิทยากรหรือโค้ชที่สามารถไปบรรยายตามสถานที่ หรือหน่วยงานต่างๆ ได้ ต้องผ่านการทดสอบจากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์กรมหาชน) เพื่อให้ประกาศนียบัตร ซึ่งของจอยเพิ่งได้รับใบประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพชั้น 4 ในสาขาวิชาบริการการศึกษา อาชีพครูฝึกในสถานประกอบการ มาตรฐานอาชีพปี พ.ศ. 2560 จากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์กรมหาชน) ซึ่งใบประกาศอันนี้ สามารถทำให้จอยไปเป็นวิทยากร หรือโค้ชชิ่งตามสถานที่ต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง”
โค้ชจอย ยังพูดถึงคุณสมบัติของไลฟ์โค้ชที่ดีว่า นอกจากการมีใบประกาศนียบัตรรับรองจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้แล้ว ไลฟ์โค้ชที่ดีต้องมีแก่นแท้ในการโค้ช มิใช่เพียงแค่เน้นยอดผู้ติดตามหลักล้าน แล้วมาการันตีว่าตัวเองคือไลฟ์โค้ช
“ความจริงแล้วอาชีพไลฟ์โค้ชในประเทศไทยมีมานานแล้ว สมัยก่อนพระสงฆ์จะเป็นผู้ทำหน้าที่ไลฟ์โค้ชผ่านการแสดงหลักธรรมเทศนา ตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า แต่มาในปัจจุบันนี้ ไลฟ์โค้ชมีอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งบางคนก็ตั้งตัวเองขึ้นมาเพียงเพราะพูดสร้างแรงบันดาลใจให้คนทั่วไป เกิดมีกำลังใจในการใช้ชีวิต และมีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก ซึ่งเราไม่สามารถไปบอกได้ว่า เขาเป็นไลฟ์โค้ชที่ดีหรือไม่ดี สิ่งที่ทำนั้นเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม เพราะทุกสิ่งอย่างขึ้นอยู่ที่แก่นแท้ของไลฟ์โค้ชแต่ละคน ว่าสามารถให้ไกด์ไลน์ในการใช้ชีวิตของคนทั่วไปได้มากน้อยแค่ไหน เพราะบางสิ่งบางอย่างก็ไม่ได้ว่าถูกหรือผิดเสมอไป จำเป็นหรือไม่จำเป็น มันขึ้นอยู่ที่คุณค่าที่คนจะมอง เพราะขนาดเหรียญยังมีสองด้านเสมอ”
นอกจากนี้ โค้ชคนสวยยังแนะนำวิธีการสร้างแรงบันดาลใจพลังบวก ให้กับชีวิตในการต่อสู้กับปัญหาต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามาว่า ทุกวันนี้มนุษย์ทุกคนกำลังเผชิญกับความเครียดนานัปการ มัวแต่จดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากเกินไป จนหลงลืมสิ่งใกล้ตัวที่สำคัญที่สุดไป นั่นคือกายและใจของเรานั่นเอง
“ในยุคนี้จอยมองว่า ทุกคนมัวแต่จดๆ จ้องๆ กับตัวเลขและอะไรหลายสิ่งที่ทำให้เครียดมากเกินไป จนลืมความสุขที่อยู่ใกล้ตัวเรา ซึ่งเราสามารถสร้างให้กับตัวเองได้ ด้วยวิธีการจัดระเบียบความคิดอย่างถูกต้อง เราคิดนอกกรอบได้ แต่ต้องรอบคอบ ในแต่ละวันเราควรใช้สมาธิพิจารณาความคิดและจิตใจของเราว่าต้องการอะไร และสิ่งไหนที่ทำให้เครียด ก็ต้องละทิ้งจากสิ่งนั้นชั่วคราว และมาใช้สติพิจารณาเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างรอบคอบและมีสติ” โค้ชจอยอธิบาย
ขณะที่ เซเลบสาวมากความสามารถ “เล็ก-กรกนก ยงสกุล” ที่มีประกายความคิดว่า การพัฒนาตัวเองให้ดูดีอยู่เสมอจะทำให้มีชัยเหนือใครไปกว่าครึ่ง จึงทำให้เจ้าตัวหันมาเปิด สถาบันสอนพัฒนาบุคลิกภาพ อาร์บีแอล เทรนนิ่ง อะคาเดมี (RBL Training Academy) พร้อมพลิกบทบาทตัวเองมาเป็นโค้ชผู้ฝึกสอน เรื่องการพัฒนาขีดความสามารถและสร้างเสริมบุคลิกภาพ ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาบุคลากรในองค์กร ให้ก้าวทันยุคสมัยไทยแลนด์ 4.0
แต่กว่าที่เธอจะเดินมาถึงจุดที่เรียกว่า มีลูกศิษย์ลูกหาที่ให้การยอมรับในความเป็นโค้ชเหมือนดังเช่นทุกวันนี้ได้นั้น เธอต้องใช้เวลาเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ด้านจิตวิทยาการพูดอยู่พักใหญ่ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นแรงปรารถนาท้าทาย ให้เธออยากพัฒนาคนในทุกๆ ด้าน จึงก่อตั้ง RBL สถาบันจัดเวิร์กชอปสอนพัฒนาบุคลิกภาพและการสื่อสาร ตลอดจนพัฒนาศักยภาพบุคลากรในทุกระดับชั้น
“หลังจากที่เราเรียนจบปริญญาตรีด้านแฟชั่นดีไซน์ ที่ University of Westminster ประเทศอังกฤษ ก็กลับมาเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในธุรกิจแฟชั่นอยู่พักหนึ่ง ก่อนที่จะตัดสินใจร่วมงานที่ Louis Vuitton North America แอลเอ ที่นั่นไม่เพียงแค่ให้เราได้โชว์ศักยภาพทางการขาย จนติด 1 ใน 10 One Million Dollar ผู้ที่ทำยอดขายสูงสุดของรัฐแคลิฟอร์เนียเท่านั้น แต่ยังสอนให้เรียนรู้เรื่องของจิตวิทยาและการพูดในที่สาธารณะ ซึ่งทำให้เราเข้าใจว่าจิตวิทยาการพูดและการมีบุคคลิกภาพที่ดี จะสามารถนำพาสิ่งดีๆ เข้ามาหาเราได้ รวมถึงบุคลิกภาพที่ดี ยังมีผลกับการตัดสินใจของผู้บริหารระดับองค์กรได้อีกด้วย ดังนั้น เล็กจึงก่อตั้งสถาบันเวิร์กชอบสอนพัฒนาด้านบุคลิกภาพและการสื่อสาร เพื่อเป็นอีกฟันเฟืองเล็กๆ ในการส่งเสริมบุคลิกภาพและความมั่นใจให้กับทุกคน”
เล็กเล่าว่า นอกจากเธอมีพรสววรค์ด้านจิตวิทยาการสื่อสารแล้ว ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เธอสามารถมาเคลมตัวเองได้ว่า เป็นโค้ชไลฟ์อย่างเต็มตัว เธอจึงไปศึกษาด้านการเป็นเทรนเนอร์ และการเป็นโค้ชชิ่งอีกหลายสถาบัน
“ส่วนตัวเล็กสนใจในเรื่อง Personal Development คือ การพัฒนาตัวเองให้ดูดี ทั้งในเรื่องบุคลิกภาพและการแต่งกายอยู่แล้ว เราจึงไปเรียนเพิ่มทางด้านเทรนเนอร์ การเป็นโค้ชชิ่งจากหลายสถาบัน จนได้รับใบประกาศนียบัตรจากหน่วยงานต่างๆ จากนั้นเราจึงจัดคอร์สอบรม จัดเวิร์กชอปแนะนำเกี่ยวกับการแต่งตัว จัดสัมมนากับทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นเอกชน 70% ภาครัฐ 20% ส่วนที่เหลือเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพ”
นอกจากนี้ ในวงการเซเลบเมืองไทยยังมีอีกหลายคนที่ผันตัวเองมาเป็นโค้ชชิ่ง รับหน้าที่เป็นโค้ชแบบ 360 องศา ถ่ายทอดประสบการณ์เสริมสร้างความมั่นใจ รวมถึงสร้างแรงบันดาลใจให้กับใครหลายคน ที่กำลังท้อถอยให้มีแรงฮึดขึ้นสู้อีกครั้ง อาทิ จอม-มนุญสินี ฟูตระกูล ที่สนใจด้านแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ ด้วยพื้นฐานความรู้ปริญญาโทการโรงแรม Hospitality and Tourism Management จาก Roosevelt University สหรัฐอเมริกาและจบหลักสูตรสูงสุด ‘Train The Trainer’ จาก Image Consultants และ Manner and Etiquette Program ประเทศอังกฤษ รับ 2 ประกาศนียบัตร The English Manner องค์รวมมารยาทหลักสากลการเข้าสังคม รวมถึง Royal Protocol และ Colour Me Beautiful Image consultants พัฒนาบุคลิกภาพการแต่งกาย จึงทำให้ให้เธอตั้งบริษัท ให้คำปรึกษาด้านภาพลักษณ์ของตัวเอง The Manner (Thailand) มานานร่วม10 ปี
พอล-ภัทรพล ศิลปาจารย์ อดีตดาราหนุ่มผู้คร่ำหวอดในวงการบันเทิง ที่หลายๆ คนอาจจะเห็นภาพเบื้องหน้าของเขาที่เป็นดารา พิธีกร หรือนักร้อง และล่าสุดเขาได้โบกมือลาวงการบันเทิง และได้นำประสบการณ์ทางการเงิน Financial Freedom ที่เจ้าตัวได้ลองผิดลองถูกจนเป็นผู้ประสบความสำเร็จ และเกษียณตัวเองได้เร็วกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ มาเป็นไลฟ์โค้ชสอนเรื่อง “เหนื่อยชั่วคราว สบายชั่วโคตร” ที่เจ้าตัวได้สอนเรื่องการเงิน การลงทุน โดยคอร์สของอาจารย์พอล มีคนสนใจติดตามเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะคนที่อยากเกษียณอายุเร็ว ใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่า มีเวลา มีความสุข ปราศจากความกังวลด้านการเงิน
ด้านอดีตนักแสดงและนางแบบขวัญใจสาวๆ วัย 40+ อย่าง “ปู-กมลชนก ปานใจ” ที่มีดีกรีปริญญาโทด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ก็ได้ผันตัวเองจากวงการนักแสดง มาเป็นนักเขียนฝีปากกล้า กูรูเรื่องความสัมพันธ์ แถมยังเป็นไลฟ์โค้ชด้านสุขภาพ ที่มีผู้ติดตามในเว็บไซต์ของเธอเกือบแตะหลักล้าน และติดอันดับ Top 5 เมื่อหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากจะสอนเรื่องดูแลสุขภาพกายแล้ว ในส่วนของสุขภาพใจก็สำคัญ เธอฝึกสมาธิตามแนวการปฏิบัติแบบ TM (Transcendental Meditation) และฝึกปฏิบัติทุกวัน เช้า-เย็น ครั้งละ 20 นาที ซึ่งมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์แล้วว่า ปัญญาจะเกิดขึ้นได้ในช่วงที่สมองผ่อนคลาย
ขณะที่ “หนูดี-วนิษา เรซ” เจ้าของแฟนเพจ อัจฉริยะสร้างได้ ที่มีผู้ติดตามเพจกว่า 2 แสนคน ก็เป็นอีกหนึ่งสาวสวยที่มีดีกรีปริญญาตรีเกียรตินิยม ด้านครอบครัวศึกษา Family Studies มหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ คอลเลจ พาร์ค สหรัฐอเมริกา และปริญญาโทเกียรตินิยมด้านวิทยาการทางสมอง (Neuroscience) ในโปรแกรม Mind, Brain and Education มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ที่ปัจจุบันเธอเป็นผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาด้านอัจฉริยภาพ (เพียงคนเดียวในไทย) และเจ้าตัวได้นำความรู้ทั้งหมดมาเป็นไลฟ์โค้ชเรื่องสุขภาพ การดูแลรักษาตัวเอง ให้ห่างจากโรคภัยไข้เจ็บ ด้วยวิธีการรับประทานอาหารให้ครบ5หมู่ หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
ภาพจาก ig:lekyongsakul,noodi_vanessa,jomfootrakul
Comments are closed.