Advice

“พินัยกรรมชีวิต" สิทธิที่จะปฏิเสธการรักษา /อ้วน อารีวรรณ

Pinterest LinkedIn Tumblr

jatung_32@yahoo.com

เคยคิดบ้างไหมคะ? หากวันหนึ่งเราต้องเจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาล แล้วต้องมีสายโยงระยางอุปกรณ์เครื่องช่วยชีวิตมากมาย อยู่แบบเป็นเจ้าหญิงนิทราที่รอเพียงปาฎิหารย์จากเจ้าชายมาจุมพิตให้ตื่นขึ้น ..

ถ้าชีวิตของเรา ต้องตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น ..จะทรมานเช่นใดหนอ ??

พ่อแม่ญาติพี่น้องที่รัก..ร่ำไห้น้ำตานองหน้า พร้อมกับวิ่งวุ่นวาย หาเงินทองมากมายมามอบถวายให้โรงพยาบาล เพียงเพื่อหวังว่าจะช่วยยื้อยึดชีวิตของเราไว้ได้

แต่สุดท้าย ชีวิตของเราที่ต้องอยู่ในห้องไอซียู หรือห้องพิเศษแบบเดือนละหลายหมื่น หรือเป็นแสนๆ บาท เพราะใช้อุปกรณ์ช่วยต่อยืดชีวิตตลอดเวลา ก็ต้องจบลงอยู่ดี แต่อาจเป็นในอีกหลายๆ เดือนหรือหลายปีข้างหน้า โดยมีแค่เจ้าหน้าที่พยาบาลที่ทำงานตามหน้าที่ของตน อยู่รับรู้เหตุการณ์ฉากสุดท้ายในชีวิตของเราเท่านั้นเอง…

การตายอย่างสงบสุข อยู่ท่ามกลางคนที่รัก กลายเป็นเรื่องยากไปแล้วอย่างนั้นหรือ? เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้า จนอาจสามารถยึดยื้อชีวิตเราให้ยืนยาวขึ้น กลายเป็นการยื้อความตาย และมอบความทุกข์ทรมานที่ยาวนานออกไปให้กับเราหรือเปล่าคะ?

เราในฐานะเป็นเจ้าของร่างกายนี้ เจ้าของชีวิตนี้ มีสิทธิขอไม่รับการรักษาได้หรือไม่? เพราะถึงอย่างไร เราก็ต้องเสียชีวิตอยู่แล้ว ไม่วันนี้ ก็วันหน้า…

แต่ที่ผ่านมา คำร้องขอดังกล่าวมักถูกปฏิเสธทั้งจากญาติใกล้ชิดที่ยังรักเราอยู่ และแพทย์ผู้ให้การรักษา ด้วยไม่อาจยอมรับการจากไปของเราได้ ทั้งบุคลากรทางการแพทย์เองส่วนใหญ่ก็ยังขาดความรู้และความเข้าใจในการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง และวิตกกังวลว่าจะถูกฟ้องร้องเอาผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญา ในภายหลังจากทายาทของผู้เสียชีวิต

นอกจากนี้การเสียชีวิตของคนๆ หนึ่ง ยังเกี่ยวพันโยงใยกับอีกมากมายหลายคนนัก ยกตัวอย่างเช่น หากเป็นพ่อหรือแม่ของผู้ป่วยหนัก บรรดาลูกๆ อาจมีความคิดที่แตกต่างกัน บางคนถือว่า การยื้อชีวิตให้ถึงที่สุด ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ทุกชนิด และการยอมทุ่มเทเงินทองสุดตัวเป็นสิ่งที่ลูกควรกระทำ แต่ในขณะที่ลูกบางคนอาจต้องการให้แม่นอนสงบ โดยปราศจากอุปกรณ์เครื่องช่วยยื้ดชีวิตระโยงระยาง จนสิ้นลมไป เป็นสิ่งที่ถูกต้องมากกว่า หรือคนไข้อาจตัดสินใจอย่างหนึ่ง แต่ลูกหลานญาติพี่น้องอาจเห็นไปอีกอย่าง หรือเกิดเหตุการณ์ที่พ่อแม่หรือลูกตัดสินใจว่า ลูกหรือพ่อแม่ของตนควรจะอยู่หรือจะไป โดยที่เจ้าตัวไม่เข้าใจความปรารถนาเบื้องลึกของผู้ที่จะจากไปเลยก็ได้

ความจริง เรื่องราวเหล่านี้ ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่สำหรับบางคนที่ติดตามข่าวสารของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติมาโดยตลอด

แต่เมืองไทยเพิ่งมีการประกาศใช้กฎหมายพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2550 ซึ่งได้ระบุเนื้อหา “พินัยกรรมชีวิต” ไว้ในมาตรา12 ว่า บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข ที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้…เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้ว มิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง”

และเนื่องจากอ้วนทราบมาว่า ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาผ่านร่างกฎกระทรวง ในเรื่องข้อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตหรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยตามกรอบอำนาจในมาตรา 12 ของพรบ. สุขภาพแห่งชาติแล้ว และเตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

จึงนำเรื่องราวของ “พินัยกรรมชีวิต” หรือ living wills มาย้ำเตือนอีกสักครั้งว่า นี้ไม่ใช่หนังสือพินัยกรรมทั่วๆ ไปอย่างที่เราเข้าใจ แต่เป็นหนังสือที่แสดงเจตนาล่วงหน้าของผู้ทำหนังสือในการแสดงเจตนาที่ไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข ที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย

ว่ากันง่ายๆ คือ การไม่ขอรับการรักษาที่ทำไปเพื่อยืดการตาย หรือยื้อชีวิตที่ไม่อาจฟื้นกลับมาเหมือนเดิมได้ แต่เป็นการขอให้แพทย์ที่รักษาเราอย่างดีที่สุดแล้วเมื่อถึงเวลาก็ต้องปล่อยให้เรานั้นได้เสียชีวิตไปตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องมาทรมานตัวเราให้ย่ำแย่ไปกว่าเดิมอีก

ไม่จำเป็นต้องเจาะคอใช้เครื่องช่วยหายใจ, ใส่สายยางให้อาหาร หรือหล่อเลี้ยงชีวิตที่มีสภาพแค่เป็นผักนั้นให้คงอยู่ต่ออย่างไม่เกิดประโยชน์ใดๆ จะได้ไม่ต้องทุกข์ทนทรมานในการรักษา และยังลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ไม่เป็นภาระแก่ลูกหลานหรือคนในครอบครัว

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
หลายคนอาจกังวลกับคำว่า “วาระสุดท้ายของชีวิต” ซึ่งเรื่องนี้ต้องใช้การวินิจฉัยจากแพทย์เป็นเกณฑ์มาตรฐาน โดยกฎกระทรวงเองได้วางหลักไว้ว่า

“วาระสุดท้ายของชีวิต หมายความว่า ภาวะของผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาอันเกิดจากการบาดเจ็บหรือโรค ที่ไม่อาจจะรักษาให้หายได้และจากการพยากรณ์โรคตามมาตรฐานทั่วไปในทางวิชาชีพเห็นว่า ภาวะนั้นจะนำไปสู่การตายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในระยะเวลาที่ไม่นาน”

รูปแบบของ “พินัยกรรมชีวิต” หรือ หนังสือแสดงเจตนา ต้องมีความชัดเจนเพียงพอที่จะดำเนินการตามความประสงค์ของผู้ทำหนังสือดังกล่าวนั้น โดยผู้ป่วยเขียนหรือพิมพ์หนังสือแสดงเจตนาด้วยตัวเอง ในกรณีที่ผู้ป่วยเขียนหนังสือไม่ได้ ให้แสดงเจตนาเป็นคำพูดต่อหน้าพยาน แล้วให้ผู้อื่นช่วยเขียนหรือพิมพ์ข้อความให้ แล้วลงชื่อผู้เขียนกับพยานก็สามารถกระทำได้

โดยผู้ทำพินัยกรรมชีวิตสามารถระบุประเภทของการบริการสาธารณสุขที่ตนเองไม่ต้องการจะได้รับ เช่น ไม่ต้องการให้เจาะคอ, ไม่ต้องการให้ใช้อุปกรณ์การแพทย์ชนิดใดๆ หากร่างกายของเรามีสภาพเสมือนผัก ขาดความสามารถในการรับรู้และติดต่อสื่อสารอย่างยาวนานและถาวร ไม่สามารถตอบสนองใดๆ

ทั้งคนปกติและคนป่วยต่างก็มีสิทธิทำพินัยกรรมชีวิตนี้ไว้ได้ เพียงแต่มีหลักฐานยืนยันว่า ขณะทำมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ และจะกำหนดข้อความรายละเอียดลงไป เช่ อยากกลับไปเสียชีวิตที่บ้าน หรือต้องการปฏิบัติตามความเชื่อทางศาสนาและวัฒนธรรมของตนเอง เช่น ต้องการให้พระสงฆ์มาสวดมนต์ ก็ย่อมสามารถกระทำได้ โดยสถานบริการสาธารณสุขควรให้ความร่วมมือตามสมควร

หากเราเชื่อว่า “มนุษย์มีสิทธิที่จะสามารถกำหนดชะตาชีวิตของตนเอง” อันเป็นพื้นฐานของแนวคิดสิทธิมนุษยชน ย่อมทำให้เราสามารถใช้ “สิทธิในการปฏิเสธการรักษา” ซึ่งเป็นสิทธิของมนุษย์ที่จะตัดสินใจได้ด้วยตนเองเมื่อถึงวาระสุดท้ายของตน

การตายอย่างสงบ เป็นธรรมชาติ และมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เป็นสิทธิที่คนทุกคนพึงมีพึงได้ เพราะเป็นสิทธิที่ตนเองจะได้รับการเคารพและการยอมรับจากผู้อื่นในสังคม และจากกฎหมาย

ผู้ทำ “พินัยกรรมชีวิต” สามารถยกเลิกหรือแก้ไขปรับปรุงหนังสือได้ทุกเวลา หรือในกรณีที่ทำหนังสือไว้นานหลายปีแล้ว ก็ควรขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ในการปรับปรุงเนื้อหาในพินัยกรรมชีวิตดังกล่าว และควรแจ้งให้พยานหรือบุคคลใกล้ชิด ญาติหรือผู้เกี่ยวข้องได้ทราบด้วย

และเมื่อเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลหรือโรงพยาบาล ให้ญาติหรือบุคคลที่ใกล้ชิดแจ้งเรื่องการทำพินัยกรรมชีวิตต่อแพทย์ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล นอกจากนี้ควรปรึกษาหารือกับแพทย์ที่ให้การรักษาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เกิดการปฏิบัติตามนั้น และเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน กรณีที่ญาติใกล้ชิดหรือสมาชิกในครอบครัว มีความเห็นที่แตกต่างกัน ควรหารือกันและยึดหลักความต้องการของผู้ทำพินัยกรรมชีวิตเป็นสำคัญ

หากเกิดกรณีที่พบว่าการดูแลรักษาของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ทำพินัยกรรมชีวิตขึ้น ควรรีบปรึกษาหารือกับแพทย์ที่ให้การรักษา และในกรณีที่ทราบว่าแพทย์ปฏิเสธที่จะไม่ปฏิบัติตามหนังสือแสดงเจตนา ก็สามารถแจ้งให้โรงพยาบาลทราบ เพื่อขอเปลี่ยนวิธีการรักษา เปลี่ยนแพทย์ หรือขอย้ายโรงพยาบาล โดยผู้ป่วยและญาติสนิท มีสิทธิปฏิเสธการชำระค่าบริการและค่าใช้จ่ายใดๆ ที่เกี่ยวกับการให้บริการในส่วนที่ขัดต่อพินัยกรรมชีวิตได้

ถ้าทุกคนยอมรับได้ว่า ความตายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ที่เราไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ การเตรียมตัว เตรียมใจ เสียก่อน เพื่อให้ฉากสุดท้ายของชีวิตปิดตัวลงอย่างงดงาม จึงเป็นสิ่งที่เราไม่ควรมองข้าม และอย่ากลัวว่า ทำพินัยกรรมชีวิต แพทย์จะไม่เหลียวแลรักษาตัวเราเลย สำหรับผู้ป่วยที่อาการของโรคอยู่ในระยะสุดท้าย หมดหวังจากการรักษาให้หายจากโรคแล้ว แพทย์ต้องดูแลเราตามอาการ เพื่อบรรเทาความเจ็บปวดทรมาน และทำให้เราจบชีวิตลงอย่างสงบ

ส่วนประเด็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อยื้อชีวิตนั้น คงขึ้นอยู่กับเป้าหมายว่า เราต้องการยื้อชีวิตไปเพื่ออะไร และเพื่อใครมากกว่า…

ดังนั้นการใส่ท่อช่วยหายใจยื้อชีวิตไปอีกหนึ่งวัน อาจเป็นไปเพื่อให้คนๆ นั้นและญาติสนิทได้เจอะเจอกัน เพื่อร่ำลาหรือสั่งลากันเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งมีความหมายสำคัญยิ่งสำหรับคนที่จะจากไปและญาติสนิทคน แต่การยื้อไปเรื่อยๆ โดยไม่มีความหมาย อาจเพิ่มความทรมานกายและใจให้ตัวผู้ป่วยและคนที่อยู่

ย้ำว่า ผู้ทำหนังสือ “พินัยกรรมชีวิต” หรือหนังสือแสดงเจตนาปฏิเสธการรักษา อาจเปลี่ยนแปลงหนังสือแสดงเจตนาได้เสมอ ขอเพียงให้มีสติสุดท้ายเหลืออยู่ คุณอาจเรียกขอ “พินัยกรรมชีวิต” มาฉีกทิ้งก่อนก็ได้ ถ้าคิดว่าเจ็บคราวนี้รอดแน่ๆ

ความคิดในการทำ “พินัยกรรมชีวิต” ของผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ จึงอาจเป็นความห่วงใยครั้งสุดท้าย ที่ไม่ต้องการให้คนที่เรารักต้องมาเดือดร้อนกับตนเราอีกต่อไป ในเมื่อการยื้อชีวิตของตนให้คงอยู่ เป็นไปไม่ได้ ก็ขอตายอย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์จะดีกว่า จริงไหมคะ?

Comments are closed.

Pin It