ART EYE VIEW—ก้าวเท้าเข้าไปชมผลงานภาพวาดของ The Rafe ที่ติดอยู่เต็มผนังทั้ง 3 ชั้นของ Eat Me Restaurant ในช่วงเวลานี้
ถ้าในหัวของคุณ ได้ฝังความคิดเกี่ยวกับ บรรดางานศิลปะชิ้นเอกของโลกหลายร้อยชิ้น ว่ามีความสูงส่งกว่างานศิลปะชิ้นอื่นๆที่ไม่ค่อยถูกพูดถึง
คุณอาจรู้สึกว่า The Rafe ได้กระทำการปู้ยี่ปู้ยำชิ้นเอกเหล่านั้นอย่างไม่น่าให้อภัย
แต่ถ้าที่ผ่านมา คุณพยายามมองและปฏิบัติกับงานศิลปะทุกชิ้นในระดับสายตา และเท่าเทียมกัน ไม่ใช่การแหงนหน้ามอง หรือ แบบที่ต้องปีนกระไดขึ้นไปหา
ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ที่ผ่านการเสพชมงานศิลปะที่ใครเขาบอกว่าดีมาแล้วทั่วโลก หรือ เป็นเพียงมือใหม่หัดชม
แรกพบระหว่างคุณกับภาพวาดของ The Rafe ก็คงจะมีแต่รอยยิ้มและเสียงหัวเราะติดตามมาเท่านั้น
“ชีวิตมีความสำคัญเกินกว่าจะไปซีเรียสกับมัน”
The Rafe บอกกล่าว เพราะเชื่อมั่นว่า แม้แต่บรรดาพิพิธภัณฑ์และเศรษฐีผู้ครอบครองผลงานศิลปะชิ้นออริจินัลเหล่านี้อยู่
เมื่อได้มาเห็นภาพวาดของเขา อย่างร้าย ย่อมต้องยิ้มสักนิด ก่อนจะคิดเป็นอื่น
The Raf มีชื่อเต็มว่า Rafel Andres เป็นชาวสเปน จบการศึกษาสาขาวิจิตรศิลป์ จากมหาวิทยาลัยบาร์เซโลนา
“แต่เพราะไม่อยากเป็นศิลปินผู้หิวโหย ผมก็เลยมาทำงานเป็นกราฟฟิกดีไซเนอร์”
เป็นเวลานานถึง 20 ปี ที่เขาเลือกทำอาชีพนี้ ควบคู่ไปกับการทำงานศิลปะ
และได้ย้ายตัวเองมาทำงานในประเทศเอเชีย ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
จึงทำให้เราได้พบเขาและภาพวาดของเขาที่ประเทศไทย
ที่มาของภาพวาดใน นิทรรศการ Cryptoart เขาเล่าว่า วันหนึ่งขณะที่กำลังนั่งทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ได้เกิดความคิด อยากจะล้อเลียนงานศิลปะชิ้นเอกของโลกเหล่านี้ขึ้นมา
เขาอยากรู้ว่าถ้าเรื่องราวที่ปรากฏในภาพวาด เมื่อถูกเติมแต่งด้วยจินตนาการและความรู้สึกที่เขามีต่อมัน จะเป็นเช่นไร
แม้อดไม่ได้ที่จะล้อเลียน แต่เขายืนยันว่า มีความเคารพในชิ้นงานออริจินัลและศิลปินผู้ซึ่งสร้างสรรค์มันขึ้นมาเสมอ
ขณะเดียวกันก็รู้สึกเบื่อหน่ายต่อการที่มันถูกกระทำจากบางมุมของโลกศิลปะในปัจจุบัน ที่ทำให้มันมีความสูงส่ง และมีราคาแพงเว่อร์ จนกลายเป็นว่าศิลปะก็มีการแบ่งชนชั้นไม่ต่างกับคน
หากถามเขาว่า รู้สึกเช่นไร เวลาที่ได้ยินข่าว ว่างานศิลปะชิ้นนั้นชิ้นนี้ ถูกประมูลไปในราคาแพงเท่านั้นเท่านี้ ยกตัวอย่างล่าสุด การที่ภาพชื่อ The Scream ของศิลปินชาวนอร์วิเจียน นาม Edvard Munch ที่วาดขึ้นเมื่อปี 1895 ได้ถูกจัดอันดับให้เป็นภาพวาดที่แพงที่สุดในโลก
The Rafe บอกว่า เขาไม่ได้สนใจติดตามข่าวคราวในลักษณะนี้เท่าไหร่ และเข้าใจดีว่ามีคนจำนวนไม่น้อย ที่ตื่นเต้นกับข่าวที่มีความหวือหวา ซึ่งเขาได้แสดงความเห็นด้วยว่า
“สิ่งเหล่านี้ทำให้มูลค่าและคุณค่าที่แท้จริงของศิลปะเละ มันคือเกม คือการลงทุนของคนรวย เล่นเกมว่า ใครจะได้เป็นผู้ครอบครองงานศิลปะชิ้นนั้นชิ้นนี้ ไม่ได้เกี่ยวกับว่าคุณเป็นคนที่รักหรือเข้าใจงานศิลปะหรือไม่”
ดังนั้น The Scream ชิ้นออริจินัล ที่ Edvard Munch ต้องการถ่ายทอดภาพผู้ชายที่อยู่ในท่าทางกรีดร้องและเอามือป้องหู เพราะตกอยู่ในอารมณ์หวาดกลัว และความท้อแท้สิ้นหวัง
จึงกลายมาเป็นภาพชายผอมโซคนหนึ่งที่กำลังตกใจกลัวกับอุบัติเหตุบนท้องถนน ในภาพชื่อ The Crash ของ The Rafe ให้คนที่คุ้นเคยกับภาพนี้ดีรู้สึกขำๆ
และภาพสุภาพสตรีผู้มีรอยยิ้มอันเป็นปริศนา ที่ไม่รู้ว่าเธอจะยิ้ม หัวเราะ หรือร้องไห้กันแน่ อย่างภาพ Mona Lisa
กลายมาเป็นภาพ Mona Lisa by Mike Tyson เนื่องจากว่าที่ผ่านมา ความรู้สึกที่ The Rafe มีต่อภาพๆนี้ของ ของ Leonardo da Vinci ก็คือ เธอถูกพูดถึงหรือถูกวิพากวิจารณ์ ถึงที่มาไปต่างๆนานา จนไม่มีใครรู้แล้วว่า เรื่องราวแท้จริงเกี่ยวกับเธอป็นเช่นไรกันแน่
เขาคิดว่า ถ้า Mona Lisa ยังมีชีวิตอยู่ เธอก็คงมีสภาพไม่ต่างอะไรกับเธอในภาพวาดของเขา ที่ผ่านการถูกชกมาจนบอบช้ำ
นิทรรศการ Cryptoart โดย The Rafe เปิดแสดงวันนี้ – 31 มิถุนายน พ.ศ.2555 ณ Eat Me Restaurant ซ.พิพัฒน์ 2 ถ.สีลม กรุงเทพฯ โทร. 0-2238 – 0931
+
Text by ฮักก้า Photo by วชิร สายจำปา
Comments are closed.