ART EYE VIEW—จากบ้านหลังแรกที่ถนนเจริญกรุง ย้ายมาบ้านหลังปัจจุบัน ณ ชั้น 4 ของอาคารพาณิชย์ บริเวณต้นซอยสีลม 19
The Reading Room ห้องสมุดหนังสือศิลปะร่วมสมัย และพื้นที่แลกเปลี่ยนทางความคิด ที่เกิดขึ้นจากการอาศัยทุนส่วนตัวของ เกี๊ยว – นราวัลลภ์ ปฐมวัฒน ก็มีอายุครบ 3 ปีแล้ว
และดูเหมือนว่าเจ้าของสถานที่จะไม่หมดกำลังใจลงง่ายๆ แม้ว่าทุนรอนสนับสนุนจากบางองค์กรเพื่อบางกิจกรรมจะมีน้อยนิด และต้องเจียดเงินส่วนหนึ่งที่ครอบครัวหยิบยื่นให้ด้วยความเป็นห่วงว่าเธอจะอดข้าวตาย มาใช้เพื่อการบริหารพื้นที่แห่งนี้ด้วย
“เริ่มทำอะไรแล้ว ถ้าคิดว่าเราจะยอมแพ้ง่ายๆ ก็ไม่ต้องทำ เมื่อราตั้งใจทำตรงนี้ ก็ต้องทำให้เต็มที่ ไม่ใช่แค่ เฮ้ย.. คนไม่มา เฮ้ย… ไม่มีเงิน เลิกๆๆ คงไม่ใช่ค่ะ
เพราะเรารู้แล้วว่า ตรงนี้มันใช่สิ่งที่เราต้องการจะทำไปอีกนานๆ หรือถ้าเราทำตรงนี้ไปได้ตลอดชีวิต เราก็อยากจะทำ
มันเป็นสิ่งที่เราต้องการอยู่แล้ว และยังไม่มีคนมาทำตรงนี้ ถ้ามันมีคนอื่นทำ และทำได้ดีกว่าเรา เราก็อาจจะเลิกก็ได้ แต่ทีนี้มันยังไม่มี”
ใช่ว่าการเลือกเดินหน้าต่อของเธอ คือความดันทุรัง แต่เพราะเธอมองว่า ตนเองยังสามารถประคับประคองพื้นที่ตรงนี้ให้มีลมหายใจต่อไปได้,เห็นผลตอบรับที่ดีหลายอย่าง และที่ผ่านมามีแผนประเมินผลงานของตนเองพอสมควร
“ต้องดูหลายๆอย่างประกอบกัน ดูว่าเราทำเต็มที่แค่ไหน มีพัฒนาการแค่ไหน แล้วมีอะไรที่ยังขาด ถ้าเกิดว่า ทำไปเรื่อยๆ เสียเงินขึ้นเรื่อยๆ แล้วไม่มีใครมาช่วยอะไรเลย ก็คงจะแย่
แต่เมื่อเราเห็นว่ามันมีอะไรเข้ามาบ้าง ก็ต้องอดทนไปก่อน เพราะเรามีเป้าหมายที่ชัดเจนให้ตัวเองพอสมควร ว่าแต่ละเรื่องเรามีเกณฑ์อย่างไรที่จะตัดสินว่าเราโอเค หรือเราล้มเหลว”
>>>นักเติมเต็มสังคม
เกี๊ยวเป็นศิษย์เก่า สาขาวรรณคดีอังกฤษ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และด้วยความสนใจที่หลากหลายของเธอ รวมถึงด้านศิลปวัฒนธรรม ทำให้เลือกเรียนต่อด้าน Arts and Cultural Management ที่ Pratt Institute นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา จบมามีโอกาสทำงานให้กับแกลเลอรี่เล็กๆและองค์การไม่แสวงหาผลกำไรหลายแห่งที่นั่น
ก่อนจะกลับมาเมืองไทย และเคยทำงานให้ Asia Art Archive (AAA) องค์กรรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับงานศิลปะร่วมสมัยของเอเชีย
ปัจจุบัน เป็นอาจารย์พิเศษสอนอยู่ที่ ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ,แปลงาน,เขียนบทความให้กับ นิตยสารศิลปะของต่างประเทศบางฉบับ
แต่งานหลัก คือการบริหารจัดการพื้นที่ห้องสมุดแห่งนี้ งานที่เธอคิดว่า มีความสามารถที่จะทำได้ สนุกกับการได้ทำ และสามารถเติมเต็มในสิ่งที่สังคมขาดหาย
“เราไม่ได้ต่อด้านการทำงานหาเงินปกติ แต่เราก็คงต้องเลือกอะไรที่เหมาะกับตัวเองมากกว่า สมมุติไม่ทำงานด้านนี้ ให้ไปเปิดร้านขายของก็คงทำได้ แต่เมื่อเราเรียนมาสายนี้แล้ว แล้วเรามองว่าเราทำอะไรได้ดี แล้วเราสามารถจะมาเติมเต็มในสิ่งที่สังคมขาดได้บ้าง
ห้องสมุดแต่ละที่ จะเก็บอะไรที่มันเกี่ยวข้องกับองค์กร ,มหาวิทยาลัย หรือสิ่งที่ผ่านไปแล้วแต่สำหรับเรา เราสนใจศิลปะร่วมสมัย นั่นคือศิลปะที่ยังคงดำเนินอยู่ ยังเกิดขึ้นตอนนี้ คนอื่นไม่เก็บ แต่สำหรับเรา เรารู้สึกว่า มันทำให้เราเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้
สมมุติว่า มีคนใดคนหนึ่งสมมุติว่ามาจากต่างประเทศ หรือว่าใครก็ได้ที่สนใจทางนี้แล้ว ไม่รู้มาก่อน ถ้าเขาอยากรู้ว่าตอนนี้มีอะไรเกิดขึ้น เราคิดว่าเราเป็นแทบจะที่เดียวที่ให้ข้อมูลได้ว่า ตอนนี้ ศิลปะในประเทศไทยเกิดอะไรขึ้น
เพราะว่าถ้าคุณเข้าไปห้องสมุดที่อื่นก็จะเป็นข้อมูลที่เกี่ยวกับอะไรเมื่อ 50 ปี 100 ปี หรือ 1,000 ปี มาแล้ว คนไม่ค่อยเก็บสิ่งที่อยู่ตรงหน้า และก็ไม่ได้มองว่ามันสำคัญ แต่สำหรับเรามองว่า สิ่งที่เกิดเมื่อคืนก็เป็นประวัติศาสตร์แล้วนะ ผ่านไป 3 วินาที มันก็คือสิ่งที่ผ่านไปแล้ว
เพราะฉะนั้นเวลาเราไปที่ต่างๆ จะเก็บสูจิบัตร เก็บอะไรหมด เพราะถ้าไม่มีคนเก็บ มันก็เหมือนไม่เคยเกิดขึ้นหรือเปล่า ใช่ไหมคะ และมันเป็นอย่างนั้นมานาน”
รวมถึงการได้มีส่วนเติมเต็มให้กับสังคมในด้านที่ขาดหาย พื้นที่แลกเปลี่ยนทางความคิด
“มองภาพรวมแล้ว สิ่งที่บ้านเราขาดคือเรื่องการให้การศึกษา การให้ข้อมูล การเปิดทัศนคติอะไรหลายๆอย่าง
ในเมื่อบ้านเรามันขาดคนมาทำตรงนี้ แล้วเรามีทักษะทางนี้ เราก็ควรจะทำ เราชอบจัดกิจกรรม ทำมาตั้งแต่อยู่มหาวิทยาลัย มีความสุข และคิดว่าเราเชื่อมต่อคนได้
ดังนั้นเรื่องจะหาเงินจากพื้นที่ตรงนี้มันคงเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้ามีทุน มีอะไรเข้ามา มันก็ดีค่ะ ก็ควรจะต้องมี
เรารู้สึกว่าเราพยายามจะเป็นกลาง เปิดให้คนเข้ามาใช้พื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เราจะไม่มีการจำกัดเขา
สำหรับเราแล้วที่นี่มันไม่ใช่แค่ห้องสมุด มันคือพื้นที่ๆคนจะเข้ามาแชร์กัน ทำกิจกรรมร่วมกัน มีการเชื่อมต่อกันระหว่างคน ไม่ใช่ว่าคนเดินเข้ามาแล้วก็ออกไป หรือเข้ามาหยิบหนังสือ เพราะพื้นที่อย่างนั้นมันมีเยอะแยะแล้ว
เราอยากทำชุมชนทางความรู้ แสดงความคิดเห็น มันสำคัญกว่าการเป็นชุมชนทางไลฟ์สไตล์ หรือรสนิยม เพราะแบบนั้นมันก็มีเยอะแล้วไง”
>>>ไปทำอะไรดีที่ The Reading Room
สำหรับผู้ที่อยากไปใช้บริการห้องสมุดศิลปะแห่งนี้ เกี๊ยวอัพเดตการให้บริการในปัจจุบันให้ฟังว่า แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนของห้องสมุด กับ ส่วนของการทำกิจกรรม
ส่วนของห้องสมุด มีหนังสือศิลปะ,สูจิบัตรนิทรรศการศิลปะทั้งไทยและต่างประเทศให้เลือกอ่าน หาข้อมูล ถ่ายภาพ และสแกนได้ แต่ยังไม่มีบริการให้ยืมกลับไปอ่านที่บ้าน และมี DVD ของภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับศิลปะและนอกกระแสที่หาดูได้ยากให้ยืม
“อีกสักพัก ปีหน้า น่าจะทำระเบียน หรือ ฐานข้อมูล เรายังขาดทีมงาน ที่มาทำตรงนี้อยู่ ถ้าทำได้อาจจะมีการทำระบบยืมคืน แต่ที่มีระบบยืมคืนตอนนี้ คือ DVD เพราะจำนวนมันน้อยกว่าหนังสือ
ส่วนของการทำกิจกรรม ที่มีทั้งกิจกรรมที่ทางห้องสมุดจัดขึ้นเอง และร่วมจัดกับบุคคลภายนอก ตัวอย่างเช่น กิจกรรมล่าสุด ที่เปิดพื้นที่ให้ โคโทริ คาวาชิมา (kotori kawashima) ช่างภาพชาวญี่ปุ่น มาพูดคุยเกี่ยวกับ เด็กหญิงมิรัยจัง หนูน้อยแก้มแดง จากเกาะ Sado ประเทศญี่ปุ่น ในภาพถ่ายของเขา ในหัวข้อ Mirai – Chan and Kotori ’ s World
“แต่เราไม่มีกิจกรรมแบบว่าให้คนมาใช้พื้นที่ โดยที่เราไม่ตรวจสอบ เราไม่ใช่พื้นที่ให้คนมาเช่าทำอะไร เรามีคาแรคเตอร์ชัดเจนว่างานจะต้องเป็นยังไง เช่น ให้ข้อมูล หรือเพื่อการศึกษาหรือเปล่า
ถ้าเกิดเข้ามา แล้วจัดงานสนุกสนานกันเอง หรือว่าฉายหนังดูส่วนตัว ก็ไม่ได้ ที่ผ่านก็มีคนมาขอใช้พื้นที่เพื่อการนั้นเหมือนกัน แต่ว่าที่เราไม่ใช่แบบนั้น
หลักๆก็อย่างที่บอก เวลาคนจะมาจัดงานอะไร หรือต้องการมาใช้ที่นี่ เราก็จะให้เขาเขียนมาว่าคุณจะทำอะไร เดี๋ยวเรามาคุยกันว่ามันเข้ากันหรือเปล่า ถือว่าเป็นการจัดร่วมกันมากกว่า”
>>>5 หนังสือศิลปะหายาก อยากแนะนำ
ก่อนหาโอกาสแวะไป เกี๊ยวเลือกหนังสือและสูจิบัตรศิลปะ 5 เล่ม/ชุด จากจำนวนทั้งหมด มากกว่า 1000 เล่ม ที่เธอสะสมมาทั้งชีวิตและมีคนบริจาค มานำเสนอเพื่อเป็นตัวอย่างของหนังสือและสูจิบัตรที่อาจะจะหาดูหาอ่านได้ยากในพื้นที่ห้องสมุดทั่วไปของเมืองไทย
เริ่มด้วย 1.สูจิบัตรขนาดกะทัดรัด ที่แนะนำผลงานศิลปะของ ศิลปินร่วมสมัยชื่อดังของไทย 6 คน, 2.สูจิบัตรบุผ้าไหมอย่างดี นำเสนองานของ ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช และ นิ่ม เครือแสง ที่มีจำนวนจำกัดเพียง 500 เล่ม
3.Degenerate Art : The Fate of the Avant – Garde in Nazi Germany หนังสือสำคัญและหายากที่เกี๊ยวบอกว่า ห้องสมุดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลป์ควรต้องมี เพราะเป็นหนังสือที่พูดถึงนิทรรศการศิลปะที่ถูกจัดขึ้นโดยรัฐบาลสมัยนาซี เพื่อประจานงานศิลปะที่รัฐมองว่าเลวทราม ไม่ส่งเสริมรัฐ แต่ ณ วันนี้กลายเป็นงานศิลปะที่มีชื่อเสียงมาก
4.Great Pictures Described By Great Writers รวบรวมข้อเขียนและบทความที่นักเขียนชื่อดังของโลกแต่ละคน พูดถึงงานศิลปะชิ้นดังของโลกแต่ละชิ้น และ 5.The Machine สูจิบัตรหายาก ของนิทรรศการศิลปะที่เกี่ยวกับเครื่องจักรกลและเทคโนโลยีต่างๆ จัดทำโดย The Museum of Modern Art ของนิวยอร์ก
“ศิลปะพัฒนาได้เพราะเทคโนโลยี ถ้าไม่มีเทคโนโลยี ศิลปะก็ไม่สามารถมาถึงแบบนี้ได้ มันเป็นทั้งแรงบันดาลใจให้ และเป็นทั้งสิ่งที่เป็นพื้นฐาน เพราะว่าในยุคเริ่มต้นศิลปะมันก็มาจากวิทยาศาสตร์ อย่างเช่น การผสมสี การปั้นหล่อ ทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นนิทรรศการประมาณ ค.ศ.1960 กว่าๆ ค่อนข้างเก่าพอสมควร เล่มนี้หาย คงร้องไห้ค่ะ”
>>>BANGKOK BOOK MAP
ได้ยินอย่างนี้หลายคนคงอยากแวะไปขออ่านขอชมบ้างแล้ว แต่ถ้ายังไม่มีเวลาไปแถวนั้น แวะไปให้ห้องสมุดใกล้บ้าน หรือที่สะดวกอีกหลายแห่งก่อนก็ได้
เพราะล่าสุดสาวเกี๊ยวเพิ่งได้รับงบก้อนน้อย เพื่อคิดทำโครงการใหญ่ BANGKOK BOOK MAP แผนที่พาทุกคนไป “ห้องสมุดและร้านหนังสือทั่วกรุงเทพ”
บางที่คุณอาจจะไม่เคยรู้เลยว่าอยู่ใกล้ๆบ้านของคุณเอง รับแจกฟรีได้ในนิทรรศการ Temporary Storage #01 วันนี้ – 9 ธันวาคม พ.ศ.2555 ณ หอศิลป์ กทม. สี่แยกปทุมวัน
“พูดตามตรงนะคะ โครงการนี้ คนช่วยทำน้อยมาก ทุนน้อยมาก แต่เป็นสิ่งที่ตัวเองอยากทำมานานแล้ว ยิ่งได้ทำโคตรดีใจ แม้แต่ตอนได้เห็นแค่เป็นไฟล์ ยิ่งพอได้จับตัวจริง โอ้ย..ดีใจ
คือเราเป็นคนอินค่ะ จับอะไรซักอย่าง เราต้องรักก่อน หรือเวลาจัดกิจกรรมอะไรขึ้นมา เกือบทุกงานที่เราจัด เราตื่นเต้น สนใจ อยากฟัง อยากดู หรือว่าแคมเปญต่างๆที่เราทำ เราก็ต้องรู้สึกว่า เราสนใจก่อน
ถ้าเราไม่รักในสิ่งที่เราทำ เป็นอย่างแรก ถ้าไม่มีใจ มันก็ไม่เวิร์คค่ะ”
The Reading Room เปิด วันพุธ – วันอาทิตย์ เวลา 13.00 – 19.00 น
เลขที่ 2 ถนนสีลม ซอย 19 โทร.0-2635-3674
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซคชั่น Celeb Online www.astvmanager.com และ M-Art เซคชั่น Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
Comments are closed.