Art Eye View

การเหยียบย่ำศักดิ์ศรีของสตรีเพศและการแก้แค้น

Pinterest LinkedIn Tumblr

>>>คอลัมน์ : 108-1000 – ศิลป์  โดย  รองศาสตราจารย์ ดร. กฤษณา หงษ์อุเทน
Tizian: ทาร์ควินิอุสและลูเครเตีย, ราว 1571, สีน้ำมันบนผ้าใบ, 187.5x145 ซม. Cambridge, Fitzwilliam Museum
เมื่อกลางเดือนธันวาคม พ.ศ. 2555 ที่ผ่านมา ได้เกิดเรื่องเศร้าสลดใจชวนให้เคียดแค้นและสังเวชขึ้นกับหญิงสาวชาวอินเดียวัย 23 ปี ซึ่งส่งผลให้เพื่อนร่วมชาติของเธอและคนทั่วโลกออกมาแสดงความเสียใจและความเห็นอกเห็นใจเธอ รวมทั้งแสดงความเคียดแค้นชิงชังการกระทำอันป่าเถื่อนของกลุ่มสัตว์มนุษย์ที่รุมข่มขืน ทำทารุณกรรมต่างๆ และโยนร่างของเธอออกมานอกรถบัสขณะกำลังแล่นด้วยความเร็วสูง

กระแสการวิพากษ์วิจารณ์และความโกรธแค้นของมหาชนทั่วโลกเกี่ยวกับเรื่องนี้ ได้สร้างแรงกดดันให้เจ้าหน้าที่ตำรวจอินเดียต้องเร่งติดตามไล่ล่าชายโฉดกลุ่มนี้ให้มารับโทษตามกฎหมายบ้านเมือง ยิ่งไปกว่านั้นยังได้มีการเรียกร้องให้ประหารชีวิตชายกลุ่มนี้ให้ตายตกไปตามกันอีกด้วย

กรณีของการล่วงละเมิดทางเพศและการเหยียบย่ำศักดิ์ศรีของสตรีเพศเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน ทั่วทุกหนแห่ง ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน

วันนี้ดิฉันจึงใคร่นำเรื่องราวของ ลูเครเตีย (Lucretia) ซึ่งศิลปินตะวันตกหลายยุคหลายสมัยนิยมนำมาเป็นเนื้อหาในการสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมมาเล่าสู่กันฟัง

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นราว 2,500 ปีล่วงมาแล้ว ในยุคที่อาณาจักรโรมันยังปกครองโดยกษัตริย์ มูลเหตุของเรื่องนี้เกิดขึ้นระหว่างที่กองทัพโรมันกำลังล้อมเมืองอาร์เดียส์ (Ardeas) ในดินแดนลาติอุม (Latium)

บรรดาแม่ทัพนายกองโรมันเกิดความเหงาคิดถึงบ้าน จึงจับกลุ่มเล่าเรื่องครอบครัวของตนให้กันฟัง เมื่อแม่ทัพ ลูซิอุส คอลลาตินุส (Lucius Collatinus) เล่าถึงศรีภรรยาผู้งดงาม ซื่อสัตย์ และเพียบพร้อมด้วยความดีงามของเขา เขาได้กล่าวอย่างมั่นใจว่า ภรรยาของเขาไม่มีทางออกไปเริงร่านอกบ้านระหว่างที่สามีออกไปรบอย่างแน่นอน

สำหรับนายทหารคนอื่นๆ ถือว่าคำกล่าวนี้คือคำท้าทายที่ต้องการการพิสูจน์ ดังนั้น พวกเขาจึงส่งคนไปสอดแนมพฤติกรรมของบรรดาภรรยาที่บ้านอย่างลับๆ เมื่อกองสอดแนมกลับมา ต่างรายงานผลตรงกันว่า บรรดาภรรยาของพวกเขาทั้งหมดมักไม่อยู่ติดบ้าน วันๆ ได้แต่แต่งตัวออกไปเที่ยวเล่นนอกบ้าน และจับกลุ่มกันตั้งวงเหล้าดื่มสุราเมามายไม่เว้นแต่ละวัน

ขณะที่ลูเครเตียจะอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน ทำหน้าที่แม่บ้านอย่างไม่บกพร่อง และใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทอผ้าเพื่อเฝ้ารอคอยวันกลับของสามี

กิตติศัพท์เกี่ยวกับจริยวัตรอันน่าสรรเสริญและความงดงามของลูเครเตีย ทำให้แม่ทัพ เซ็คซ์ตุส ทาร์ควินิอุส (Sextus Tarquinius) โอรสพระองค์เล็กของกษัตริย์แห่งโรม บังเกิดจิตเสน่หาต่อนาง

ดังนั้น วันหนึ่งเขาจึงแอบหลบออกจากค่ายทหารไปพบลูเครเตียพร้อมแต่งเรื่องหลอกเธอว่ามาราชการ และสามีของเธอได้ฝากให้แวะมาเยี่ยมถามสารทุกข์สุกดิบ

ลูเครเตียไม่รู้เท่าทันในกลอุบาย จึงเชิญให้เขาพักค้างคืนที่บ้านของเธอ ยามดึกคืนนั้น เมื่อสบโอกาส ทาร์ควินิอุสได้ลอบเข้าไปในห้องนอนของลูเครเตีย และข่มขืนเธออย่างเหี้ยมโหดโดยใช้กำลังและกริชขู่บังคับ

ลูเครเตียได้รับความอับอายและบอบช้ำอย่างหนักทั้งทางร่างกายและจิตใจ ดังนั้น เธอจึงได้เขียนจดหมายถึงบิดาและสามี เล่าเรื่องที่เกิดขึ้น และขอให้ทั้งคู่ช่วยแก้แค้นเพื่อกอบกู้ชื่อเสียงและศักดิ์ศรีของสตรีคืนให้แก่เธอด้วย จากนั้นเธอจึงใช้กริชปลิดชีพตนเอง
รายละเอียดจากภาพที่ 1
เหตุการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นกับลูเครเตียสร้างความโกรธแค้นให้กับประชาชนที่ถูกทรราชในคราบกษัตริย์ปกครองอย่างกดขี่และเหี้ยมโหดมานานหลายสิบปี กระแสการต่อต้านเกิดขึ้นทุกหัวระแหง ระบอบกษัตริย์ถูกโค่นล้มโดยรัฐบุรุษ ลูซิอุส บรูตุส (Lucius Brutus) และคอลลาตินุส สามีของลูเครเตีย

สาธารณรัฐโรมันได้รับการสถาปนาในปี 509 ก่อนคริส์ตกาล ทาร์ควินิอุสผู้ข่มขืนและย่ำยีเกียรติแห่งสตรีของลูเครเตีย ต้องหนีหัวซุกหัวซุนไปทั่ว และถูกสังหารอย่างเหี้ยมโหดในเวลาต่อมา ท้ายที่สุดความแค้นของลูเครเตียก็ได้รับการสะสาง

ภาพจิตรกรรม Tarquinius และ Lucretia (ภาพที่ 1) ที่นำมาเสนอให้ชมในวันนี้ เป็นผลงานการสร้างสรรค์ของ ทิเซียน (Tizian) จิตรกรเอกชาวอิตาเลียน สมัยเรอแนสซองซ์ ขณะที่ศิลปินยุคก่อนและยุคเดียวกับเขามักนำเสนอภาพตอนลูเครเตียกำลังใช้กริชปลิดชีพตนเอง แต่ทิเซียนกลับนำเสนอภาพตอนที่ทาร์ควินิอุสกำลังใช้กำลังบังคับลูเครเตียเพื่อเน้นโศกนาฏกรรมของหญิงสาว

ลูเครเตียยกมือขึ้นปัดป้องพลังถาโถมของทาร์ควินิอุส แต่แขนข้างขวาของเธอถูกจับไว้มั่นด้วยมืออันแข็งแกร่งของเขา เธอพยายามใช้มือซ้ายยันหน้าอกอันบึกบึนของทาร์ควินิอุส ขณะที่เขาพุ่งตัวเข้ามาอย่างรวดเร็วพร้อมเงื้อง่ากริชไว้ในมือ ดวงตาที่ฉายแววหื่นกระหายและเหี้ยมโหดของทาร์ควินิอุสสบกับดวงตาที่บ่งบอกถึงความตื่นตระหนกและความหวาดกลัวของลูเครเตียจนน้ำตาคลอเบ้า (ภาพที่ 2)

เหตุการณ์อันชั่วช้าสามานย์นี้เกิดขึ้นภายในห้องนอนของลูเครเตียต่อหน้าต่อตาของพยานบุคคลที่ซ่อนอยู่หลังม่าน สีเขียวเข้มของม่านอันหนาหนักในฉากหลังนอกจากจะสะท้อนความมืดมนอนธการในกมลสันดานที่เต็มไปด้วยกิเลสตัณหาของมนุษย์แล้ว ยังเป็นตัวเน้นพลังของสีแดงฉานจากกางเกงและรองเท้าของทาร์ควินิอุส ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความรุนแรง เหี้ยมโหด และความตายอีกด้วย
Artemisia Gentileschi: ยูดิทและโฮโลเฟอร์เนส, 1614-1620, สีน้ำมันบนผ้าใบ, 199x162 ซม. Galleria degli Uffizi, Florence
เรื่องราวการถูกย่ำยีเกียรติและศักดิ์ศรีของสตรีเพศที่อื้อฉาวที่สุดในประวัติศาสตร์ศิลป์คือกรณีของ อาร์เทมิเซีย เจนติเลสชิ (Artemisia Gentileschi) บุตรสาวของโอราซิโอ เจนติเลสชิ (Orazio Gentileschi) ซึ่งถูก อาโกสติโน ตาสซิ (Agostino Tassi) ผู้ที่บิดาจ้างให้มาช่วยสอนเขียนภาพ ข่มขืนกระทำชำเรา ถึงแม้ว่าอาร์เทมิเซียจะได้รับความอับอาย หมิ่นประมาท เยาะเย้ยถากถาง และเหยียบย่ำศักดิ์ศรีระหว่างขึ้นให้การในชั้นศาล แต่เธอก็ยอมอดทนต่อสู้จนถึงที่สุดเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับตนเอง

คดีนี้กินเวลาในการฟ้องร้องยาวนานมากและเป็นคดีประวัติศาสตร์ในสมัยนั้น เพราะเมื่อราว 500 ปีที่แล้วแทบไม่มีผู้หญิงที่ถูกข่มขืนคนใด กล้าหาญพอที่จะลุกขึ้นฟ้องร้องเอาผิดผู้ชายที่ก่อกรรมกับเธอในชั้นศาลเนื่องจากทนความอัปยศอดสูไม่ไหว

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าท้ายที่สุดแล้วตาสซิจะพ้นผิดในชั้นศาล และความพยายามที่จะกอบกู้เกียรติและศักดิ์ศรีของตนให้กลับคืนมาของอาร์เทมิเซียจะไร้ผล แต่เธอก็สามารถค้นพบหนทางแก้แค้นผู้ชายได้ในงานจิตรกรรมของเธอ

ในชีวิตการเป็นจิตรกรของเธอ อาร์เทมิเซีย เขียนภาพ ยูดิทและโฮโลเฟอร์เนส (Judith and Holofernes) ไว้เป็นจำนวนไม่น้อย ถึงแม้ว่าเรื่องราวของยูดิท วีรสตรีในพระคริสตธรรมคัมภีร์ ภาคพันธสัญญาเก่า จะเกี่ยวข้องกับการพลีกายของหญิงสาวเพื่อปกป้องบ้านเกิดของตนโดยใช้มารยาหญิงเป็นกลอุบายในการสังหารแม่ทัพใหญ่ของข้าศึกที่ยกทัพมาล้อมเมืองของเธอก็ตาม

แต่การนำเสนอภาพโฮโลเฟอร์เนส แม่ทัพใหญ่ของอัสซีเรีย ผู้กล้าหาญ องอาจ และยิ่งใหญ่ในทุกสนามรบ แต่กลับมาจบชีวิตลงอย่างน่าสยดสยองด้วยมารยาและเสน่ห์เล่ห์กลของสาวงามแห่งเมืองเบทูเลีย ก็นับเป็นการแก้แค้นอันแสนบรรเจิดสำหรับอาร์เทมิเซีย

เพราะทุกครั้งที่เธอเขียนภาพ ยูดิทและโฮโลเฟอร์เนส (ภาพที่ 3 และ 4) เธออาจจินตนาการว่าได้ฆ่าชายโฉดชั่วที่กระทำย่ำยีต่อเธอ และบั่นศีรษะของมันออกจากร่าง จากนั้นจึงนำขึ้นไปแขวนประจานความชั่วของมันไว้บนกำแพงเมืองเหมือนกับที่ยูดิทได้ทำกับศีรษะของโฮโลเฟอร์เนสเช่นกัน

อาร์เทมิเซียมักกล่าวอย่างภาคภูมิใจเสมอว่า ถึงแม้ว่าฉันจะเขียนภาพ ยูดิทและโฮโลเฟอร์เนส ไว้เป็นจำนวนมาก แต่ก็ไม่เคยมีภาพใดเลยที่จะถูกนำเสนอซ้ำกันหรือเหมือนกัน
Artemisia Gentileschi: ยูดิทและโฮโลเฟอร์เนส. Detroit, Institute of Art
รู้จัก … รองศาสตราจารย์ ดร. กฤษณา หงษ์อุเทน

จบมัธยมศึกษาตอนปลายจาก โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ และปริญญาตรี อักษรศาสตร์บัณฑิต (Bachelor of Art) (ภาษาอังกฤษ) จากมหาวิทยาลัยศิลปากร จังหวัดนครปฐม

 จากนั้นจึงได้ไปศึกษาต่อยังประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในสาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก ที่มหาวิทยาลัย Technische Universität Carolo-Wilhelmina แห่งเมือง Braunschweig จนจบหลักสูตรปริญญามหาบัณฑิต (Magistra Artium)

ต่อมาได้รับทุนจากรัฐบาลเยอรมัน (Deutscher Akademischer Austauschdienst/DAAD) ให้ไปศึกษาต่อจนจบปริญญาดุษฎีบัณฑิต (Doktors der Philosophie/Dr. Phil.) (ประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก) ด้วยระดับ “magna cum laude” จากมหาวิทยาลัย Osnabrück แห่งเมือง Osnabrück

ระหว่างปี พ.ศ. 2542-2546 ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการหอศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ กรุงเทพมหานคร

พ.ศ. 2544 ได้รับทุนจากสถาบันเกอเธ่ ให้ไปเข้าร่วมการสัมมนาด้านวัฒนธรรม ณ เมือง Weimar และ Berlin ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เป็นเวลา 1 เดือน พร้อมทั้งได้นำเอาผลงานศิลปะของศิลปินไทย 3 คน คือ ดำรง วงศ์อุปราช อภิชัย ภิรมย์รักษ์ และ เด่น หวานจริง ไปเผยแพร่ในรูปการจัดแสดงนิทรรศการเป็นครั้งแรกในประเทศเยอรมนี ณ Kunstverein Talstrasse แห่งเมือง Halle ด้วย

พ.ศ. 2545 ได้รับทุนจากรัฐบาลเยอรมัน (Deutscher Akademischer Austauschdienst/DAAD) ให้ไปศึกษาและค้นคว้าเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมในคริสต์ศตวรรษที่ 19-20 ของทวีปยุโรป ณ กรุง Berlin ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เป็นเวลา 3 เดือน 

พ.ศ. 2548 ดำรงตำแหน่งประธานสภาคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร ระหว่างปี พ.ศ. 2548-2552 ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ปัจจุบันรับราชการในตำแหน่ง รองศาสตราจารย์ ระดับ 9 ประจำภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

นอกจากงานประจำด้านการสอนวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตกในคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร แล้ว ยังมีผลงานที่เป็นบทความทางวิชาการ ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาเยอรมัน ที่พิมพ์เผยแพร่อย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปี และผลงานสร้างสรรค์ศิลปะที่แสดงร่วมกับคณาจารย์ในคณะอีกด้วย

ผลงานอื่นๆ ได้แก่ การแต่งตำราประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก การออกแบบหนังสือและสูจิบัตร การกำกับและจัดวางรูปแบบนิทรรศการศิลปะ และการจัดทำ (การกำกับ) VCD

เมื่อ พ.ศ.2549 เคยมีผลงานหนังสือ “ศิลปะคลาสสิก” ซึ่งแต่งขึ้น จากการศึกษาและค้นคว้าตำราต่างประเทศหลายสิบเล่มเป็นเวลานานกว่าสิบปี

และ พ.ศ.2552 รศ.ดร.กฤษณา มีผลงานหนังสือ “เผยความลับที่ไม่ลับ ของ รหัสลับดาวินชี” ออกมาเปิดโปง ความจริงที่ถูกปิดบัง ซ่อนเร้น และบิดเบือนอย่างมโหราฬ ใน รหัสลับดาวินชี (The Da Vinci Code) นวนิยายอาชญากรรมเชิงสืบสวนสอบสวนของ แดน บราวน์ ที่โด่งดังและขายดีที่สุดเมื่อหลายปีที่ผ่านมา

ART EYE VIEW เชิญ รองศาสตราจารย์ ดร. กฤษณา มาร่วมให้ความรู้แก่ผู้ชมงานศิลปะ ด้วยเห็นว่า ความรู้ที่มี ไม่ควรถูกจำกัดอยู่แค่ ในรั้วสถาบันการศึกษา

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซกชัน Celeb Online www.astvmanager.com และ M-Art เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

Comments are closed.

Pin It