คอลัมน์ : Nature Impressions โดย แอชลีย์ วินเซนต์
เจมส์ จอยส์ นักแต่งนวนิยายและกวีชาวไอริสเคยเขียนไว้ว่า“ความผิดพลาด เป็นประตูแห่งการค้นพบ”
ผมเห็นด้วยกับข้อความในประโยคนี้เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากตัวผมเองมีประสบการณ์ที่คงจะไม่สามารถเล่าให้คุณฟังได้ทั้งหมด ว่าตลอดชีวิตที่ผ่านมา ผมก้าวข้ามประตูพวกนี้มาแล้วกี่บ่อยครั้ง
ปี ค.ศ 2011 ผมวางแผนที่จะไปผจญภัยในทวีปอัฟริกาเป็นครั้งแรกในฐานะช่างภาพอาชีพ ผมน่าจะกลับไปเยี่ยมเคนย่า ประเทศที่ผมเคยไปเห็นมาแล้วในฐานะนักท่องเที่ยว ตอนที่เคยพาครอบครัวไปท่องซาฟารีในปี ค.ศ 2006 แต่ผมกลับเลือกประเทศที่ผมไม่เคยคุ้นเคยมาก่อนเลยอย่าง “อัฟริกาใต้”
อย่าเพิ่งเข้าใจความหมายของผมผิดนะครับ ประเทศอัฟริกาใต้ไม่ได้มีอะไรที่ไม่ดี จริงๆแล้วประเทศนี้น่าเที่ยวมาก โดยเฉพาะกับคนที่ชอบเฝ้ามองชีวิตสัตว์ป่าหรือคนที่ชอบถ่ายภาพสัตว์ป่า ที่อัฟริกาใต้จะมีสัตว์ป่าหลากหลายให้คุณได้ดูตลอดทั้งปี
เมื่อผมเดินทางถึงอัฟริกาใต้ ผมถึงได้รู้จากไกด์ว่า สัตว์บางชนิดโดยเฉพาะสัตว์ตระกูลแมวใหญ่จะหาดูได้ยากมากในช่วงเวลานั้น ปัญหาของผมก็คือ ผมวางแผนไว้แล้วน่ะสิครับ ว่าผมจะต้องกลับบ้านพร้อมกับภาพถ่ายสัตว์ตระกูลแมวหลากสายพันธุ์ให้ได้
ตอนที่ผมพาครอบครัวไปเที่ยวที่เคนย่าในปี ค.ศ 2006 ผมเป็นเพียงนักท่องเที่ยวที่มีกล้องถ่ายรูปและเลนส์ธรรมดาที่ราคาไม่แพงมากนัก มันเป็นเครื่องมือที่เข้ากับผมได้เป็นอย่างดี เพราะตอนนั้น ผมก็เข้าใจแค่การปิดเปิดหน้ากล้องและการตั้งโฟกัสหรือการซูมภาพอย่างง่ายๆ ผมจำได้ว่า ผมถ่ายรูปสัตว์ทุกอย่างที่ขวางหน้า และก็อดปลื้มใจกับผลงานของตัวเองอยู่เงียบๆไม่ได้
ที่เคนย่าเราโชคดีมากที่ได้ไกด์ฝีมือดีชื่อ“จอห์น” พาท่องซาฟารี พวกเราถูกอัธยาศัยกันมากจนกลายมาเป็นเพื่อนและยังติดต่อกันเรื่อยมาถึงปัจจุบัน ด้วยความชำนาญป่าของจอห์นทำให้ผมและครอบครัวได้เห็นสัตว์ป่าที่มีอยู่ในเคนย่าเกือบทุกชนิด ได้เห็นสัตว์ตระกูลแมวหลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งไม่ใช่ทุกคนที่ไปเคนย่าจะมีใครกล้ารับประกันว่าต้องเจอนะครับ ผมและครอบครัวเพียงแต่มีโชคกับการเดินทางครั้งนั้นจริงๆ
ภรรยาของผมภูมิใจในความสามารถทางสายตาของเธอเสมอมา เธอเป็นคนบอกให้จอห์นหยุดรถ ตอนที่เธอบอกทุกคนว่า เธอมองเห็นเสือซีตาร์กำลังนอนหมอบอยู่ในระยะห่างไกลพอสมควร ผมตื่นเต้นมาก กระซิบสั่งลูกสาวว่าอย่าเคลื่อนไหวรวดเร็ว เพราะไม่อยากให้ซีตาร์รู้ตัวว่ามีมนุษย์กำลังแอบมองมันอยู่ ผมพยายามใช้กล้องส่องทางไกลเพ่งมองดูพฤติกรรมของเสือซีตาร์ หัวใจของผมเต้นแรงทุกครั้งตอนที่คิดว่าเจ้าซีตาร์ขยับตัวเข้าแล้ว
จอห์นปล่อยให้พวกเราซุ่มดูสัตว์อย่างสงบเงียบแบบมืออาชีพ เค้าเป็นไกด์มือฉมังและคงจะเคยเห็นอาการแบบนี้จากนักท่องเที่ยวคนอื่นมาบ่อยครั้งแล้วอย่างไม่ต้องสงสัย และผมก็ยังไม่ได้ยกโทษให้จอห์นอย่างเต็มร้อยเลย ที่ให้เราซุ่มเงียบอยู่อย่างนั้นตั้งเกือบยี่สิบนาที จนลูกสาวของผมพูดขึ้นมาว่า “เดี๋ยวก่อน นั่นไม่ใช่เสือซีตาร์สักหน่อย หนูว่ามันเป็นขอนไม้ที่ตายแล้วตั้งหาก” และผมก็รู้ว่าลูกสาวพูดไม่ผิดแน่ เมื่อมองเห็นรอยยิ้มกว้างของจอห์นแหล่ะครับ555
ภรรยาของผมไม่กล้าอ้างสิทธิ์ทางสายตาของเธออีกเลย ปล่อยให้จอห์นทำหน้าที่ไกด์ พาพวกเราขับรถตระเวนไปแอบมองทั้ง ฝูงสิงโต เสือซีตาร์(ตัวจริง) และได้เห็นเสือดาวถึงสามตัวที่แยกกันหากินอยู่ห่างๆ ทริปที่เคนย่าของผมเกือบจะสมบูรณ์แบบ เพราะผมได้เห็นสัตว์ทุกอย่าง ตามที่ปรารถนาจริงๆ
ผมก็ไม่รู้ ว่าอะไรที่ดลใจให้ผมเลือกไปอัฟริกาใต้ วางแผนจะไปถ่ายรูปสัตว์ตระกูลแมวใหญ่ในฤดูกาลที่หาพวกมันเจอได้ยากที่สุด ขนาดเพื่อนของผมชาวอัฟริกันใต้ที่ชื่อ “สตู” ยังอดถามผมไม่ได้เลยว่า ทำไมเลือกอัฟริกาใต้ทั้งๆที่เคนย่าน่าจะเหมาะสมกับแผนการของผมมากกว่า
ผมมีเวลาเพียงสองอาทิตย์สำหรับทริปนี้ ผมตั้งใจแน่วแน่ว่าจะตามหาเสือให้เจอให้ได้ ในเขตอุทยานแห่งชาติกรูเกอร์ แห่งอัฟริกาใต้ ผมตั้งใจจะใช้เวลาทั้ง 14วันกับเจ้าหน้าที่ป่าของกรูเกอร์ เพื่อทำให้แผนการของผมสมบูรณ์
สงสัยว่า ดวงของผมคงจะไม่จู๋ซะเลยทีเดียว ที่อย่างน้อยผมยังรับฟังสตูตอนที่เขาแนะนำให้ผมเข้าพักที่ Private reserve for rescued and orphaned cats ด้วยสักหลายวันเมื่อเดินทางถึงอัฟริกาใต้ มันเป็นเขตุอนุรักษ์สัตว์ตระกูลแมวใหญ่และคอยช่วยเหลือพวกลูกสัตว์กำพร้า สตูบอกผมว่า ถ้าเข้าพักที่นี่ เขารับรองได้ว่าอย่างน้อยผมจะไม่เดินทางเสียเที่ยวแน่ๆ ผมเลยจองที่พักในเขตอนุรักษ์นี่ เข้าพักและถ่ายรูปสัตว์ที่เขตอนุรักษ์นี้ในหกวันแรก
มันเป็นคำแนะนำที่ผมจะจำได้ตลอดชีวิต ผมรู้สึกดีใจที่ตัวเองยอมรับฟัง และกล้าทำตามความเห็นของคนอื่นบ้าง
แปดวันต่อมาในอุทยานแห่งชาติกรูเกอร์ ผมกับเจ้าหน้าที่ป่าขับรถออกจากที่พักทุกวันตั้งแต่เริ่มรุ่งสางจนถึงเวลาที่ตะวันตกดิน ผมแทบจะไม่ได้เจอสัตว์ใหญ่เลย ได้เห็นสิงโตครั้งหนึ่งในระยะห่างไกลมาก ส่องกล้องจะถ่ายภาพก็มีแต่พุ่มไม้หรือต้นไม้ปิดบังตัวสัตว์ ไม่สามารถเก็บภาพที่ดีได้ บางวันได้เห็นเสือดาวไกลๆก็ตอนขากลับที่พักและหมดแสงของวันสำหรับการถ่ายภาพไปแล้ว
ถึงแม้ผมจะเป็นผู้ชายที่โตเต็มวัยแล้ว แต่หากผมไม่ได้เก็บภาพเสือสวยๆมาบ้างแล้วจากเขตอนุรักษ์ เมื่อถึงอุทยานแห่งชาติกรูเกอร์แล้วผมไม่ได้ภาพเสือมาเลยเลยสักใบ ผมอุตส่าห์เดินทางซะไกล เพื่อจะถ่ายภาพเสือและคิดว่าตัวเองวางแผนไปอย่างดีแล้ว หากต้องผิดหวังทุกอย่าง ผมคงต้องนั่งน้ำตาตกมาในเครื่องขากลับบ้านที่เมืองไทยแน่ๆ
ปัจจุบันนี้ ส่วนใหญ่ผมจะถ่ายภาพสัตว์อยู่ที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียว และช่วยงานสวนสัตว์ในฐานะอาสาสมัครด้วย แต่ผมยังมีภาพถ่ายสะสมอีกมาก ที่ได้มาจากการเดินทางหลายแห่งของผม และผมอยากจะแบ่งปันภาพสัตว์จากที่อื่นให้คุณดูด้วยครับ
เสือที่คุณเห็นในภาพ เป็นเสือดาวเพศเมียครับ มันอยู่ร่วมกับตัวผู้อีกตัวในเขตอนุรักษ์ ทั้งสองตัวอยู่ในโครงการอนุรักษ์และแพร่พันธุ์เสือดาวของอัฟริกันใต้เขตคุ้มครองสัตว์ป่าเซนเตอร์
ผมมีโอกาสไปแอบเฝ้ามองพฤติกรรมของพวกมันทั้งคู่ในช่วงเวลาเช้าตรู่ และอีกทีในยามบ่ายอยู่หลายวัน ผมเริ่มสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ถึงเสือดาวตัวผู้จะมีขนาดตัวใหญ่และดูมีพลังมากกว่าตัวเมีย แต่ตัวที่กุมอำนาจเด็ดขาดคือตัวเมียตั้งหาก หากเธอไม่ได้อยู่ในอารมณ์ที่อยากจะเล่น เธอจะส่งสัญญาณให้เขารู้ และสะบัดจากไป มันเป็นที่มาของชื่อคอลัมน์ในอาทิตย์นี้ของผมด้วยครับ “สิทธิของสตรี”
ขอบคุณทุกคนที่เข้ามาอ่านด้วยครับ ขอให้ทุกคนมีรอยยิ้มตลอดทั้งอาทิตย์นะครับ
รู้จัก…แอชลีย์ วินเซนต์
ชาวอังกฤษเชื้อสายอิสราเอล ที่ผันตัวเองจากการทำธุรกิจด้านเรียลเอสเตท มาทำงานเป็นช่างภาพถ่ายภาพสัตว์ป่าอย่างเต็มตัว เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา
ปัจจุบัน นอกจากเปิดร้าน Nature Impressions จำหน่ายผลงานของตัวเอง ณ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว ต.บางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ที่กล่าวกันว่า เป็นสวนสัตว์เปิดที่ใหญ่อันดับ 1 ของโลก เขายังทำงานให้กับสวนสัตว์แห่งนี้ ในฐานะอาสาสมัครเก็บภาพสัตว์ป่าไปพร้อมกันด้วย
ล่าสุดผลงานภาพถ่าย “บุษบา” เสือโคร่งเพศเมีย ถ่ายจากสวนสัตว์เปิดเขาเขียว เพิ่งได้รับการประกาศให้เป็น สุดยอดภาพถ่าย National Geographic 2012
ติดตามอ่าน …Nature Impressions โดย แอชลีย์ วินเซนต์ ได้ทุกอาทิตย์ ทาง ART EYE VIEW
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซกชัน Celeb Online www.astvmanager.com และ M-Art eye view เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews
Comments are closed.