Art Eye View

ความผูกพันของแม่ : แอชลีย์ วินเซนต์

Pinterest LinkedIn Tumblr

คอลัมน์ : Nature Impressions  โดย   แอชลีย์ วินเซนต์
Protective Custody
เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศอันเป็นมงคล วันสำคัญของคนไทยที่จะมาถึงในวันที่12สิงหาคม“วันแม่แห่งชาติ” ครั้งนี้ ผมขอนำภาพถ่ายที่แสดงออกถึงความรักความผูกพันระหว่างแม่กับลูกของสัตว์ต่างสายพันธุ์มาแบ่งปันกับทุกท่านนะครับ

สรรพชีวิตทั้งปวง ไม่ใช่เฉพาะกับสายพันธุ์ของมนุษย์เท่านั้น ที่มีความรู้สึกผูกพัน รู้จักความรัก และคุ้นเคยกับความห่วงหาอาทร ที่จริงแล้ว สรรพสัตว์ทั้งหมดต่างเรียนรู้และสัมผัสความผูกพันแรกเริ่มจากอกของแม่ ในอาณาจักรของสัตว์ทั้งหมด สัญชาตญาณแรกของผู้ให้กำเนิดคือปกป้อง คุ้มภัย ให้อาหาร และเลี้ยงดู จนกว่าลูกน้อยของมันจะดูแลตัวเองได้
OK Mum, Its Only Ashley
ผมมีโอกาสได้เฝ้ามองพฤติกรรมของสัตว์ ระหว่างตัวแม่กับพวกแรกเกิดบ่อยครั้งเลยล่ะครับ ส่วนมากเจ้าตัวเล็กนี่ จะวนเวียนเกาะติดอยู่ใกล้กับอกของแม่เสมอ มันทำให้ผมมองเห็นความคล้ายคลึงกันกับพฤติกรรมของมนุษย์เช่นกัน เวลาที่ผมมองเห็นแม่แสดงความเมตตาต่อลูก ไม่ว่าจะเป็นแม่คนหรือแม่สัตว์ ผมจะรู้สึกอบอุ่นหัวใจทุกครั้ง ผมรู้สึกเสมอว่า ความรักของแม่ช่างยิ่งใหญ่ และมันเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เผ่าพันธุ์ดำรงอยู่ต่อไป

สำหรับผมแล้ว กลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมดูจะมีการแสดงความรักได้เร้าอารมณ์กว่าสัตว์ชนิดอื่น มันจึงเป็นเหตุผลที่ผมเลือกนำภาพชุดนี้มาแบ่งปันกับทุกท่านครับ

สัตว์ทั้งหมดที่คุณเห็นในภาพ เป็นสัตว์ที่อยู่ในความดูแลของ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ภาพบางภาพ ผมเคยเอาลงในคอลัมน์นี้มาก่อนแล้ว แต่ก็นานพอสมควร อาจจะมีบางท่านที่ยังไม่ได้เห็น มันเป็นภาพความใกล้ชิดของแม่กับลูกที่ผมได้รับคำชื่นชมมากที่สุดภาพหนึ่ง ผมจึงขออนุญาตนำมาฉายซ้ำอีกครั้งนะครับ
The Nurturing Touch
Loving Lemurs
ภาพที่1“ค่างห้าสี” (Pygathrix nemaeus) มันเป็นสิ่งมีชีวิตที่ใกล้การสูญพันธุ์(EN)อยู่ในสัตว์ตระกูลลิง ถิ่นกำเนิดอยู่ในเวียดนามและตามเขตชายแดนที่ติดกับลาว คนเวียดนามเรียกค่างห้าสีว่า“ด็อก” (Dook)ซึ่งในภาษาเวียดนามแปลตรงตัวว่า“ลิง”

ค่างห้าสี เป็นสัตว์ที่มีสีสันหลากหลายที่สุดในกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหมด เคยถูกเรียกเปรียบเทียบว่าเป็น“ลิงทรงเครื่อง” (Costumed ape) ทั้ง ๆ ที่มันไม่ได้อยู่ในสัตว์ตระกูลเอ๊ปนะครับ ค่างห้าสีมีหางยาว มีขนแขนสีดำ แต่มีขนสีขาวทั้งมือถึงข้อศอกเหมือนใส่ถุงมือ มีขนสีส้มตั้งแต่เท้ายาวมาถึงหัวเข่าเหมือนสวมถุงน่อง เป็นลิงที่มีสีขนสวยแปลกตาครับ

ภาพที่2 “ชะนีแก้มขาว” (Nomascus leucogenys) มันเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงขั้นวิกฤตต่อการสูญพันธุ์(CR)อยู่ในสัตว์ตระกูลเอ๊ป ถิ่นกำเนิดอยู่ในเวียดนาม ลาว และเขตชายแดนของจีนใต้

ชะนีแก้มขาวแรกเกิดทั้งหมดจะมีขนสีขาวทั้งตัว แต่เมื่อเติบโตขึ้น ขนเฉพาะตรงกลางหัวของตัวเมียจะค่อย ๆ เข้มขึ้นและกลายเป็นหย่อมขนสีดำ ส่วนตัวผู้ เมื่อเจริญวัยได้14-16เดือน ขนทั้งตัวจะมีสีเข้มขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นสีเทา และดำสนิทในที่สุด ยกเว้นขนตรงแก้มทั้งสองข้างเท่านั้นที่จะยาวเป็นแผงสีขาว และนั่นคือที่มาของชื่อ“ชะนีแก้มขาว” ไงครับ

ภาพที่3 “เชียร์มัง” (Symphalangus syndactylus) มันเป็นสัตว์ตระกูลชะนี และเป็นอีกหนึ่งสิ่งมีชีวิตที่ใกล้การสูญพันธุ์(EN)ถิ่นกำเนิดอยู่ในป่าลึกของไทย มาเลเชีย และบนเกาะสุมาตราในอินโดนีเซีย

เชียร์มังมีขนาดตัวใหญ่ที่สุดในสัตว์ตระกูลชะนี แต่เป็นเอ๊ปที่ตัวเล็กที่สุด เอ๊ปที่มีรูปร่างใหญ่คือ กอลิลล่า ชิมแปนชี และอุรังอุตัง เอ๊ปต่างจากสัตว์คล้ายลิงตรงที่พวกมันไม่มีหางครับ

ภาพที่4“ลิเมอร์หางแหวน” (Lemur catta) สัตว์พันธุ์นี้มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่เกาะมาดากัสก้า ทวีปอัฟริกา ลิเมอร์ไม่ได้ถูกจัดให้อยู่ใกล้เคียงกับสัตว์ตระกูลเอ๊ปหรือสัตว์คล้ายลิงเลยนะครับ มันถูกระบุให้เป็น“สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม”และได้รับการยกย่องให้อยู่ในระดับชั้น Prosimians

Prosimians คือสิ่งมีชีวิตที่สามารถพัฒนาตัวเองได้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ มีขนาดสมองที่เกี่ยวข้องกับสติปัญญา พวกมันรู้จักวิวัฒนาการ มนุษย์เราก็ถูกจัดระดับให้อยู่ในกลุ่ม Prosimians นี้เช่นกัน

เช่นเคยครับ ขอบคุณทุกท่านมากที่กรุณาติดตามเยี่ยมชมภาพถ่ายและอ่านคอลัมน์ของผม ผมขอให้ทุกท่านมีความสุขกับครอบครัวในเทศกาลวันแม่แห่งชาติ และพบกันใหม่อาทิตย์หน้าครับ

รู้จัก…แอชลีย์ วินเซนต์

ชาวอังกฤษเชื้อสายอิสราเอล ที่ผันตัวเองจากการทำธุรกิจด้านเรียลเอสเตท มาทำงานเป็นช่างภาพถ่ายภาพสัตว์ป่าอย่างเต็มตัว เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา

ปัจจุบัน นอกจากเปิดร้าน Nature Impressions จำหน่ายผลงานของตัวเอง ณ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว ต.บางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ที่กล่าวกันว่า เป็นสวนสัตว์เปิดที่ใหญ่อันดับ 1 ของโลก เขายังทำงานให้กับสวนสัตว์แห่งนี้ ในฐานะอาสาสมัครเก็บภาพสัตว์ป่าไปพร้อมกันด้วย

ผลงานภาพถ่าย “บุษบา” เสือโคร่งเพศเมีย ถ่ายจากสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ของแอชลีย์ได้รับการประกาศให้เป็น สุดยอดภาพถ่าย National Geographic 2012

เสมือนบอกย้ำให้กำลังใจช่างภาพหลายๆ คนว่า “ภาพถ่ายสัตว์ป่าที่ดี ไม่ต้องไปถึงเคนยา”

ติดตามอ่าน …Nature Impressions โดย  แอชลีย์ วินเซนต์  ได้ทุกอาทิตย์ ทาง  ART EYE VIEW

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซกชัน Celeb Online www.astvmanager.com และ M-Art eye view เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It