>>นานมีบุ๊คส์ประกาศผลและมอบรางวัลวรรณกรรมรางวัล “แว่นแก้ว” ครั้งที่ 10 ประจำปี 2556 และเปิดตัวโครงการประกวดวรรณกรรมรางวัล “แว่นแก้ว” ครั้งที่ 11 ประจำปี 2557 ในปีนี้มีผลงานคุณภาพที่ได้รับรางวัลมากถึง 21 เรื่อง ซึ่งนักเขียนทั้ง 21 คน จะเข้ารับพระราชทานโล่รางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภายในปีนี้
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ ประธานกรรมการโครงการประกวดวรรณกรรมรางวัล “แว่นแก้ว” ให้เกียรติเป็นประธานและมอบรางวัลให้แก่นักเขียนรางวัลวรรณกรรม “แว่นแก้ว” ครั้งที่ 10 ประจำปี 2556 พร้อมกันนี้จัดสัมภาษณ์พิเศษ “เปิดใจกรรมการและนักเขียนทั้ง 6 ประเภท” โดยมี รศ.เกริก ยุ้นพันธ์, ผศ.ดร.ผดุง พรมมูล, คุณชมัยภร แสงกระจ่าง, คุณวิชชา ลุนาชัย, คุณโตมร ศุขปรีชา และคุณวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง ร่วมเสวนา
สุวดี จงสถิตย์วัฒนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด กล่าวว่า “โครงการประกวดวรรณกรรมรางวัล “แว่นแก้ว” ดำเนินมากว่า 14 ปี ถือเป็นเวทีเกียรติยศที่จุดประกายให้นักเขียนรุ่นใหม่ได้สร้างสรรค์งานเขียนคุณภาพ ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาวงการวรรณกรรมของประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น ยังส่งเสริมให้เกิดการอ่านเพิ่มทางเลือกให้แก่นักอ่านชาวไทย และปลูกฝังนิสัยรักการอ่านไปพร้อมกัน ตลอดระยะเวลากว่า 14 ปี เราสร้างนักเขียนหน้าใหม่ประดับวงการถึง 44 คน และจัดพิมพ์ผลงานทุกเล่มที่ได้รับรางวัลเป็นจำนวนถึง 78 เล่ม จึงขอเชิญชวนผู้สนใจส่งผลงานเข้าประกวดในโครงการประกวดวรรณกรรมรางวัล “แว่นแก้ว” ครั้งที่ 11 ปี 2557”
ผลการประกวดวรรณกรรมรางวัล “แว่นแก้ว” ครั้งที่ 10 ประจำปี 2556 แบ่งการประกวดออกเป็น 6 ประเภท ได้แก่ ประเภทนิทานภาพส่งเสริมคุณธรรม ประเภทหนังสือภาพเสริมความรู้ ประเภทนวนิยายสำหรับเยาวชน ประเภทนวนิยายสำหรับผู้ใหญ่ ประเภทสารคดีสำหรับเยาวชน และประเภทสารคดีสำหรับผู้ใหญ่
ประเภทนิทานภาพส่งเสริมคุณธรรม รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ เรื่อง “หนูออมรักแม่” โดย ปวรวฤณ คัญชิตากร และเรื่อง “หมีน้อยจอมพลัง” โดย ภัทรวินท์ รัศมิแพทย์ รางวัลชมเชย จำนวน 4 รางวัล ได้แก่ เรื่อง “ขยะแปลงร่าง” โดย อัญชลี อารีย์วงศ์ เรื่อง “ความดีของพอใจ” โดย ชนน์ชนก อยู่หลง เรื่อง “ลุงฮูกอยากนอน” โดย ไพโรจน์ คงเกิด และพิศิษฐ รัตนวงศ์ และเรื่อง “หนูไม่อยากมีเหา” โดย สุรภา วงษ์โกวิท
ประเภทหนังสือภาพเสริมความรู้ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ เรื่อง “คิดถึงอยากบอกเธอ และคิดถึงอยากไปหา” โดย ไพเราะ มากเจริญ และอนุชา เที่ยงรอด และเรื่อง “ผึ้งน้อยกับพืชกินแมลง” โดย พิศิษฐ รัตนวงศ์ และรางวัลชมเชย จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ เรื่อง “เธออยู่ไหน” โดย สุรศักดิ์ พุ่มรัก และเรื่อง “เรื่องของผม” โดย ณัฐรดา กิตติคุณเดชา
ประเภทนวนิยายสำหรับเยาวชน รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เรื่อง “เจ้าเอย…เจ้ากรงหัวจุก” โดย คารม ธรรมชยาธร รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ เรื่อง “เซนในสวน” โดย จักษณ์ จันทร รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ เรื่อง “ลี้ภัยในเมืองแปลก” โดย ศศิธร สุตานันท์ และรางวัลชมเชย ได้แก่ เรื่อง “โลกสวยที่น้ำใส” โดย ชัยกร หาญไฟฟ้า
ประเภทนวนิยายสำหรับผู้ใหญ่ รางวัลชมเชย จำนวน 3 รางวัล ได้แก่ เรื่อง “โดมิโนแสงดาว” โดย วรรณวนัช เตชะศิลป์เจริญ เรื่อง “ท่ามกลางไทม์ไลน์” โดย นวลาภ ธีรธนาธร และเรื่อง “น้ำสูง” โดย พรศักดิ์ อุรัจฉัทชัยรัตน์
ประเภทสารคดีสำหรับเยาวชน รางวัลชมเชย ได้แก่ เรื่อง “หนูน้อย หัวใจพิราบแข่ง” โดย ดิศวัตติ์ อัคริยานนท์
ประเภทสารคดีสำหรับผู้ใหญ่ รางวัลชมเชย จำนวน 3 เรื่อง ได้แก่ เรื่อง “ชะโงกดมงมเงา” โดย ชัยกร หาญไฟฟ้า เรื่อง “พระมหาธีรราชเจ้ากับโฮเต็ลวังพญาไท” โดย ขนิษฐา บัวงาม และเรื่อง “ริมฝั่ง…ชานชรา” โดย ปกาศิต แมนไทยสงค์
ชิด ชยากร เจ้าของรางวัลชนะเลิศ ประเภทนวนิยายสำหรับเยาวชน กล่าวว่า “รู้สึกดีใจมาก เพราะส่งประกวดรางวัลแว่นแก้วมาหลายครั้ง พอมาถึงครั้งสุดท้ายก็ได้ รู้สึกดีใจมาก สำหรับแรงบันดาลใจในการแต่งเรื่อง “เจ้าเอย…เจ้ากรงหัวจุก” คือผมเห็นนกถูกขังอยู่ในกรงก็รู้สึกไม่ชอบ ตอนเป็นเด็กชอบสัตว์อยากเลี้ยงนก พอเป็นผู้ใหญ่กลับไม่อยากเห็นนกเป็นแบบนั้น เพราะน่าจะเป็นความรู้สึกเดียวกันกับคนถูกขัง”
จักษณ์ จันทร เจ้าของรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ประเภทนวนิยายสำหรับเยาวชน กล่าวว่า “เนื่องจากผมเป็นลูกชาวสวน แต่งานที่ผ่านมาของผมจะเกี่ยวกับสังคมเมือง เกี่ยวกับการเมือง เกี่ยวกับทางสังคมเป็นส่วนใหญ่ วันหนึ่งผมกลับมามองที่บ้าน และนึกถึงคำพูดของครูรงค์ วงษ์สวรรค์ ซึ่งบอกไว้ว่า “ใบไม้ใบเดียวสามารถเขียนให้เป็นเรื่องได้” และเมื่อผมกลับไปมองที่บ้านมันมีเรื่องราวต่างๆ เต็มไปหมด เรื่อง “เซนในสวน” เป็นส่วนเดียวเท่านั้นที่นำมาเขียน ซึ่งเป็นประเด็นที่เราสนใจ นั่นคือ “เซน” ซึ่งรู้สึกดีใจมากที่ได้รับรางวัลนี้ เนื่องจากที่ผ่านมางานผมไม่ค่อยตอบโจทย์รางวัลในเมืองไทย เรื่องนี้ผมลองเขียนแบบงานทั่วๆ ไป แบบเรียลิสติก”
พิศิษฐ รัตนวงศ์ เจ้าของรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ประเภทหนังสือภาพเสริมความรู้ กล่าวว่า “ผมรู้สึกดีใจที่สุดที่ได้รับรางวัลนี้ สิ่งแรกที่ผมชอบคุณคือนานมีบุ๊คส์ ที่เปิดโอกาสดีๆ ให้มีโครงการแบบนี้สำหรับเด็กและเยาวชน และสำหรับสังคมประเทศชาติด้วย สิ่งที่ตั้งใจเขียนเรื่องนี้เพราะว่า อยากให้มองอีกมิติหนึ่งของธรรมชาติ จากปกติเราเห็นสัตว์กินพืช แต่เรื่องนี้ผมทำให้เห็นอีกมิติหนึ่งคือ พืชกินสัตว์ และสิ่งที่คาดหวังคือ อยากให้เด็กๆ ได้ความรู้ในเรื่องของพืชกินแมลง และต่อยอดไปในเรื่องของการใฝ่รู้ การศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมในเรื่องนี้ และพัฒนาความรู้ด้านนี้ต่ออีกเป็นขั้นเป็นตอน”
สำหรับโครงการประกวดวรรณกรรมรางวัล “แว่นแก้ว” ครั้งที่ 11 ประจำปี 2557 แบ่งการประกวดออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
-กลุ่มหนังสือสำหรับเด็กเล็ก อายุ 3-8 ขวบ แบ่งออกเป็น ประเภทนิทานภาพส่งเสริมคุณธรรม และประเภทหนังสือภาพเสริมความรู้
-กลุ่มหนังสือสำหรับเยาวชน อายุ 12-18 ปี แบ่งออกเป็น ประเภทนวนิยายสำหรับเยาวชน และประเภทสารคดีสำหรับเยาวชน
-กลุ่มหนังสือสำหรับผู้ใหญ่ อายุ 18 ปีขึ้นไป แบ่งออกเป็น ประเภทนวนิยายสำหรับผู้ใหญ่ และประเภทสารคดีสำหรับผู้ใหญ่
โดยมีรางวัลชนะเลิศประเภทละ 1 รางวัล ได้รับเงินรางวัล รางวัลละ 50,000 บาท พร้อมโล่พระราชทาน “แว่นแก้ว” และ Gifts Voucher จากร้านหนังสือแว่นแก้ว มูลค่า 10,000 บาท, รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ประเภทละ 1 รางวัล ได้รับเงินรางวัล รางวัลละ 30,000 บาท พร้อมโล่พระราชทาน “แว่นแก้ว” และ Gifts Voucher จากร้านหนังสือแว่นแก้ว มูลค่า 5,000 บาท, รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ประเภทละ 1 รางวัล ได้รับเงินรางวัล รางวัลละ 10,000 บาท พร้อมโล่พระราชทาน “แว่นแก้ว” และ Gifts Voucher จากร้านหนังสือแว่นแก้ว มูลค่า 3,000 บาท และรางวัลชมเชย ประเภทละ 1 รางวัล ได้รับเงินรางวัล รางวัลละ 5,000 บาท พร้อมโล่พระราชทาน “แว่นแก้ว” และ Gifts Voucher จากร้านหนังสือแว่นแก้ว มูลค่า 1,000 บาท นอกจากนี้หนังสือจะได้จัดพิมพ์และจำหน่ายโดยบริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด พร้อมค่าลิขสิทธิ์ 10% จากยอดขาย ผู้ที่สนใจสามารถส่งผลงานได้ตั้งแต่วันนี้ – 30 ธันวาคม 2557 ประกาศผลในเดือนมีนาคม 2558 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.nanmeebooks.com ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 0-2662-3000 ต่อ 5272 หรือ 5215 โทรสาร 0-2662-0919 E-mail: editorial@nanmeebooks.com :: Report by FLASH
Comments are closed.