หลังจากเดบิวต์เมื่อกลางปีที่แล้ว ในฐานะวง LGBTQ วงแรกของวงการเพลงไทย กระแสความฮอตของ “4MIX” นอกจากจะพาเพลง Y U COMEBACK ขึ้นเทรนด์มาแรงบนยูทูบ สร้างปรากฏการณ์ใหม่ที่น่าจับตามองให้กับวงการ T-Pop ยังโด่งดังไกลไปถึงละตินอเมริกา โดยเฉพาะ ในบราซิล, เม็กซิโก รวมไปถึงในยุโรป อย่าง สเปน, โปรตุเกส, เยอรมนี และอิตาลี ที่สำคัญคือ กระแสของวงแรงเกินต้านถึงขั้นโควิด-19 ก็ไม่เป็นอุปสรรค ลัดฟ้าไปจัดมินิคอนเสิร์ต ‘4MIX UNIX MEXICO’ ถึงเม็กซิโก ท่ามกลางแฟนคลับหลายพันคนที่มาให้กำลังใจ
หนึ่งในผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของวง “4MIX” คือ “ภูริต กุญชร ณ อยุธยา” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ข้าวสาร เอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด ที่ต้องยกให้เป็นผู้บริหารหนุ่มไฟแรง เพราะแม้จะไม่มีความรู้ด้านดนตรี แต่ด้วยความมุ่งมั่นที่อยากจะปลุกปั้นศิลปินไทย ให้โกอินเตอร์ไปในระดับโลก เลยไม่กลัวและกล้าที่จะฉีกกรอบการปั้นศิลปินแบบเดิมๆ ด้วยการสร้างโอกาสจากการเติบโตของโลกออนไลน์ และพลังของดาต้ามาสร้างแต้มต่อ จนสามารถสร้างแรงสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ให้กับวงการเพลงไทย
ก่อนจะไปล้วงลึกถึงแนวคิดสุดแหวก ที่ใช้ในการปั้นศิลปินของผู้บริหารคนเก่ง ภูริตเล่าให้ฟังถึงแบ็กกราวน์ก่อนจะมาโลดแล่นในวงการเพลงว่า เขาไปใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศนานถึง 20 ปี ก่อนจะกลับมาทำงานที่เมืองไทย โดยหลังจากเรียนจบมัธยมศึกษาปีที่ 2 จากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ก็ย้ายไปเรียนต่อที่เนเธอร์แลนด์ เพราะมีญาติอยู่ที่นั่น โดยเขาเลือกเรียนต่อด้านบริหาร โฟกัสเกี่ยวกับการทำ Event Marketing และ Digital Marketing
“หลังจากเรียนจบผมหาประสบการณ์ทำงานด้านเอ็นเตอร์เทนเมนต์ ที่เน้นไปทางสายโรงแรม อยู่ต่างประเทศสักพัก ก่อนจะกลับมาเมืองไทย มาเริ่มทำงานที่แรกคือ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ดูแลด้านอีเวนต์อยู่ 1 ปี ก็ย้ายมาทำงานที่ค่ายข้าวสาร เอ็นเตอร์เทนเมนต์ ตอนแรกรับหน้าที่ดูแลแผนกโปรโมตศิลปิน ทำ Music Marketing กับแบรนด์ต่างๆ ทำไปทำมา จากแผนกกลายเป็นบริษัทลูก ชื่อว่า KS Digital รับโปรโมตศิลปิน ไม่ว่าจะค่ายไหน หรือศิลปินอิสระก็ตาม ที่น่าดีใจคือ ที่ผ่านมา ทุกเพลงที่ผ่านมือเราติดเทรนด์ยูทูบทั้งหมด ซึ่งที่เราทำได้ ไม่ใช่เพราะฟลุค แต่เพราะเราเข้าใจระบบหลังบ้านของยูทูบเป็นอย่างดี” ภูริตฉายภาพให้เห็นเส้นทางการทำงานที่ถ้าเปรียบเป็นเส้นกราฟ ต้องบอกว่าเป็นขาขึ้นและพุ่งทะยานแบบฉุดไม่หยุด เพราะต้นปีที่ผ่านมา เขาก็เพิ่งได้ก้าวขึ้นมาเป็นเอ็มดีของค่ายเพลงข้าวสารฯ
“สิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดคือ สมัยก่อนเราดูเฉพาะการโปรโมตศิลปินเท่านั้น แต่ตอนนี้ต้องดูภาพรวมทั้งหมด ตั้งแต่เพลง โปรดักชัน สิ่งที่ค่ายเราแตกต่างจากค่ายอื่นคือ เราทำงานแบบคิดย้อนกลับ แทนที่จะมองว่าเราอยากทำอะไร เราจะเอาดาต้าหรือข้อมูลที่หลอกกันไม่ได้ มาวิเคราะห์ว่าตลาดกำลังมองหา หรือต้องการศิลปินหรือเพลงแบบไหน ฉะนั้น การทำงานของเราจะไม่ได้เริ่มจากการไปหาศิลปินที่หน้าตาดีมาออดิชันเพื่อทำเพลง แต่เราดูว่าตลาดมองหาอะไร ไปหาศิลปินที่มีความสามารถแบบที่เรามองหา หรืออาจจะมีฐานแฟนอยู่บ้างมาปั้น เพื่อทำเพลงที่มองว่าตอบโจทย์ตลาด
อย่างวง “4MIX” เกิดจากการที่เราเห็นโอกาสในอีกทาร์เก็ต นั่นคือ LGBTQ เลยสร้างวง LGBTQ สายเลือดไทย ซึ่งน้องๆ สมาชิกในวงไม่ได้เป็น LGBTQ ทั้งหมด แต่สมาชิกทุกคนเป็นตัวแทนในการนำเสนอเรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศ เราเดบิวต์ในไทย แต่ทุ่มงบการตลาดไปที่แถบละตินอเมริกา เพราะเราเชื่อข้อมูลที่ศึกษามาอย่างดีว่า ถ้าเรามาแนวนี้น่าจะเจาะตลาดตรงนั้นได้ ซึ่งฟีดแบคที่กลับมาก็ดีมากเป็นแบบที่เราคิด มี Reaction และ Cover ที่ต่างชาติทำขึ้นมา ผมเรียกการทำตลาดแบบนี้ว่า Outside in หรือป่าล้อมเมือง เพราะผมเชื่อว่าถ้าเราสามารถสร้างฐานแฟนคลับจากเมืองนอก ที่เปิดกว้างและยอมรับในสิทธิเสรีภาพ และความเป็น LGBTQ ก็จะสามารถฟีดแบคกลับมาหาประเทศไทยได้อย่างแน่นอน
หนึ่งในแรงบันดาลใจที่ทำให้ผมมั่นใจคือ ตอนที่ลิซ่า Blackpink กลายเป็นไวรัลจากเพลงปูหนีบอีปิ ทำให้ผมคิดว่า ต่อให้เป็นเนื้อเพลงไทยก็ไม่ใช่ปัญหา ถ้าคอนเทนต์ที่ส่งออกไปมันใช่ อย่างตอนที่วง “4MIX” ไปโชว์ที่เม็กซิโก ผมก็ให้ร้องเพลง Move on ซึ่งมีภาษาอังกฤษนี้คำเดียว แต่แฟนๆ ก็อิน”
สำหรับเป้าหมายต่อไป ภูริตเชื่อว่าด้วยกลยุทธ์ที่มาถูกทาง จะทำให้เขาสามารถนำทัพพาศิลปินไทยไปโกอินเตอร์ได้อีกมาก และเร็วๆ นี้ยังมีอีกหลายโปรเจกต์ออกมาเอาใจแฟนๆ ได้เซอร์ไพรส์ แต่ที่ดูเหมือนว่าน่าตื่นเต้นที่สุด คงหนีไม่พ้น การปั้นศิลปินที่เป็น Metahuman ที่ยังคงคอนเซ็ปต์ยูนิเซ็กซ์ ออกมาช่วงกลางปี เพื่อรองรับการเข้าสู่โลก Metaverse ซึ่งจุดเด่นของศิลปินที่เป็น Metahuman คือ ไม่แก่ ไม่ตาย สามารถพัฒนาเรียนรู้ ได้เหมือนกับเป็นคนจริง ส่วนจะน่าสนใจขนาดนั้น ขอให้รอติดตาม
ฉายภาพให้เห็นภาพการทำงานไปแล้ว มาถึงไลฟ์สไตล์วันว่างของผู้บริหารคนเก่งกันบ้าง ภูริตยอมรับว่า ถ้ามองว่าคนเราทำงานวันละ 8 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 5 วัน รวมเป็น 40 ชั่วโมงนั้น ไม่เพียงพอต่อการไปถึงเป้าหมาย แต่เขามองว่า สิ่งที่เหนือกว่าตัวเลขชั่วโมงในการทำงาน คือการบริหารจัดการเวลาส่วนตัวกับเวลาทำงาน เพราะถ้าไม่สามารถแบ่งเวลาให้ลงตัว ก็ยากที่จะต้องบริหารเรื่องต่างๆ
“เวลาว่างของผมคือ การเล่นดนตรี ทุกวันนี้ผมไปเรียนกีตาร์ เพราะถึงจะไม่มีความรู้ด้านดนตรี แต่ผมสะสมกีตาร์ที่เป็น Rare Items มานานแล้ว เพราะชอบ แต่พอบทบาทเปลี่ยน ต้องมาทำงาน ที่ได้ดีลกับศิลปินเยอะ เลยคิดว่าถ้ามีความรู้ด้านดนตรี ก็น่าจะเป็นประโยชน์กับการทำงาน เลยไปเรียนจริงจัง
นอกเหนือจากกีตาร์ ผมยังสะสมพระเครื่อง เพราะถึงจะเติบโตต่างประเทศที่เชื่อเรื่องแพสชั่นในการพาไปสู่ความสำเร็จก็จริง แต่ผมก็ไม่ทิ้งความเชื่อแบบไทยๆ ที่ต้องเก่งและเฮง อาจเพราะผมเป็นสายไฮบริด คือตอนมาทำงานในวงการเพลงใหม่ๆ ก็ไม่ได้มีความรู้ด้านนี้ เลยคิดนอกกรอบ ซึ่งผมมองว่าเป็นข้อดีนะ ทำให้เราไม่มีกรอบว่าต้องทำแบบไหน หรืออย่างโควิด-19 ที่หลายธุรกิจต้องปรับตัว แต่ผมมองว่าเป็นโอกาสสำหรับผม วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ทำให้ผู้คนมารวมกันบนโลกออนไลน์ และทำให้เราสามารถสะสมดาต้าเพื่อทำนายพฤติกรรมและความชอบของผู้คน เพื่อมาปรับใช้กับงานได้แม่นยำยิ่งขึ้น”
อย่างไรก็ตาม แม้จะทำงานบนดาต้ามากกว่าคาดเดา แต่ขึ้นชื่อว่า ชีวิต ย่อมมีทั้งวันที่สมหวังและผิดหวัง ซึ่งเทคนิคในการล้มแล้ว Move on ให้เร็วในแบบของภูริตคือ เข้าใจสัจธรรม
“ยิ่งอยู่กับโลกออนไลน์ ยิ่งเห็นชัด เวลาเห็นเพลงที่เราโปรโมตติดเทรนด์ก็ดีใจ แต่สักพักเดี๋ยวก็ลง เป็นไปตามวัฏจักร ซึ่งมันก็สอนให้รู้ว่า ความสำเร็จอยู่กับเราไม่นาน ความล้มเหลวก็เช่นกัน อยู่กับเราไม่นานเช่นกัน สิ่งที่สำคัญกว่าสำเร็จหรือล้มเหลว คือสิ่งที่เราได้เรียนรู้ สำหรับผม นั่นคือ กำไร” ภูริตกล่าวทิ้งท้าย
Comments are closed.