Advice

10 โรคที่ทำให้ตื่นมาไม่สดชื่น/นพ.กฤษดา ศิรามพุช

Pinterest LinkedIn Tumblr

โดย นพ.กฤษดา ศิรามพุช

รัตติกาลคือ เวลาที่ธรรมชาติให้ท่านหลับตาพักผ่อน

กิจกรรมหลายอย่างเกิดขึ้นในยามราตรี

ต่อมสมองหลั่งสารนิทรา, กล้ามเนื้อหัวใจได้พัก, ความดันปรับตัวลง, หลอดเลือดผ่อนคลาย, กระเพาะลำไส้ทำงานน้อย, กระสือออกหากิน และปีศาจแห่งโรงอุปรากรออกทำงาน

เด็กๆ จะเห็นว่ายามค่ำคืนคือ เวลาที่น่ากลัวเพราะ “ตี 3 ผีหลอก” ส่วนผู้ใหญ่เห็นว่าเป็นเวลาได้พักผ่อน แม้กระนั้นบางท่านก็ยังไม่อาจตักตวงเวลา ที่ได้ชื่อว่ากำไรจากธรรมชาตินี้ได้เต็มที่ ด้วยปัญหาการนอนหลายๆอย่างที่ไม่ใช่แค่เพียงนอนไม่หลับ

เหนื่อยแสนเหนื่อย แต่นอนเท่าไรไม่หาย

อาจเป็นเพราะ “บางอย่าง” เกิดขึ้นระหว่างนอนครับ ซึ่งส่งผลเอากับตัวผู้นอนให้มีอาการนอนนานเหมือนนอนไม่อิ่มหรือตื่นมาแล้วรู้สึกไม่สดชื่นหลับไม่เต็มตา ซ้ำร้ายบางท่านยังมีอาการเหนื่อยเพลียในที่ทำงาน เรียนไม่รู้เรื่อง หรือปวดมึนศึรษะช่วงบ่ายได้อีก

นอกจากนั้นการอดนอนยังทำเสี่ยงหลายโรคเช่น ความดันสูง,โรคหัวใจ,โรคอ้วน, เบาหวาน, เซ็กส์เสื่อม, มะเร็ง, ความจำแย่, แก่ก่อนวัย, อายุขัยสั้น ฯลฯ

ดังนั้นในเรื่องนอนจึงต้องคอยดูแลคุณภาพไว้ให้ดีครับ ซึ่งมีอาการอยู่หลายอย่างที่ทำให้ตื่นมาไม่สดชื่น และอาจเป็นสิ่งที่บอกถึงปัญหาสุขภาพที่มีผลกับการนอนได้

ดังต่อไปนี้ครับ

>>10 โรคกวนนิทรา

1) โรคอ้วน ความอ้วนมีส่วนรบกวนการนอนแน่ เอาแค่ง่ายๆ ขอให้ลองคิดถึงตัวเราที่ต้องแบกน้ำหนักเอาไว้แม้ในแนวนอนก็ตามที

น้ำหนักที่มากไปมีส่วนกดให้ “หายใจไม่เต็มปอด” คือ กะบังลมถูกดัน, ปอดขยายได้ไม่เต็มที่ แถมบางทียังทำให้น้ำย่อยล้นผ่านหูรูดขึ้นไปอีก

ที่สำคัญคือทำให้ “หยุดหายใจตอนหลับ” ได้พาโรคหัวใจ และหลอดเลือดมาซ้ำได้ด้วยครับ

2) ไทรอยด์ต่ำ โรคไทรอยด์เป็นปัญหาทางต่อมไร้ท่อที่ทำให้ “ไร้สุข” ได้ครับ เพราะเมื่อไทรอยด์ต่ำจะทำให้มีปัญหากับการนอน

อาการแบบคลาสสิกคือ ง่วงง่ายนอนเก่ง แต่…ขออย่าเพิ่งดีใจไปเพราะมันอาจทำให้การนอนนั้นไม่สุขสบายอย่างที่ควรจะเป็น ตื่นขึ้นมาอาจรู้สึกมึน ตื่นไม่เต็มที่และรู้สึกเพลียง่ายครับ

3) กรดไหลย้อน อาการน้ำกรดจากกระเพาะที่ไหลสวนกระแสย้อนขึ้นผ่านหูรูดหลอดอาหารไปทำให้มีปัญหากับการนอนได้

ในเรื่องนี้หลายคนมีประสบการณ์แสบร้อนอก, คอแห้ง, เปรี้ยวคอ และอึดอัดจุกลิ้นปี่ บางท่านมีอาการหายใจไม่ออกแทบตายเอา ซึ่งใครที่มีอาการเข้าได้กับกรดไหลย้อนที่ว่า ให้วางแผนจัดการให้ดี เพราะมีผลต่อการนอนอย่างยิ่งครับ

4) โรคหัวใจ ปัญหาโรคหัวใจบางชนิดทำให้เกิดความอึดอัดขณะนอนได้ โดยเฉพาะกับอาการ “หัวใจวาย” ที่ทำให้มี “น้ำเกิน” และล้นไปท่วมปอด จนทำให้ยามเอนกายลงนอนรู้สึกอึดอัดเหมือนมีน้ำท่วมปอด

ลองนึกง่ายๆ เหมือนเอนนอนไปก็เหมือนจมน้ำน่ะครับ ดีกรีหนักแค่ไหน ขึ้นกับสเตตัสหัวใจขณะนั้นว่าทำน้ำขังเยอะหรือน้อยครับ

5) หยุดหายใจขณะหลับ ภาวะหลับๆอยู่แล้วหยุดหายใจหยุดกรนปุบปับทันทีทันใดในหลายรายเข้าข่ายโรคนี้ครับ บางท่านอาการหนักขนาดสะดุ้งตื่นขึ้นมาตอนหยุดหายใจหรือทะลึ่งพรวดน่าตกใจหลังสมองขาดอากาศ

โรคนี้สามารถทำให้ตื่นมาเพลีย, มึน,ไม่สุขสบาย,ไม่มีสมาธิในการทำงานได้ ถ้าปล่อยไว้นานจะพาลทำชีวิตพังจากโรคร้ายอื่นตามมา

6) กัดฟัน มนุษย์ที่นอนมีเสียง “กรอดๆ” เป็นแบ็คกราวน์นี้ไม่ใช่ผีกองกอย แต่เป็นปัญหา “กัดฟัน(Bruxism)” ซึ่งไม่ธรรมดา เพราะผลของมันขยายไปมากกว่าแค่ “ฟันสึก”

โดยทำให้ข้อต่อขากรรไกรเลื่อน, อักเสบ, เจ็บเวลาเคี้ยว และยังทำให้หน้าเบี้ยวได้ด้วย ซึ่งมนุษย์เคี้ยวฟันตัวเองนี้ตื่นมาอาจมีอาการเมื่อยหน้าหู นอนไม่อิ่มได้ครับ

7) ไซนัสอักเสบ ผลลัพธ์ที่ตามมาของภูมิแพ้เรื้อรังที่เป็นมานานไม่หาย โดยเฉพาะโรค “ภูมิแพ้เยื่อบุโพรงจมูกอักเสบทั้งปีทั้งชาติ (Perennial rhinitis)” ที่ทำให้จมูกตันตอนนอนต้องอ้าปากหายใจ เมื่อตื่นมามีคอแห้งรู้สึกหลับไม่เต็มตา

ถ้าเป็นในเด็กอาจทำให้มีดราม่าตอนเช้าไม่อยากไปโรงเรียนได้ ทางแก้แค่รักษาภูมิแพ้ก็จะช่วยได้มาก

8) ขากระตุก ภาวะขากระตุกกลางดึก (Restless leg syndrome) หรืออีกชื่อหนึ่งว่าโรควิลลิส-เอ็กบอมเป็นภาวะการขยับตัวผิดปกติที่เกี่ยวกับการนอน ซึ่งเป็นความรู้สึกไม่น่าพึงใจนักขณะนอนหลับ

แต่เชื่อหรือไม่ว่าโรคนี้พบบ่อยในผู้ใหญ่ถึง 1 ใน 10 รายเลยทีเดียวโดยสาเหตุของมันนั้นพบว่าจู่ๆ ก็เกิดเองหรือมีตัวกระตุ้น

ล่าสุดนักวิจัยจากจอห์นฮอปกินส์ พบภาวะสมองขาดธาตุเหล็กคือ ตัวการสำคัญ

9) กระดูกยืด ตัวการหลับไม่เต็มตาในข้อนี้เจอมาจากคนไข้เด็กทั้งหลายที่มาหา ในหลายคราที่คุณพ่อคุณแม่ปรึกษาว่าลูกน้อยบ่น “ปวดขา” ในเวลากลางคืน

ซึ่งสาเหตุหนึ่งคือ “กระดูกยืด” ที่ฝรั่งเรียกว่า Growing pain ครับ ถือเป็นเรื่อง “ธรรมชาติ” ที่เมื่อกระดูกยืดยาวจนเยื่อหุ้มกระดูกตึงก็เจ็บขึ้นมาได้

ถ้าเจ็บมากอาจใช้ยาแก้ปวดทั่วไปเข้าช่วยแล้วเดี๋ยวมันก็ผ่านไปครับ

10) ไบโพลาร์ โรคอารมณ์ 2 ขั้วที่อาจเรียกว่า “คุ้มดีคุ้มร้าย” มีอาการอารมณ์ขึ้นลงผิดปกติ ซึ่งส่งผลต่อการนอนด้วยอย่างมหันต์ ทำให้วงจรการนอนเปลี่ยนไปกลายเป็นง่วงนอนตอนกลางวัน (Delayed sleep phase syndrome)

ซึ่งพอนานไปส่งผลต่อสุขภาพได้ พบคนไบโพลาร์ถึง 1 ใน 3 มีเรื่องหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย

นอกจาก “โรค” ที่ทำให้ตื่นมาไม่สดชื่นแล้ว “ยา” ก็อาจทำให้หลับไม่สบายได้ อาทิ ยาลดไขมันที่ทำให้ปวดกล้ามเนื้อในยามวิกาล หรือยาขยายหลอดลมที่แกล้งหัวใจให้สั่นไหวได้ยามค่ำคืน ซึ่งผลลัพธ์ของการตื่นอย่างไม่เป็นสุขจะทำให้มีชีวิตที่ไม่สนุกครับ

พาให้หลายคนหงุดหงิดง่าย, คุมอารมณ์ไม่อยู่, ไม่มีสมาธิ หรือรู้สึกง่วงเวลาทำงาน

ท่านที่รักลองคิดง่ายๆ ถ้าตื่นมารู้สึกเหมือนไม่ได้นอนทั้งคืน หรือตื่นมายังง่วงอยู่เหมือนวิญญาณยังไม่เข้าร่าง ก็คงไม่มีใครมีกะจิตกะใจลุกไปทำงานไปเรียนหนังสือ ซึ่งถ้าถือว่าการตื่นอย่างมีคุณภาพเป็นฤกษ์ดีแห่งชีวิตแล้ว การนอนให้ดีก็ถือเป็นการเตรียมตัว

ต้องอย่าให้มีโรคเข้ามากวนนิทรารมณ์
* ช่วยคลิก Like ด้วยนะคะ เพื่อเป็นแฟนเพจ Lady Manager รับข่าวสารแซ่บๆ ของผู้หญิงในแวดวงสุขภาพความงาม แฟชั่น และความสัมพันธ์ (**)

 

>>
อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่ 
 http://www.celeb-online.net
 

Comments are closed.

Pin It