>>ลูกของใครใครก็รัก แต่จะรักลูกถูกทางหรือเปล่าต้องดูให้ดี เพราะสมัยนี้เทคโนโลยีเข้ามาสู่เด็กอย่างง่ายดาย พ่อแม่หลายท่านเห็นลูกมีความสุขเมื่อใช้เวลาอยู่กับแท็บเล็ตก็หยิบยื่นให้ทุกเมื่อยามที่ลูกร้องไห้งอแง ถึงเวลาแล้วที่พ่อแม่ยุคใหม่จะต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง หากอยากให้ลูกรักเติบโตไปเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในการเรียน ชีวิตส่วนตัว ชีวิตครอบครัว และชีวิตการทำงาน
ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบทักษะทางสมอง ซึ่งเป็นทักษะการคิดขั้นสูงที่อยู่ในสมองส่วนหน้า เรียกศัพท์เฉพาะว่า “Executive Functions” (EF) หรือ “ทักษะสมองเพื่อชีวิตที่สำเร็จ” โดยสถาบันอาร์แอลจีได้สรุปองค์ประกอบไว้ 9 ด้าน คือ 1) ความจำเพื่อใช้งาน (Working memory) 2) การยั้งคิด ไตร่ตรอง (Inhibitory Control) 3) การยืดหยุ่นความคิด และคิดนอกกรอบ (Shift หรือ Cognitive Flexibility) 4) การใส่ใจจดจ่อ (Focus / Attention) 5) การควบคุมอารมณ์ (Emotional Control) 6) การวางแผนและการจัดระบบดำเนินการ(Planning and Organizing) 7) การประเมินตนเอง (Self -Monitoring) รวมถึงการตรวจสอบการงานเพื่อหาจุดบกพร่อง และรู้ตัวว่ากำลังทำอะไร ได้ผลอย่างไร 8) การริเริ่มและลงมือทำ (Initiating) 9) ความพากเพียรมุ่งสู่เป้าหมาย (Goal-Directed Persistence)
อาจารย์ธิดา พิทักษ์สินสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาสำหรับเด็ก และกรรมการบริหารสมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทยฯ กล่าวถึงความสำคัญของทักษะ EF ว่า “ทักษะสมอง EF คือ กระบวนการทางความคิด ประกอบด้วยทักษะ 3 ด้าน คือ ทักษะพื้นฐาน ทักษะกำกับตนเอง ทักษะของการปฏิบัติ ซึ่งจะไปตอบโจทย์ว่าถ้าสมองของเรามีศักยภาพที่เกิดจากทักษะทั้ง 3 ด้าน จะทำให้เรามีชีวิตที่ประสบความสำเร็จ ทักษะเป็นสิ่งที่ต้องการการฝึกฝน ทำซ้ำๆ การพัฒนาทักษะ EF จะทำให้สมองสามารถทำงานได้อย่างอัตโนมัติ แต่สมองส่วนหน้าซึ่งเป็นที่ปฏิบัติการของทักษะ EF จะเติบโตช้ากว่าสมองอีก 2 ส่วน คือสมองส่วนอารมณ์กับสมองส่วนสัญชาตญาณ ดังนั้นจึงพบว่าเด็กเล็กๆ จึงมีพฤติกรรมแปรปรวนไปตามอารมณ์ได้โดยง่าย เด็กจึงมักอาละวาด ใครตีเขา เขาก็จะตีเขากลับ เพราะสมองส่วนหน้ายังทำหน้าที่ได้ไม่ดี
“สามารถส่งเสริม EF ได้ตั้งแต่เด็กยังเป็นทารก และช่วงอายุที่มีการพัฒนาได้มากที่สุดคือ ช่วงอายุ 3-6 ขวบ พอโตกว่านั้นอัตราการพัฒนาก็จะเริ่มลดลง แต่ก็ยังคงต้องพัฒนาต่อไปอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ปัจจัยที่สำคัญที่ส่งผลต่อการพัฒนาทักษะสมอง EF คือ ความผูกพันที่ดี รู้สึกอบอุ่นปลอดภัย เรียกว่า เป็นความผูกพันแบบปลอดภัยที่เด็กจะอยู่รอดและอยู่ได้ดีในโลกใบนี้ และส่งผลให้สมองส่วนหน้าทำหน้าที่ได้ดี เพราะฉะนั้นการที่แม่อุ้มทารกตั้งแต่แรกเกิด โอบกอด ร้องเพลง ให้ความรัก สิ่งเหล่านี้จะสานให้เกิดความรู้สึกผูกพันและมีความปลอดภัย ทำให้เด็กสามารถพัฒนา EF ของตนได้ดี แต่ถ้าฐานยังไม่รู้สึกปลอดภัยมั่นคง ก็จะกระทบต่อทัศนคติต่อการมองโลกของเด็ก ซึ่งเป็นสิ่งที่แก้ยาก เด็กจะหวาดระแวง กลัวคนโน้นจะคิดแบบนี้ กลัวคนนี้จะคิดแบบนั้น สิ่งเหล่านี้แก้ยาก”
วิธีการพัฒนาทักษะ EF ของเด็กสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การช่วยเหลือตัวเองในกิจวัตรประจำวัน การช่วยงานบ้าน การต่อบล็อก วาดภาพระบายสี การเล่านิทาน อ่านหนังสือ ร้องรำทำเพลง เป็นต้น
การอ่านถือเป็นเครื่องมือชั้นเยี่ยมในการพัฒนาทักษะ EF อาจารย์ธิดา พิทักษ์สินสุข กล่าวเสริมว่า “ทำไมเราถึงเอาหนังสือมาพูดถึงกันเยอะ เพราะหนังสือดีมีคุณภาพเป็นเครื่องมือที่ดีมากและใช้ง่าย เพราะสามารถเริ่มต้นใช้ได้ตั้งแต่เด็กเล็กๆ เพื่อให้เด็กคุ้นเคยกับหนังสือ หนังสือยังช่วยสร้างความผูกพันที่ดีได้โดยง่าย เพราะเมื่อเอาลูกมานั่งตักแล้วโอบกอดไว้ขณะฟังเสียงและเห็นแววตาของแม่ หนังสือจึงนำพาความสุขมาให้ ถ้าพูดถึงคุณภาพของเนื้อหา เรื่อง รูปภาพ สามารถสร้างแรงบันดาลใจ สร้างแรงจูงใจ ในต่อที่สองพ่อแม่จะใช้หนังสือเพื่อพัฒนาทักษะ EF ได้ เช่น สอนให้รู้จักการวางแผน สอนให้เห็นโทษของการเป็นคนขี้โมโหไม่รู้จักควบคุมอารมณ์ สอนให้หนูช่วยเหลือคนอื่น ให้มีน้ำใจ มันเป็นการสอนที่แนบเนียน อ่อนโยน ค่อยเป็นค่อยไป สิ่งที่แม่พ่อสอนคู่ไปกับความรักซึ่งจะประทับตราตรึงอยู่ในใจเด็ก”
ล่าสุดสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ได้เข้าร่วมโครงการคัดสรรหนังสือเด็กที่ส่งเสริม EF ซึ่งมีรายชื่อหนังสือที่สร้างเสริมและพัฒนาทักษะ EF ทั้งหมด 26 เล่ม ดังนี้ ฉันชื่อ…เจน, จุ๊ดจิ๊ดกับจิ๊ดจุ๊ด, ยิ่งกว่าชนะเลิศ, ก้อนเมฆมีน้ำใจ, แพนเค้กของบุ๋มบิ๋ม, หมีจอมซ่ากับกระต่ายเจ้าปัญญา, ถู แตะ เป่า เขย่า สนุกจัง, อายอายคนเก่ง, ฉันชอบตัวเองจังเลย, ฉันชอบเธอจังเลย, มืดตึ๊ดตื๋อ, เพื่อนผมเป็นหนุมาน, ขนฟูอยากเหมือนเพื่อน, ปูยักษ์อยากสวย, บ้านไร่สามัคคี, มะลิกับไมโลเตรียมตัวเที่ยวทะเล, ถ้วยฟูกลัวจังเลย, ถ้วยฟูโกรธแล้วนะ, ห่านน้อยนักแก้ปัญหา, หมีน้อยจอมพลัง, รออีกนิดนะคนดี, ข้าวตังตามหาข้าวตู, โจโจ้ขี้โมโห, กล่องสุดถนอม, วันหนึ่งผมจะโต และต้องดีขึ้น (อีกนิดนึง)
“หนังสือแปลงสิ่งที่เป็นนามธรรมด้านจิตใจ ให้เข้าใจง่าย เช่น นิทานเรื่อง “ฉันชื่อ…เจน” ที่ถ่ายทอดสะท้อนถึงความรักและความสุขมากมายในวัยเด็กกับธรรมชาติ ความฝันซึ่งในที่สุดก็เป็นจริงได้ เจนอยู่ในวัยใกล้เคียงกับเด็กๆ ที่ได้อ่านได้ฟัง จึงเป็นทั้งต้นแบบและแรงบันดาลใจให้กล้าคิดกล้าฝัน อย่างเจนที่สนใจเรื่องของชิมแปนซี เรื่องของสัตว์ป่า และใฝ่ฝันที่จะทำงานด้านนี้มาตั้งแต่เด็กๆ ก็จะนำมาสอนเด็กได้ว่า ถ้าเด็กชอบทำขนม ขยัน ตั้งใจทำ วันหนึ่งเด็กๆ ก็จะเป็นกุ๊กที่ดีก็ได้”
“หนังสือบางเล่มสามารถต่อเนื่องไปถึงกิจกรรม เช่น “แพนเค้กของบุ๋มบิ๋ม” สามารถกระตุ้นแรงจูงใจให้เด็กอยากทำแพนเค้กบ้าง ซึ่งตัวละครในเล่มจะเป็นต้นแบบให้กับเด็ก “เวลาลูกทำแล้วลูกต้องแบ่งนะ เหมือนกับบุ๋มบิ๋มที่เป็นคนใจดี” นิทานเรื่องนี้ทำให้เกิดกิจกรรมต่อเนื่อง อาจพัฒนาทำไข่เจียวหรือขนมอื่นๆ ต่อไป”
อาจารย์ธิดา พิทักษ์สินสุข ฝากถึงคุณพ่อคุณแม่ว่า “การลงทุนกับการซื้อหนังสือให้ลูกเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะเป็นเครื่องมือที่ดีในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูก หยิบใช้ได้ง่ายและบ่อย ใช้ได้ทั้งแม่กับลูก พ่อกับลูก และเด็กเองก็หยิบมาเปิดเองได้บ่อยๆ เวลาที่พ่อแม่สอนแล้วเด็กมาเปิดเอง มันก็เหมือนเขาได้กล่อมเกลาตัวเองอยู่เรื่อยๆ และทำให้การพัฒนาของเขามีความต่อเนื่อง เด็กก็มีความสุขกับความสงบ การอยู่นิ่งๆ กับสิ่งที่ตนเองสนใจ เป็นการฝึกนิสัยจดจ่ออย่างดี การลงทุนกับลูกในช่วงวัย 0-6 ปีคือสำคัญที่สุด ลงทุนไปไม่มีขาดทุน มีแต่คุณค่าที่อยู่ในตัวลูก”
ขวัญใจ ตันติวรถาวร คุณแม่น้องเพนตะ วัย 4 ขวบ และน้องเฮ็คซะ วัย 1 ขวบ เผยว่า “ปกติที่บ้านจะอ่านหนังสือให้ลูกฟังทุกคืนก่อนนอน 2-5 เล่ม และบางทีกลางวันมีเวลาว่างก็จะหยิบมาอ่าน ยิ่งเล่มไหนที่เขาชอบมากก็จะให้อ่านวนอ่านซ้ำอยู่อย่างนั้น บางทีพ่อก็จะมาอ่านด้วย พ่อก็จะมีการใส่เสียงให้น่าตื่นเต้นตามตัวละครด้วย และตอนนี้ทุกคนในบ้านก็ชอบอ่านหนังสือกันหมด ทั้งพ่อ แม่ ตา ยาย ซึ่งพอได้ลองให้ลูกมาอ่านหนังสือ EF ก็เห็นผล คือ ลูกมีพัฒนาการไปในแนวทางที่ดีขึ้น เห็นได้จากที่ลูกเปลี่ยนโรงเรียนมาสามครั้ง แต่ก็สามารถปรับตัวได้ ไม่ได้รู้สึกแปลกแยกหรืออึดอัด ไม่เคยร้องไห้ไม่อยากไปโรงเรียน เขารู้จักหน้าที่ของตนเอง รู้จักรับผิดชอบว่าเขาควรจะทำอะไร ไปโรงเรียนทำอะไร และกลับมาบ้านต้องช่วยอะไร”
“นิทานเล่มโปรดของลูกคือ เรื่องถ้วยฟูโกรธแล้วนะ พอเขาเห็นว่าถ้วยฟูมีอารมณ์โกรธ เขาก็จะบอกว่าถ้างั้นครั้งต่อไปเวลาเพนตะโกรธ เพนตะก็จะทำแบบถ้วยฟู คือ เขาจะคิดตาม จึงคิดว่าอย่าคิดว่าเด็กๆ ในวัยนี้จะไม่รู้เรื่อง แม้ว่าเขาจะยังอ่านไม่ออกเขาจะใช้วิธีการดูภาพ แล้วคนเป็นพี่ก็จะแต่งเรื่องราวจากภาพขึ้นมาเอง ซึ่งเมื่อพี่เล่าน้องฟัง น้องก็จะรู้สึกว่าพี่ของเขาอ่านหนังสือให้เขาฟังแม้ว่าจะไม่รู้ว่าเรื่องนี้ถูกหรือผิด พี่ก็จะจินตนาการของเขาเองว่าควรจะสอนน้องแบบไหนที่ดัดแปลงแล้วดีมีประโยชน์แบบนี้”
“นอกจากนี้ลูกยังชอบเรื่องฉันชอบตัวเอง ลูกบอกว่าเวลาแม่อ่านเล่มนี้ให้ฟังทำให้รู้สึกว่าเขาภูมิใจในตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า และพร้อมช่วยเหลือคนอื่นในขณะที่ตนเองมีอายุเพียงแค่ 4 ขวบ โดยลูกจะบอกว่าเพนตะจะช่วยดูน้อง เพนตะจะดูแลคุณยาย เพราะว่าเพนตะมีความภูมิใจในตนเอง มีคุณค่า ซึ่งในชีวิตจริงเขาก็จะคอยดูแลคุณตาคุณยายตลอด ดังนั้นคิดว่าการอ่านหนังสือเป็นการปลูกจิตสำนึกให้เขาจริงๆ”
ได้เห็นถึงข้อดีของการพัฒนาทักษะ EF ให้ลูกกันแล้ว รอช้าอยู่ไยรีบไปหาหนังสือดีๆ มาพัฒนาสมองของลูกกันเถอะ เพราะความสำเร็จของลูกอยู่ในมือของท่าน ตัดสินใจให้ดี แล้วเลือกวิธีให้ถูกทางกันได้แล้ว
Comments are closed.