โรคมะเร็ง แม้จะเป็นโรคร้ายที่ใครๆ หวาดกลัว แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าโรคนี้เป็นเรื่องใกล้ตัวทุกคนมากกว่าที่ใครๆ คิด ไม่เชื่อลองมองไปรอบๆ ตัวคุณ ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว ญาติมิตร เพื่อนฝูง รับรองได้ว่าต้องมีใครสักคนที่คุณรู้จักเป็นโรคมะเร็ง เพราะทุกวันนี้โรคมะเร็งนับเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญไม่เพียงแต่ในประเทศไทย แต่ยังรวมไปถึงประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ที่ตัวเลขของผู้ป่วยโรคมะเร็ง ขยับเปอร์เซ็นต์สูงขึ้นทุกปี
ในประเทศไทยพบว่ามีผู้ป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นราว 5 % ทุกปี โดยมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งเฉลี่ยปีละ 8 หมื่นคน และพบคนไข้รายใหม่ประมาณ 1.5 แสนคนต่อปี ในขณะที่ระดับโลกพบการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งมากถึงปีละ 8 ล้านคน และแนวโน้มการเสียชีวิตก็มากขึ้นเป็น 17 ล้านคนในปี 2573 โดยเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน แนวโน้มก็สูงขึ้นเช่นกัน
เนื่องจากโรคมะเร็งเป็นโรคที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก และมีแนวโน้มสูงขึ้นทั่วโลก ประกอบกับการดูแลรักษานั้นจำเป็นต้องอาศัยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือในการรักษาจำนวนมาก ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้ถือว่ามีราคาสูง ดังนั้น การดูแลรักษาโรคมะเร็งแนวคิดจะต่างจากโรคอื่นทั่วๆ ไป ที่ยิ่งกระจายเข้าถึงชุมชนหรือกระจายไปตามลักษณะทางภูมิศาสตร์ของประเทศได้มากเท่าไรก็ยิ่งดี แต่โรคมะเร็งจะต้องเป็นการรักษาแบบรวมศูนย์ การกระจายจะไม่ได้การรักษาที่ดีที่สุด จึงเป็นที่มาของการเป็นศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางด้านมะเร็ง
เทคโนโลยีทางการแพทย์มีการพัฒนาการขึ้นตามลำดับ การรักษา “โรคมะเร็ง” ก็เช่นกัน ที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ขึ้นมา เพื่อให้การบำบัดรักษามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดียิ่งขึ้น
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง “นายแพทย์ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวัฒโนสถ โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ ในโรงพยาบาลกลุ่มบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS มีคำแนะนำมาให้สำหรับคนที่ต้องการห่างไกลจากโรคมะเร็ง ให้ยึดหลักปฏิบัติ “5 ทำ 5 ไม่ ห่างไกลมะเร็ง”
คนไทยจำนวนมากไม่นิยมตรวจประเมินค้นหาความเสี่ยงและตรวจคัดกรองหามะเร็งในระยะแรกเริ่ม เนื่องจากมีความเชื่อหรือความคิดที่ว่า กลัวตรวจแล้วเจอ เจอแล้วก็จิตตก ไม่สบายใจ เพราะฉะนั้น ไม่ตรวจเลยจะดีกว่า จะได้ไม่ต้องใจเสีย ไม่ต้องเครียด ไม่ต้องรับรู้อะไร ซึ่งความคิดเช่นนี้ถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะหากมีความเสี่ยงแล้วและไม่ตรวจคัดกรองเลย อาจทำให้ร่างกายย่ำแย่เมื่อมาปรากฏอาการป่วยของมะเร็งในขั้นระยะลุกลามหรือระยะสุดท้าย ที่โอกาสการรอดชีวิตต่ำมาก