Advice

ตรวจเพื่อป้องกัน ลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง

Pinterest LinkedIn Tumblr


>>คนไทยจำนวนมากไม่นิยมตรวจประเมินค้นหาความเสี่ยงและตรวจคัดกรองหามะเร็งในระยะแรกเริ่ม เนื่องจากมีความเชื่อหรือความคิดที่ว่า กลัวตรวจแล้วเจอ เจอแล้วก็จิตตก ไม่สบายใจ เพราะฉะนั้น ไม่ตรวจเลยจะดีกว่า จะได้ไม่ต้องใจเสีย ไม่ต้องเครียด ไม่ต้องรับรู้อะไร ซึ่งความคิดเช่นนี้ถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะหากมีความเสี่ยงแล้วและไม่ตรวจคัดกรองเลย อาจทำให้ร่างกายย่ำแย่เมื่อมาปรากฏอาการป่วยของมะเร็งในขั้นระยะลุกลามหรือระยะสุดท้าย ที่โอกาสการรอดชีวิตต่ำมาก

นายแพทย์ ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวัฒโนสถ โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ ในโรงพยาบาลกลุ่ม BDMS อธิบายว่า “เนื่องจากโรคมะเร็งเกิดจากพฤติกรรม และพันธุกรรม โดยมะเร็งที่เกิดจากพันธุกรรมมีประมาณ 5-10% เกิดจากสารพันธุกรรมหรือยีนที่มีความผิดปกติ ซึ่งสามารถถ่ายทอดภายในครอบครัว เมื่อลูกหลานที่ได้รับยีนผิดปกติจึงมีการแสดงออกของโรคมะเร็งตั้งแต่อายุยังน้อย เมื่อเทียบกับคนที่ไม่มีความผิดปกติของยีนมาแต่กำเนิดที่จะต้องใช้เวลายาวนานกว่าที่จะเกิดความผิดปกติของยีนหลายชนิดจนมากพอที่จะทำให้เซลล์เปลี่ยนไปเซลล์มะเร็ง สำหรับใครที่มีคนในครอบครัวเป็นมะเร็ง ถือได้ว่ามีความเสี่ยงจากกรรมพันธุ์ จึงต้องปฏิบัติตัวให้เหมาะสมและหมั่นตรวจคัดกรองค้นหามะเร็งชนิดนั้นอย่างสม่ำเสมอ เพื่อค้นหาโรคเจอตั้งแต่ระยะแรก ซึ่งมีโอกาสรักษาหายขาดได้สูง

ส่วนทางด้าน “พฤติกรรม” เกิดจากการประพฤติตัว เช่น ไม่ออกกำลังกาย ไม่กินผักผลไม้ สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือการรับประทานอาหารประเภทเนื้อแดงมากเกินไป ฯลฯ ล้วนแต่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งได้ ดังนั้นวิธีการป้องกันคือ ลด ละ เลิก พฤติกรรมเสี่ยง พร้อมทั้งหมั่นตรวจคัดกรองเป็นประจำ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งลงไปได้มาก”

นอกจากนี้ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งสามารถรักษาจนหายแล้ว ก็ต้องมีการตรวจประเมินติดตามถึงการกลับมาเป็นซ้ำ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะอยู่ที่ประมาณ 5 ปี หากพ้นระยะเฝ้าระวัง 5 ปีไปแล้วก็เรียกได้ว่าโอกาสที่มะเร็งจะย้อนกลับมาเป็นซ้ำมีน้อยมาก โดยอาจมีมะเร็งบางชนิดที่ต้องเฝ้าระวังประมาณ 10 ปี ซึ่งหลังจากรักษาหายแล้ว ผู้ป่วยต้องมารับการตรวจประเมินทุกปี หรือบางชนิดมะเร็งที่รักษาหายแล้วก็ต้องมาตรวจติดตามทุก 6 เดือนตามสูตรหรือตามไกด์ไลน์การรักษานั่นเอง

Comments are closed.

Pin It