What's News

ชมฟรี! คอนเสิร์ต “Romantic Variations”

Pinterest LinkedIn Tumblr


ขอเชิญเฝ้ารับเสด็จฯ พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ องค์อุปถัมภ์วงรอยัลแบงค์คอกซิมโฟนีออร์เคสตร้า (Royal Bangkok Symphony Orchestra – RBSO) ในการแสดงคอนเสิร์ตรายการพิเศษ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รายการ“Romantic Variations” โดยเชิญศิลปินเดี่ยว แฟนนี คลามาฌีรองด์ (Fanny Clamagirand) นักไวโอลินสาวชาวฝรั่งเศสรุ่นใหม่ชื่อดังระดับนานาชาติ บรรเลงกับวง รอยัลแบงค์คอกซิมโฟนีออร์เคสตร้า (Royal Bangkok Symphony Orchestra – RBSO) อำนวยเพลงโดย มิเชล ทิลคิน (Michel Tilkin) ผู้อำนวยการด้านดนตรีประจำวง RBSO เพลงในรายการ คือ ไวโอลินคอนแชร์โตหมายเลข 3 ของแซงท์-ซองส์, เพลงโหมโรง “Romeo and Juliet” ของไชคอฟสกี และ “Enigma Variations” ของเอ็ดเวิร์ด เอลการ์ บทเพลงดังกล่าวเป็นผลงานระดับมาสเตอร์พีซที่มีชื่อเสียงของคีตกวีเอกยุคโรแมนติค เป็นความงามในดนตรี สร้างสรรขึ้นอย่างมีอิสระ มีสีสันไพเราะลึกซึ้งไปคนละแบบ ทั้งยังเป็นบทเพลงที่ท้าทายฝีมือศิลปินเดี่ยว ผู้อำนวยเพลงและวงออร์เคสตร้าที่ควรฟังเป็นอย่างยิ่ง กำหนดแสดงวันศุกร์ที่ 8 กุมภาพันธ์นี้ เวลา 20.00 น. ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ผู้สนใจเข้าชมได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

รายการเริ่มด้วยเพลงโหมโรง “Overture – Romeo and Juliet” ซึ่งนำทำนองเด่น ๆ จากดนตรีประกอบบัลเลต์ชื่อเรื่องเดียวกันของไชคอฟสกีมาร้อยเรียงเข้าด้วยกัน เป็นการเกริ่นเนื้อหาทางดนตรีของบัตเลต์เรื่องนี้ไฮไลท์คือ “ไวโอลินคอนแชร์โต” หมายเลข 3 ของคามิลล์ แซงท์-ซองส์ คีตกวีชาวฝรั่งเศสยุคโรแมนติคศิลปินเดี่ยวคือ Fanny Clamagirand

คอนแชร์โตบทนี้แสดงออกซึ่งอารมณ์และความรู้สึกต่างๆ อาทิ ตื่นเต้นเร้าใจสลับไปมา บางช่วงแนวเดี่ยวไวโอลินจะเล่นทำนองทั้งอ่อนไหวราบเรียบ โลดโผนตอบรับด้วยเสียงกระหึ่มจากวงออร์เคสตร้า จบลงด้วยแนวเดี่ยวที่แสดงลูกเล่นสั้นๆอย่างวิจิตรพิสดาร เป็นคอนแชร์โตที่แต่งให้สำหรับผู้บรรเลงเดี่ยวที่ฝีมือยอดเยี่ยม สามารถดึงดูดใจผู้ฟังด้วยเสียงดนตรีตะลึงกับเทคนิคและลูกเล่นต่างๆหรือเรียกว่า ศิลปินเดี่ยวระดับ “เวอร์ทูโอโซ” (Virtuoso) ซึ่งต้องมีความเป็นเลิศทั้งทักษะและความรู้สึกทางดนตรีที่เจิดจ้า เต็มไปด้วยพลังบทบาทของวงไม่ใช่เพียงบรรเลงประกอบเท่านั้น แต่ยังเล่นประชันกับแนวเดี่ยวไวโอลินในบางช่วง ความบริสุทธิ์ของน้ำเสียงไวโอลิน และการประสานเสียงตลอดเพลง สามารถแสดงอารมณ์และให้ความรู้สึกสะเทือนอารมณ์ผู้ฟังมาก


เพลงสุดท้าย “Enigma Variations” หนึ่งในผลงานที่สร้างชื่อเสียงมากให้กับเอลการ์คีตกวีเอกชาวอังกฤษปลายยุคโรแมนติค เขาประพันธ์ทำนองหลักและได้แปรทำนองหรือแวริเอชั่นส์ 14 ท่อนอุทิศให้กับบุคคลที่รู้จักเอลการ์จึงตั้งชื่อแต่ละแวริเอชั่นส์และใช้คำว่า “Enigma” ซึ่งหมายถึง “ปริศนาลึกลับ” ซึ่งไม่มีใครทราบความเป็นมาของชื่อเหล่านี้ ต่อมาจึงได้เฉลยว่าชื่อและทำนองซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับเอลการ์และเหตุการณ์ในชีวิต อาทิ ชื่อบุคคล มิตรสหาย นักดนตรี คนที่รู้จัก รวมทั้งภรรยาสุดที่รัก อาทิ แวริเอชั่นแรกมาจากชื่อย่อของภรรยา ดนตรีจะเล่นอย่างแผ่วเบา นุ่มนวล แต่ละแวริเอชั่นส์แสดงถึงความรู้สึก เหตุการณ์และบุคลิกของผู้คนเหล่านี้ซึ่งสร้างสรรได้อย่างน่าทึ่ง

Fanny Clamagirand เป็นศิลปินเดี่ยวไวโอลินชาวฝรั่งเศสรุ่นใหม่/ที่กำลังมีชื่อเสียงมากของวงการนานาชาติในบรรดาศิลปินรุ่นเดียวกันนักวิจารณ์กล่าวว่า การเล่นของเธอสร้างสรรค์โทนเสียงที่สดใสมากการตีความเพลงแสดงถึงความอ่อนไหวในอารมณ์และพลังที่น่าฟัง

Fanny มีผลงานแสดงเดี่ยวทั่วโลกที่โรงแสดงคอนเสริต์เทศกาลดนตรีและร่วมงานกับวงออร์เคสตร้าชื่อดัง อาทิ ที่ Royal Festival Hall, Musikverein, Konzerthaus Berlin, Menuhin Festival (Gstaad), Chicago Cultural Center บรรเลงเดี่ยวกับวงชั้นนำ อาทิ Vienna Philharmonic, London Philharmonic, National de France Orchestra, Lucern Festival, National Philharmonic of Russia

ผลงานซีดีของเธอกับค่าย Naxos ซึ่งบรรเลงคอนแชร์โตทั้งสามบทของแซงท์-ซองส์ได้รับรางวัล Choc จากนิตยสารดนตรีคลาสสิกของฝรั่งเศส ซีดีเพลงเดี่ยวไวโอลินโชนาต้าทุกบทของแซงท์-ซองส์ รวมทั้งเพลงของ Eugene Ysaye ได้รับการวิจารณ์ที่ดีมาก เธอได้รับเชิญให้เข้าร่วมในรายการโทรทัศน์ชื่อดังคือ “ArteStars of Tomorrow”

ด้วยผลงานและความสามารถที่โดดเด่น Fanny จึงได้รับการสนับสนุนมาก จาก Vladimir Spivakov ผู้อำนวยเพลงและนักไวโอลินเอกชาวรัสเซีย รวมทั้งAnne Sophie Mutter ศิลปินเดี่ยวไวโอลินรุ่นใหญ่ระดับซุปเปอร์สตาร์ ผู้ตั้งวง “Mutter Virtuosi” วงสตริงออร์เคสตร้าชั้นยอด ซึ่ง Fannyได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกของวงนี้

Fanny สำเร็จการศึกษาไวโอลินที่ Paris Conservatory และ Royal College of Music (Artist Diploma)เธอได้รับการโค้ชและเรียนมาสเตอร์คลาสกับปรมาจารย์สำคัญหลายคน อาทิ P.Vernikov (Music and Arts University of the City of Vienna), Oleksandr Semchuk, Ida Haendel, ZarBronr, Pierre Amoyal, Vadim Rapin และ Sholomo Mintz ได้เข้าร่วมมาสเตอร์คลาสที่ Verbier Festival และMusic Academy of Lausanne

เธอชนะเลิศการแข่งขันไวโอลินที่มีชื่อเสียง รายการ Monte Carlo Violin Master (2007), Franz-Kreislerปี 2005 (เวียนนา) ได้รับรางวัล Emily Anderson, Prize of the Royal PhilharmonicSociety (2004)

ในการบรรเลงกับวง RBSO ครั้งนี้ Fanny ใช้ไวโอลินเก่าชั้นยอดมีมูลค่าสูง สร้างในปี ค.ศ.1700โดย Matteo Goffriller ช่างทำเครื่องสายชาวเวนิสที่มีชื่อเสียงของสกุลช่างทำเครื่องสายชั้นยอดของโลก

รายการแสดงครั้งนี้จัดขึ้นเป็นพิเศษเนื่องในโอกาสสำคัญดังกล่าวไม่มีการจำหน่ายบัตร
ผู้สนใจสำรองบัตรเข้าชมได้ที่ Email : bsof@bangkoksymphony.org
และสอบถามรายละเอียดที่สำนักงานมูลนิธิฯ โทร. 02 255 6617-8; 02 254 4954-5 (จันทร์-ศุกร์)
www.bangkoksymphony.org – f/royalbangkoksymphony

Comments are closed.

Pin It